Skip to main content

อะไรนะ ยุคหลังสมัยใหม่?

คอลัมน์/ชุมชน


วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการบรรยายวิชาหนึ่งในสามของที่สอนในเทอมนี้แต่ยังไม่ได้เสร็จสมบูรณ์ จะมีสอบย่อยใน ๒ วันข้างหน้า แล้วก็จะมีการนำเสนอรายงานประจำเทอม จากนั้นจะได้หมดภาระสักทีกับการสอนวิชานี้ และวิชาอื่นๆ ในเทอมนี้ แล้วก็เหลืออีกเทอมในปีหน้า ก็จะได้หมดเคราะห์หมดโศกกันเสียทีกับอาชีพการสอนของผู้เขียน


 


เหนื่อยเหลือเกินกับระบบการสอนแบบที่เป็นอยู่  ไม่ใช่ตนเองสอนไม่ดี แต่เป็นเพราะว่าเบื่อผู้ร่วมงาน ผู้บริหาร ผู้เรียน และระบบการศึกษาตรงนี้และที่อื่นๆ  อยากหลบให้พ้นๆ แต่ไม่รู้ว่าจะพ้นได้แค่ไหน บทความนี้ไม่ได้เน้นบ่นเรื่องสอน แต่ขอเอามาเกริ่นว่าไอ้ชีวิตแบบหลังสมัยใหม่แบบปัจจุบันมันมีบางส่วนที่สลัดคราบสมัยใหม่ไม่ได้  และมีความสับสนอย่างไร


 


มีคนชอบถามว่า ที่เรียกว่าแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่เป็นอย่างไร ไม่ว่าไทยหรือฝรั่งธรรมดาก็ตอบกันไม่ค่อยได้แบบฟันธง   แท้จริงง่ายๆ คือมันเป็นเรื่องของการมองที่ไปผูกกับกรอบของเวลานิดหน่อยเท่านั้น เพราะที่เรามองทั่วไปในกระแสหลักคือการมองที่มาจากพื้นความรู้ที่เกิดขึ้นหลังยุคกลางในยุโรป คือศตวรรษที่ 14 ที่ได้ปฏิเสธอิทธิพลของศาสนาจักร และนำเอาวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาแทน จากนั้นก็มาสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในศตวรรษที่ 17-18 ที่เริ่มใช้เทคโนโลยีมาผลิตของต่างๆ และสร้างความสะดวกสบาย จนมาปัจจุบัน


 


คราวนี้ไอ้ที่ว่าแนวคิดเดิมมันเป็นอย่างไร ที่เรียกว่าสมัยใหม่ ที่บอกว่าสมัยใหม่นี่ มันคือใหม่กว่ายุคกลาง ไม่ใช่ใหม่แบบทันสมัย ที่คนมักมองแบบนั้น จำได้สนิทเลยว่าตอนเรียน "ยำตก"  ที่ มธ. นั้น อ. นพพร ประชากุล สอนเรื่องพวกนี้ไปผู้เขียนก็นั่งหาวไป ไม่ได้คิดไรมาก จำได้บ้างไม่ได้บ้าง ห้องเรียนก็เบ้อเร่อ วิชาพื้นฐานมีคนหลายร้อยคน ผู้เขียนเป็นแค่ตัวเลขตัวหนึ่ง


 


ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่าจะเอามาใช้อะไรมากมายกับชีวิตเรื่องแบบนี้ ยอมรับว่าที่ลงเพราะเป็นวิชาบังคับ ไม่งั้นไปลงอย่างอื่น แต่วันนี้ถ้าย้อนได้ จะกลับไปนั่งเรียนใหม่ จะถามอาจารย์ให้สุดเหวี่ยง และตอนนี้อาจารย์ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้อย่างหาตัวจับยากในเมืองไทย (ดังนั้นถ้าผู้เขียนขาดตกบกพร่องในการอธิบาย ต้องขออภัยล่วงหน้า เพราะเรียนได้แค่ ซีบวก  เป็นวิชาที่เกรดแย่ตัวหนึ่ง เพราะผู้เขียนไม่ดีเอง)


