Skip to main content

จ๋ามตอง...นักต่อสู้เพื่อชาวไทยใหญ่

คอลัมน์/ชุมชน








 


"มีหลายคนบอกว่า สิ่งที่เราหวังส่วนมากไม่ค่อยได้เกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นเราก็ไม่เคยคาดหวังมาก่อน แต่สำหรับฉัน เชื่อว่า ชีวิตของคนเราก็ต้องอยู่ด้วยความหวัง เพราะมันเป็นแรงบันดาลใจให้เราสามารถทำอะไรได้มากมาย แม้สิ่งที่เกิดขึ้นเราไม่ได้คาดหวังไว้ทั้งหมด แต่ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นก็คงต้องทำ และคาดหวังกับมันต่อไป"


 


นี่คือคำพูดของนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของชาวไทยใหญ่วัย 23 ปี เจ้าของรางวัลสิทธิมนุษยชนรีบอค ประจำปี 2548 ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่เกิดในรัฐฉาน แต่มาเติบโตบริเวณชายแดนไทย-พม่า เพื่อหลีกหนีจากภัยสงครามที่เลวร้าย เหตุการณ์หลายอย่างในชีวิตที่เธอต้องประสบ ภาพความยากลำบากและการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่ เป็นภาพที่ติดตาเธอมาเสมอ เธอหวังว่าสักวันหนึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่คงไม่มีใครจะทำให้มันเปลี่ยนแปลงได้หากไม่เริ่มต้นทำอะไรเลย เธอค่อยๆ คิดและเริ่มทำมันอย่างช้าๆ โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือตัวเอง


จ๋ามตองเกิดในหมู่บ้านเล็กๆ ในรัฐฉานประเทศพม่า  ในวัยเด็กเธอใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน ช่วงวันหยุดเธอและเพื่อนจะชวนกันไปเก็บหาของป่า เช่น หาเห็ด หาหน่อไม้ เพื่อนำมาปรุงอาหาร หน้าร้อนเข้าไปหาน้ำผึ้ง หรือไม่ก็เก็บดอกไม้ป่า พอหน้าหนาวก็จะรวมตัวกันทำข้าวหลามและข้าวปุ๊กกินกัน ทุกคนในหมู่บ้านต่างช่วยเหลือกัน แบ่งบันอาหารและเอื้ออาทรต่อกัน อยู่อย่างพอมีพอกิน มีธรรมชาติและป่าเป็นคลังอาหารสำคัญ มันเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากสำหรับเธอในตอนนั้น และเธอคิดว่าเธอจะอยู่ที่นั่นไปชั่วชีวิต


 


แต่สิ่งที่เด็กหญิงจ๋ามตองคิดไว้กับความเป็นจริงนั้นช่างแตกต่างกัน วิถีชีวิตของเธอและเพื่อนบ้านคนอื่นๆ เริ่มผกผัน หลังจากที่ทหารพม่าเข้ามาในหมู่บ้านของเธอ เธอยังจดจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ดี


"คืนนั้น แม่บอกให้ฉันเก็บเสื้อผ้าเท่าที่จำเป็น และบอกว่าเราต้องย้ายออกจากหมู่บ้านในตอนเช้า ปีนั้นฉันจำได้ว่าเราต้องย้ายที่อยู่ถึงสองสามครั้ง สิ่งที่เสียใจที่สุดคือ เวลาย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ก็ไม่ค่อยมีโรงเรียน และบางทีต้องเรียนซ้ำชั้น ป.1 ใหม่อีกครั้ง"


 


การย้ายที่อยู่ในรัฐฉานเพื่อหลีกหนีจากภาวะสงครามที่เลวร้ายไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเธอมีความปลอดภัยมากขึ้น ซ้ำร้ายสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารไทยใหญ่กับพม่าทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและอนาคตที่ดีกว่าของลูกสาว พ่อแม่ของเธอจึงตัดสินใจส่งเธอให้มาอยู่ที่บ้านเด็กกำพร้าในหมู่บ้านเปียงหลวง บริเวณชายแดนไทย - พม่า ขณะที่เธอยังเด็ก จ๋ามตองไม่รู้จริงๆ ว่าอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอต้องย้ายมาที่นี่ เธอก็เกิดคำถามขึ้นในใจตลอดเวลาว่า ทำไมครอบครัวเธอต้องพลัดพรากจากกัน พวกเธอน่าจะมีชีวิตอย่างสงบสุข ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในรัฐฉานและได้อยู่พร้อมหน้ากับพ่อแม่พี่น้อง นั่นคือสิ่งที่เธอใฝ่ฝันตลอดเวลา นับตั้งแต่เธอมาอยู่ที่บ้านเด็กกำพร้าแห่งนี้


