Skip to main content

ชีวิตดั่งนิยายของนักเปียโนไร้สัญชาติ

คอลัมน์/ชุมชน


 



 


เมื่อเอ่ยถึงเครื่องดนตรีที่มีชื่อว่า "เปียโน" หลายคน คงนึกถึงครอบครัวของผู้มีอันจะกิน มีชีวิตสะดวกสบายกว่าคนทั่วไป ยิ่งหากบุคคลนั้นมีความสามารถในการเล่นเปียโนจนได้เป็นครูในมหาวิทยาลัยชื่อดังมายาวนานร่วมสามสิบปี รวมทั้งยังได้รับเชิญไปเปิดการแสดงในต่างประเทศหลายสิบครั้ง บุคคลท่านนี้จึงน่าจะเป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากผู้คนในสังคมไทยและสังคมนานาชาติมากที่สุดคนหนึ่ง ทว่า ในชีวิตจริงของผู้หญิงที่ชื่อ "อายุ นามเทพ" อาจารย์สอนเปียโนวัย 50 ปีประจำมหาวิทยาลัยชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ที่ท่านกำลังจะได้รู้จักต่อไปนี้กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น



ชีวิตของเธอเริ่มต้นไม่ต่างอะไรกับนิยายที่เริ่มเรื่องด้วยการให้นางเอกเกิดมาในครอบครัวของสังคมชั้นสูงของชาวกะเหรี่ยงในประเทศพม่า แต่ต้องพลัดพรากจากความพรั่งพร้อม ทุกอย่างในแผ่นดินเกิดเนื่องจากภัยสงครามกลางเมืองมาเป็นคนไร้สัญชาติในเมืองไทย เติบโตอย่างไร้ตัวตนที่ถูกต้องตามกฎหมายในสังคมไทย แม้ว่าตลอดเวลาร่วม 30 ปีที่ผ่านมา เธอจะ ได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนเปียโนให้กับนักร้องที่มีชื่อเสียงมากมาย


ไม่ว่าจะเป็น วงอีทีซี วงอะแคพเปล่าเซเว่น จิ๋วเดอะสตาร์ ด็อจ(วงโบกี้-ด็อจ) ครรชิต-ทิดแหลม แต่ปัจจุบันเธอก็ยังมีสถานะเป็นครูนักเปียโนไร้สัญชาติ พลาดโอกาสเดินทางไปแสดงความสามารถทางด้านดนตรีในต่างประเทศมานับครั้งไม่ถ้วน



อาจารย์อายุย้อนอดีตในวัยเยาว์ให้ฟังว่า เธอเกิดมาในครอบครัวของชนชั้นนำกะเหรี่ยงในช่วงที่ประเทศพม่ายังอยู่ภายใต้ อาณานิคมของอังกฤษ ช่วงเวลานั้น พ่อของเธอเป็นข้าราชการระดับสูง ส่วนแม่ของเธอเป็นนักเปียโนซึ่งได้รับการเลี้ยงดู ราวกับคุณหนูผู้สูงศักดิ์จากคุณยายซึ่งจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ครอบครัวของเธอเป็นผู้มีอันจะกินอันดับต้น ๆ ใน ประเทศพม่ายุคนั้น (ในสมัยอังกฤษปกครองพม่า อังกฤษสนับสนุน ให้คนกะเหรี่ยงได้รับตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานราชการ)


ทว่า ในช่วงที่เธออายุได้เพียงหนึ่งปี (ประมาณปี พ.ศ. 2500) สถานการณ์การเมืองเริ่มเปลี่ยนไป ผู้นำพม่าเกิดความขัดแย้งกับผู้นำกะเหรี่ยงและผู้นำชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองลุกลามไปทั่วประเทศ พ่อของเธอตัดสินใจอพยพครอบครัวมายังเมืองไทยด้วยหวังว่าจะทำให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวมีความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งลูก ๆ ได้มีโอกาสร่ำเรียนหนังสือต่อไป ทั้งคู่ได้รวบรวมทรัพย์สินและเครื่องประดับมีค่าทั้งหมดมาแลกเป็นค่าคนนำทางและการเดินทางมาถึงประเทศไทยอย่างปลอดภัย



