Skip to main content

คำประกาศของคนอยู่กับป่า

คอลัมน์/ชุมชน


 


 


 


ผมค้นหนังสือ "ชนเผ่าพื้นเมือง" ออกมาอ่านทบทวนอีกครั้งหนึ่ง,รูปเล่มปกสีเขียวซีดและบางส่วนถูกฉีกขาด ขดงอ  กรอบเหลือง หน้าปกระบุว่าพิมพ์ฉบับที่ 11 มกราคม – มิถุนายน 2543  ใช่,  มันมีมีอายุนานนับ 6 ปี


 


ครั้นพลิกไปอ่านเนื้อหาข้างใน  พบกับ "คำประกาศผู้ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับป่า" ที่เขียนและอ่านขึ้นที่ บริเวณป่าต้นน้ำ  ห้วยเคาะ – ขุนวิน  อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่  เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 18  ธันวาคม 2542 


 


เมื่ออ่านคำประกาศฯ  จบลง,  ผมมีความรู้สึกว่าเหมือนกำลังถูกบางสิ่งที่มองไม่เห็น  ฉุดกระชากผมให้ดิ่งลึกลงไปในหุบเหวของความหม่นมัว  ตึงเครียด  ไม่เข้าใจ  ยิ่งค่อย ๆ  ละเลียดอ่านไป  ยิ่งมีความรู้สึกว่า  บางถ้อยคำของเขา คล้ายกำลังบ่นพ้อน้อยใจ  บางถ้อยคำกลับดูมีพลังฮึกเหิมเชื่อมั่น  ทว่า บางถ้อยคำกลับดูเหมือนว่ากำลังถูกกำหนดจากชะตากรรมบางอย่างจากภายนอก  ใช่  ชะตากรรมที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อ


 


แน่นอน  เมื่ออ่านไป  คิดไป  จะสัมผัสได้ว่า  ในคำพูดนั้นมีชีวิต  มีจิตวิญญาณ  และเกิดความรู้สึกทันทีว่า  ชะตากรรมของชนพื้นเมือง  ของคนอยู่ป่าบ้านเรา  ช่างคล้ายชะตากรรมของชนเผ่าอินเดียนแดง  ที่ถูกคนผิวขาวเข้าไปรุกรานอย่างยิ่ง!


 


ไม่เชื่อ  ลองอ่านคำประกาศของพวกเขาดู...


 


0 0 0 0 0


 


พวกเราปกาเกอะญอ  ตั้งแต่เล็บเท้าอ่อนแตกหน่อออกมา  ก็รู้ตัวว่าพำนักอาศัยและเจริญเติบโตท่ามกลางขุนเขาและป่าไม้  เราเป็นคนดั้งเดิมที่นี่  เราเป็นผู้อยู่อาศัยและเจริญเติบโตท่ามกลางขุนเขาและป่าไม้  เราเป็นคนดั้งเดิมที่นี่  เราเป็นผู้อยู่มาก่อน  หมู่บ้านเราอยู่ที่นี่  เราเกิดมาที่นี่  เราเติบโตมาที่นี่  และเราตายที่นี่มาหลายชั่วอายุคน  ดังบทลำนำของบรรพชนที่กล่าวไว้ว่า...


 


ที่นี่แหละคือหมู่บ้านของแม่            


ที่นี่แหละคือหมู่บ้านของพ่อ


ส้มโอที่แม่ปลูกเอาไว้ก็ยังมีอยู่


ส้มเกลี้ยงที่พ่อปลูกเอาไว้ก็ยังมีอยู่


ดายหญ้าพรวนดินให้ต้นข้าว


สร้างยุ้งข้าวไว้เลี้ยงแขกมามากมาย


 


เราอยู่กับต้นไม้  เราอยู่ต้นไผ่  เราอยู่กับลำห้วย  เราอยู่กับขุนเขา  เราอยู่กับเก้ง  เราอยู่กับเสือ  เราอยู่กับเขียด  เราอยู่กับปลา  เราอยู่กับนก  เราอยู่กับหนู  เราอยู่กับไก่ป่า  เราอยู่กับไก่ฟ้า  ทั้งหมดต่างเป็นผองเพื่อนกัน  เราพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  เหมือนดั่งคำทาที่ว่า "แม่นางไก่ป่าไก่ฟ้าเอย  มาคุ้ยเขี่ยหาอาหารใต้กองไผ่กันเถิด"


