Skip to main content

ต้านอำนาจรัฐ

คอลัมน์/ชุมชน



 


-1-


 



 


 







 


กี่ยุคสมัย - - จากอดีตถึงปัจจุบัน


ความฝันของชาวนา  ยังคงเหมือนเดิม


ขอเพียงมีข้าวเต็มยุ้ง  มีผืนนาไว้ไถหว่านเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว


แต่ก็อีกนั่นแหละ,  ความฝันพลันสิ้นสูญ


เมื่อนายทุนเข้ามากอบโกยไปต่อหน้าต่อตา


ยุ้งฉางว่างเปล่า  ที่นาหลุดลอย...


 


หรือประเทศไทยคือความแตกต่าง


ความเป็นธรรม  ความเท่าเทียมถูกทิ้งขว้าง


ระหว่างชนชั้นถูกพอกพูนในสังคมจนแน่นหนา


ยากนักจักฝ่าข้ามไปถึงได้...


นักการเมืองนักปกครองมีเงินทองหมื่นแสนล้าน


ประชาชนล้มลุกคลุกคลานทุกข์ยากในชีวิต


แต่ก็อีกนั่นแหละ, มีคนบอกว่าเขาบกพร่องโดยสุจริต


และนี่คือผลิตผลแห่งความชอบธรรมของรัฐบาลในยุคนี้


 


ปราชญ์ท่านหนึ่งใครกล่าวว่าไว้...


เหล่านักปกครองใดมีความมั่งคั่งมีทรัพย์สมบัติมากจนเกินการ


ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี  ดื่มกินอิ่มหนำสำราญอย่างฟุ่มเฟือย


สะพายดาบแห่งอำนาจ  ใช้ชีวิตอย่างฉ้อฉล


หากประชาชนนั้นท้องกิ่วหิวโหย 


ไร่นารกร้าง  ยุ้งฉางว่างเปล่า


เราอาจเรียกเหล่านักปกครองนั้นได้ว่า - - "มหาโจร!"


 


 


 



 


 


ผมเขียนงานชิ้นนี้เอาไว้นานหลายปีแล้ว  ทว่ายังคงเป็นจริงอยู่อย่างนั้น  ไม่เปลี่ยนแปลง  ทำให้ต้องค้นหาเอามาอ่านย้ำซ้ำ ๆ  อีกหน  และเชื่อได้เลยว่า  มันจะต้องเป็นเช่นนี้ต่อไป  ตราบใดที่อำนาจรัฐที่ขาดความชอบธรรมยังคงลอยวนอยู่เหนือทั่วผืนแผ่นดิน  คลอบคลุมวิถีการดำรงอยู่ของประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ยินยอมจำนนจองจำโดยไร้สิทธิการโต้แย้งใด ๆ


                                               


-2-


 


"...ที่จริงแล้ว  รัฐบาลนั้นเป็นเพียงแค่เครื่องมือซึ่งประชาชนเลือกขึ้นมาเพื่อกระทำตามเจตจำนงขอมหาชน  ทว่าเครื่องมือนั้นกลับบิดเบี้ยวฉ้อฉลไปเสียก่อน  ที่จะได้สนองเจตนารมย์ของประชาชน..." นั่นเป็นถ้อยคำของเขา- -เฮนรี่  เดวิด ธอโร  ในความเรียงที่ชื่อ "ต้านอำนาจรัฐ"


 


"เฮนรี่  เดวิด ธอโร  เป็นใคร?..."


เชื่อว่าใครหลายคนคงจะรู้จักเขาในงานนิพนธ์ที่ชื่อ "วอลเดน" อันลือชื่อ  ใช่  ถือว่าเป็นงานชิ้นเอกของเขาที่คนทั่วโลกรู้จัก  เมื่อเขาพาตัวเองไปพักอาศัยอยู่กลางป่าริมบึงวอลเดน   และลงมือสร้างกระท่อมเพื่อทดลองใช้ชีวิตพึ่งตนเองอย่างสงบ  สมถะ  เรียบง่าย ทว่าเมื่อเขาออกมาพร้อมกับงานนิพนธ์ชุดนี้  หลายคนรับรู้ว่า  งานชิ้นนี้ทรงพลังอย่างยิ่ง


 