การเริ่มต้นชีวิตในเมืองไทยของสองสามีภรรยาพร้อมด้วยลูกน้อย 8 คน (ปัจจุบัน 2 คนอยู่ที่ประเทศพม่า) เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะฝ่ายภรรยาเติบโตมาดั่งคุณหนูผู้สูงศักดิ์ ส่วนสามีเป็นข้าราชการที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษดีเยี่ยม แต่ต้องเริ่มต้นชีวิตในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงอำเภอเล็ก ๆ ห่างไกลความเจริญ ฝ่ายภรรยาจึงนำความรู้ด้านการทำเบเกอรี่ที่มีอยู่ออกมาใช้ทำขนมปังแบบต่าง ๆ ออกมาขาย


ขณะที่ฝ่ายสามีรับสอนพิเศษภาษาอังกฤษให้กับลูกผู้นำท้องถิ่นและผู้มีอันจะกินในอำเภอแม่สะเรียง แม้จะไม่ได้มีฐานะร่ำรวยเช่นในอดีต แต่ฝ่ายสามีก็ยังพยายามหาของขวัญมาให้ภรรยาซึ่งมีความสามารถทางการเล่นเปียโนมาตั้งแต่เด็ก โดยการรวบรวมเงินที่มีอยู่หาซื้อออแกนมาให้ภรรยาได้เล่นคลายเหงา และออแกนตัวนี้ได้กลายเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่สร้างนักเปียโนหญิงคนนี้ให้กลายเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ผลิตบุคลากรทางด้านดนตรีมากมายหลายพันคนในเวลาต่อมา


อาจารย์อายุยังจำได้ดีถึงวันที่นิ้วมือเล็ก ๆ ของเธอได้สัมผัสคีย์บอร์ดสีขาวเป็นครั้งแรกว่า "ตอนอายุ 6 ขวบ พ่อเดินทางไปทำธุระที่กรุงเทพฯ แล้วเห็นออแกน (เครื่องดนตรีคล้ายเปียโน) วางขายอยู่ก็เลยซื้อกลับมาให้แม่เล่น เพราะแม่เล่นเปียโนเก่ง คุณแม่ ก็เริ่มสอนลูก ๆ และเด็ก ๆ แถวนั้นด้วย แต่ไม่มีใครสนใจจริงจัง ในครอบครัวของตนเอง พี่น้องคนอื่นก็ไม่สนใจ มีแต่เราคนเดียว"


สามปีต่อมา ขณะที่อาจารย์อายุได้ 9 ขวบ ชีวิตก็มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อบาทหลวงในอำเภอแม่สะเรียง (ครอบครัวของเธอนับถือศาสนาคริสต์) ได้ติดต่อขอให้ซิสเตอร์หรือแม่ชีประจำโรงเรียนเรยีนา จังหวัดเชียงใหม่ รับเธอเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ หลังจากนั้นครอบครัวของเธอก็ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความสามารถทางด้านเปียโนของผู้เป็นแม่ที่โดดเด่น ทำให้แม่ของเธอได้กลายเป็นครูสอนเปียโนที่โรงเรียนดนตรียามาฮ่าตั้งแต่ยุคแรก ๆ และเธอได้ร่ำเรียนเปียโนอย่างจริงจัง จนเธอได้กลายเป็นครูสอนเปียโนที่มหาวิทยาลัยรุ่นแรกที่เปิดภาควิชาดนตรีเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน ทุกวันนี้


หากนับจำนวนลูกศิษย์ที่เคยเรียนเปียโนกับแม่และเธอตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารวมกันแล้วตัวเลขคงอยู่ที่หลักพันเป็นอย่างแน่นอนลูกศิษย์เหล่านี้หลายคนได้กลายเป็นนักร้องชื่อดังของเมืองไทยในปัจจุบัน หลายคนเปิดโรงเรียนสอนดนตรีเป็นของตนเอง และหลายคนกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในสังคม



แม้ว่าโชคชะตาจะกำหนดให้เธอผู้นี้มีพรสวรรค์ด้านดนตรีที่พิเศษกว่าคนอื่น ๆ แต่โชคชะตาดูเหมือนจะกลั่นแกล้งไม่ให้เธอได้ใช้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ด้วยการกำหนดให้เธอเป็น "คนไร้สัญชาติ" มีชีวิตอยู่อย่างไร้ตัวตนทางกฎหมาย เธอไม่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นของตนเอง บัตรประจำตัวเพียงใบเดียวที่บ่งบอกชื่อ "อายุ นามเทพ" คือบัตรอาจารย์มหาวิทยาลัย สถานะคนไร้สัญชาติทำให้เธอต้องพลาดโอกาสในการเดินทางไปแสดงความสามารถทางด้านดนตรีในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง และยังส่งผลทำให้ลูกของเธอเคยสูญเสียโอกาสเดินทางไปเรียนดนตรีในต่างประเทศเช่นกัน



