Skip to main content

พายุหิมะ

คอลัมน์/ชุมชน

ชีวิตประจำวันของผู้เขียนไม่มีอะไรมากไปกว่าตื่น ไปทำงาน สอนๆ วิจัยๆ กลับบ้าน ไปโรงออกกำลังกาย ทำกับข้าว อ่านงานต่างๆ นอน  ชีวิตไม่ได้ต่างกับหนูถีบจักรที่โดนบังคับให้ต้องใช้เวลาอย่างมีคุณค่า ในระบบทุนนิยมหลังสมัยใหม่ การยิ่งมีผลงานมากเท่าไร ยิ่งถือเป็นสิ่งที่น่านิยม เป็นคุณค่าที่พึงต้องการ และอ้างว่าทำให้เกิดคุณภาพของชีวิตและสังคม ซึ่งผู้เขียนก็มานั่งคิดบ่อยๆ ว่าเรียนมาขนาดนี้ ยังต้องมาเชื่อเรื่องแบบนี้อีกหรือ เราสอนคนให้คิดต่างกับกระแส แต่ไหงกลับต้องมาอยู่ในกระแสเสียเอง ขัดกันสิ้นดี


 


อย่างไรก็ตาม วันนี้มีเรื่องมาเล่าให้ฟังอีกเช่นกัน ตอนนี้ฝรั่งตรงนี้เริ่มอยู่ในบรรยากาศของการเตรียมเฉลิมฉลอง  จึงเล่าอะไรที่ห่างวิชาการออกมาสักหน่อย


 


ในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงวันหยุด "ขอบคุณพระเจ้า" ของชาวมะริกัน ในทุกวันพฤหัสบดีที่สี่ของพฤศจิกายน ปีนี้ผู้เขียนต้องนอนซมกับเตียงเพราะป่วยเป็นไข้หลังจากไปซ่ามาที่บอสตั้น  แต่กระนั้นในวันขอบคุณพระเจ้าก็ต้องหอบสังขารไปงานสังสรรค์สโมสรที่บ้านเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน จะได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรในสังคมอาจารย์ เพราะถ้าไม่ไปจะตกข่าว และอาจกลายเป็นขี้ปากชาวบ้านด้วย อย่ากระนั้นเลย  ต้องฝืนสังขารไปเสียหน่อย และก็ได้เรื่องจริงๆ เพื่อนๆ ท่านเม้าท์เมามัน  ใครบอกฝรั่งไม่นินทา ขอบอกว่าไม่จริง แถมลึกกว่า เด็ดกว่าเมืองไทยด้วย   เอาเป็นว่าขาเม้าท์เมืองไทยน่ะชิดซ้ายได้เลย  ผู้เขียนนั่งยิ้ม คิดในใจว่าดีนะที่มา ไม่งั้นคงยับเยินเช่นกัน


 


เมื่อกลับมาบ้าน ก็มานอนซมต่อทั้งวันศุกร์เสาร์ถัดมา จนตรวจงานไม่ได้เลย  โชคดีที่มหาวิทยาลัยปิดยาว  ผ่านจนคืนวันอาทิตย์ที่พายุหิมะเข้ามาถล่มเมืองไม่หยุด  ถล่มยาวถึงวันจันทร์ทั้งวันเปิดเรียนแล้วและช่วงเช้าวันอังคาร  ลมแรงประมาณ 80 กม.ต่อชั่วโมง   มองไปทางไหนขาวโพลนไปหมด  หิมะตกลงมาประมาณเกือบฟุต  รถราขับยากลำบากมาก ผู้เขียนรถหมุนไปหนึ่งรอบ เพราะลืมตัวหักเลี้ยวแรงและลืมกดปุ่มวิ่งสี่ล้อ (ผู้เขียนใช้รถที่ผลาญน้ำมันและเป็นที่นิยมกันในบรรดาชนชั้นกลาง แต่เหมาะในดินแดนแบบนี้) ทั้งนี้ยังลืมว่าใต้ปุยหิมะบนพื้นถนนนั่นคือน้ำแข็งเราดีๆ นี่เอง ลองคิดดูว่าขับรถบนน้ำแข็งจะเหลือหรือ  ดีที่ไม่มีรถวิ่งตามมาเลยรอด พอตั้งหลักได้ ก็กดปุ่มสี่ล้อวิ่งสบายเฉิบๆ ระบบเบรคไอบีเอสก็ทำงานดี แต่ก็เถอะประมาทไม่ได้เช่นกัน แต่ขับสะดวกกว่าเดิมแยะ สมแล้วที่จ่ายเงินล้านกว่าๆ กับรถคันนี้ 