 


ไอ้ที่ว่าใหม่เพราะคนในยุโรปตอนนั้นไม่ได้โงหัวมาจากอำนาจของศาสนจักร  จริงๆ ตัวศาสนานี่ไม่ได้มีอะไร แต่ตัวคนที่ดำเนินการองค์กรทางศาสนานี่แหละตัวดี ดังนั้น ต้องแยกกันเล็กน้อยว่างานนี้ไม่ได้โจมตีศาสนาแต่โจมตีคนที่เอาศาสนามาเป็นเครื่องมือ จากนั้นก็เลยเอาวิทยาศาสตร์มาเป็นตัวกำหนดกรอบในการเรียนรู้ เช่นเดียวกับเอาศิลปวิทยาการในสมัยกรีกโบราณและโรมันโบราณมาใช้ เช่น เรื่องของการสอนวิชาศิลปศาสตร์ต่างๆ ที่เรียกกันว่า Liberal arts มาใช้  แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนมาปัจจุบันก็ใช้เวลาหลายร้อยปี  แต่ถ้ามองอย่างพิจารณาแล้ว เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ที่รวดเร็วมาก จากคนเดินดินธรรมดา ตอนนี้บินได้ ลงน้ำได้ ทำอะไรได้เกือบหมด


 


อย่างไรก็ตาม ด้วยการพัฒนาทางการผลิตที่มาจากเทคโนโลยี และโครงสร้างสังคมยุโรปที่เปลี่ยนไป ก็มีชนชั้นใหม่เกิดขึ้น เรียกว่า ชนชั้นกระฎุมพี Bourgeoisie ที่แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่าชนชั้นที่มีเงิน แล้วจับจ่ายได้ ไม่ใช่ทาสติดที่ดิน ไม่ได้ทำธุรกิจแบบพอเพียง แต่เพื่อความล้นเหลือด้วย บางคนแปลว่าชนชั้นกลาง ก็ไม่ครอบคลุมเสียทีเดียว พวกนี้ในสังคมไทยอาจพูดถึงบรรดาชนชั้นมีจะกินที่ชอบของหรูหรา หลายคนอาจใช้คำว่าพวกเศรษฐีใหม่ อะไรแบบนี้   ตรงนี้คือประเด็นที่ทำให้มองต่อไปว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การผลิต และวัฒนธรรมในยุโรปมากขึ้น และในท้ายสุดก็แผ่ไปทั่วโลก กลายเป็นการล่าอาณานิคมบ้าง โลกาภิวัตน์ บ้าง ซึ่งก็มีคนเขียนมาเรื่องนี้กันแยะ  (ไปหาอ่านได้ดูได้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน http://www.midnightuniv.org/midnightuniv/articlepage1.htm)


 


คราวนี้ ความคิดหลังสมัยใหม่ที่ว่า สำหรับคนไทยเอย ฝรั่งเอยก็ใช้กันเปรอะไปหมด รวมทั้งผู้เขียนด้วยในบางที  หลายคนชอบมากเพราะใช้แล้วฟังดูเก๋ เป็นแบบฮิปมากในวงการ แต่ผู้เขียนใช้เพราะว่าบางอย่างที่มันอธิบายไม่ได้ในปัจจุบัน ไม่มีกรอบจะช่วยให้เห็นภาพหรือเข้าใจได้ ก็ยัดใส่มันไปเลย ซึ่งก็ไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูก ความคิดหลังสมัยใหม่มีความยืดหยุ่นในจุดนี้ จนหลายคนบ่นว่ามันมั่วเหลือเกิน แม่นแล้วมันมั่วแน่ เพราะมันต้องการให้มั่ว และหลากหลาย ตราบเท่าที่อธิบายได้ในระดับหนึ่ง


 