เหมือนกับงานความเรียง ชื่อ  "ต้านอำนาจรัฐ"  ที่ผมหยิบเอามาอ่านอีกครั้ง


ว่ากันว่า  งานเขียนของธอโรมีทั้งความสำคัญ  และความยิ่งใหญ่อยู่ในตัวเอง


 


วีระ  สมบูรณ์  ได้เขียนคำนำเอาไว้ในหนังสือชื่อ "ต้านอำนาจรัฐ"  นี้ว่า  ประเด็นต่าง ๆ ที่เขาหยิบยกขึ้นมานั้น  นอกจากจะท้าทายและเสนอแนะให้แก่คนร่วมยุคสมัยแล้ว  ยังเกี่ยวพันกับปัจจุบันอย่างไม่ล้าสมัย  ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องคุณค่าของมนุษย์  ศักดิ์ศรีและวิถีชีวิตของมนุษย์  สังคม  อำนาจรัฐ  ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ


 


ดังที่ข้อเขียนที่สำคัญที่ของเขาสองชิ้น คือ วอลเดน (แปลเป็นไทยโดย  สุริยฉัตร  ชัยมงคล  )  และต้านอำนาจรัฐ (แปลโดย  พจนา  จันทรสันติ)  จัดพิมพ์โดยโครงการจัดพิมพ์คบไฟ  มูลนิธิโกมลคีมทอง ที่ยังคงเป็นที่นิยมอ่านและกล่าวขวัญถึงอย่างไม่เสื่อมคลาย


 


"ความยิ่งใหญ่ของงานเขียนของเขา  อยู่ที่สำนวนการเขียนและลีลาการนำเสนอ  ซึ่งตรงไปตรงมา  เข้มข้น  แต่ขณะเดียวกันก็สละสลวยและกระตุ้นเร้าจินตนาการ  ธอโรไม่ใช่นักวิชาการที่รอบรู้  ไม่ใช่กวีที่โดดเด่น  ไม่ใช่ปัญญาชนนักวิจารณ์  ไม่ใช่ศาสดาผู้ไขคำตอบ  นอกจากนี้  ความคิดของเขาก็ไม่ใช่ต้นแบบ  ไม่ใช่คำตอบหรือทางออกที่ชัดเจนสวยหรู  แต่งานเขียนที่สามารถเขย่าความรู้สึกนึกคิดของผู้คนได้อย่างถึงรากถึงโคน" วีระ  สมบูรณ์  พูดถึงเขา


 


-3-


 


เมื่อธอโรพูดถึงเรื่อง อำนาจรัฐ


ธอโร บอกว่า...เมื่อใดที่อำนาจตกไปอยู่ในมือของประชาชนแล้ว  เมื่อนั้นคนหมู่มากก็จะได้ทำการปกครองอย่างต่อเนื่องยาวนาน  นั่นมิใช่เพราะว่าการเป็นฝ่ายข้างมากเป็นความชอบธรรม  ทั้งมิใช่ดูยุติธรรมดีแล้วในสายตาของฝ่ายข้างน้อย  แต่เป็นเพราะเหตุว่า  ฝ่ายข้างมากนั้นมีกำลังเข้มแข็งที่สุด 


 


ทว่ารัฐบาลซึ่งปกครองโดยคนหมู่มากส่วนใหญ่แล้ว  เท่าที่เห็นมาก็ไม่อาจยึดมั่นอยู่ในบรรทัดฐานแห่งความยุติธรรมได้  จะมีรัฐบาลใดไหมที่คนหมู่มากมิได้กระทำการตัดสินถูกผิดชั่วดีลงไปอย่างเด็ดขาด  แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของมโนธรรม  จะมีรัฐบาลใดไหมที่เสียงข้างมากตัดสินแต่เพียงเรื่องที่เกี่ยวพันกับการอำนวยผลประโยชน์  ควรหรือที่ประชาชนพลเมืองจะยอมสละละมโนธรรมของตนให้แก่ผู้ออกกฎหมาย  แม้แต่เพียงชั่วอึดใจหนึ่งหรือชั่วพริบตาหนึ่ง 


 


"ซึ่งถ้าเป็นดังนั้นแล้ว  มนุษย์จะมีมโนธรรมไว้เพื่อสิ่งใดกันเล่า  ข้าพเจ้าคิดว่า  เราควรจะเป็นมนุษย์ก่อนสิ่งอื่นใด  และเป็นพลเมืองในอันดับถัดไป  คงจะไม่ถูกต้องนักที่ที่จะมอบที่จะมอบความเคารพให้แก่กฎหมายยิ่งกว่าความถูกต้องเที่ยงธรรม"


 


เมื่อธอโร  พูดถึงเรื่อง พรรคการเมือง


เขาบอกว่า  มีคำกล่าวอยู่ว่า  พรรคการเมือง  นั้นหามีมโนธรรมใด ๆ  ไม่  คำกล่าวเช่นนี้นับว่าจริงแท้  ทว่าพรรคการเมือง  ซึ่งประกอบขึ้นด้วยบุคคลซึ่งเปี่ยมมโนธรรม  ย่อมนับเป็นพรรคการเมืองซึ่งมีมโนสำนึกได้  กฎหมายนั้นไม่อาจทำให้คนมีความเที่ยงธรรมมากขึ้นมาได้แม้แต่เศษธุลีหนึ่ง  และด้วยเหตุแห่งการถือเคร่งในตัวบทกฎหมายนี้เอง  แม้แต่คนดี ๆ  เอง  ก็ยังกลายเป็นตัวแทนของความอยุติธรรมอยู่ได้ทุกวี่วัน


 


เมื่อพูดถึงเรื่อง  การเลือกตั้ง 


ธอโร บอกว่า  การเลือกตั้งทุกชนิดนั้นเป็นเหมือนกับเกมการเล่นชนิดหนึ่ง  เหมือนกับหมากรุกและสกา  ซึ่งมีศีลธรรมเจือเป็นกระสายอยู่เล็กน้อย  เป็นการเล่นกับเรื่องถูกเรื่องผิด  เล่นกับปัญหาด้านศีลธรรม  และก็มักจะมีการพนันขันต่อติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 


 


"ซึ่งในการนี้  ผู้ออกเสียงเลือกตั้ง  ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงใด ๆ  เลย  ฉันเพียงแต่ลงคะแนนเสียงดังที่ฉันคิดว่าเหมาะสมที่สุด  แต่ฉันก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบว่า  สิ่งที่ฉันคิดว่าถูกต้องที่สุดนั้นจะคงเส้นคงวาหรือไม่  เพราะนั่นเป็นเรื่องที่มหาชนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ" 


 


เมื่อธอโร  พูดถึงเรื่อง ความรักชาติ


"...ความผิดที่ได้รับการยอมรับและกระทำกันอย่างกว้างขวางนั้น  ย่อมต้องอาศัยคุณความดีชนิดไม่เห็นแก่ตัวคอยหล่อเลี้ยง  ความรักชาติอาจนำมาซึ่งการกระทำอันน่าตำหนิได้ไม่ยาก  และยิ่งมีจิตใจสูงส่งกลับยิ่งทำได้ง่ายเข้าไปใหญ่  ใครก็ตามที่ประณามพฤติกรรมการกระทำของรัฐบาล  แต่กลับยังให้ความภักดีและการสนับสนุน  ก็คือผู้สนับสนุนรัฐบาลนั้นอย่างเต็มใจที่สุดนั่นเอง  และพวกนี้แหละ  ที่มักเป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงที่สุดต่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง..."


 


ธอโร  ยังมองรัฐบาลเป็นเพียงเครื่องจักร 


เขาบอกว่า  ถ้าหากว่า  ความอยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของแรงเสียดทานและความสึกหรอของเครื่องจักรรัฐบาลนี้  ก็ช่างหัวมันเถอะ  ช่างมัน  เพราะบางทีเครื่องจักรนี้อาจเดินได้อย่างราบเรียบอีกครั้ง  หรือไม่ก็พังพินาศไปเลยก็เป็นได้  ถ้าหากว่าความยุติธรรมนี้มีสปริง  มีรอก  สายพานหรือเพลาอยู่ในตัวของมันเอง  ท่านก็อาจพิจารณาดูได้ว่า  การแก้ไขนั้นควรจะหนักเบาสถานใด 


 


