Skip to main content

"รัฐบาล" ใน "ยุคชิน" หรือ "ยุคทักษิณ" กับ ๙ เสีย ๑ ดี

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


เพียง ๘ เดือนเศษเท่านั้น รัฐบาลซึ่งเคยถูกกล่าวขวัญกันว่า มี "ที่มา" อัน เข้มแข็ง-มั่นคง ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคณะหนึ่ง กล่าวคือ ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งในกระบวนการเลือกตั้งทั่วไป ได้รับชัยชนะอย่างล้นหลาม ทั้งในระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขตเลือกตั้ง จนได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในสภา ชนิดมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งหมดรวมกัน จนสามารถจัดตั้งรัฐบาล "พรรคเดียว" ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ก็มี "ที่ไป" อันนับวันจะกลายเป็น "ทุคติ" หรือถึงขนาด "วินิบาตนรก" ซึ่งหมายถึง "ดินแดนอันเป็นที่ตกลงไปถึงแก่ความพินาศย่อยยับ" เอาเลยทีเดียว


 


ในพุทธศาสนานั้น เชื่อว่า "ผล" มีมาแต่ "เหตุ" กล่าวคือ การจะเกิดสิ่งใดขึ้น ย่อมมิใช่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ของใคร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเป็นอิสระ หากมาจากองค์รวมของเหตุและปัจจัยนานาชนิด ทั้งที่พบเห็น หรือเข้าใจได้โดยง่าย และที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายอันละเอียดซับซ้อน ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการศึกษาวิเคราะห์ที่เหมาะควร จึงจะสามารถแจกแจงให้เข้าใจได้


 


แต่อย่างไรก็ตาม โดยกรอบคิดเดียวกัน ก็มีขอบเขตหรือเครื่องมือบางประการเอาไว้เป็นเครื่องช่วย เพื่อป้องกันมิให้ "ศรีธนญชัย" พลิกแพลงตลบตะแลงกลิ้งกะล่อน นำเรื่อง "เหตุ-ปัจจัย" มาปัดผิดให้พ้นตัว โดยมิต้องรับผิดชอบอย่างที่ควรจะเป็น


 


กล่าวคือ แม้ว่าทุก "ผล" จะมาแต่ "เหตุ" อันซับซ้อนด้วยอิทัปปัจจยตา แต่ "กรรม" นั้น จะต้องหมายถึง "การกระทำที่ประกอบไปด้วยเจตนาเสมอ" ดังที่ท่านอธิบายไว้ว่า "กรรม คือ การกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ที่ทำด้วยความจงใจ หรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม) การกระทำที่ดีเรียกว่า "กรรมดี" ที่ชั่ว เรียกว่า "กรรมชั่ว" เป็นต้น"


 


ใน "ยุคชิน" ซึ่งกลุ่มบริษัทที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว เคยก่อตั้งและเคยบริหารจนประสบความสำเร็จ เติบโตและตั้งมั่นอยู่ได้อย่างยิ่งใหญ่มหึมา หรือใน "ยุคทักษิณ" ที่คนไทยมีรัฐบาลพรรคเดียว และว่ากันว่า "นายกรัฐมนตรี" สามารถ "รวบอำนาจ" หรือ "จัดการ" กับทุกฝ่ายได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนี้ การที่นายกฯ(ผู้มากความสามารถและประสบการณ์) กับรัฐบาล(เสียงส่วนมาก กุมอำนาจเบ็ดเสร็จแทบทุกภาคส่วน) กำลังออกอาการ "ขาลง" ชนิด "ทิ้งดิ่ง" จึงน่าสนใจที่จะสืบค้น "เหตุ-ปัจจัย" และ "กรรม" อันเป็น "เครื่องส่อเจตนา" อยู่ไม่น้อย


 


แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้อง สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้คงต้องออกตัวว่าเป็นภาพรวมๆ ของ "รัฐบาลในยุคทักษิณ" เสียยิ่งกว่าจะหมายถึง "นายกทักษิณ" หรือ "รัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ" อย่างจำเพาะเจาะจงลงไปเป็นรายบุคคล


 


และกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว แม้ว่า "ยุคชิน" และ/หรือ "ยุคทักษิณ" จะมีเรื่อง "เสีย" และ "ดี" ในประการอื่นๆ หรือในทัศนะอื่นๆ อยู่ด้วยก็ตาม ในที่นี้จะขอหยิบยกขึ้นมาเพียงบางด้านและบางประเด็นที่พบเห็นได้ง่ายมาพูดถึงเท่านั้น


 


ใครที่เห็นมากกว่านี้ เห็นยิ่งกว่านี้ ก็ชอบที่จะนำมาแบ่งปันกันให้เกิด "สัมมาทิฏฐิ" ยิ่งๆ ขึ้นไป