 


การทำมาหากินของเราคือ  ปลูกข้าว 


ดังคำสอนของบรรพชนที่ว่า "ทำกับดักได้กินหนู  ทำไร่ได้กินข้าว"


 


พวกท่านได้สอนสั่งและกล่าวตักเตือนเราในนิทานไว้ "แต่ก่อนเทพแห่งเงิน  เถียงกับเทพแห่งข้าวว่า  แม้ไม่มีข้าว  ตนก็สามารถอยู่  เทพแห่งข้าวได้หนีจากไป  และไปหลบอยู่ในถ้ำ  ต่อมาลูกหลานของเทพแห่งเงินร้องไห้เพราะหิวข้าว  เทพแห่งเงินนำเงินให้ลูกหลาน  แต่ก็ไม่ทำให้ลูกหลานหยุดร้องไห้ได้  ที่สุด  เทพแห่งเงินก็ขอให้นกกระติ๊ดตะโพกขาวไปเอาข้าวจากถ้ำคืนมา  เมื่อลูกหลานได้กินข้าวจึงหยุดร้องไห้"


 


เราถือ "ข้าว" สำคัญกว่า "เงิน" ดังคำทาของบรรพชนบอกไว้ "อร่อยคือข้าว  ดีงามคือคน"  และ "หากมีข้าวเพียงพอ  อย่างอื่นหามาภายหลังได้"  เพราะว่าข้าวคือสิ่งประทานชีวิตแท้จริงแก่คน  ส่วนเงินนั้นคือชีวิตจอมปลอมและหลอกลวง


 


เพื่อเราจะได้กินข้าวอย่างเพียงพอนั้น  บรรพชนของเราสอนให้เราทำไร่  อีกทั้งยังสั่งสอนเราด้วยว่า  "ถางไร่นั้น  ถางไปให้รักษาไป"  ดังบทสอนที่กล่าวไว้ว่า "ดื่มน้ำรักษาน้ำ  กินผืนดินรักษาผืนดิน"  เราถางไร่ 1 ปี  พักฟื้นไว้  7 ปี  แล้วกลับมาถางใหม่  หมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป  นอกจากเราถางไร่  จะมีกฎระเบียบและข้อห้ามมากมาย  ที่เป็นตัวช่วยเราในการรักษาผืนดินและผืนป่า  ให้คงสภาพความอุดมสมบูรณ์


 


 


 "เขาลูกเดียวกัน  หากปีนี้เราถางไร่ตอนบน  ปีต่อไปตอนล่างเราจะไม่ถาง


เขาลูกเดียวกัน  หากปีนี้เราถางไร่ด้านหนึ่ง  ปีต่อไปอีกด้านหนึ่งเราจะไม่ถาง


ห้วยเดียวกัน  หากปีนี้เราถางไร่ฟากหนึ่ง  ปีต่อไปอีกฟากหนึ่งเราจะไม่ถางไร่


หากปีนี้เราถางไร่ทางหนึ่งของหมู่บ้าน  ปีต่อไปเราจะไม่ถางในทิศทางตรงกันข้าม


เขาแหลมยื่นลง  โดยมีลำห้วยไหลบรรจบกัน  เราจะไม่ถางไร่


เขารูปกลม  โดยมีลำห้วยโอบอ้อม  เราจะไม่ถางไร่


กิ่วดอย  เราจะไม่ถางไร่


สันเขา  เราจะไม่ถางไร่..."


 


หากเกี่ยวกับการหาของป่า  เก็บของป่า  ล่าสัตว์  และหากุ้ง  ปู  ปลา  ตามลำห้วยลำธารนั้น  บรรพชนได้สั่งสอนเราว่า  "กินเขียดให้รักษาผา  กินปลาให้รักษาห้วย"  อีกบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า "นกเงือกตายหนึ่งตัว  ไทรเจ็ดต้นวิเวก  ชะนีตายหนึ่งตัว  ป่าเจ็ดผืนต้องวังเวง" 


 


สัตว์ป่าหลายชนิดที่บรรพชนสอนว่า  ไม่ต้องล่า  ไม่ต้องกิน 


พวกเราได้จดจำไว้  และปฏิบัติตามตราบเท่าทุกวันนี้ 


 


 "นกเงือกเราไม่กิน         หากกินเราจะพลัดพรากจากกัน


ชะนีเราไม่กิน  หากกินเราจะได้รับบาป


นกพญาไฟเราไม่กิน  หากกินเราจะถูกรังแก


นกแซงแซวเราไม่กิน  หากกินเราจะต้องคดีความ..."