 


ที่บ้านเด็กกำพร้า นอกจากเธอแล้วยังมีเพื่อนๆ ของเธอเกือบสามสิบคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน เด็กบางคนพ่อแม่เสียชีวิตไม่มีแม้ญาติพี่น้องที่จะให้ความช่วยเหลือ บางคนแม้จะมีพ่อแม่แต่ก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันเช่นเดียวกับเธอ การอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ ทุกคนมีหน้าที่ประจำต้องรับผิดชอบ ต้องคอยช่วยเหลือดูแลกันและกัน และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด


 


จ๋ามตองมีโอกาสได้เรียนหนังสือในโรงเรียนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กจากครูแมรี่เจ้าของบ้าน ซึ่งเปรียบเสมือนครูและผู้ปกครองของเธอ หลังเลิกเรียนทุกวันเธอยังเจียดเวลาไปเรียนพิเศษภาษาจีนจากคนจีนในหมู่บ้าน ส่วนวันเสาร์อาทิตย์จะไปเรียนภาษาไทยใหญ่จากคนในหมู่บ้าน ด้วยความขยันและตั้งใจใฝ่รู้ ทำให้เธอสามารถพูดได้ทั้งภาษาไทย ภาษาไทยใหญ่ และภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ดังนั้น บ้านเด็กกำพร้าหลังนี้นอกจากจะเป็นแหล่งความรู้ที่ช่วยประสิทธิ์ประสาท วิชาความรู้แล้ว ยังเป็นสถานที่เรียนรู้และสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตให้กับเธออีกด้วย


 


อย่างไรก็ตาม ชีวิตวัยเด็กที่โหยหาและรอคอยการกลับมาของพ่อและแม่คือสิ่งที่เธอต้องการมากที่สุด แม้จะข้ามมาอยู่ฝั่งไทยแล้ว เธอยังคงได้รับรู้และได้ยินข่าวการสู้รบ การกดขี่ข่มเหง ทำลายทำร้ายคนไทยใหญ่ของทหารพม่าอยู่เสมอ ยิ่งทำให้เธอเป็นห่วงและคิดถึงพ่อแม่เธอมากขึ้น ขณะที่เธออยู่ที่บ้านเด็กกำพร้า เธอคิดเสมอว่าพ่อกับแม่ของเธอคงหนีทหารพม่าอยู่ที่ไหนสักแห่งในรัฐฉาน แม้ไม่รู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน เธอพยายามที่จะติดต่อและถามข่าวคราวพ่อแม่เสมอ จ๋ามตองเฝ้ารอคอยการกลับมาของพวกเขา รอคอยจดหมายที่พ่อแม่ของเธอจะส่งมาเพื่อบอกข่าวคราวให้เธอได้รู้ได้สบายใจ


 


"หากโชคดีฉันจะได้รับจดหมายจากพวกท่าน จดหมายแต่ละฉบับที่ส่งมา ฉันจะเก็บไว้อย่างดี เวลาคิดถึงก็เอามาเปิดอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก จำได้ดีว่าครั้งแรกที่พ่อแม่ทิ้งฉันไว้ที่นี่ ฉันร้องไห้ทุกวัน ต้องแอบไปร้องไห้ในห้องน้ำอย่างเงียบ ๆ เพื่อไม่ให้คนอื่นรู้ว่าคิดถึงบ้าน หากปีไหนโชคดีพ่อแม่มีโอกาสมาเยี่ยมฉัน เวลานั้นฉันไม่อยากให้พวกท่านต้องจากไปอีกเลย"


 


แม้จ๋ามตองจะได้เจอพ่อแม่นาน ๆ ครั้ง แต่เธอคิดอยู่เสมอว่า การได้มาอยู่บ้านเด็กกำพร้าแห่งนี้ทำให้เธอโชคดีกว่าคนอื่น ๆ เพราะอย่างน้อยเธอก็มีโอกาสได้เรียนหนังสือ มีที่พักพิงและมีความปลอดภัยในชีวิต ไม่ต้องไประหกระเหเร่ร่อนและหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลาว่าจะถูกข่มเหงหรือถูกทำร้ายเมื่อไร


 


"เราอยู่ฝั่งนี้ได้ยินเรื่องราวของฝั่งตรงข้ามตลอดเวลา แต่โดยภาพรวมแล้วไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมชีวิตของพวกเราต้องเป็นอย่างนี้ อะไรเป็นสาเหตุให้มีการสู้รบ อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้น ตอนอยู่ที่เปียงหลวง พอชายแดนปิด เราจะเห็นภาพเด็กๆ ไปรอขนของ ไปเป็นลูกหาบ แบกของเพื่อหารายได้พิเศษ พวกเขาต้องทำทุกอย่าง บางทีเพื่อนผู้หญิงบางคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือก็จะถูกพาไปขายบ้าง บางคนก็ไปเป็นคนล้างจาน ไปเป็นเด็กเสิร์ฟในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ซึ่งสถานการณ์ตรงนั้นมันค่อนข้างล่อแหลม และโอกาสหลาย ๆ อย่างไม่เอื้ออำนวยโดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสทางการศึกษา"


 


การได้รับโอกาสทางการศึกษาถือว่าเป็นช่องทางเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่าของเธอ แต่ยังมีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสเหล่านั้น พวกเขาไม่มีแม้โอกาสที่จะได้รับการศึกษาในขั้นพื้นฐาน



ไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาไทยใหญ่ การได้เรียนในโรงเรียนไทย ทำให้จ๋ามตองเกิดการเปรียบเทียบระหว่างโอกาสทางการศึกษาที่เด็กชาวไทยใหญ่ และผู้ลี้ภัยชาวอื่นๆ เช่น กะเหรี่ยงและคะเรนนี ได้รับมากขึ้น


 

"ตอนนั้นเรารู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของชาวไทยใหญ่ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของตัวเองน้อยมาก เพราะไม่ค่อยมีใครเล่าให้ฟัง ผนวกกับหนังสือเกี่ยวกับไทยใหญ่ที่ให้อ่านก็มีน้อย ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราวของแต่ละกลุ่มที่แต่งขึ้นมา ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่มักไม่ตรงกัน พอมาเรียนในโรงเรียนไทย สิ่งที่รู้เพิ่มเข้ามาก็ยิ่งสร้างความสับสน เพราะความจริงที่เราเป็นอยู่กับที่เขียนในหนังสือเรียนมันไม่ได้นำเสนอเรื่องราวที่เราเป็นอยู่หรือเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงพม่าคร่าวๆ และข้อมูลที่ได้จากในหนังสือนั้นไม่ได้ตอบคำถามหลายๆ อย่างที่เราอยากรู้ อีกทั้งหนังสือภาษาไทยส่วนมากก็จะมีแต่เรื่องราวของประวัติศาสตร์ของไทย เราก็เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบขึ้นว่า แล้วเรื่องราวประวัติศาสตร์ของไทยใหญ่เป็นอย่างไร มันทำให้อยากรู้เรื่องราวของพม่าและเรื่องราวของตัวเองมากขึ้น "


 


"ช่วงที่เรียนภาษาจีน มีเพื่อนคนจีนถามว่าคำนี้ในภาษาไทยใหญ่แปลว่าอะไร เวลาเราตอบไม่ได้หรือไม่รู้ เขาก็มักจะล้อว่าภาษาไทยใหญ่นั้นไม่มีหรอก บางทีก็รู้สึกโกรธ แต่ก็ทำให้คิดว่าทำไมเราไม่มีโอกาสเรียนภาษาของเราเอง ทำไมชาวไทยใหญ่ไม่สามารถอยู่ในแผ่นดินของเราได้ จึงเริ่มมีคำถามและข้อสงสัยมากขึ้นเรื่อยๆ  อยากเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนั้นให้ดีขึ้น แม้หลายคนหวังว่าอยากให้มีสันติภาพ มีความสุขความปลอดภัย และทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่มันก็กว้างมากตอนนั้น เราคิดเพียงว่า ณ เวลานั้น ตัวเราจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง เพราะทุกคนก็ต่างมีข้อจำกัดในการทำงาน"


 