 


ผู้เขียนขอนำเสนอข้อสังเกตนี้โดยสังเขป ไม่พยายามขยายให้พิสดาร เพราะเชื่อว่าคนไทยวันนี้จะเข้าใจและมีจินตนาการร่วมกับ "๙ เสีย ๑ ดี" ต่อไปนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก


 


๑.ปากเสีย รัฐบาลใน "ยุคทักษิณ" ดูจะประกอบไปด้วยบุคคลและเรื่องราว ทำนอง "ปากคอเราะร้าย", "ปากอยู่ไม่สุข" หรือชอบ "แกว่งปากหาเสี้ยน" อยู่เสมอ แต่เดิมนั้นหลายคนพยายามเอาใจช่วย โดยใช้คำว่า "ปากกล้า" มาอธิบาย "มิจฉาวาจา" ของท่านนายกฯ และ/หรือรัฐมนตรี ในรัฐบาลของท่าน แต่ถึงบัดนี้ คงเป็นที่แน่ชัด ว่า "ปากเสีย" ดูจะเป็น "เรื่องจริง" หรือ "ตัวจริง-เสียงจริง" และเป็น "เหตุ-ปัจจัย" ต้นๆ "จริงๆ" ของภาวะ "ขาลง" อีกทั้งเมื่อสังเกตในภาพรวม "ต่างกรรมต่างวาระ" ก็เห็นสิ่งที่เป็น "เครื่องส่อเจตนา" หรือ "ส่อนิสัยถาวร" ของบางคนได้โดยแท้


 


๒.คิดเสีย ๓.ทำเสีย ด้วยหลัก "คิดใหม่-ทำใหม่" หรือ "กล้าคิด-กล้าทำ" อย่าง "แหวกกรอบ" ทำให้รัฐบาลทักษิณอยู่ในภาวะ "ขาขึ้น" จนเป็นที่ฮือฮาน่าตื่นใจอยู่ระยะหนึ่ง แต่ต่อมา เมื่อปรากฏชัดขึ้นทุกขณะ ว่าการ "คิด" และ "ทำ" ในหลายต่อหลายเรื่อง มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีเจตนาแฝงเร้น และเป็นไปเพื่อประโยชน์ในบั้นปลายของบางกลุ่มบางพวก ก็ทำให้หลายคนพบว่า นี่เป็นเพียง "มิจฉาทิฏฐิ" และ "มิจฉากัมมันตะ" ของ "มิจฉาชีพ" บางคนบางกลุ่มเท่านั้น


 


๔.คนเสีย เมื่อใครสักคนมีอำนาจมากมาย ยิ่งใหญ่ และเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่จะมีคนจำนวนหนึ่ง พยายามเข้ามาร่วมแห่แหน ห้อมล้อม เป็นบริวาร จะด้วยศรัทธาปสาทะ หรือมุ่งหวังประโยชน์ โดยตรง-โดยอ้อม ก็ตามที แต่โดยวงจรและกระบวนการของ "อำนาจ" ตลอดจน "ผลประโยชน์" ถึงจุดหนึ่ง "คนดี" ก็จะไม่สามารถประคับประคองความสัมพันธ์อันเป็นไปโดยการยื้อแย่งแข่งขันเอาไว้ได้ เมื่อประกอบกับระดับคุณธรรมของศูนย์กลางอำนาจไม่เข้มแข็งมั่นคงเพียงพอแล้ว ในที่สุด "คนเสีย" ก็จะยึดกุมพื้นที่ส่วนใหญ่ หรือทั้งหมด จนทำให้ "ศูนย์กลาง" หรือศูนย์รวมอำนาจ "เสียคน" ไปอย่างสมบูรณ์แบบ


 


๕.นโยบายเสีย ๖.แผนงานเสีย ๗.งบประมาณเสีย ๘.บริหารจัดการเสีย ในเบื้องต้น เมื่อพรรคไทยรักไทยใช้นโยบายเป็น "ธงนำ" จนได้ชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายครั้งแรก และมีความพยายามทำตามที่หาเสียงไว้อย่างเอาการเอางาน คงยากที่จะกล่าว ว่านโยบายเหล่านั้นไม่ชอบมาพากลอย่างไร ต่อเมื่อผ่านมาระยะหนึ่ง ที่ความพยายามกลับกลายเป็นความลุกลี้ลุกลน ตลอดจนเริ่มแปรเปลี่ยนไปสู่การยัดเยียดที่จะให้ในบางด้าน ขัดขวางการร้องขอในบางประการ หว่านโปรยในบางระยะเวลา และพลิกแพลงในการดูดซับ หรือเก็บเกี่ยวผลประโยชน์กลับคืนสู่บางกลุ่มบางคณะ รูปแบบ "ประชานิยม" ซึ่งเคยเป็นความ "เอื้ออาทร" จากรัฐ สู่ผู้ยากไร้ ก็ดูจะออกลาย กลายเป็นความฉ้อฉล สกปรกโสมม และไร้ยางอาย ประเภท "เมกะโปรเจคเมกะคอร์รัปชั่น" ของ "นักธุรกิจการเมืองน้ำเน่า" ชนิดที่ "นักการเมืองน้ำเน่า" ที่ผ่านมาในอดีตไม่กล้าแม้แต่จะคิด


