Skip to main content

ความทรงจำที่สนามหลวง ตอน ๑ บทสะท้อนการมีส่วนร่วม

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ท้องสนามหลวง ถือว่าเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนทุกคนได้เข้ามาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งหลับนอน ที่พักอาศัย พื้นที่ขายอาหาร พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น รณรงค์กินไก่ปลอดไข้หวัดนก รณรงค์ออกกำลังกายเสื้อสีเหลือง รวมทั้งการจัดงานมงคลพิธีต่างๆ เป็นต้น



ในช่วงวันที่ ๒๓ – ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ท้องสนามหลวงก็เป็นพื้นที่ที่เครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ทำงานด้านเอดส์ ได้จัด "มหกรรมเอดส์ภาคประชาชนครั้งที่ ๑" ขึ้น ซึ่งภายในงานทั้งสามวัน เต็มไปด้วยมวลชลหลายพันคนซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งเพศ อายุ วัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ เข้ามาร่วมกิจกรรมทั้งเป็นผู้จัดงานและเป็นผู้ร่วมงาน


 


เชื่อว่าผู้เข้าร่วมงาน อาจได้ร่วมกิจกรรมในบูธแต่ละเครือข่ายฯ ได้รับฟังการเสวนาภายในห้องประชุมขนาดใหญ่ที่ถูกเนรมิตให้ติดแอร์เย็นสบาย ทำให้ลืมบรรยากาศร้อนอบอ้าวของสนามหลวงไปชั่วขณะ หรือจะเป็นการร่วมสนุกและเพลินใจกับสุนทรียะของจังหวะดนตรีจากศิลปินกลุ่มต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมที่เปิดโอกาสสำหรับการค้นหาและสัมผัสประสบการณ์ เข้าใจบทเรียนและเข้าถึงข้อมูลด้านเอดส์ของผู้คนที่ร่วมงาน


 


มหกรรมเอดส์ภาคประชาชนครั้งนี้ หวังให้เกิดผลสะเทือนต่อสังคมไทยในหลายด้าน ด้านหนึ่ง เป็นการกระตุ้นความสนใจและความตื่นตัวในประเด็นเอดส์ของสาธารณชน ให้ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้านและตระหนักว่าเอดส์เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องร่วมมือกันหาทางออก


 


ด้านหนึ่ง เป็นการสรุปบทเรียน เผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ ที่ทันต่อสถานการณ์สังคมขององค์กรประชาสังคมที่ทำงานด้านเอดส์และเสนอสู่ทิศทางแนวนโยบายด้านเอดส์ของภาครัฐ


 


ด้านหนึ่ง เป็นการติดตามและทวงสัญญาของรัฐบาลไทยที่เคยประกาศไว้เกี่ยวกับการป้องกันและการเข้าถึงการรักษาเอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทย


 


สำหรับการจัดงานนี้ นอกจากจะมีกิจกรรมของเครือข่ายประชาชนกลุ่มต่างๆ แล้วยังมีกิจกรรมเยาวชนภายในงานนี้ด้วย ที่เข้ามาเป็นส่วนผสมได้อย่างกลมกลืนเสมือนกาแฟที่มีรสชาติกลมกล่อม


 


กิจกรรมของเยาวชนภายในงานนี้มีหลายส่วนด้วยกัน ซึ่งได้แก่


 


๑. ห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ๔ ห้อง มีห้องโต้วาทีถุงยางอนามัยสำคัญแค่ไหนสำหรับวัยรุ่น ห้องการมีส่วนร่วมระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ห้องสรุปงานโรดโชว์อยู่อย่างสร้างสรรค์และห้องสถานบริการที่เป็นมิตรกับเยาวชน ห้องเหล่านี้เยาวชนเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรม จัดกระบวนการอภิปรายแลกเปลี่ยน


 


๒. ลานกิจกรรมเยาวชน มีบาร์นมสำหรับจำหน่ายนมสดและขนม และพื้นที่พักผ่อน โต๊ะนั่งเล่น วงสนทนาประเด็นต่างๆ มีการทำเข็มกลัด Oop! และอื่นๆ อีกมากมาย


 


๓. ค่ายเยาวชนก่อนงาน เป็นค่ายเพื่อเตรียมความพร้อมเยาวชนที่มาร่วมงานในส่วนของเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทยจำนวนกว่า ๓๐๐ คน มีการทำความรู้จักกันและกัน และแบ่งฝ่ายกันทำงาน