สิ่งเหล่านี้เป็นตัวจุดประกายให้เธอได้ค้นหาคำตอบและเลือกเส้นทางเดินของชีวิตเพื่อจะทำในสิ่งที่เธอต้องการ และเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เธอเห็น ขณะที่เพื่อน ๆ ของเธอหลายคนในหมู่บ้านเลือกที่จะเดินบนเส้นทางของการเข้าไปขายบริการและแรงงานราคาถูกในเมือง แต่สำหรับจ๋ามตอง หลังจากจบ ม.3 เธอตัดสินใจเข้ามาฝึกงานในสำนักข่าวชานและองค์กรสิทธิมนุษยชน แห่งรัฐฉาน (Shan Human Right Foundation : S.H.R.F) องค์กรไทยใหญ่ที่เข้าไปเก็บรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่ ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนตามแนวชายแดน เธอช่วยเหลืองานทุกอย่างเท่าที่สามารถจะช่วยได้นับตั้งแต่งานสำนักงาน งานเอกสาร พิมพ์งาน ส่งแฟกซ์ การเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ ซึ่งบางเรื่องเธอต้องเรียนรู้ด้วยตนเองเช่นกัน ทักษะเหล่านี้ก็เป็นเสมือนความรู้ติดตัว


 


หลังจากทำงานที่องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉานได้ไม่นาน เธอได้มีโอกาสไปอบรมกับเครือข่ายเพื่อทางเลือกใหม่ในการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่า(Alternative Asean Network on Burma) ที่กรุงเทพฯ  ซึ่งขณะนั้นพม่าเพิ่งได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนได้เพียงหนึ่งปี (พ.ศ. 2540)


 


ช่วงเวลาที่อยู่กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นช่วงเวลาการเรียนรู้และการทดสอบจิตใจของเธอพอสมควร เพราะคนในองค์กรส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ต้องพูดภาษาอังกฤษ และอ่านหนังสือภาษาอังกฤษทุกวัน แม้เธอจะได้เรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ยังรู้สึกเกร็ง ๆ อยู่บ้าง เพราะนี่คือการนำภาษาอังกฤษมาใช้ในชีวิตจริง อีกทั้งการอบรมมุ่งเน้นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงในพม่า ต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูล แต่ข้อมูลบางอย่างเธอยังมีไม่พอ บางเรื่องไม่เคยรู้มาก่อน จ๋ามตองต้องเรียนรู้และทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะให้เรื่องราวของชาวไทยใหญ่ได้เผยแพร่ไปสู่สาธารณชนมากขึ้น


 


นอกจากนี้ ขณะที่เธออยู่ที่นั่น เธอยังได้มีโอกาสไปช่วยงานของมูลนิธิผู้หญิงอยู่บ่อยครั้งเพื่อเป็นล่ามให้กับหญิงชาวไทยใหญ่ที่ถูกจับกุมและกำลังถูกผลักดันให้กลับประเทศ พวกเธอเหล่านี้เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ไม่มีบัตร บางคนถูกหลอกมาขาย บ้างต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัว ซึ่งเส้นทางชีวิตและโอกาสที่พวกเธอจะเลือกเดินก็น้อยเต็มที ชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้เมื่อถูกตำรวจจับแล้วก็มักจบลงด้วยการผลักดันกลับ แต่ไม่มีใครรู้ว่าหลังจากส่งกลับไปท่าขี้เหล็กประเทศพม่าแล้ว พวกเธอก็จะหาทางข้ามมายังฝั่งไทยอีกเพื่อหางานทำ เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และหนีจากความโหดร้ายทารุณที่พวกเธอจะได้รับหากอยู่ที่นั่น


 


"การได้เข้ามาทำงานและอบรมตรงจุดนี้ทำให้เราเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น ตอนที่ทำงานองค์กรสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ เราได้รับฟังได้ยินเรื่องราวของหลายคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ถูกรัฐบาลพม่าข่มเหงทารุณทั้งร่างกายและจิตใจ บางคนถูกยึดทรัพย์สิน ไม่มีที่ทำกิน สิ่งที่แต่ละคนโดนมันซับซ้อนและหลากหลาย มันโหดร้ายทารุณ  ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่ได้คิดว่านี่คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน พอมาฝึกงานและอบรมกับกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งผู้ที่เข้าอบรมมาจากหลายๆ กลุ่มทำให้เราต้องคอยปรับตัวและเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างของแต่ละคน อีกทั้งการได้พบปะพูดคุยและร่วมงานกับหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทำให้เรามั่นใจและกล้าแสดงออกมากขึ้น มองเห็นภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นในพม่ากับชนกลุ่มน้อยได้ชัดเจนขึ้น รู้ว่านโยบายต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร ประชาชนควรจะมีสิทธิอะไรบ้าง"


 


