Skip to main content

กลุ่มวัยรุ่น WY : We are Your Friends เราคือเพื่อนของคุณ (2)

คอลัมน์/ชุมชน

งานของเพื่อนเพื่อเพื่อน พี่เพื่อน้อง


แม้การทำงานของกลุ่มวัยรุ่น WY จะทำกับกลุ่มเด็กแก๊ง แต่โดยกระบวนการทำงานแล้วกลุ่มได้นำประเด็นเรื่องเอดส์ เพศศึกษาและมิติสุขภาพ เป็นประเด็นหลักในการทำงาน พอทำกิจกรรมไป ก็มีเด็กเข้ามาทำกิจกรรมเพิ่มขึ้น ถ้าเด็กไปมีเรื่องกับคนอื่นมา แล้วมาหาพี่หล้า พี่หล้าจะบอกเขาไปว่า " เป็นเรื่องเวรเรื่องกรรมของเรา ที่ไปทำกับเขาเอาไว้ ถ้าเราไปทำเขาก็บาปเปล่าๆ เราอยู่อย่างนี้แหละดีแล้ว "


การบอกเช่นนี้คือเป็นการบอกโดยไม่สนับสนุนอารมณ์ของเด็กให้อยากชกตี แต่จะชวนให้คิดถึงเหตุผลที่จะตามมากกว่า


" เด็กเขาจะรู้ว่าเรากลัวเรื่องพวกนี้ เป็นห่วงเขาด้วย ซึ่งถ้าเราหาทางออกที่ดีกว่านี้ได้เราก็จะทำ บางทีเราก็ถามเขาไปว่าเธอมีเพื่อนไหม ? ชวนมาทำกิจกรรมกับเราสิ แล้วเราก็จัดกิจกรรมให้เขา พอเราทำกิจกรรมร่วมกับเขาได้สักระยะ เขาก็มาอยู่กับเราช่วงหนึ่ง ระยะหลังเราก็ได้คุยกับเขา เช่น เรายกตัวอย่างให้เขาว่า ถ้าเขาทำพฤติกรรมอย่างนี้แล้ว ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร และเด็กเหล่านี้ก็ต้องการที่พึ่งด้วย "


พี่หล้าเสริมต่อว่า หลังจากทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเด็กแล้ว พฤติกรรมของเด็กเริ่มเปลี่ยนไปเป็นดีขึ้น หลายคนที่เคยเป็นคนไม่ดี ก็เริ่มหางานทำและมีความรับผิดชอบมากขึ้น เช่น " รุ่ง " เมื่อก่อนเป็นคนไม่ดี แม้มีอายุมากขึ้นแต่พฤติกรรมก็ไม่ได้ดีขึ้นตามอายุและวุฒิภาวะ เขาจะเป็นคนช่วยเคลียร์เวลาน้อง ๆ หรือเพื่อน ๆ ไปมีเรื่องกับคนอื่น แต่ตอนนี้เขาเป็นผู้ให้ คือได้ทำกิจกรรม ได้ฝึกฟัง ฝึกยอมรับ ฝึกคิด จนปัจจุบันมีงานทำเป็นหลักแหล่งแล้ว


" อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ เราให้เด็กไปแจกถุงยางอนามัยที่งานฤดูหนาวของ WY ประมาณ 50 ชิ้น เราก็ถามเขาว่าถ้าเขาเจอคู่อริที่งานฤดูหนาวเขาจะทำอย่างไร ? และก็ถามต่อว่า ถ้าเอาถุงยางอนามัยที่เรานำไปแจกนี้ให้เขาจะดีกว่าการไปมีเรื่องกับเขาไหม ? เด็กคิดกันว่า ถ้าเอาถุงยางอนามัยไปแจกคู่อริน่าจะดี พวกเขาจะรู้สึกว่าเราก็เป็นห่วงเขา ซึ่งจะช่วยทำให้กลายเป็นมิตรกัน ไม่มีการเอาคืน หรือคิดวางแผนทำอะไรไม่ดี "


อากาศที่เราคุยด้วยกันเริ่มร้อนขึ้น ผมหันหลังไปเปิดพัดลม พี่หล้ายื่นน้ำให้ผมดื่ม พร้อมเล่าต่อว่า " เมื่อก่อนเด็กจะคิดแต่เรื่องการตีกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่ตอนนี้คิดกันน้อยลง เพราะปัจจุบันเรื่องกลุ่มแก๊งอะไรพวกนี้เริ่มซา ๆลง ไม่รุนแรงเหมือนเมื่อก่อน เพราะเมื่อก่อนเราไม่มีกิจกรรมรองรับเด็กกลุ่มนี้ และไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร หรือว่าต้องทำอย่างไร "


