Skip to main content

เรื่องจริงในความหลอกลวง ตอน OTOP 2

คอลัมน์/ชุมชน


 


ขออภัยที่หายไปนาน ผู้เขียนถูกไข้หวัดใหญ่เล่นงานเกือบเอาชีวิตไม่รอด ขณะที่นั่งเขียนเรื่องนี้ก็ยังหายไม่สนิท   แต่ไม่เป็นไรวันนี้กลับมาแล้ว  มาคุยกันต่อดีกว่า


 


ตอนที่แล้วเขียนค้างไว้ถึง การเปิดกว้างในการรับสมัครกลุ่มต่างๆ เข้ามาเป็น OTOP  คราวนี้ละสนุก  ชาวบ้านเริ่มมีความรู้สึกว่า รัฐไม่จริงใจ  เพราะการเอาการผลิตแบบพื้นบ้านไปแข่งขันกับโรงาน  ผลออกมาชาวบ้านหลายกลุ่มไม่ได้ดาว OTOP มีการจัดชั้นผลิตภัณฑ์ด้วยการให้ดาวดีที่สุดก็เอาไป 5 ดาว รองลงมาก็ลดหลั่นไปเรื่อยๆ  ส่วนใหญ่ต้องได้รับการพัฒนาใหม่   ไม่เหมือนพวกเอสเอ็มอี หรือโรงงานที่มีทุนมากกว่า สินค้าเขาก็มีมาตรฐานกว่า (ชาวบ้านเขาว่าอย่างนั้น)


 


เมื่อมีกลุ่มมากขึ้น มาตรการการขยายตลาดก็ต้องตามมา เพราะกลุ่มผู้ผลิตเริ่มขาดทุน  ผลิตแล้วไม่มีตลาดรองรับ  การขยายตลาดจึงเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ทุกหน่วยราชการต้องปฏิบัติ ซึ่งหนีไม่พ้นหน่วยงานเดิมๆ  สหกรณ์ พัฒนา เกษตร พาณิช  การค้าภายใน ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรม และมหาดไทย


 


หากให้พูดกันจริงๆ  ทุกหน่วยงานที่กล่าวมาไม่มีความชำนาญเรื่องการหาตลาดเลย  แม้แต่พาณิชย์และการค้าภายใน   เพราะหน้าที่หลักของพวกเขาไม่ใช่การหาตลาด  การค้าภายในมีหน้าที่คอยตรวจสอบและควบคมราคาการขึ้น-ลงของราคาสินค้า   พาณิชย์มีหน้าที่ดูแลเก็บตัวเลขการซื้อขายในพื้นที่ๆ รับผิดชอบ   อยู่ดีๆ ก็มีภารกิจให้จัดหาตลาดให้กลุ่ม OTOP  เหมือนมีช้างอยู่ข้างหน้าแต่ถูกจับปิดตาให้ไปคลำ  การทำงานจึงไปคนละทิศคนละทาง  ส่วนใหญ่นโยบายการหาตลาดก็ถูกโยนลงมาอีกทอดจากหน่วยงานต้นสังกัด  


 


สหกรณ์ก็มีงบประมาณโยนลงมาทุกจังหวัด พร้อมนโยบายให้จัดงานสหกรณ์ผู้ผลิตพบผู้บริโภค และ OTOP  พาณิชย์ก็จัดมหกรรมโรดโชว์โดยให้ผลัดกันจัดตลาดเยี่ยมเยือน   การค้าภายในก็จัดงานมหกรรมธงฟ้า แม้แต่อุตสาหกรรมก็มีงานสุดยอดหมู่บ้านอุตสาหกรรม   มหาดไทย กรมพัฒนาชุมชนก็จัดงาน OTOPCITY  ปีละ 1  ครั้ง (แต่ผู้ผลิตต้องผลิตทุกวัน) 


 


ความหลอกลวงจึงเริ่มที่ตลาด  เพราะการแข่งขันที่จะรวย ที่จะดัง และที่สำคัญคือความอยู่รอด ถูกนำมาผูกติดกับตลาด โดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาข้างหน้า   ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มชาวบ้านผู้ผลิตเท่านั้น  แม้แต่หน่วยงานที่ถูกสั่งให้ทำก็ไม่รู้จุดหมายปลายทาง  ทั้ง 2 ส่วนทำเพื่อความอยู่รอดของตนเอง แต่อยู่บนฐานแนวคิดที่แตกต่าง   ผู้ผลิตต้องการตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า  หน่วยงานต้องการผลงาน   ดังนั้น การจัดตลาดจึงเป็นเป้าประสงค์ที่สำคัญของการไขว่คว้าหาผลประโยชน์ของตนเอง  บนงบประมาณของแผ่นดิน  เริ่มที่ตลาดแลกเปลี่ยนหรือเยี่ยมเยือนในแต่ละจังหวัด 