ผู้เขียนสอนเรื่องนี้ในไทย  ในสหรัฐฯ ปรากฏว่ายิ่งสอนยิ่งพบว่าเด็กไม่รู้เรื่อง น่าสนใจมาก เพราะว่าเท่ากับบอกว่าเด็กรุ่นใหม่พยายามมองโลกแบบในกรอบมากขึ้น  เพราะพอบอกว่าลองมองออกนอกกรอบ กลับคิดไม่ได้ อย่างเช่น ถามว่า "ทำไมคุณต้องเรียนมหาวิทยาลัย เรียนไปทำไม" พวกเด็กก็ตอบทันทีว่า "เรียนไปทำมาหากิน" คือ เรียนไปเพื่อนำไปสู่อเมริกันดรีม ที่ประกอบด้วย งาน บ้าน รถ ครอบครัว ลูก สุดท้ายก็บ้านพักคนชรา 


 


พอถามต่อว่า "ถ้าคนไม่ได้แบบที่คิด ถือเป็นคนล้มเหลวใช่มั้ย"  พวกเขาตอบกันทีว่า "ใช่"  ผู้เขียนถามต่อว่า "ทำไมล่ะ" เด็กบอกทันทีว่า "เพราะไม่อยู่ในสารบบ ไม่อยู่ในกรอบ"  ผู้เขียนถามอีกว่า "แล้วทำไมเวลาฟังดนตรี ถึงชอบฟังเพลงแบบฮิปฮอปกันได้"  เด็กตอบว่า  "มันแปลก มันแสดงความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง" (แต่ลืมบอกไปว่าต้องซื้อเพลงมาฟัง แบบของโหลๆ)


 


เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะว่าเป็น "ทุนนิยมหลังสมัยใหม่"   เด็กได้ยอมรับเอากรอบของกระแสหลักเข้าไป คือต้องการรวยแบบคนอื่นๆ แต่พยายามหาเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ก็ไปเจอการสร้างอัตลักษณ์ผ่านกระบวนการทุนนิยมอันแยบยล ที่บอกว่าถ้าเป็นตัวของตัวเองต้องใช้ของยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ แทนที่จะมองว่าตนเองคือใครผ่านกระบวนทางปัญญา  ไม่ใช่บริโภค


 


เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ในทุกแห่ง และสิ่งนี้แหละที่เรียกว่า "ทุนนิยมหลังสมัยใหม่" ที่พยายามทำให้คนพยายามหาตนเอง และคิดว่าเจอเมื่อตนเองได้บริโภคบางอย่าง หรือ มีความสำเร็จตามสูตรสำเร็จของสังคม แต่จริงๆ หาไม่เจอ ไม่มีวันเจอ เป็นการทับซ้อนของความฉ้อฉลที่ทำให้คนอยู่ในวังวนของการบริโภคอย่างไม่มีสติ และยิ่งมัวเมามากขึ้น


 


นอกจากนี้ ความคิดหลังสมัยใหม่มีอะไรให้พูดอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศสภาพ เพศวิถีที่เคยกล่าวไปแล้ว  การที่ใครสักคนจะเรียกว่าตนเองเป็นคนที่นิยมหรือเข้าใจในโลกหลังสมัยใหม่ มีหลักง่ายๆ เพียงแค่


(๑) คุณคิดนอกกรอบบ้างได้มั้ย


(๒) แล้วคุณยอมรับความต่างของคนอื่นๆได้มั้ย และ


(๓) ที่สำคัญ คุณเข้าใจหรือไม่ว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีกรอบเดียวในการมอง และความสำเร็จในชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องรวย (แบบมากๆ) มันมีอะไรที่เราไม่รู้ แล้วมันอาจมาเมื่อไรก็ไม่รู้


 


ก่อนออกมา ถามเด็กว่ามีอะไรที่เกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ในเรื่องนี้  เด็กมองกันไปมา ผู้เขียนจึงบอกว่า นิเทศศาสตร์นี่แหละคือตัวที่ทำให้เกิดหรือทำลายแนวความคิดต่างๆ และก็เป็นตัวที่ได้ผลกระทบจากแนวคิดต่างๆ ด้วย ทุกวันนี้โฆษณาชวนเชื่อต่างๆ คือเครื่องมือในการจรรโลงความคิดไม่ว่าจะสมัยใหม่หรือหลังสมัยใหม่ เรื่องความคิดเรื่องเพศ  เรื่องคุณค่าของมนุษย์ และเรื่องอื่นๆ


