Skip to main content

ส่วนเสี้ยวในเรื่องราวของคนที่ถูกเรียกว่า " เด็กแก๊ง"

คอลัมน์/ชุมชน

" ไม่ เข้าใจว่าทำไมตำรวจต้องมาตามจับมาตั้งค่าหัวพวกเราด้วย " คำบอกเล่าของวัยรุ่นที่อยู่ในกลุ่มแก๊ง


" ดีแล้ว! ที่ตำรวจยิงพวกแก๊งซิ่ง ขับรถน่ากลัวมาก" แม่ค้าตลาด แห่งหนึ่งกล่าวด้วยความสะใจ


" ก็มันเรื่องของเด็กกับครอบครัว ครูอย่างเราไม่ยุ่งดีกว่า เดี๋ยวเจอดี" ครูโรงเรียนเอกชน ระบุในข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง


ประโยคที่ได้ยินผ่านสื่อเพียงไม่กี่คำได้สะท้อนให้เห็นภาพความรุนแรงของวัยรุ่นที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในลักษณะต่างๆ เช่น การชกต่อย ทะเลาะวิวาท ยกพวกตีกัน โดยกลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันใช้อำนาจและความรุนแรงเป็นเงื่อนไขในการตัดสินการกระทำบางอย่างมักถูกเรียกว่า " แก๊งวัยรุ่น"


พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานฉบับล่าสุด ได้ให้ความหมายของคำว่า " แก๊ง" ว่า กลุ่มคนที่ตั้งเป็นก๊กเป็นเหล่า ( มักใช้ในความหมายที่ไม่ดี) เช่น แก๊งโจร แก๊งอันธพาล


การที่วัยรุ่นรวมตัวเป็นกลุ่มแก๊ง ผู้คนส่วนใหญ่มักนึกถึงอันตรายความน่าเกรงกลัวความรุนแรงการสร้างความวุ่นวาย เช่น การยกพวกตีกัน ปาระเบิด การแสดงออกทางเพศที่ถูกเรียกว่า " มั่วสุม" การลักขโมย สิ่งเหล่านี้เป็นภาพการณ์ที่ทำให้แก๊งวัยรุ่นถูกมองว่าเป็น " ผู้สร้างปัญหา" มาโดยตลอด ฉะนั้นไม่แปลกที่รัฐจะแก้ปัญหาด้วยการควบคุมโดยการเคอร์ฟิว การจัดระเบียบสังคม การกำหนดพื้นที่หรือแม้แต่การวิสามัญฆาตกรรม ดังนั้นการแก้ปัญหา" แบบควบคุม" ลักษณะข้างต้น ล้วนได้รับการยอมรับจากสังคม !?


... แก๊งวัยรุ่นคืออะไร? .... ทำไมวัยรุ่นต้องเป็นแก๊ง? ... เป็นแก๊งได้อะไร? .... เด็กแก๊งมีวิถีชีวิตอย่างไร? … เด็กแก๊งเป็นผลพวงของปัญหา? …. เด็กแก๊งมองสังคมอย่างไร?


คำถามดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการการจัดการองค์ความรู้กลุ่มเด็กและเยาวชนที่รวมตัวเป็นกลุ่มแก๊ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดองค์ความรู้ของเด็กและเยาวชนที่รวมตัวเป็นแก๊งและนำความรู้ที่เกิดจากกระบวนการถอดองค์ความรู้ไปรณรงค์สร้างความเข้าใจในสังคมให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่รวมตัวเป็นกลุ่มแก๊ง


การดำเนินการตามโครงการ จัดทำในระหว่างเดือน มิถุนายน 2547 ถึง กุมภาพันธ์ 2548 เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์ประสานงานเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบนร่วมกับมูลนิธิศักยภาพเยาวชน(TYAP Foundation) และกลุ่มวัยรุ่น WY โดยมีทีมศึกษาองค์ความรู้ 3 คน และมีเพื่อนๆ ที่ถูกคนเรียกว่า " แก๊ง" จำนวน 10 คน เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิต และประสบการณ์แก่ทีมงาน



" เด็กแก๊งไม่ใช่ผู้สร้างปัญหาแต่เป็นผลพวงของปัญหา" หากเด็กแก๊งถูกมองว่าเป็นปัญหา ปัญหาที่ส่งผลต่อบริบทของเยาวชนโดยรวม ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ปัญหาเยาวชนอยู่ขั้นวิกฤต


….. วิกฤต จนต้องจัดระเบียบสังคม !?


เด็กและเยาวชนที่รวมตัวเป็นกลุ่มแก๊งจึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดการ จัดการโดยการควบคุม กำกับ จำกัดพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ


อาจไม่ช้าเกินไปที่จะ ทำความเข้าใจเรื่องแก๊งกันใหม่


การรวมกลุ่มของวัยรุ่น


การก่อเกิดกลุ่มเยาวชนถือได้ว่ามีมานานตั้งแต่ในสมัยอดีต นับแต่การรวมกลุ่มของกลุ่มหนุ่มสาวในหมู่บ้านตามคณะศรัทธาวัดต่างๆ ในสมัยนั้นกลุ่มหนุ่มสาวมีการทำกิจกรรมตามงานประเพณี งานบุญ งานศพ และงานสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน แต่นับจาก 10 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการรวมกลุ่มของหนุ่มสาวเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนกลับมีน้อยลงทุกที แต่กระนั้นยังเกิดการรวมตัวของหนุ่มสาวในลักษณะใหม่ ๆ คือ การรวมกลุ่มทำกิจกรรม ทำค่าย จัดอบรม ผลิตสื่อ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ในชุมชนตามประเด็นเฉพาะ อาทิ ประเด็นการป้องกันเอดส์ ยาเสพติด พิทักษ์สิทธิเด็ก ต้านการค้ามนุษย์ สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญา ฯลฯ


กลุ่มแก๊ง อาจมีความแตกต่างจากการรวมกลุ่มแบบกลุ่มหนุ่มสาวไม่มากนัก เพราะกิจกรรมโดยส่วนใหญ่ของกลุ่มแก๊งล้วนเป็นพฤติกรรมของคนทุกคนที่จะต้องดำเนินการตามวิถีชีวิตที่มีความแตกต่างกันออกไป


การได้เห็นสถานการณ์ความรุนแรงที่เด็กแก๊งแสดงออกมานั้น ผู้คนมักมีคำถามต่างๆ ว่าทำไมเด็กวัยรุ่นเป็นถึงขนาดนี้ เหตุผลที่มักได้ยินโดยส่วนใหญ่ เช่น ครอบครัวไม่อบอุ่น มีปัญหา อยากรู้ อยากลอง เป็นต้น อาจเป็นเพียงเหตุผลที่นิยมนำมากล่าวให้กับวัยรุ่น เพราะส่วนหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการเลี้ยงดูหรือดูแลเอาใจใส่ของครอบครัวและ การอยากลองตามบุคคลอื่นที่เป็นเหตุมาจากภายใน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม ได้แก่ การรวมกลุ่มเพื่อป้องกันตัวและสมาชิกในกลุ่ม , การรวมกลุ่มเพื่อมีเพื่อนแท้, การรวมกลุ่มเพื่อได้รับการยอมรับในการแสดงออกเช่น การแต่งกาย การเต้นรำ, การรวมกลุ่มทำให้มีกิจกรรมให้ทำ เช่น การออกค่าย คอนเสิร์ต ขายของ เที่ยวเธค, การรวมกลุ่มเพื่อแสดงตัวตน และพื้นที่ทางสังคม เพื่อบอกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องการพื้นที่ในการแสดงออก



กลุ่มแก๊งมีมาแต่อดีต


เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา การรวมกลุ่มแบบแก๊งนั้น แต่เดิมในเชียงใหม่มีการรวมกลุ่ม เช่น จิ๊กโก๋ช้างม่อย หรือ กลุ่มบ้านนั้น บ้านนี้ มีการรวมกลุ่มแบบหนุ่มสาว และมีบ้างที่ทะเลาะชกต่อย และวิวาทะต่อกัน ไม่ได้มีความแตกต่างจากการรวมกลุ่มของวัยรุ่นสมัยนี้มากนั้น เพราะกิจกรรมบางอย่างมีความคล้ายคลึงกัน บางกลุ่มแข่งรถ เที่ยวกลางคืน จัดคอนเสิร์ต ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ อาจเป็นข้อบ่งชี้สำคัญ ว่าการรวมกลุ่มแบบแก๊งนั้น มีมาแต่อดีตเช่นกัน


ซึ่งหากเราชวนท่านย้อนกลับไปดูในอดีต ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นในสมัยไหน ล้วนเคยมีคนเคยผ่านสมรภูมิการต่อสู้ทางด้านจิตใจในความห้าวและการเรียกร้องความเห็นใจมากันทุกคน มิใช่เพียงแค่วัยรุ่นในยุคนี้เท่านั้น แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรฐกิจและสังคมของเมืองไทย โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ ที่มีการผสมผสานระหว่างภาคธุรกิจและมีสถานประกอบการมากขึ้น เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กลุ่มแก๊งมีการเปลี่ยนแปลงตามวิถีของสังคม


สรุปคือ การรวมกลุ่มแก๊งหรือกลุ่มของเด็กและเยาวชนในรูปแบบต่างๆ นั้น มีมาตั้งแต่อดีต และเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์สร้างสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ดังนั้นการรวมกลุ่มของวัยรุ่นต้องมีกิจกรรมมารองรับความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการของวัยรุ่น ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า เด็กแก๊ง


 


ทัศนคติ: เงื่อนไขสู่การเรียนรู้อย่างเข้าใจ


ในขณะที่เด็กและเยาวชนที่เผชิญกับปัญหาต้องใช้ชีวิตท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งทางความคิดทางวัฒนธรรมระดับชุมชนและกระแสโลกา ภิวัฒน์ เด็กและเยาวชนที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มแก๊งเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการรวมตัวของเด็กและเยาวชนที่ถูกมองจากสาธารณชนว่าเป็นผู้สร้างปัญหา สมควรถูกยิง ถูกตำรวจวิสามัญหรือบางรายผู้ปกครองอยากให้เอาไปขังคุก จนเด็กแก๊งถูกปิดกั้นโอกาสในการแสดงความคิด สะท้อนความรู้สึกต่อสถานการณ์ ปรากฎการณ์ทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง


ภาพการนำเสนอเรื่องราวของเด็กแก๊งในสังคมผ่านสื่อ มักจะเป็นภาพการตอกย้ำว่าเด็กแก๊งเป็นอันธพาล นิยมใช้ความ รุนแรงในการตัดสินและแก้ไขปัญหา จนนำไปสู่ความเดือดร้อนของผู้คนทั่วไป และมองว่าเด็กแก๊งเป็นพวกที่ครอบครัวไม่อบอุ่น เรียนหนังสือไม่เก่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้เป็นเกิดความคิดที่ตอกย้ำภาพในสังคมโดยรวม แต่อาจต้องทำความเข้าใจ ทบทวนให้รอบด้าน มองวัยรุ่นที่รวมตัวเป็นกลุ่มแก๊งให้ครบทุกองศา เพราะมุมที่เรามองเด็กแก๊งบางคนผ่านสายตาที่มีอคติเชิงลบนั้นอาจไม่เป็นเงื่อนไขที่สามารถแก้ไขหรือป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กแก๊งได้จริง


วัยรุ่นที่เข้ามาในกลุ่มแก๊งแต่ละคนมีที่มาต่างกัน การอยากมีเพื่อนเที่ยว ได้คุยกับคนวัยเดียวกันที่เข้าใจ ต้องการแสวงหาพื้นที่แสดงออก การแสดงตัวตน การยอมรับจากวัยเดียวกันและความกดดันทางอารมณ์จากครอบครัว โรงเรียน ตลอดจนภาระความรับผิดชอบทางสังคมได้เป็นปัจจัยสำคัญในการรวมตัวของกลุ่มเพื่อนที่มีความจริงใจต่อกัน และวิถีชีวิตแบบที่เด็กแก๊งดำเนินก็ไม่ได้ต่างจากวัยรุ่นทั่วไปที่ต้องการเพื่อนฝูง การยอมรับ จากการแสดงออกในลักษณะต่างๆ เช่น เด็กที่ประกวดเต้น ประกวดร้องเพลง หรือ การแข่งขันกีฬา แต่เหมือนกับว่าการแสดงออกแบบ" แก๊ง" นั้นไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของวัยรุ่นที่สังคมคาดหวังและกำหนด หากเห็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่ถูกหูถูกตาวัยรุ่นคนนั้นก็คือตัวประหลาดคนหนึ่ง เด็กแก๊งบางคนไม่ได้รับการยอมรับในการกลับตัว ถูกไล่ออกจากโรงเรียน ครอบครัวไม่ใส่ใจ บางคนถูกตั้งค่าหัวเรือนหมื่น สิ่งเหล่านี้เป็นการตีตราชีวิตของวัยรุ่นคนหนึ่งที่มีพฤติกรรม " แก๊ง" และการแก้ปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่น โดยรัฐและสังคมที่เน้นการควบคุม การตั้งค่าหัวที่ส่วนใหญ่เน้นไปที่การจับมาลงโทษแล้วปล่อยตัวไป ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงของแก๊งวัยรุ่นเกิดขึ้นอยู่เสมอ



สำหรับช่องทางในการแก้ปัญหานี้ เราควรส่งเสริมทางเลือกมากกว่าการควบคุม ด้วยวิธีดังต่อไปนี้


มีทัศนคติที่เข้าใจและยอมรับ เปิดใจในการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตของเยาวชนเพราะคนทุกคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นความเข้าใจและการยอมรับจึงเป็นประตูด่านสำคัญที่ต้องตระหนักร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการไม่ตัดสินผิดถูก หรือตีตรา ตอกย้ำภาพความรุนแรงในกลุ่มแก๊ง


มองเด็กแก๊งในมุมที่กว้างขึ้น ต้องยอมรับว่าการรวมกลุ่มของวัยรุ่นซึ่งรวมถึงกลุ่มแก๊ง มีมาแต่อดีต และมีมากในปัจจุบันเพราะมีเงื่อนไขต่างๆ เข้ามาสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ทำให้กลุ่มเด็กแก๊งมีความหลากหลาย มีการดำเนินกิจกรรมภายในกลุ่มที่แตกต่างกัน ดังนั้นต้องมองว่าเด็กแก๊งคือกลุ่มคน เป็นพลเมืองคนหนึ่งของสังคม และมีการทำกิจกรรมด้านต่างๆ อาทิ เล่นคอนเสิร์ต แข่งรถ จัดค่าย รณรงค์แจกถุงยาง ไม่ใช้แค่ตีรันฟันแทงอย่างเดียว


ส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างสรรค์และสอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของกลุ่ม เมื่อมีการดำเนินกิจกรรมที่แตกต่างกันไปแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมหรือการสนับสนุนให้มีโอกาสในการทำเพื่อสาธารณะประโยชน์ เช่นการจัดค่ายพัฒนาทักษะ การคิดวิเคราะห์ การลดความรุนแรงหรือการสร้างสมานฉันท์ และเปิดโอกาสให้เด็กแก๊งมีส่วนร่วม ริเริ่ม คิด ตัดสินใจและรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรม


สนับสนุนทรัพยากร และทุนในการดำเนินกิจกรรม ควรมีการดำเนินการสนับสนุนการทำงานหรือการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนที่รวมกลุ่มกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นการพัฒนาเยาวชนในเชิงบวก ให้เยาวชนมีทักษะการคิด วิเคราะห์และมองเห็นโอกาสเสี่ยงและมีกระบวนการในการจัดการความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองหรือเพื่อน ทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักในการลดความรุนแรงในกลุ่มมากขึ้น


การนำเสนอเรื่องราวของเด็กแก๊งผ่านสื่อ อาจต้องมีการนำเสนอเรื่องราวที่กลุ่มแก๊งทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือสาธาณะประโยชน์หรือมุมมองเด็กแก๊งที่มากกว่าการชกต่อยทะเลาะวิวาทกัน เพราะจะเป็นการตอกย้ำความรุนแรงของกลุ่มแก๊งมากขึ้น ดังนั้นภาพที่เด็กแก๊งทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์หรือด้านอื่นๆ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้คนในสังคมมีทัศนคติที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายและสิทธิของความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกเรียกว่า " เด็กแก๊ง"


สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมและสภาพแวดล้อมรอบตัวกลุ่มแก๊ง นอกจากกิจกรรมจะทำกับกลุ่มเด็กแก๊งโดยตรงแล้ว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจหรือมีกระบวนการในการเรียนรู้กับกลุ่มผู้คนที่มีส่วนสัมพันธ์กับเด็กแก๊ง เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ตำรวจ คนในชุมชน ผู้ประกอบการ เป็นต้น เพราะเด็กแก๊งไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหาแต่เป็นผลพวงของปัญหา การทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่แวดล้อมเด็กแก๊ง จึงเป็นการสร้างสภาวะทางสังคมแห่งความเข้าใจและยอมรับในวิถีชีวิตของเด็กแก๊งร่วมกัน


 สุดท้ายแล้ว ความร่วมมือของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการดำเนินการเพื่อสร้างสภาวะทางสังคมและให้เด็กและเยาวชนที่รวมตัวเป็นกลุ่มแก๊ง มีคุณภาพชีวิต มีการเรียนรู้และมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับผู้อื่น และเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่ออนาคต ร่วมกันต่อไป