 


ก่อนหน้านี้ใช้ฮอนด้าซีวิคยอดนิยม ก็เกิดปัญหารถปัดตอนวิ่งบนหิมะบางๆ หักพวงมาลัย แต่รถไม่เลี้ยวตาม ล้อหน้าขวาไปกระแทกขอบทางเท้า ผลคือกะท้อล้อเบี้ยวคด  ถ้าเป็นล้อแม็กคงแตกไปแล้ว  ขับเร็วๆ หน่อยสั่นไปทั้งพวงมาลัย ต้องไปเสียตังค์เปลี่ยนทั้งล้อ  จากนั้นมาบอกตนเองว่าถ้ามีเงินหน่อยจะเปลี่ยนรถ เพราะไม่เหมาะ   ซีวิคเป็นรถในเมืองที่ไม่ทุรกันดาร


 


อยู่บ้านนอกที่โล่งเปิดกว้าง หิมะและลมมาเต็มๆ น่ากลัวมากเห็นหิมะโรยตัวเป็นสาย มองไปข้างหน้ารถไม่เห็นอะไรเกินหน้ารถตัวเอง ง่ายที่จะเกิดอุบัติเหตุ บ้านที่อยู่ก็ต้องวางระบบอย่างดี ให้มีระบบน้ำไฟครบ อันนี้ฝรั่งเค้ามีความเก่งกาจจริงๆ บ้านช่องเค้าเข้ามาอยู่แล้วจะไม่มีรู้เลยว่าข้างนอกอากาศทารุณมาก เพราะข้างในอุ่น แสงสว่างครบ น้ำร้อนน้ำอุ่นมีครบ แต่การทำแบบนี้ได้คือการมีโครงสร้างของเมืองที่ดี เมืองไทยคงอีกนานที่จะทำได้ เพราะเราไม่มีภัยธรรมชาติคุกคามแบบเค้าบ่อยๆ เลยอยู่แบบสบายๆ และมักง่าย


 


ที่ใช้ "พายุหิมะ" เกริ่นหัวก็เพราะว่าชอบใจกับระบบที่คิดจัดการเพื่อรองรับภัยธรรมชาติแบบนี้ของฝรั่ง และที่สำคัญคือ ฝรั่งมีวินัยและการวางแผนที่ดี จุดนี้แหละสำคัญ แต่แน่นอนมีต้นทุนสูง ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบในจุดนี้ ไม่ใช่ให้รัฐบาลทำอย่างเดียว และมีวินัยที่ใช้ร่วมกัน อย่างเคร่งครัดและจริงจัง เพราะทุกคนต้องผจญภัยธรรมชาตินี้ร่วมกัน


 


ขณะที่กำลังพิมพ์ต้นฉบับนี้ (บ่ายวันพุธ ของสหรัฐฯ) หิมะก็ยังตกลงมาไม่ขาด เป็นบรรยากาศที่คนไทยที่ไม่รู้จักฤทธ์เดชของฤดูหนาวแบบนี้ใฝ่ฝันกันเหลือเกิน  ส่วนคนที่ผ่านมาแล้วส่วนมากก็รำคาญตกทำไมกันหนักกันหนา เจ้าของบ้านก็ต้องโกยหิมะ เจ้าของรถก็ต้องปัดหิมะ ขูดหิมะ อากาศก็หนาวจะตายอยู่แล้ว เย็นกว่าในตู้เย็นหลายเท่า เช่นตอนเช้าวันนี้อากาศมาหล่นที่ 7 ฟาเรนไฮท์ หรือประมาณ ลบ 13-14 เซลเซียส เมืองไทยนี่ขนาดลงมาแค่ 18 เซลเซียส ก็บ่นหนาวกันแล้ว ไอ้ 18 เซลเซียส นี่เค้าเรียกว่ากำลังสบายๆ ยิ่งผู้เขียนไปเจอที่เมืองไทยให้ตั้งอุณหภูมิห้องที่ 25 เซลเซียส ผู้เขียนจะคลั่งตาย ร้อนมาก