 


หมดชั่วโมงสอน ผู้เขียนเดินออกมาอย่างผิดหวัง แต่ก็ไม่ขึ้งโกรธ  คิดในใจว่า เด็กสักคนในห้องอาจเป็นเหมือนผู้เขียนในอดีตที่ยังไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ ในวัย ๑๘-๒๑ ปี แต่หวังว่าในอีกหลายปีต่อไป เด็กคนนั้นคงคิดเป็นคิดได้ และอาจมายืนสอนปาวๆ แบบผู้เขียนวันนี้   แต่ถ้าโลกยังหมุนในลักษณะนี้ผู้เขียนเชื่อว่าคงยาก  คงไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายเกินไปนัก 


 


ส่วนที่เมืองไทย คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งกระมัง  เพราะทุกวันนี้เด็กไทยอยากรวยไปซะหมดดังที่เป็นข่าว อยากดัง แต่ไม่รู้ว่าดังไปทำไม อยากเก๋แบบพวกนางแบบที่เป็นไทยไปแตกสาวในมะริกาและพยายามทำอะไรแบบแหวกๆ แล้วคิดว่านั่นคือความถูกต้อง พวกนี้กลายเป็นพวกเหมือนว่า (pseudo) หลังสมัยใหม่แบบไทยๆ ที่ตื้นๆ    ที่น่ากลัวคือของไทยนั้นเราไม่มีทรัพยากรคนและธรรมชาติที่มากมายแบบสหรัฐฯ เราจะเหลวแหลกอย่างเขาไม่ได้


 


การที่สังคมไทยจะเอาอย่างฝรั่ง ไม่ว่าจะแบบสมัยใหม่หรือหลังสมัยใหม่ ต้องมองก่อนว่าเราทำไมต้องเหมือนเขาในด้านที่ไม่ได้พัฒนาปัญญา  ไม่ต้องรวยแบบเขาแต่พอเพียงในระดับหนึ่งแบบพระราชดำริ  ไม่ต้องมีกลไกการตลาดที่ใหญ่โตแบบเขา แต่สิ่งที่เราควรมีคือความสามารถในการพิจารณา ซึ่งอันนี้ไม่มีขอบเขตแต่ต้องกว้างและลึกตลอดเวลา ไม่จำกัดว่าต้องก่อนหรือหลังสมัยใหม่ แต่มีให้ความเข้าใจในสิ่งที่ศึกษาอยู่ สิ่งนี้แหละที่พึงปรารถนา


 


ผู้เขียนมั่นใจว่า เมื่อคุยกับคนไทยในอนาคต คงมีคำถามแน่ๆ ว่า "อะไรนะ ยุคหลังสมัยใหม่?"  ก็จะบอกให้มาอ่านบทความนี้ จะได้ไม่ต้องอธิบายบ่อยๆ แต่จะไปถึงไหนและได้ผลอย่างไรคงแล้วแต่เวรกรรม  ขอจบแบบไทยๆ ใหม่ๆ เก่าๆ แบบนี้แล้วกัน


 


 


หมายเหตุ—มีผู้อ่านถามว่าไปเสนองานอะไรบ้างที่บอสตั้น มีหัวข้อเป็นภาษาอังกฤษ ดังนี้


(1) Building Healthy Departments: Teaching to the Mission of the SmallCollege


(2) Checking the Health of GLBTQ Centers on College Campuses


(3) Structural Discrimination and Multiethnic/racial GLBT Professionals: (Un) healthy Communication Practices in Context


(4) GLBT Anti-defamation Campaigns in Thailand and the Use of Internet and Web Boards (อันนี้ได้ขอยกเลิกไม่นำเสนอ แต่ยังไม่ได้ล้มเลิกโครงการ)


กลับหน้าแรกประชาไท