" พอเราเริ่มมีกิจกรรมรองรับแล้ว เด็กก็เริ่มคิด และมาร่วมทำกิจกรรมร่วมกัน จากที่เคยตีกัน พอมาทำกิจกรรมร่วมกันก็ดีกัน มีความเป็นมิตรกันมากขึ้น เมื่อมีกิจกรรม พฤติกรรมที่ไม่ดีต่าง ๆ ก็เริ่มลดน้อยถอดลง "


" เด็กแก๊งที่เข้ามาทำกิจกรรมกับเรา เพราะอยากร่วมทำกิจกรรม และอยากรู้จัก WY และสิ่งที่จูงใจก็คือการได้กินข้าว กินขนมร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนทัศนคติร่วมกัน เขาได้เรียนรู้ว่ามีองค์กรที่ให้เขาได้มาทำกิจกรรม ดูแล เอาใจใส่พวกเขา และเมื่อเด็กได้เข้ามาทำกิจกรรมก็จะมีการติดต่อ ชักชวนเพื่อนให้มาร่วมทำกิจกรมร่วมกัน ซึ่งส่งผลให้มีเครือข่ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ "


ผมถามว่า ที่ทำงานกับกลุ่มแก๊งมีแค่ WY หรือเปล่า พี่หล้าตอบว่า นอกจาก WY แล้วก็ยังมีอีกหลายองค์กรที่ทำงานร่วมกับเด็กเหล่านี้ และแต่ละองค์กรทำงานไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้เด็กมีวิสัยทัศน์ หูตากว้างไกล มีทางเลือกมากขึ้น และการทำงานของเราไม่ได้บอกว่าให้ทำแบบนั้นแบบนี้ แต่เราจะทำให้เด็กได้รู้จักคิดมากขึ้น


" ถ้าเรามีกิจกรรมให้เด็กทำมากขึ้น เด็กก็จะลดความรุนแรงลง ซึ่งทาง WY จะเน้นอยู่ 4 เรื่องคือ ลืม ลด ละ เลิก ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงยาเสพติด เพราะเด็กบางคนไม่ได้ติดคือ มีก็เสพ ไม่มีก็ไม่เสพ และการที่เราทำแบบนี้ คนทำงานอย่างเราก็ได้พัฒนาศักยภาพไปด้วย การทำงานกับน้อง ๆ ที่เป็นแก๊ง เราต้องเริ่ม ณ จุดที่เขาเป็น ไม่ใช่ทำในสิ่งที่เราคิดว่าควรทำ "


ก่อนปิดประตู


เวลาในการคุยกับพี่หล้าอาจไม่มากนัก แต่การเรียนรู้ในวันนี้กลับทำให้เห็นอะไรหลายอย่างที่เป็นบทเรียนและประสบการณ์อันสำคัญต่อคนที่จะทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นที่เรียกว่าแก๊ง


การสนทนากันวันนี้ไม่ต่างจากทุกครั้งที่ได้พูดคุยกัน ความรู้สึกอบอุ่นและเป็นกันเองของพี่หล้า ทำให้คิดได้ว่า มีผู้ใหญ่อีกหลาย ๆ คนที่เข้าใจและยอมรับกลุ่มวัยรุ่น และพร้อมที่จะเรียนรู้และปันโอกาสในการทำงานเพื่อสังคม


การก่อเกิดกลุ่ม WY ที่นับร่วมมากว่า 6 ปี อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านที่กำลังคิดว่า จะทำอย่างไรดีกับกลุ่มวัยรุ่นในชุมชนหรือหมู่บ้าน ให้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์เช่นนี้


จุดเริ่มต้นต้องไม่ใช่การปิดประตู ปิดหูไม่รับฟัง หากต้อง เปิดประตูหัวใจ และพร้อมรับฟัง ยอมรับและทำความเข้าใจกับธรรมชาติของวัยรุ่น และเริ่มจากการให้วัยรุ่นที่ใกล้ตัวมาร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมทำ และรับผิดชอบร่วมกัน ในสิ่งที่กำลังจะทำเพื่อเขา



….. ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยนะครับ