Skip to main content

ทางลงของสนธิ

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


และแล้วนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร ก็ถอนฟ้อง สนธิ ลิ้มทองกุล ทุกคดี หนังเรื่องนี้จึงทำท่าจะจบลงด้วยความปรองดองจากทุกฝ่ายโดยแต่ละฝ่ายก็ได้แผลกันไปพอหอมปากหอมคอ  ก็ดีนะครับที่นายก ฯ ทำเรื่องยากให้ง่าย และช่วยหาทางลงให้กับสนธิ เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย


 


อย่างไรก็ตาม การชุมนุมในวันที่ 9 ที่สวนลุมพินี ที่สนธิ นัดหมายเอาไว้ ก็ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิมแต่คาดว่าอาจจะเพลาความร้อนแรงลงไปบ้าง


 


การชุมนุมประท้วงเป็นเรื่องที่ดีสำหรับระบอบประชาธิปไตย เพราะมันเป็นเครื่องแสดงอย่างหนึ่งว่าประชาชนมีความตื่นตัวใส่ใจกับความเป็นไปของบ้านเมือง และไม่ปล่อยให้กิจการบ้านเมืองตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือการบริหารของนักการเมืองและนักธุรกิจไม่กี่คน


 


แต่ม็อบหรือการชุมนุมประท้วงที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมถูกชักลากด้วยกระแสของสื่อที่ขึ้นเร็วลงเร็ว หรือการยุยงอย่างชาญฉลาด โดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการอะไร คงจะไม่อาจช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยได้มากนัก


 


จุดต่างประการหนึ่งของพลังของประชาชนพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย กับพลังของม็อบอยู่ตรงที่ ความมีเหตุผล พลเมืองจะรู้จักใช้เหตุผลและวิจารณญาณ (แน่นอนว่ารวมถึงอารมณ์ ความรู้สึกด้วย) ในการแสดงเจตนารมณ์ และความต้องการของตนเอง ในขณะที่ม็อบนั้นเฮไหน เฮนั่น เอามันเข้าว่า จะเรียกว่าความสามารถในการใช้เหตุผลต่ำก็ได้ และพอความสามารถในการใช้เหตุผลต่ำ ความสามารถในการควบคุมตนเองก็น้อยลงไปด้วยซึ่งที่สุดก็อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่นึกไม่ถึง


 


พลังบริสุทธิ์ของประชาชนมีผลดีต่อพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาประชาชนแห่ง 14 ตุลาคม 2516 ที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยรุดหน้าไปอย่างก้าวกระโดด แต่พลังของม็อบที่เหตุผลส่วนตนถูกทำลายและขับเคลื่อนด้วยอารมณ์รวมหมู่จะยังผลเลวร้ายสุดคาดคิด และท้ายที่สุดจะไม่เป็นผลดีแก่ใครเลยโดยเฉพาะกับประชาชนคนเล็ก คนน้อย


 


ม็อบของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล หรือม็อบต่าง ๆ ซึ่งเข้าร่วมกับคุณสนธิ  ไม่ว่าจะจัดตั้งหรือไม่ก็ตาม ไม่ค่อยน่าไว้วางใจ เพราะหลายคนที่เข้าร่วมรู้สึกเดือดดาลใน  "พฤติกรรมส่วนตัว" ของนายกฯ  เสียยิ่งกว่าที่จะไม่พอใจในเรื่องการบริหารประเทศ


 


การขุดคุ้ยพฤติกรรมไม่เหมาะสมของตัวของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูงที่คุณสนธิ และม็อบของคุณสนธิ หยิบมาตีความเกินเลย ชี้นำนั้นก็ไปไกลเสียเกินกว่าเหตุ


 


อันที่จริงพฤติกรรมของตัว ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันเบื้องสูงเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ดุลพินิจไม่น้อย แต่หากลองสมมุติว่าไม่เหมาะสมจริง แล้วมันจะเกี่ยวข้องอะไรกับการทำงานในฐานะผู้นำรัฐบาลด้วยเล่า เรื่องส่วนตัวก็เรื่องส่วนตัว การทำงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง (อย่างไรก็ตามพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ก็ทำให้เรื่องนี้ยุติลงโดยง่าย)


 


ก่อนหน้านี้ไม่นาน  พล.อ. สุรยุทธ  จุลานนท์ องคมนตรี ก็กล่าวอย่างชัดเจนตรงประเด็นว่า


"พลเอกเปรม เคยพูดกับผมว่า มีความห่วงใยในเรื่องการนำสถาบันที่เราเคารพมาอ้างอิงเช่นกัน ถือเป็นเรื่องที่มองสอดคล้องกันว่าไม่ควรอ้างอิง   หากทุกฝ่ายได้ลดการอ้างอิงลงไปก็จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว น่าจะพูดในเรื่องอื่นในประเด็นที่อาจจะเป็นที่สนใจหรือไม่เป็นที่สนใจก็แล้วแต่"  (มติชนรายวัน, 29 พ.ย. 2548)


 


ม็อบที่เข้าร่วมกับคุณสนธิ ควรจะนำเสนอให้ชัดและสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจว่า นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มีความบกพร่องในการทำงานในเรื่องอะไรบ้าง  คอรัปชั่น?  เป็นเผด็จการ (เรื่องอะไร)?   และควรมีข้อเสนอที่ชัดเจนว่าต้องการอะไร ไม่ใช่บอกให้ถวายคืนพระราชอำนาจ


 


ข้อเสนอของคุณสนธิ เรื่องที่ว่าจะถวายคืนพระราชอำนาจนั้นแปลกเหลือหลาย เพราะจะว่าไปในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่ เมื่อผู้ปกครองที่ประชาชนเลือกเข้ามาทำงานไม่มีประสิทธิภาพ กดขี่ข่มเหงประชาชนหรือไม่ อาจสร้างความผาสุกให้เกิดขึ้นแก่มวลสมาชิกได้ ผู้ปกครองก็จะต้องคืนอำนาจนั้นให้ประชาชนเพื่อจะได้เลือกผู้ปกครองคนใหม่ที่ (คิดว่า) เลวน้อยกว่าคนเก่า หรือถ้าผู้ปกครองไม่ยอมคืนอำนาจนั้นให้  ประชาชนก็มีสิทธิขับไล่ผู้ปกครองคนนั้นๆ ได้ แต่ไม่ใช่การถวายคืนพระราชอำนาจ


 


คำกล่าวของ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งมีความคิด ความอ่านน่าเชื่อถือมากอย่างยิ่งคนหนึ่ง ก็ระบุชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยสำหรับการถวายคืนพระราชอำนาจเพราะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์มติชันรายวัน วันที่ 29 พ.ย. 2548 ดร.กิตติศักดิ์  ปรกติ ยังบอกอีกว่า


"ถ้าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ การใช้กำลังล้มล้างรัฐบาลเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย"   ท่านบอกอีกว่าไม่เห็นด้วยกับการล้มล้างรัฐบาลและคิดว่าคงไม่มีนักวิชาการคนไหนเห็นด้วย


 


ต้องขอชมเชย ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ที่กล้าพูดออกมาตรงๆ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก ท่ามกลางความขัดแย้งคุกรุ่นคลุมเครือในขณะที่นักวิชาการคนอื่นพากันเงียบเฉย            


 


อย่างไรก็ตาม ผมขอชื่นชมคุณสนธิ  ลิ้มทองกุล ที่พยายามนำเสนออะไรต่อมิอะไรต่างๆ ให้รับรู้กันในวงกว้างและชื่นชมในการเป็นนักต่อสู้ แต่การเป็นนักต่อสู้ที่หวังผลเฉพาะหน้าและเฉพาะตนมากเกินไป ก็เลยเกิดปรากฏการณ์อย่างที่เห็น ๆ กันอยู่


 


คุณสนธิ  ลิ้มทองกุล เคยบอกไว้ว่าประเทศไทยทั้ง 76 จังหวัด ไม่ใช่ของทักษิณ  ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่อยากจะขอต่ออีกนิดหนึ่งว่า ประเทศไทยไม่ใช่ของคุณสนธิ และของคนกรุงเทพด้วยเช่นกัน


 


ดังนั้น ชั่วโมงนี้นอกจากเราจะไม่ไว้วางใจและจับตาดูการทำงานของรัฐบาลและนายกฯ แล้ว สิ่งที่ควรจะทำพอ ๆ กันก็คือ เราไม่ควรไว้วางใจและควรจับตาดูการเคลื่อนไหวของคุณสนธิ ลิ้มทองกุลอย่างใกล้ชิดอีกด้วย


 


อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ทำท่าว่าจะจบลงแล้ว จบลงอย่างประนีประนอมด้วยการที่นายกฯ ทักษิณได้หาทางออกให้กับตนเองและช่วยหาทางลงให้กับคุณสนธิ


           


                                                                                     กลับหน้าแรกประชาไท