 


เมื่อหนาวเดือนมค.ต้นปีนี้ อากาศหล่นมาที่ ลบ15 ลบ 20 ฟาเรนไฮท์ ส่วนกระแสลมมีอุณหภูมิที่ลบ 40 ฟาเรนไฮท์ รถผู้เขียนสตาร์ทไม่ติดเพราะผู้เขียนลืมเสียบปลั๊กเครื่องทำความอุ่นให้กับเครื่องยนต์ อันนี้หลายคนคงแปลกใจที่ในสหรัฐฯ มีรถที่มีปลั๊กไฟห้อยออกมา เคยรู้มาก่อนนี้ว่าบางแห่งต้องเสียบปลั๊กเครื่องทำความอุ่นให้เครื่องยนต์ เพราะไม่เช่นนั้น บรรดาของเหลวในเครื่องยนต์ เช่นน้ำมันเครื่องอาจจะหนืดมากไป หรือระบบคอมพิวเตอร์ทำงานไม่ปกติ ทำให้รถไม่ทำงาน  รถผู้เขียนมีระบบที่ซับซ้อนมากไปหน่อยหรือโรงงานทำไม่ดีก็ไม่ทราบ ต้องเสียบตลอดเวลาถ้าอุณหภูมิหล่นมาที่เลขตัวเดียวของฟาเรนไฮท์ ซึ่งถ้าเปรียบกับเมืองไทยก็คือ ลบ 10 เซลเซียสลงไป  ในขณะที่รถทั่วไปต้องให้ลงมาที่ลบของฟาเรนไฮท์ จึงค่อยเสียบ  อนึ่ง เครื่องทำความอุ่นเป็นอุปกรณ์ติดตั้งพิเศษในบางรัฐ


 


เรื่องข้าวปลาอาหารไม่ต้องพูด มีหลายหนที่ไม่มีผักสดในซูเปอร์มาร์เก็ต ถ้าหิมะตกต่อกันมากๆ หลายวัน บางครั้งรถที่มาส่งมาไม่ได้เพราะติดหิมะกลางทาง เมืองที่ผู้เขียนอยู่มีไฟจราจรอยู่สองไฟแห่ง เล่าให้ใครฟัง ทุกคนร้องกรี๊ด ถามว่าผู้เขียนไปอยู่ได้ไง ผู้เขียนบอกว่าหน้ามืดไปหน่อย เลยไปรับงานที่เค้าเสนอให้ เลยตกกระไดพลอยโจน แต่เอาเถอะไหนๆ ก็ลาออกแล้ว ไม่ต้องทนทุกข์อีกแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าแม้เป็นเมืองเล็ก เมืองนี้ก็มีอะไรหลายอย่างที่น่าชื่นชม เพราะถ้าเป็นเมืองไทยเมืองขนาดแค่นี้คงไม่มีอะไรเลย ฝรั่งเค้าต่อสู้ดี มีของจำเป็นๆ หลายอย่าง เพียงแต่ว่าชีวิตจะเรียบง่ายและทำให้เป็นคนที่ "ใจแคบ" ได้ง่ายดาย เพราะมัวแต่เป็นกบในกะลา กลัวความเปลี่ยนแปลง (จุดนี้สังคมไทยต้องพึงระวังเช่นกัน)


 