ปัญหาความไร้สัญชาติเกิดขึ้นจากการที่ครอบครัวของเธอต้องอพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองมาอยู่เมืองไทยเมื่อ 50 ปีก่อน ในเวลานั้นพ่อของเธอได้ติดต่อยื่นหนังสือถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อขอลี้ภัยให้ครอบครัวของเธออยู่ในเมืองไทย ทางการได้ออกจดหมายรับรองให้ครอบครัวของเธอสามารถลี้ภัยอยู่ในเมืองไทยได้ เอกสารชิ้นนั้นจึงเป็นเอกสารราชการฉบับเดียวที่ทำให้เธอสามารถอยู่ในเมืองไทย ได้ร่ำเรียนหนังสือและเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของไทยจนถึงวันนี้


แต่ทว่า เอกสารฉบับนั้นไม่สามารถช่วยให้เธอได้รับสัญชาติไทย และเมื่อการเดินทางของเธอและครอบครัวจากประเทศพม่าเป็นการเดินทางข้ามพรมแดนแบบไม่มีหนังสือเดินทาง เธอจึงไม่มี หลักฐานใด ๆ ที่จะยืนยันว่าเธอเป็นคนสัญชาติใด และถึงแม้ว่าเธอจะแต่งงานกับคนไทยในเวลาต่อมา แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอมีสถานะเป็นคนไทย เนื่องจากเธอไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่จะยืนยัน สัญชาติเดิม เพื่อที่จะใช้หลักฐานนั้นมาใช้ประกอบการแปลงสัญชาติไทยภายหลังแต่งงาน


ปัญหาไร้สัญชาติเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตเธอครั้งแรกเมื่อเธออายุ 22 ปี ขณะนั้น เธอกำลังได้เข้าร่วมวงดนตรีของอาจารย์บรูซ แกสตัน แห่งวงฟองน้ำ และได้ร่วมแสดงดนตรีประกอบละครโอเปร่าของสถานบันเกอเธ่ ของสถานฑูตเยอรมันประจำกรุงเทพ ซึ่งจะต้องเดินทางไปเปิดการแสดงที่ประเทศสิงคโปร์และเยอรมัน แต่เนื่องจากเธอเป็นคนเดียวที่ไม่มีหนังสือเดินทาง



พ่อของเธอจึงพยายามติดต่อกับทางราชการเพื่อทำหนังสือเดินทางให้กับเธอ แต่สิ่งที่เธอได้รับกลับไปในวันนั้นคือคราบน้ำตาและคำพูดเสียดแทงจิตใจที่เธอยังจำได้มาจนถึงวันนี้  "เขาบอกว่าคนอย่างพวกคุณเสนอหน้าเข้ามาอยู่ที่นี่เอง แล้วไม่มีคนไทยคนอื่นแล้วหรือไงที่มีโอกาสได้ไปแสดงต่างประเทศครั้งนี้ ทำไมจะต้องเป็นพวกคุณด้วยก็ไม่รู้"



หลังจากกลับไปด้วยความผิดหวัง ทางผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานจึงลองหาหนทางใหม่ที่จะทำให้เธอได้เดินทางไปแสดงครั้งนี้ เพราะหากขาดเธอไป การแสดงย่อมไม่สมบูรณ์ เขาจึงใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเยอรมันมาเป็นข้อต่อรอง โดยหากประเทศไทยไม่ออกหนังสือเดินทางให้กับเธอ เรื่องนี้อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศในอนาคต


ในที่สุด การต่อรองดังกล่าว ก็เป็นผลสำเร็จ ทางการไทยจึงออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้กับเธอ และนี่นับเป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกของนักเปียโนหญิงไร้สัญชาติคนนี้ และเอกสารชิ้นนี้เป็นเอกสารชิ้นแรกที่หน่วยราชการออกให้เพื่อยืนยันถึงการมีตัวตนของผู้หญิงที่ชื่อ "อายุ นามเทพ" แต่น่าเสียดายที่มันเสียหายไปเนื่องจากน้ำท่วมบ้านของเธอเมื่อหลายปีก่อน



ในต่อเวลาต่อมา ปัญหาเรื่องสัญชาติได้ส่งผลกระทบต่อลูกชายของเธอทั้งสองคน ซึ่งมีชื่อเล่นว่า "เรมีย์" และ "ศิลา" (ตามเสียงโน้ตดนตรีสากล) ทั้งสองคนได้รับการถ่ายทอดสายเลือด นักดนตรีอยู่ในตัวอย่างเต็มเปี่ยม เรมีย์เป็นนักเปียโนและอิเลคโทน ที่ฉายแววความสามารถตั้งแต่เด็ก เขากวาดรางวัลชนะเลิศทางด้านอิเลคโทนมาหลายเวที รางวัลสูงสุดที่เคยได้รับคือการแข่งขันอิเลคโทนชิงแชมป์ประเทศไทยของโรงเรียนดนตรีสยามยามาฮ่าซึ่งเป็นสถาบันสอนดนตรีชื่อดังของเมืองไทย  ส่วนศิลาถนัดเล่นกีตาร์และเครื่องเป่าหลายประเภท ทั้งสองคนเคยได้รับคัดเลือกให้ไปร่วมแสดงดนตรีที่ประเทศฟิลิปปินส์เมื่ออายุ 13 ปีและ 12 ปี โดยครั้งนั้นการเดินทางไม่มีปัญหาเรื่องเอกสาร ใด ๆ เนื่องจากผู้จัดงานเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม



การเดินทางไปต่างประเทศของลูกเริ่มเป็นปัญหาหนักใจของเธอเมื่อตอนที่เรมีย์อายุ 15 ปี เรมีย์ได้รับการเสนอชื่อให้ไปเรียนดนตรีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ลูกของเธอหมดสิทธิได้ไป เนื่องจากผู้เป็นแม่เป็นบุคคลไม่มีสัญชาติ ส่วนสามีซึ่งเป็นคนไทยก็มาเสียชีวิตตั้งแต่ลูกยังเล็กจึงไม่มีใครสามารถเซ็นเอกสารรับรองการเดินทางให้กับเรมีย์ได้ เรมีย์จะสามารถทำหนังสือเดินไปต่างประเทศก็ต่อเมื่อบรรลุนิติภาวะอายุครบ 20 ปีเท่านั้น



เมื่อเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนี้ น้ำตาก็เริ่มเอ่อล้นขึ้นมาที่ขอบตาของผู้เป็นแม่ เธอยังจำได้ดีถึงความรู้สึกเสียใจหลังจากวิ่งเต้นติดต่อเอกสารให้กับลูก แต่สุดท้ายก็ได้รับคำตอบเช่นเดิม
"ครั้งนั้นเราพยายามมาก อยากให้เขาได้ไป วิ่งเต้นหลายที่ หลายคนพยายามจะช่วย ทั้งเพื่อนและลูกศิษย์ที่เรียนจบไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ เพราะเราไม่มีหลักฐานอะไรเลยที่จะแสดงว่าเป็นคนไทย บางคนบอกว่าจะช่วยแต่เขาขอค่าใช้จ่ายสามแสน เราจะหาเงินที่ไหนล่ะ เงินเดือนอาจารย์ทั้งปียังไม่หักค่าใช้จ่ายอะไรเลยยังได้แค่แสนกว่าเท่านั้น เราก็เลยหมดหวังไม่รู้จะทำอย่างไร"



เรมีย์เล่าถึงความรู้สึกของตนที่ไม่ได้ไปอเมริกา ครั้งนั้นว่า "ไม่ได้รู้สึกเสียใจมากมาย เพราะคุณแม่บอกว่า อย่าคาดหวังอะไรเยอะ เรารู้ตั้งแต่เด็กแล้วว่าแม่ไม่มีบัตรและคุณแม่ลำบากมากแค่ไหน"