 


๙.เป้าหมายเสีย บรรดา "ข้อเสีย" ทั้ง ๘ ประการที่กล่าวมาข้างต้น จะว่าไปแล้ว ก็เป็นเพียง "วิธีการ" หรือ "กระบวนการ" ที่เป็น "รูปธรรม" ซึ่งส่อ หรือแสดงนัยแห่ง "เป้าหมาย" ที่ถูกกำหนดไว้ในเบื้องลึกเท่านั้น


 


กล่าวคือ หากใช้กรอบแห่งความสัมพันธ์ของ "เหตุ-ปัจจัย" และ "หลักกรรม" ในพุทธศาสนา เข้ามาจับ ก็จะพบได้ไม่ยากเย็นนัก ว่าเป็นไปไม่ได้อยู่ดี ที่ "วิธีการ" อัน "มิชอบมิควร" จะนำไปสู่ "ผลที่ชอบที่ควร" ซึ่งนั่นก็หมายความว่า หากผู้รับผิดชอบระดับสูงในทางบริหาร มีระดับคุณธรรม-จริยธรรม ที่เพียงพอหรือเหมาะสมแล้ว ด้วย "วุฒิภาวะ" ที่มีอยู่นั้น ย่อมทำให้เขา(หรือเธอ) "รู้อยู่กับตัว" ว่ากำลังกระทำสิ่งใดลงไป และสิ่งนั้นจะทำให้เกิดสิ่งใดขึ้น ด้วยสาธุชนย่อมทราบกันดีอยู่แล้ว ว่า "กุศลกรรม" ย่อมเกิดขึ้นจาก "กุศลเจตนา" เท่านั้น


 


นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่า เป้าหมายในการบริหารงานอันทุจริต ผิดพลาด และฉ้อฉล จะเกิดขึ้นมิได้เลย หากผู้บริหารที่กล่าวมาข้างต้นไม่ขาดเสียซึ่ง คุณธรรม-จริยธรรม


 


เว้นแต่ว่าเขา(หรือเธอ)เหล่านั้น จะเป็นบุคคลผู้ประกอบไปด้วย "มิจฉาวายมะ" และมี "มิจฉาญาณ" อันบิดเบือนไปเสียแล้วจากครองธรรมอันเหมาะควร


 


อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาจะสมบูรณ์ไปเสียมิได้หากไม่กล่าวถึงคำว่า "ดี" ที่อุตส่าห์ยกขึ้นมาหัวข้อไว้ด้วยบ้าง เพราะในโลกของบุถุชนคงยากที่จะมีใครสมบูรณ์พร้อม หรือบกพร่องอย่างถึงที่สุด


 


จะว่าไปแล้วผู้เขียนเองก็เคยพบข้อดีของรัฐบาลใน "ยุคชิน" หรือ "ยุคทักษิณ" อยู่ไม่น้อย นับแต่แรกอาสาเข้ามาบริหารประเทศในช่วงต้นๆ อาทิ เร็วดี ขยันดี เป็นตัวของตัวเองดี ประชาสัมพันธ์ตัวเองได้ดี เป็นต้น


 


แต่ถึงบัดนี้ เมื่อเวลาล่วงเลยมาสู่ยุคที่ ๒ แม้ไม่นานนัก ก็ดูเหมือนหลายอย่างจะเสื่อมสลายไปตามกาล กัดกร่อนกระพี้เข้าไปจนถึงแก่น ทำให้ใครต่อใครพบ "อะไรลึกๆ" ได้ในที่สุดว่าภายใต้ความผิดพลาดและ ล้มเหลว-หลงผิด "คุณทักษิณและคณะ" แทบปราศจากความดี หรือความชอบธรรมใดๆ ในการบริหารประเทศให้พ้นจากวังวนแห่งความเสียหายหรือวิกฤติการณ์ด้านต่างๆ ได้อีกต่อไปแล้ว


 


"รัฐบาล" ใน "ยุคชิน" หรือ "ยุคทักษิณ" ดูจะหลงเหลืออยู่เพียง "อำนาจ"


 


และ... ความ "อวดดี" เท่านั้นเอง!


 


                                                                                                   กลับหน้าแรกประชาไท