 


เป็นเพราะเหตุใดหรือ?  ผืนแผ่นดินเราเสียหายเช่นนี้?


เป็นเพราะว่าพวกเราถูกเขาลวงลากไป  เขาเปลี่ยนจิตใจและสมองเรา


ที่ตรงกันข้ามกับจิตใจและสมอง  ที่บรรพชนให้และสืบทอดมาให้เรา


 


แต่ก่อนนั้นคำสอนบอกว่าไว้  "ทำด้วยมือกินด้วยปาก  ทำพอเหมาะกินพอควร  อย่าได้โลภ  อย่าได้กอบโกย  อร่อยคือข้าว  ดีงามคือคน"  แต่มาสมัยนี้  เขามาสอนเราผิด ๆ  ว่า  "ทำให้มาก  ทำมาค้าขาย  สิ่งดีงามคือเงินตรา"  และยังปลูกฝังความคิดของเราอีกว่า "งานคือเงิน  เงินคืองานบันดาลสุข"


 


เขาบังคับเราทางอ้อมให้ทิ้ง "ข้าว"  และหันไปไล่ล่า "เงินก้อนใหญ่  ทองก้อนโต"  พวกเราไม่รู้เท่าก็หลงเข้าไปในไซของเขาหมด  และลูกหลานของเราก็มีจิตใจไปกับเขายิ่งถี่ยิ่งมากขึ้น  ทุกคนต่างเข้าใจ  และคิดเพียงว่า  จะปลูกอะไรและจะปลูกอย่างไร  เพื่อได้เงินมา  จะคิดและเข้าใจว่า  หนทางที่เดินไป  จะนำความเสียหายแก่ผืนแผ่นดินถิ่นอาศัยนั้นไม่มีแม้ผู้เดียว


 


เพื่อจะหลอกเรา  พวกเขาได้มาพูดจาหว่านล้อมดั่งผู้ดีมีคุณธรรมสูง 


มาเรียกเราว่าพี่  มาเรียกเราว่าน้อง 


แต่สิ่งที่เขาคิดจะทำอะไรหมู่บ้านเรา  จะแย้มปากออกมาสักคำก็ไม่มี 


 


เขาจะตัดถนนขึ้นมาก็ไม่บอกเรา  เขาจะสร้างอ่างเก็บน้ำก็ไม่สะกิดเรา 


เขาจะมาทดน้ำก็ไม่ปรึกษาเรา  เขาจะประกาศเขตป่าอนุรักษ์ก็ไม่ถามเรา


เหวี่ยงแหกันเอง  จับปลากันเอง


เขาพูดคุยตกลงกันเรียบร้อยแล้ว  และมาบอกเราภายหลัง


เราผู้ซึ่งหูหนวกตาบอด  ก็ตอบตกลงเขาโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ


แต่สุดท้าย  สิ่งเหล่านั้นได้ทำลายผืนแผ่นดินเราจนหมดสิ้น!!


 


เมื่อเขาเห็นว่า  แผ่นดินเราเสียหายแล้ว


เขากลับมาบอกและตราหน้าเราว่า คือ ผู้ทำลายผืนป่าและต้นน้ำลำธาร


ไม่ยอมให้เราถางไร่อีก  และยังคิดการณ์ไกลที่จะไล่เราออกไปด้วยซ้ำ


กฎหมายของเขาที่ว่าด้วยป่าไม้  ที่มาทีหลังเรานานแสนนาน


ได้บอกกับเราว่า  คือ  ผู้ร้ายที่บุกรุกและทำผิด


แต่ความเป็นจริงนั้นคือ  เขาต่างหากที่เป็นผู้ร้าย  มาบุกรุกและทำผิดต่อเรา!!