ปัจจุบัน เรมีย์และศิลาได้รับบัตรประชาชนเป็นราษฎรไทยเต็มขั้นแล้ว ทั้งสองคนสำเร็จการศึกษาด้านดุริยศิลป์จากมหาวิทยาลัยพายัพ และสืบทอดงานด้านดนตรีต่อไป เรมีย์เป็นอาจารย์สอนอิเล็คโทนที่โรงเรียนดนตรีสยามยามาฮ่าจังหวัดเชียงใหม่และเป็นอาจารย์สอนพิเศษเปียโนตามบ้าน ส่วนซีลาเป็นนักดนตรี เล่นกีตาร์และเครื่องเป่าอยู่ที่ร้านอาหารชื่อดังริม
แม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนผู้เป็นแม่ยังคงมีสถานะเป็นคน ไร้สัญชาติและผลิตบุคลากรด้านดนตรีให้กับสังคมไทยต่อไป



ลูกทั้งสองคนบอกเล่าถึงความฝันหากแม่ได้บัตรประชาชนในสักวันหนึ่งว่า
"ถ้าแม่ได้บัตรก็อยากพาแม่ไปทำบัตรสมาชิก หรือบัตรอะไรก็ได้ที่เป็นชื่อของแม่เอง เพราะที่ผ่านมาแม่ไม่เคยมีสิทธิทำบัตรสมาชิกอะไรเลย"



ขณะที่ผู้เป็นแม่บอกว่า หากเธอได้บัตรประชาชนไทย เธออยากจะขยายความฝันบนเส้นทางดนตรีของเธอต่อไป เธออยากพานักเรียนของเธอไปเปิดแสดงคอนเสิร์ตในต่างประเทศ เพราะทุกวันนี้ เธอทำหน้าที่เป็นวาทยากรให้กับวงดนตรีออเคสตร้าของมหาวิทยาลัย และได้รับเชิญให้ไปแสดงยังต่างประเทศอยู่หลายครั้ง แต่วงดนตรีของเธอต้องพลาดโอกาสไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากเธอไม่มีหนังสือเดินทาง และนั่นทำให้ลูกศิษย์ของเธอขาดโอกาสแสดงความสามารถให้ต่างประเทศรับรู้ด้วยเช่นกัน



อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้เธอจะยังไม่มีบัตรประชาชนไทย แต่เธอก็เป็นบุคคลสำคัญที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมไม่น้อย เพราะเธอไม่ได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนดนตรีเฉพาะในมหาวิทยาลัยที่เธอทำงานประจำอยู่เท่านั้น หากยังใช้เวลาช่วงวันหยุดเป็นวิทยากรด้านดนตรีให้สถาบันอื่น ๆ ทั่วประเทศ ร่วมทั้งยังมีความฝันขยายงานทางด้านดนตรีต่าง ๆ อีกหลายโครงการ
"ดนตรีเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก แล้วนักดนตรีจะเป็นฮีโร่ของวัยรุ่น หากเราสอนให้นักดนตรีเป็นผู้สื่อความหมายทางความคิดดี ๆ คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ช่วยให้สังคมแข็งแรงที่สุด เราอยากทำงานด้านส่งเสริมและเผยแพร่ดนตรี ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เราอยากสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยทางด้านดนตรีให้คนทั่วโลกรู้จักมากกว่านี้"



แม้ว่าวันนี้ความฝันที่จะได้บัตรประชาชนไทยยังคงอยู่อีกไกล แต่ครูสอนเปียโนวัย 50 ปีท่านนี้ก็ยังคงหวังว่าสักวันความฝันของเธอจะเป็นความจริง และยังหวังเช่นกันว่า
"เราเลือกเกิดไม่ได้ ถ้าเลือกได้เราคงไม่อยากเกิดเป็นคนมีปัญหา สิ่งที่อยากให้สังคมรับรู้คือมีคนมากมายที่ไม่ใช่แค่ตนเองคนเดียวที่มีสถานะเดียวกัน คนเราน่าจะมีโอกาสในชีวิตเท่ากันในฐานะที่เกิดมาเป็นคน ตนเองคิดอยู่เสมอว่า ทำไมต้องมีระบบพวกนี้ที่มาจำกัดเส้นกั้นประเทศต่าง ๆ จำกัดสิทธิของคน"


 


เผยแพร่ครั้งแรกใน สาละวินโพสต์ ฉบับที่ 22 (วันที่ 1 เม.ย. - 15 พ.ค. 2548)


 


กลับหน้าแรกประชาไท