"แต่ถ้าหากว่าถึงขนาดที่ทำให้ท่านต้องกลายเป็นแทนของความอยุติธรรมที่กระทำต่อผู้อื่นด้วยแล้วไซร้  ข้าพเจ้าก็ขอบอกว่า  จงขัดขืนต่อกฎหมายชนิดนั้น  ขอให้ชีวิตของท่านเป็นแรงเสียดทานที่จะหยุดเครื่องจักรนั้นเสีย  เพราะสิ่งที่ข้าพเจ้าใส่ใจเหนือสิ่งอื่นใด  ก็คือจะไม่ยอมให้รัฐหยิบมือข้าพเจ้าไปกระทำในสิ่งผิด  ซึ่งตัวข้าพเจ้าเอง ประณามหยามเหยียด"


 


"รัฐนั้นไม่เคยกล้าเผชิญหน้ากับจิตสำนึกของมนุษย์โดยตรงเลย  ไม่ว่าจะเป็นจิตสำนึกทางศีลธรรมหรือสติปัญญา  ทว่ากลับถือเอาร่างกายของมนุษย์เป็นดุจดังจิตสำนึก  รัฐนั้นมิได้มีสติปัญญาหรือความสัตย์ซื่อเที่ยงธรรมเป็นอาวุธ  ทว่ากลับมีพลังทางกายที่เหนือกว่า  แต่ข้าพเจ้าก็มิได้เกิดมาเพื่อที่จะถูกย่ำยีบีฑา  ข้าพเจ้าจะหายใจอยู่ด้วยหลักการของตนเอง  ขอให้ลองดูกันต่อไปเถิดว่า  ใครจะเป็นผู้แข็งแกร่งที่สุด  มหาชนจะมีพลังอำนาจเยี่ยงไรเล่า" 


 


แน่นอน - - ธอโร ได้พูดถึงเรื่อง การปฏิวัติ


"มนุษย์ทุกคนย่อมตระหนักได้ถึงสิทธิอันชอบธรรมแห่งการปฏิวัติ  นั่นก็คือ  สิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมภักดีและต่อต้านขัดขืนต่อรัฐบาล  เมื่ออำนาจเผด็จการและความเหลวแหลกของมันไปถึงจุดที่ไม่อาจทนทานได้..."


 


"...ทว่าเมื่อใดที่เครื่องจักรนั้นผุกร่อนสึกหรอจนหมดสภาพ  เมื่อใดที่การกดขี่ข่มเหง  การเบียดเบียนได้ผนึกรวมตัวเป็นขุมกำลังกล้าแข็ง   ข้าพเจ้าก็อยากจะบอกว่า  ขอให้เราเลิกใช้เครื่องจักรเครื่องนั้นได้แล้ว..."


 


"ขณะที่ทั่วทุกหย่อมหญ้ายังถูกความอยุติธรรมปกคลุมครอบงำอยู่  และถูกยึดครองอยู่ด้วยกองทัพต่าง ๆ  และยังถูกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกกระนี้แล้ว  ข้าพเจ้าคิดว่าภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้  คงจะไม่เป็นการเร็วเกินไปสำหรับคนผู้ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง  ที่จะทำการกบฏและปฏิวัติต่อต้าน..."


 


เมื่อผมหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านอีกรอบ  แล้วย้อนกลับมามองอำนาจรัฐการเมืองของไทยในห้วงขณะนี้  ช่างตรงและสอดคล้องอย่างไม่น่าเชื่อ  กับความเรียงชิ้นนี้   "ต้านอำนาจรัฐ"  ของ  เฮนรี่  เดวิด  ธอโร  ซึ่งเขียนเอาไว้เมื่อ ปี ค.ศ.1849


 


และเมื่อมาถึงตอนนี้  ผมเริ่มเชื่อในคำกล่าวของปราชญ์ท่านหนึ่งที่เคยว่าไว้...


เหล่านักปกครองใดมีความมั่งคั่งมีทรัพย์สมบัติมากจนเกินการ


ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี  ดื่มกินอิ่มหนำสำราญอย่างฟุ่มเฟือย


สะพายดาบแห่งอำนาจ  ใช้ชีวิตอย่างฉ้อฉล


หากประชาชนนั้นท้องกิ่วหิวโหย 


ไร่นารกร้าง  ยุ้งฉางว่างเปล่า


เราอาจเรียกเหล่านักปกครองนั้นได้ว่า - - "มหาโจร!"


 


 


 กลับหน้าแรกประชาไท