 


ด้วยเหตุทั้งหมดที่กล่าวมานี้  พวกเราปกาเกอะญอ  ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ตั้งถิ่นฐาน  และอาศัยอยู่ร่วมกับป่า  เรามีความประสงค์จะเปิดเผย  และแสดงออกถึงความต้องการ  ความตั้งใจด้วยจิตใจบริสุทธิ์ยุติธรรม  ปราศจากอคติใดๆ


 


พวกเราปกาเกอะญอ  ถิ่นอาศัยและบ้านเกิดเมืองนอนของเราคือที่นี่  หมู่บ้านและชุมชนของเราคือที่นี่  และเราเป็นชนพื้นเมืองที่นี่ 


 


ดังนั้น  เราควรจะมีสิทธิและหน้าที่ที่จะอาศัยที่นี่ตั้งแต่อดีต  ปัจจุบัน และอนาคต


ไม่ถูกอพยพโยกย้ายหรือไล่ออกไปด้วยเหตุผลใด ๆ  ประการใดทั้งปวง


 


ไร่หมุนเวียนที่บรรพชนได้ทิ้งไว้เป็นมรดกเอาไว้นั้น  เราขอถางไร่เพื่อปลูกข้าวต่อไป  เราถางไปรักษาไปตามบรรพชนได้สั่งสอนเอาไว้  ระเบียบกฎเกณฑ์และข้อห้ามมีไว้อย่างไร  เราจะปฏิบัติเช่นเดิม  และมากไปกว่านั้น  เราจะพยายามปรับเปลี่ยนรูปให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน 


 


เราจะไม่เบียดบังพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่ไร่หมุนเวียนอีก  เราขอให้ผู้ปกครองบ้านเมืองได้ให้อนุญาตเราในรูปแบบนโยบาย  หรือออกเอกสารสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่ง  เพื่อเราจะได้ถางไร่ และทำมาหากินอย่างสงบสุข


 


ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540  มาตรา 46 และมาตรา 56  ที่ได้สิทธิและหน้าที่แก่ราษฎร  ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนนั้น  ขอให้ผู้ปกครองบ้านเมืองกระจายอำนาจมาสู่เรา


 


ให้เรามีส่วนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  อันได้แก่  ดิน  น้ำ  ป่าและสัตว์ป่า  และขอให้ออกพระราชบัญญัติป่าชุมชนโดยเร็ว


 


เราขอปฏิญาณตนว่า  เราจะกลับไปรื้อฟื้นแนวคิดและบททาของบรรพบุรุษเรา  ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  จะเชื่อและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง 


 


เราจะไม่โลภ  ไม่กอบโกย  ไม่เก็บสะสมจนเหลือเฟือ  เราจะยึดถือรูปแบบการผลิตตามปรัชญาของบรรพชนที่ว่า  "ทำด้วยมือกินด้วยปาก  ทำพอเหมาะกินพอควร"


 


ในนามของปกาเกอะญอ  ตัวแทนของผู้มีชีวิตอยู่ร่วมกับป่า  เรามีข้อตกลงร่วมกันว่า  เราคือประชาชนชาวไทย  เรายินดีที่จะจงรักภักดีต่อชาติ  ศาสนา  และพระมหากษัตริย์ 


 


ด้วยเหตุนี้  จึงสมควรที่พวกเราจะได้รับสิทธิ  หน้าที่  เสรีภาพ  และความยุติธรรม  เช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยทั่วไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิและหน้าที่ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  เพื่อผืนแผ่นดินอาศัยและชุมชนของเราที่ตั้งอยู่ในป่า  และต้นน้ำลำธารจะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน  อันจะเป็นประโยชน์สำหรับเรา  และประเทศโดยรวม


 


0 0 0 0 0


 


เมื่ออ่านคำประกาศของคนอยู่ป่า จบลง, 


ผมมีความรู้สึกว่าเหมือนกำลังถูกบางสิ่งที่มองไม่เห็น  ฉุกกระชากผมให้ดิ่งลึกลงไปในหุบเหวของความหม่นมัว  ตึงเครียด  ไม่เข้าใจ  ยิ่งค่อย ๆ  ละเลียดอ่านไป  ยิ่งมีความรู้สึกว่า  บางถ้อยคำของเขา  คล้ายกำลังบ่นพ้อน้อยใจ  บางถ้อยคำกลับดูมีพลังฮึกเหิมเชื่อมั่น  ทว่าบางถ้อยคำกลับดูเหมือนว่าชะตากรรมกำลังถูกกำหนดจากบางอย่างจากภายนอก  ชะตากรรมที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อ


 


และพลอยทำให้ผมเกิดคำถามหนึ่งขึ้นมาในใจ...


"หรือว่าแท้จริงแล้ว  มนุษย์เกิดมาเพื่อการแก่งแย่งทำลายกันและกัน!?"


 


 


 

 

กลับหน้าแรกประชาไท