 


หากเป็นจังหวัดใหญ่ๆ จัด  กลุ่มผู้ผลิตก็พอจะมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าบ้าง  แต่หากไปจังหวัดเล็กๆ  ก็ต้องเสี่ยงกับการขาดทุน  หรือหากโชคร้ายกว่านั้นไปเจอฝนเจอมรสุม นอกจากจะพบกับความลำบากแสนสาหัสแล้ว ข้าวของที่เตรียมไปทั้งผลผลิต และผลิตภัณฑ์ก็ได้รับความเสียหาย  ที่สุดกลุ่มก็ต้องแบกความบอบช้ำกลับบ้านใครบ้านมัน


 


เจ็บเท่านี้ยังไม่สาแก่ใจ เพราะเมื่อการจัดงานในพื้นที่จึงประสบความสำเร็จน้อย   ส่งผลให้ฝ่ายการเมืองมีนโยบายลงมา ให้จ้างเอกชนมาจัดงานผลที่ตามมาคืองาน OTOP แต่ที่ดีๆ ที่พอจะขายของได้ โรงงานหรือผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงและพร้อมที่จะจ่ายค่าที่ได้แพงๆ จะได้ที่ไป ส่วนกลุ่มOTOP จะถูกกันไปอยู่ท้ายๆ งาน  ซึ่งเป็นเหมือนการซ้ำเติมกลุ่มผู้ผลิตที่มีชื่อสวยว่า OTOP ได้รับความบอบช้ำมากกว่าเดิม  แต่ทุกงานที่เขียนมาต้องมีการเก็บตัวเลขเพื่อยืนยันผลงาน  หากหน่วยงานไหนจัดแล้วตัวเลขจำหน่ายสินค้าได้น้อยส่งผลกระทบถึงผลงาน


 


การปั้นตัวเลขจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลของ 2 ฝ่าย 2 ประการคือ ฝ่ายราชการเพื่อผลงาน การนำภาคเอกชนเข้ามา ทำให้ได้ตัวเลขสวยขึ้น (ลืมคิดไปว่าการทำอย่างนี้จะทำให้ OTOP ตายเร็วขึ้น)   ส่วนฝ่ายผู้ผลิต ก็เพื่อโอกาสที่จะได้ร่วมจำหน่ายสินค้าในครั้งต่อไป ขายได้ไม่ได้อย่างไร แจ้งตัวเลขให้สวยไว้ก่อน  โดยเฉพาะงาน OTOPCITY ที่เมืองทองธานี ซึ่งเป็นงานที่กลุ่มผู้ผลิตใฝ่ฝันทั้งประเทศ เพราะตัวเลขที่ออกมามันเร้าใจ  ทำให้ผู้ผลิตคิดว่าตลาดนี้คือความอยู่รอดของตนเอง (ลืมไปว่ามันจัดปีละ 1 ครั้งเท่านั้น)


 


ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากระทรวงพาณิชย์และรัฐบาล จะแถลงความสำเร็จของการจัดงาน จากยอดตัวเลขการจำหน่ายสินค้า ว่าเพิ่มขึ้นเป็น 100% ในแต่ละปี ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของฝ่ายการเมือง ที่นโยบายไปได้สวย  แต่เรื่องจริงที่ผู้เขียนได้สัมผัสคือ ผู้ผลิตบางกลุ่ม วันนึงขายได้ไม่ถึง 500 บาท แต่แจ้งตัวเลข 20,000 บาท  ผู้เขียนสงสัยจึงเข้าไปสอบถามก็ได้คำตอบว่า ปีนี้ขายไม่ดีก็ไม่เป็นไรแจ้งหลอกไปก่อน เผื่อปีหน้าจะดี เพราะหากแจ้งยอดที่จำหน่ายได้จริง กลัวจะถูกตัดไม่ให้มาขายอีก  


 


ดังนั้น ตัวเลขที่ถูกนำเสนออย่างภูมิอกภูมิใจ มันจึงไม่ใช่เรื่องจริง


 


เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป รอตอนหน้านะจ๊ะ  วันนี้หมดแรงจ้ะ