 


๔. หนังสือพิมพ์ "เสียงเยาวชน" สื่อกลางในการเผยแพร่กิจกรรมและมุมมองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน โดยจัดพิมพ์ภายในงานทั้งสามวัน


 



 


หากถามว่าทำไมต้องมีกิจกรรมเยาวชนภายในงานนี้


 


สำหรับผมแล้วคิดว่า การทำงานเพื่อรณรงค์ป้องกันเอดส์นอกจากจะทำโดยกลุ่มผู้ใหญ่แล้ว เยาวชนก็เป็นพลเมืองกลุ่มหนึ่งที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม เห็นได้จากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมในพื้นที่ของเยาวชนกว่าหลายร้อยกลุ่มทั่วประเทศ ดังนั้นการเข้ามามีส่วนร่วมในงานนี้จึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่เยาวชนกลุ่มต่างๆ จะได้มาแลกเปลี่ยนการทำงานและเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะนำไปปรับใช้ต่อการทำงานของตน


 


นอกจากนี้แรงขับสำคัญที่เยาวชนต้องร่วมมือกันในการป้องกันเอดส์ เนื่องจากเยาวชนที่มีอายุระหว่าง ๑๕ – ๒๕ ปี ถือเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่มีจำนวนมากที่สุดในจำนวนกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่ และเยาวชนมักตกเป็นจำเลยในการกล่าวหาถึงพฤติกรรมทางเพศของตนในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกล่าวหาว่า "มั่วสุม" "มีเซ็กส์ก่อนวัย" ฯลฯ และอีกมากมายที่เยาวชนไม่เคยมีโอกาสที่จะบอกว่าตนเผชิญปัญหาอย่างไร อะไรเป็นเหตุที่ทำให้เยาวชนเป็นเช่นนี้ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เยาวชนต้องรวมกลุ่มเรียนรู้และป้องกันเอดส์โดยตนเอง และทำงานกับกลุ่มต่างๆ


 


แน่นอนว่าการมีส่วนร่วมของเยาวชน ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น เพราะการมีส่วนร่วมต้องมากกว่าการเป็นผู้เข้าร่วมเท่านั้น การตีความเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเยาวชนในมุมมองของผู้ใหญ่อาจมีมุมมองที่ต่างกันกับเยาวชนบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ร่วมกันว่าการมีส่วนร่วมที่แท้จริงเป็นอย่างไร  การทำงานงานโดยการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชนเพื่อทำกิจกรรมในชุมชนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง


 


จำเป็นมากกว่าการเกณฑ์เด็กมาเข้าร่วมกิจกรรม  


จำเป็นมากกว่าเป็นผู้เข้าร่วมที่มาฟังผู้ใหญ่พูด


จำเป็นมากกว่าการเป็นผู้ถูกบงการให้จัดงานโดยที่ไม่มีการสนับสนุนใดๆ


และจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคน ต้องคิดใหม่ว่า การทำงานกับเยาวชนนั้นได้ให้ความสำคัญต่อการรับฟังและการมีส่วนร่วมของเยาวชนมากน้อยเพียงใด


 


 



 


แต่ที่แน่ๆ งานมหกรรมเอดส์ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชน กล่าวคือ การจัดกิจกรรมเยาวชนภายในงานนี้ เยาวชนเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีองค์กรพี่เลี้ยงเป็นผู้ใหญ่ที่คอยแนะนำและสนับสนุนในด้านต่างๆ


 


และก่อนการจัดงานนี้เยาวชนก็ได้ร่วมคิด ร่วมเตรียมงานกับพี่ๆ เครือข่ายต่างๆ เป็นเวลานานกว่าครึ่งปี ทำให้มีเนื้อหาและรูปธรรมที่สอดคล้องและสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างจริงจัง


 


เป็นรูปธรรมของการมีส่วนร่วมที่ชัดเจน และควรนำหลักคิดนี้ไปขยายต่อ ขยายต่อในระดับพื้นที่ที่มีการทำงานกับเยาวชน หรือพื้นที่ที่กำลังจะทำงานกับเยาวชน  เพราะการทำงานในยุคต่อไป คงไม่ใช่ทำงาน "เพื่อเยาวชน" เพียงอย่างเดียว  แต่ควรเป็นการทำงาน "ร่วมกับเยาวชน" มากกว่า


 


 

กลับหน้าแรกประชาไท