Skip to main content

3 ปี เครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย กับการทำงานของผู้ใช้ยา เพื่อผู้ใช้ยา

คอลัมน์/ชุมชน

 


           


วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็น วันรัฐธรรมนูญ และยังเป็น วันสิทธิมนุษยชนโลก ซึ่งหลายคนคงจะทราบกันดี แต่จะมีใครทราบบ้างหรือเปล่าว่า นอกจากจะเป็นวันสำคัญดังที่กล่าวมาแล้ว ยังเป็นวันที่ "ผู้ใช้ยา" และ "ผู้เคยใช้ยา" รวมตัวกันเพื่อก่อตั้ง เครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย ขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2545


 


ทำไมถึงต้องมีการจัดตั้งเครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย ?


 


เพราะว่าที่ผ่านมาการให้ความสำคัญ และใส่ใจในการแก้ไขปัญหาในกลุ่มผู้ใช้ยาเป็นไปด้วยความไม่ถูกต้องและเป็นธรรม ผู้ใช้ยาถูกมองว่าเป็น อาชญากร ทำให้ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว หลบๆ ซ่อนๆ เพราะเกรงกลัวอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิตและครอบครัว  เนื่องมาจากการใช้มาตรการความรุนแรงในการปราบปราม และแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ซึ่งผลก็คือ เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้ใช้ยาและผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก แถมสังคมยังรังเกียจ แบ่งแยก มองผู้ใช้ยาไปในเชิงลบ


 


ผู้ใช้ยาถูกมองว่าเป็น ผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการรักษา แต่ในขณะเดียวกันโอกาสที่จะได้รับการดูแลสุขภาพก็มีข้อจำกัดมากมายทำให้หลายคนมองว่า กลุ่มผู้ใช้ยาเป็นกลุ่มที่เข้าถึงได้ยาก ทำให้ผู้ใช้ยาต้องตกอยู่ในสภาพของผู้ด้อยโอกาสจากการกระทำโดยวิถีของสังคม


 


นอกจากนี้การเข้าถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ใช้ยาเองก็เป็นไปได้อย่างยากลำบาก ทำให้โอกาสที่จะมีการใช้เข็มหรืออุปกรณ์เสพยาร่วมกันจึงมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มมากขึ้น และด้วยสาเหตุดังกล่าวก็ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และการติดเชื้ออื่นๆ มากยิ่งขึ้น


 


 "สิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน" เป็นหลักยึดถือในการทำงานของเครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย และด้วยแนวความคิดดังกล่าว เครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย ได้ทำงานอย่างหนักโดยสันติวิธีเพื่อชี้ให้สังคมไทยได้เห็นว่า ผู้ใช้ยาก็มีศักยภาพ มีคุณค่า ไม่ใช่แค่กากเดนของสังคมเหมือนที่เคยมองอีกต่อไป


 


การทำงานของเครือข่ายฯ แม้ว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคมไทยแต่ในทางตรงกันข้ามในต่างประเทศ เครือข่ายฯ กลับได้รับการยอมรับ และสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและความรู้จากองค์กรต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Human Right Watch, UNAIDS, OSI, GFATM ฯลฯ


 


โครงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และเพิ่มการดูแลช่วยเหลือผู้ใช้ยาชนิดฉีดในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของ กองทุนโลกด้านเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis, Malaria- GFATM) เป็นโครงการที่เครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย ทำงานประสานร่วมกับองค์กรภาคีอีก 3 องค์กร ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์, มูลนิธิรักษ์ไทย และบ้านออเด้น  ร่วมกันทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ใช้ยาให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมการให้บริการ และช่วยเหลือเพื่อนผู้ใช้ยาด้วยตัวเอง


 


โดยการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่สมบูรณ์ พร้อมพัฒนาทักษะการทำงาน และองค์ความรู้ของผู้ใช้ยา เช่น การร่วมพัฒนาหลักสูตรกับองค์กรภาคี การให้ความรู้และช่วยเหลือในเรื่องของการป้องกัน การดูแลรักษาเอชไอวี/เอดส์ การให้ความรู้เรื่องของการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด และเรื่องสิทธิทางด้านสุขภาพ รวมทั้งเน้นการสร้างระบบในการประสานงาน ส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะส่งผลให้ผู้ใช้ยามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


 


ตลอดระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งเครือข่ายผู้ใช้ยา ประเทศไทย มีคำถามที่เกิดขึ้นอย่างมากมายว่า เครือข่ายฯ ก่อตั้งมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ประโยชน์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้กับผู้ใด และรูปแบบการทำงานของเครือข่ายฯ จะสามารถช่วยลดผลกระทบจากการใช้ยาได้มากน้อยเพียงใด หากเปรียบเทียบกับมาตรการในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล  ฯลฯ


 


เวลา 3 ปี อาจจะยังไม่สามารถตอบคำถาม หรือข้อสงสัยที่มีมาถึงเครือข่ายฯ ได้ทั้งหมด และการทำงานของเครือข่ายฯ เพียงองค์กรเดียวก็คงจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้ยาได้อย่างสมบูรณ์ สังคมภายนอกต้องพยายามที่จะปรับทัศนคติต่อผู้ใช้ยา พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการเข้ามาช่วยเหลือผู้ใช้ยาอย่างจริงใจและจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่


 


การมีอยู่ของเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้ยาไม่ใช่คนหรือกลุ่มคนที่เป็นคนด้อยโอกาส เป็นขยะ หรือเป็นคนที่ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เครือข่ายฯ พยายามที่จะสะท้อนให้สังคมได้เห็นว่า สิทธิและศักดิ์ศรีของมนุษย์มีอยู่เท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกว่าเขาผู้นั้นจะเป็นใคร เครือข่ายฯ ไม่ได้รอให้โอกาสเกิด แต่เดินหน้าเพื่อเสาะแสวงหาโอกาส


 


แล้วสังคมล่ะ เปิดโอกาสให้กับพวกเรามากน้อยเพียงใด   


 


 


 


กลับหน้าแรกประชาไท