การเป็นกบในกะลาของคนส่วนใหญ่ในเมืองเล็กๆ แบบเมืองที่ผู้เขียนอยู่  ทำให้คนตรงนี้กลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองโดยง่าย มีหลายครั้งที่ผู้เขียนต้องตอบคำถามและชี้แจงเรื่องมุมมองเกี่ยวกับผู้ก่อการร้าย เรื่องแนวคิดศาสนาแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง เรื่องการบุกอิรัก  คนแถวนี้ส่วนมากเชื่อรัฐบาลเกือบหมด  แถมนึกว่าตนเองเก่งที่สุดในโลก และมองว่าแนวความคิดที่ถูกคือต้องมากจากซีกโลกตนเท่านั้น จุดนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคนไทยที่โดนฝังหัวกับแนวคิดต่างๆ จากชนชั้นปกครองไทย  จนลืมตั้งคำถามหรือหาทางพิสูจน์ข้อเท็จจริง ว่าไปแล้วก็กลับไปยังเรื่อง critical thinking ที่คนทั้งไทยทั้งฝรั่งขาด


 


พายุหิมะในดินแดนห่างไกลจากความเป็นเมืองใหญ่ทำให้ผู้เขียนคิดอะไรต่ออะไรไปได้เรื่อยๆ จากชีวิตประจำวันที่ต้องต่อสู้ในชีวิตการงาน ไปสู่เรื่องเทคโนโลยี แล้วท้ายสุดก็มาลงที่วิธีคิดของคน หลายครั้งได้มองถึงสังคมว่าทำไมคนเราจึงไม่คิด หลายครั้งสงสัยว่าทำไมคนจึงคิดแบบนั้นแบบนี้ หลายครั้งสลดใจกับการคิดของคนบางคน ผู้เขียนเชื่อว่าปัจเจกบุคคลแบบผู้เขียนคงเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่ผู้เขียนก็คงไม่ท้อจนเกินไปที่จะพยายาม การที่คิดว่าโลกใบนี้เปลี่ยนไม่ได้ คงไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ลองดีกว่าไม่ลอง เพียงแต่อย่าให้เจ็บตัวจนเกินไปนักก็แล้วกัน


 


ผู้นำทางความคิดหลายคน เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ก็ไม่ได้คิดจะพลิกแผ่นดินเรื่องความเท่าเทียมกันในสหรัฐฯ มาร์กซก็คงไม่ได้คิดว่าแนวคิดของเค้าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลกได้ ฟูโกต์เองก็ตายไปแล้วความคิดของเค้าก็คงอยู่ แถมมานั่งตีความกันให้วุ่น เคนเนธ เบิร์คก็บ้าๆบอๆ แถมเป็นคนขาวสุดกู่ก็มีคนพูดถึงไม่น้อย  ซูซาน ซอนแทกก็ให้แนวคิดเกี่ยวกับสังคมแนวใหม่ไว้พอควร ผู้คนเหล่านี้มีความคิดที่จะสร้างและเปลี่ยนแปลง และไม่หยุดยั้ง และไม่ไหลไปกับกระแสจนเกินไป หรือบางคนก็หลุดโลกไปเลย


 


คงไม่ผิดที่หลายคนก็จะไม่หยุดคิด ไม่หยุดสร้าง และไม่ท้อที่จะสู้ต่อไป โดยเพื่อให้เกิดชีวิตที่ดีขึ้น แม้เปลี่ยนโลกไม่ได้ทั้งโลก แต่ก็เปลี่ยนตนเองได้ และบอกให้สังคมรู้


 


พายุหิมะจากไป หิมะธรรมดาก็คงเข้ามาบ้าง ความไม่สะดวกไม่สบายก็มีเข้ามาเป็นระยะๆ ในเมืองนี้ ปัญหาเรื่องการไม่รู้จักคิดก็ยังคงมีอยู่ พายุหิมะคงกลับมาอีก จนกว่าจะพ้นฤดูหนาว ซึ่งก็ราวต้นเดือนพฤษภาคม กว่าจะถึงเวลานั้น คงมีเรื่องมาเล่าให้ผู้อ่านฟังอีก


 


กลับหน้าแรกประชาไท