Skip to main content

บือโส่โจ๊ะ ดอยข้าวลีบแห่งป่าสนวัดจันทร์

คอลัมน์/ชุมชน



 


ท่ามกลางผืนป่าสนกว้างใหญ่หลายหมื่นไร่ ณ  ป่าสนวัดจันทร์ หรือป่าสนมูเส่คี  หรือมูเจ่คี


ตามภาษาปวาเก่อญอซึ่งเป็นดินแดนต้นน้ำแม่น้ำแจ่ม  เป็นที่ตั้งรกรากของชาวปวาเก่อญอ  กว่ายี่สิบหมู่บ้าน


 


หากใครมีโอกาสได้ไปเยือนมูเจ่คี  ดินแดนป่าสนวัดจันทร์  จะมองเห็นดอยบือโส่โจ๊ะ หรือ ดอยข้าวลีบ ปรากฏให้เห็นเด่นชัด  เนื่องจากเป็นดอยที่สูงสุดในมูเจ่คี


 


เหตุใดเล่า ? ถึงมีนามว่าดอยข้าวลีบ บือโส่โจ๊ะของคนมูเจ่คี


 


 


 


 


 


ผู้เฒ่าบูหน่า แห่งบ้านกิ่วโป่ง  เล่าให้ผมฟังว่าชื่อ บือโส่โจ๊ะ หรือ ดอยข้าวลีบนั้นมีที่มาที่ไป  เพราะว่าวิถีชีวิตคนปวาเก่อญอนั้น  จะทำไร่หมุนเวียน  ชื่อก็บอกว่าเป็นไร่หมุนเวียน หมายถึง  ไม่ทำซ้ำที่เก่า  และไม่หมุนไปที่ใหม่ แต่จะหมุนเวียนในพื้นที่รอบ ๆ ที่เคยทำอยู่


 


โดยรอบของมันมีเจ็ดถึงเก้าปีขึ้นไป  ในพื้นที่มูเจ่คีเอง  มีพื้นที่หลายแห่งที่ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้  เช่น ป่าต้นน้ำ  ป่าช้า  ป่าหัวไร่  ปลายนา  ซึ่งถือว่าเป็นป่าหวงห้ามของชุมชน ใครเข้าไปถางจะได้รับโทษ จะมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นจะมีภัยพิบัติเกิดขึ้นแก่หมู่บ้าน


 


"บริเวณนั้น  มีดอยอยู่ลูกหนึ่งเหมาะที่จะทำไร่หมุนเวียนมาก  แต่ผู้เฒ่าผู้แก่กลับบอกว่า  อย่าเสียเวลาเลย  เพราะดอยลูกนี้ ปลูกข้าวไม่ดี เมล็ดข้าวลีบ  คนก็เลยไม่ไปทำไร่ตรงบริเวณดอยบือโส่โจ๊ะ  เพราะทราบกันดีว่าเม็ดข้าวลีบ เลยตั้งชื่อดอยลูกนี้ว่า  ดอยบือโส่โจ๊ะ หรือดอยข้าวลีบ" ผู้เฒ่าบูหน่า เล่าให้ฟัง


              


ผู้เฒ่าบูหน่า  ยังเล่าต่อว่า  ไม่มีใครเคยทำไร่ ที่ดอยบือโส่โจ๊ะ เลย  และตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นว่าเมล็ดข้าวจะลีบจริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้


 


ชุมชนปวาเก่อญอในอดีตไม่มีกฎหมายปกครอง  แต่จะใช้กฎจารีตประเพณี วิถีประชา สิ่งเหล่านี้คือเป็นบรรทัดฐานทางสังคมในการอยู่ร่วมกัน  การเคารพธรรมชาติ  เข้าใจผลกระทบจะเกิดขึ้นหากกระทำสิ่งใดลงไป จึงทำเกิดข้อห้ามต่าง ๆ ขึ้นมามากมายในสังคมปวาเก่อญอ  ผลของการละเมิดข้อห้ามเหล่านี้  คนในชุมชนรู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น  การกระทำละเมิดข้อห้ามบางครั้งถึงแม้ไม่มีใครรู้เห็น  แต่ผลที่เกิดขึ้นกับคนที่ละเมิด  ทำให้ต้องมีการสารภาพออกมา  แต่เมื่อมีการละเมิดแล้ว ใช่ว่าไม่มีทางออก 


 


"ฟ้าไม่พ้นเมฆ  คนไม่พ้นความผิด"  ภาษิตคนปวาเก่อญอว่าไว้  หมายความว่า  คนเราเกิดมาย่อมผิดได้  เมื่อผิดได้ก็ต้องยอมรับแล้วแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัว


 


การแก้มีหลายวิธีแล้วแต่กรณี เช่น  ปวดเข่ามากจนเดินไม่ไหว ต้องเอาไก่ตัวผู้สีแดงไปเซ่นไหว้ เป็นการแก้ไข หากไม่แก้อาจจะมีผลถึงชีวิต  ข้อห้ามเหล่านี้  เป็นตัวควบคุมพฤติกรรมของคนในชุมชนโดยไม่ต้องไปสอดแนมในต้นน้ำหรือที่หวงห้ามแต่ละแห่งว่าใครจะฝ่าฝืน


              


ครั้นเมื่อป่ามูเจ่คี ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวน!!


การทำไร่หมุนเวียนกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย


ชุมชนจึงต้องบุกเบิกที่ดินเป็นผืนนา  เพื่อให้กลายสภาพเป็นพื้นที่ทำกินถาวร  และหันมาเพาะปลูกในสวนในนาเป็นการถาวร


 


"คนที่มีที่นาก็สบาย  แล้วคนที่ไม่มีที่นาจะไปปลูกข้าวที่ไหน?" 


ชาวบ้านหลายคนสะท้อนออกมาให้ฟัง   ยิ่งเดี๋ยวนี้  ทางการพยายามเข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านให้ปลูกผลไม้เมืองหนาว เช่น บ๊วย พลับ สาลี่ ฯลฯ แทนการทำไร่หมุนเวียน


 


ย้อนกลับไปเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา   สายตาคนมูเจ่คีทุกคู่  เหม่อมองไปยังดอยบือโส่โจ๊ะ พร้อมกับคำถามเกิดขึ้นมากมายในหัว  


มันเกิดอะไรขึ้นกับบือโส่โจ๊ะ กับคนมูเส่คี!!


 


หลายคนเริ่มมองคล้าย ๆ  กัน  มองเห็นบาดแผลเกิดขึ้นที่บือโส่โจ๊ะ เป็นรอยแผลสดที่เกิดจากการถากถางป่าฟันไร่เพื่อปลูกข้าว


 


วาติ  เจ้าของไร่ที่บือโส่โจ๊ะ  เขายังทำไร่บริเวรบือโส่โจ๊ะ ต่อไป  เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น  แต่สิ่งที่เขาพูดออกมานั้นน่าสนใจ...


"เฮาไม่มีที่นาสำหรับปลูกข้าว  ไม่มีสวน  บริเวณบ้านก็ไม่พอสำหรับปลูกข้าว  ในรั้วบ้านมีต้นสาลี่เพียงห้าต้น ต้นพลับเจ็ดต้น ต้นบ๊วยห้าต้น"


 


"เฮาไม่มีเงินซื้อปุ๋ยมาใส่  ไม่มีเงินซื้อสารเร่งให้ลูกโตออกมาเยอะ ๆ  เมื่อลูกหิวข้าว มันถามหาข้าว มันไม่ถามหาเงิน  ไม่ถามหาสาลี่ บ๊วย หรือพลับ  เฮาก็เลยต้องหาที่ทำไร่เพื่อปลูกข้าว" วาติ เอ่ยครวญไปมาอยู่อย่างนั้น


 


"ก็ดอยข้าวลีบมันปลูกข้าวไม่ได้ เม็ดข้าวจะลีบ  คุณก็รู้ไม่ใช่หรือ" ใครคนหนึ่งเอ่ยถามเขา


"เฮารู้แต่ฉันคิดว่า  เจ้าป่าที่ดอยข้าวลีบคงจะเข้าใจและเห็นใจ  เฮาทำแค่ปีเดียวเหมือนคนโบราณเขาทำไร่เมื่อก่อน" เขาพยายามอธิบาย


 


ชาวบ้านคนอื่น ๆ ได้ฟังแค่นี้ก็เข้าใจและไม่ถามอะไรเพิ่มเติม  เพราะทุกคนต่างรู้และเข้าใจ  เชื่อใจในวิถีการทำมาหากินของกันและกัน


ใช่  ไร่หมุนเวียนเขาไม่ทำซ้ำที่เดิม


 


แน่นอน  สิ่งที่ทุกคนรับรู้ถึงปัญหาชัดเจนว่า  สุดท้ายแล้ว  ทุกคนก็ต้องกินข้าว เมื่อลูกหิวข้าว และร้องไห้  ก็ต้องเอาข้าวให้ลูกกิน 


 


"เฮาเปลี่ยนจากไร่หมุนเวียนมาเป็น สวนเชิงพาณิชย์  ปลูกผลไม้เมืองหนาว แต่บ้านเฮาก็ไม่หนาวพอ  ก็เลยต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยา ต้องใช้เงินซื้อ ไม่มีเงินซื้อ ผลผลิตของเฮา ก็ไม่ได้ขนาดตามที่พ่อค้าต้องการ  เขาก็ไม่ซื้อของเฮา ถึงเฮาขายได้  สุดท้ายเฮาก็ต้องเอาเงินไปซื้อข้าวอีกที" นั่น, เป็นเสียงครวญของคนมูเจ่คี


 


เมื่อมาถึงห้วงยามนี้  ทุกคนกำลังย้อนมองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองอีกครั้ง


เมื่อเป็นอย่างนี้  ทิศทางการพัฒนาของชุมชนจะเป็นอย่างไรในอนาคต


ลูกหลานของเราจะอยู่อย่างไร เหลนของเราจะกินอย่างไร


เมื่อเราต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก มากกว่าพึ่งพาตนเอง


 


ไก่ป่าขันเรียกไก่บ้าน แผ่นดินไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว