Skip to main content

ความทรงจำที่สนามหลวง ตอน ๒ เสียงเยาวชน

คอลัมน์/ชุมชน


ความทรงจำที่สนามหลวงที่อยากจะกล่าวถึงอีกหนึ่งความทรงจำคือ "หนังสือพิมพ์เสียงเยาวชน"


 


หนังสือพิมพ์ "เสียงเยาวชน" ถือว่าเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่กิจกรรมและมุมมองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน โดยจัดพิมพ์ภายในงานมหกรรมเอดส์ภาคประชาชนทั้งสามวัน


 


ก่อนจะมีรูปร่างหน้าตาออกมาเป็นหนังสือพิมพ์ได้ ก็ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวกันนานพอสมควร ซึ่งการเตรียมตัว เริ่มโดยการพูดคุยของเยาวชนก่อน และได้เสนอความคิดว่าอยากทำหนังสือพิมพ์ภายในงานกับคณะทำงานจัดงานและองค์กรพี่เลี้ยง ในระหว่างหารือเรื่องความเป็นไปได้ในการจัดทำ – ต่อมาเมื่อมีคนสนับสนุน ทีมเยาวชนจึงแข็งขันออกแรงร่วมกันก็ยังต้องระดมพลเพื่อนๆ ที่สนใจมาช่วยงานกันอีกหลายคน


 


จนสุดท้าย เราได้เพื่อนๆ ที่มาร่วมเป็นคณะทำงานประมาณ 30 กว่าคน ซึ่งมาจากเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย เครือข่ายเยาวชน V-Teen มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พร้อมกับพี่ๆ ที่ปรึกษาอีกหลายคนที่เป็นคณะทำงานร่วมกัน


 


ในระหว่างเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ แล้ว การเตรียมความพร้อมของทีมงานที่เป็นเยาวชนในการทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ที่จะต้องเน้นการสื่อสารเรื่องเอดส์ เพศศึกษานั้นก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องเติมเต็มกันและกัน


 


ด้วยเหตุนี้ ก่อนงานมหกรรมเอดส์ฯ จะเริ่มต้นอีก 3 วัน จึงได้มีการจัดเวิร์คชอปเล็กๆ ที่มีเนื้อหาสาระที่เข้มข้นในด้านเอดส์ เพศศึกษา แก่เยาวชน 30 ชีวิต แน่นอนว่าอาจเป็นการอบรมครั้งแรกของเพื่อนบางคน หรือเป็นครั้งที่มากของอีกบางคน แต่ทุกคนก็พร้อมเรียนรู้เสมือนแก้วที่พร้อมจะเทน้ำลงไปในจังหวะ จำนวนที่พอดี นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาทักษะด้านการเขียนข่าวด้วย


 


ทีมงานทุกๆ คน ตื่นเต้น และรู้สึกว่าได้ท้าทายความคิด ทักษะ และพลังของตนเอง การจัดทำหนังสือพิมพ์ครั้งนี้ เป็นโอกาสแรกของทุกคนที่จะได้ลงมือทำงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์อย่างจริงๆ จังๆ


 


พวกเราช่วยกัน คิดคอลัมน์ เนื้อหา รูปแบบ สีสันที่จะแต่งแต้มลงในหนังสือพิมพ์ นี้


 


และแล้ว หนังสือพิมพ์ "เสียงเยาวชน" ก็เริ่มมีเค้าร่าง หน้าตาขึ้นมามากขึ้น ชื่อที่บอกถึงเสียงของเยาวชนที่จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารเนื้อหา ความคิด ประสบการณ์ต่างๆ ของเยาวชนและผู้คนที่มาร่วมในงานเอดส์นี้


 


วันแรก-วันที่สอง-วันที่สามของการทำงาน (๒๒–๒๓-๒๔ พ.ย.) ในการจัดทำหนังสือพิมพ์ "เสียงเยาวชน" นั้น จะมีกระบวนการทำงานที่เหมือนกันเกือบทุกวัน กล่าวคือ ช่วงเช้าถึง ๖ โมงเย็น ก็เป็นช่วงผู้สื่อข่าวเยาวชนจะทำหน้าที่หาข่าว เก็บประเด็น สัมภาษณ์บุคคลภายในงานและนำต้นฉบับมาส่งให้กองบรรรณาธิการตรวจทาน และระหว่างนั้นทีมที่ทำอาร์ตเวิร์คก็จัดหน้าขอหนังสือพิมพ์ พอข่าว บทความใดเสร็จก็นำมาวางลงในหน้าที่จัดอาร์ตเวิร์คไว้ และตรวจทานอีกรอบก่อนส่งโรงพิมพ์


 


ช่วงหลังจากนี้ล่ะครับที่ทีมศิลปกรรมจะต้องทำการบ้าน โดยการจัดหน้าให้แล้วเสร็จก่อนเวลาที่โรงพิมพ์จะส่งผู้นำส่งเอกสาร (แมสเซนเจอร์) มาเอาต้นฉบับตอนเที่ยงคืนตรง และนำหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์มาแล้วกว่า ๕,๐๐๐ ฉบับมาส่งรุ่งเช้าของอีกวัน


 


การทำงานในแต่ละวันต่างต้องพบกับอุปสรรคนานาประการ


 


วันแรก – ทีมงานต้องย้ายที่นั่งทำงานจากเต็นท์กองอำนวยการที่สนามหลวง ซึ่งฝ่ายสถานที่แจ้งว่ายังไม่ได้ติดไฟย้ายมานั่งทำงานที่ฝั่ง ม.ธรรมศาสตร์ นั่งทำงานที่ ม.ธรรมศาสตร์ได้จนถึง ๒๓.๐๐ น. ปรากฏว่าไฟดับ เพราะ รปภ. ของโรงอาหารบอกว่าห้ามมานั่งรวมกลุ่มสุมหัวตอนดึกๆ พวกเราจึงย้ายมานั่งทำงานที่สนามหลวง แต่ต้องแอบใช้เต็นท์ของเครือข่ายสิทธิ ในการทำงาน สรุปคืนนี้ส่งต้นฉบับให้โรงพิมพ์ตี ๒ ครับ


 


วันที่สอง – วันนี้เริ่มดีกว่าวันแรก แต่วันนี้หลายคนได้รับ SMS จากพี่ทีมงานคนหนึ่งบอกว่า  "โรงพิมพ์โทรมาบอกว่าตัวหนังสือที่เราทำไปกับที่โรงพิมพ์มันคนละอันกัน" ดังนั้นจึงต้องเอาต้นฉบับที่ส่งพิมพ์มาทำใหม่แล้วส่งคืนโรงพิมพ์อีกครั้งตอนเที่ยงของวันนี้ สรุปก็คือ หนังสือพิมพ์ "เสียงเยาวชน" ถูกนำมาเผยแพร่แก่มวลชนในงานเอดส์นี้ประมาณ ๒ ทุ่ม แต่ต้นฉบับที่ส่งโรงพิมพ์ของวันนี้ทันเวลาครับ – ขอบอกๆ


 


วันที่สาม – และแล้วก็ถึงวันสุดท้ายของการทำงานหนังสือพิมพ์ "เสียงเยาวชน" ทีมงานที่เหน็ดเหนื่อยตลอดทั้งสองวันที่ผ่านมา วันนี้คงเป็นอีกวันที่จะได้ทำงานร่วมกัน และแน่นอนครับ ด้วยข้อผิดพลาดที่ผ่านมาของการทำงานตลอดสองวันได้เป็นบทเรียนที่ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับสุดท้ายของงานออกมาดีมากกว่าที่ผ่านมาและส่งโรงพิมพ์ได้ทันเวลาที่กำหนด


 


ตลอดระยะเวลาทั้งสามวันของการทำงาน ผมเองได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่มีประสบการณ์ในรูปแบบที่ต่างกันไป ได้เห็นกระบวนการทำงานหนังสือพิมพ์ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเพียงหนังสือพิมพ์เล็กๆ แต่ก็สามารถทลายความเงียบงันของการสื่อสารเรื่องเอดส์ เพศศึกษาได้อย่างมีมุมมองและชั้นเชิงแบบฉบับคนรุ่นใหม่


 


การทำงานหนังสือพิมพ์ "เสียงเยาวชน" เพียงไม่กี่วัน ทำให้เปรียบเทียบได้ถึงการทำงานสื่อสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่ให้เราได้ติดตามบริโภค ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ที่ล้วนแต่ต้องผ่านกระบวนการที่ต้องอาศัยความเป็นทีมสูงมาก และแม้หนังสือพิมพ์ "เสียงเยาวชน" จะเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของเยาวชนที่มาจากพื้นเพที่ต่างกัน แต่ผลที่ออกมาและกระบวนการที่ทำงานด้วยกันก็ทำให้เห็นถึงพลังความสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ที่สามารถสร้างสื่อเพื่อส่งสารของตัวเองได้ และหากมีกระบวนการสนับสนุนการดำเนินการเช่นนี้ในระยะยาว มองว่าจะเป็นกระบวนการที่ทำให้เยาวชนได้ส่งเสียงของตนเองอย่างแท้จริง ซึ่งไม่เพียงแต่รู้ทันสื่อ แต่สามารถส่งสารแก่สาธารณะได้ด้วย


 


และหากเริ่มทำสื่อในระดับใหญ่โตอาจจะยาก แต่การริเริ่มต่อไปในกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีความเชื่อมั่น ในการสร้างสารที่จะเป็นเสียงในการเปลี่ยนแปลงสังคม เสียงที่ทลายกำแพงมายาคติที่สังคมมองเยาวชนในมุมที่เป็นปัญหา ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับกลุ่มคนเล็กๆ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่


 


 กลับหน้าแรกประชาไท