Skip to main content

เวลาที่ต้องใช้กับเด็กเลว



 


หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 หน้า 27 พาดหัวข่าวว่า "เผยเด็กท้อง-เกเร-ถูกไล่ออก แห่เข้า ร.ร.หนองชุมแสงฯ ใครมีลูกหิ้วมาเรียนได้"


 


รายละเอียดข่าวว่า "ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองชุมแสงวิทยา ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ให้สัมภาษณ์ว่า  ปัจจุบันโรงเรียนเปิดสอน ม.1-ม.6 และระดับ ปวช. ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวในปัจจุบันที่เปิดรับเด็กมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นเด็กตั้งครรภ์ เด็กเกเร เด็กมีปัญหาครอบครัวและเด็กที่มีเพศสัมพันธ์แล้วอยู่ด้วยกันเป็นคู่ๆตามบ้านเช่า  โดยเด็กเหล่านี้ถูกผลักดันให้ออกไปจากโรงเรียน  ทั้งที่บางคนเป็นเด็กเรียนดี  จึงสมัครมาเรียนที่นี่  เวลานี้มีประมาณ 600 คน ส่วนใหญ่อายุ 15-21 ปี มีครู 38 คน...


 


...นักเรียนบางคนที่มีลูก  ก็สามารถนำลูกมาเลี้ยงที่โรงเรียนด้วย...


...ส่วนใหญ่ของครูที่มาดูงานแล้วยังไม่เข้าใจมาพูดให้ตนเสียกำลังใจ  และมองว่าไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องทำ  เพราะสอนปกติก็ไม่มีเวลาอยู่แล้ว...


...ถ้าปล่อยคนเหล่านี้ออกไป  เด็กจะเป็นคนที่ขาดโอกาส  แล้วไปก่อปัญหาสังคมมหาศาล  เพราะคนพวกนี้จะไม่ทำอะไรก็ไปมั่วสุมยาเสพติด  เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมากลายเป็นขยะสังคม    หากให้การศึกษาโดยการให้เรียนนอกระบบตามกระบวนการ   เชื่อว่าเขาจะเป็นคนดีในสังคม...


...ขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็กเหล่านี้เท่าที่ควร   เพราะมัวแต่ให้ความสำคัญกับความเป็นเลิศทางวิชาการ..."


 


ผมไม่ทราบรายละเอียดหรอกครับว่าปัจจุบันโรงเรียนนี้ประสบปัญหาอะไรบ้างที่ทำเช่นนี้       ผลลัพธ์จริงๆเป็นอย่างไร     ตอนจบจะเป็นอย่างไร    แต่เรื่องที่อยากจะชวนคุยคือเรื่อง "เวลา"  โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณของเวลา


 


เวลาเด็กมันเลว    ความเลวนั้นเป็นตราบาปที่สลัดออกยาก   ตราบาปที่ติดตัวเด็กก็เหมือนรอยสักที่ติดบนร่างกายเด็ก       นั่นคือทำให้ผู้คนมีอคติได้โดยง่าย


 


เวลาเด็กเลวทำอะไรล้วนเลว


 


ซึ่งก็อาจจะจริงนะครับ   กล่าวคือมันหนีเรียน   สูบบุหรี่  ติดยา   ซิ่งรถ   ควงสาว   เช่นนี้ก็ต้องได้ชื่อว่าเด็กเลวแน่นอน    เอาครูมานั่งดูกี่คนๆก็คงลงความเห็นว่ามันเลว


 


แต่บางทีอาจจะเป็นเพราะเราดูเขาสั้นเกินไป   หากดูสั้นๆมันก็คงจะเลวอย่างว่า  มองไปทีไรก็เห็นมันเลวทุกที     ก็ไม่อยากมองนานๆ


 


แต่ถ้ามองนานๆ    บางทีพวกเด็กเลวอาจจะทำความดีบ้างเป็นบางเวลา   บ่อยครั้งที่การทำความดีมักเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่   กินเวลาไม่นาน   แล้วเดี๋ยวเลวต่อให้ดู


 


เป็นไปได้ว่าเวลาเด็กเลวทำความดี  เช่น ให้ตังค์ขอทาน  เป็นต้น  มักไม่มีคุณครูมาเห็น  ไม่มีคุณพ่อคุณแม่มาเห็น   เมื่อไม่เห็นก็ไม่ได้กล่าวคำชื่นชม  พลาดโอกาสที่จะเอ่ยวาจาชื่นชม    ชวดโอกาสที่จะเห็นเขาดีขึ้นสักนิดหนึ่งก็ยังดี


 


ดังที่ทราบว่าการชื่นชม  การให้รางวัลทำความดีเป็นแรงเสริมทางบวก (positive reinforcement) ที่จะช่วยให้พฤติกรรมดีๆนั้นดำรงอยู่   ยั่งยืน  ต่อเนื่อง  เกิดขึ้นอีก      หากเด็กเลวไม่ได้รับคำชื่นชมบ้างเลย   ก็ยากที่พฤติกรรมดีๆจะเพิ่มปริมาณจนไล่ที่พฤติกรรมเลวๆออกไปเสียบ้าง


 


สำหรับที่บ้านก็เช่นกัน    หากคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกเพียงช่วงสั้นๆ  เห็นลูกเพียงช่วงเช้าสั้นๆซึ่งเป็นเวลาที่ต่างคนต่างรีบ เห็นตอนค่ำอีกทีช่วงสั้นๆก่อนแยกย้ายกันเข้านอน  คุณพ่อคุณแม่ก็มักจะเห็นแต่พฤติกรรมไม่เข้าท่า   งุ่มง่าม  ชักช้า  ลืมนั่นลืมนี่  ไม่เป็นระเบียบ   แล้วก็เอ่ยวาจาตำหนิดุด่าได้ทุกวันๆ


 


ในทางตรงข้ามหากคุณพ่อคุณแม่ได้อยู่บ้านนานๆ   นานมากพอที่จะเห็นลูกๆทำความดี  แม้จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เช่น เอาหนอนบนพื้นไปวางบนใบไม้ เป็นต้น ก็จะมีโอกาสกล่าวคำชื่นชมเพื่อให้พฤติกรรมดีๆขยายตัวงอกงาม


 


เวลาที่จะอยู่กับเด็กๆจึงสำคัญที่ปริมาณ   มิใช่สำคัญเพียงคุณภาพ