"จริงอยู่ว่าชาวไทยใหญ่ไม่ได้อยู่ในฐานะของผู้ลี้ภัย แต่อย่างน้อยในพื้นฐานของความเป็นคน พวกเขาน่าจะได้รับความเห็นใจและความช่วยเหลือบ้าง มีสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และอีกอย่างการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่โดน แต่ยังมีอีกหลายๆ ที่ที่ยังปกครองแบบเผด็จการ"


 


ประสบการณ์จากการทำงานในองค์กรต่างๆ  โดยเฉพาะกับมูลนิธิผู้หญิงทำให้เธอรู้ว่าปัญหาต่างๆ ที่ผู้หญิงไทยใหญ่ประสบ ไม่ว่าจะเป็นการขายบริการ การทารุณทางเพศ การข่มขืน ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่ลึกซับซ้อนและยากที่จะแก้ไข  ในปี พ.ศ.2542 จ๋ามตองได้ร่วมกับผู้หญิงไทยใหญ่หลายๆ คนจัดตั้งเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่ หรือ สวอน (Shan Woman’s Action Network: SWAN) ซึ่งเน้นประเด็นผู้หญิงกับการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่ ทั้งเรื่องของสิทธิมนุษยชน การศึกษา สุขภาพ ความรุนแรงทางเพศ โดยมีการระดมทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ ตามแนวชายแดน การรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับเอดส์โครงการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำทารุณทางเพศ และการเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้หญิงในด้านต่างๆ


ต่อมาในปี พ.ศ.2545  สวอนได้ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชน แห่งรัฐฉานในการจัดทำรายงานเรื่องใบอนุญาตข่มขืน หรือ "License to rape" ที่เปิดเผยกรณีทหารพม่าข่มขืนผู้หญิงไทยใหญ่ กว่า 173 กรณี ระหว่างปี พ.ศ. 2539-2544  จ๋ามตองเล่าถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าวว่า "องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉานจะคอยเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐฉาน และเก็บข้อมูลจากผู้ลี้ภัยที่เข้ามาว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวเขาและพื้นที่ที่เขาอยู่บ้าง พอรวบรวมข้อมูลพบว่ากรณีข่มขืนมันเยอะมาก ซึ่งทางสวอนก็ต้องไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพจิตใจ การทำโทษและกระบวนการยุติธรรมว่ามันมีไหม ซึ่งเรื่องดังกล่าวมันค่อนข้างอ่อนไหวและเป็นอะไรที่เจ็บปวด"


 


รายงานฉบับดังกล่าวอยู่ในความสนใจของนานาชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะองค์การสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ดังนั้น เมื่อมีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนดังกล่าว จ๋ามตองเป็นหนึ่งในตัวแทนขององค์กรที่คอยเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้กับนานาชาติได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ด้านรัฐบาลทหารพม่าก็ออกมาปฏิเสธรายงานฉบับดังกล่าว และหลังจากรายงานฉบับดังกล่าวเผยแพร่ออกไปไม่นาน กลุ่มสวอนถูกบังคับให้ปิดทำการ แต่จ๋ามตองและเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ก็ยังยืนหยัดที่จะทำงานดังกล่าวต่อไป


 


เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า "รายงานฉบับนี้กว่าจะสำเร็จได้ ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะเป็นคนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน และคนในพื้นที่หลายๆ คนที่ได้เก็บและรวบรวมข้อมูลขึ้นมา มีผู้หญิงหลายคนที่กล้าพูดและออกมาเปิดเผยว่าถูกทหารพม่าทารุณกรรมและใช้การข่มขืนเป็นเครื่องมือเป็นอาวุธทางสงครามอย่างไรบ้าง ซึ่งในสังคมมันเป็นเรื่องน่าอายเวลาที่จะบอกว่าถูกข่มขืน แต่พวกเขาเหล่านี้ยังกล้าที่จะบอก กล้าที่จะพูดและเปิดเผยตัวเอง ดังนั้น เราก็น่าที่จะสนับสนุนและกล้าพูดในสิ่งที่คนไม่ได้ยินให้เขาได้รับรู้"


 


"จ๋ามตองไม่แปลกใจเวลาใครถามว่ารายงานฉบับดังกล่าวนั้นจริงรึเปล่า เพราะถ้าเขาไม่เคยรู้ไม่เคยได้ยินมันก็ยากที่เขาจะเชื่อ ซึ่งข่าวทุกข่าวในพม่าหรือในรัฐฉานก็ปิดหมด ไม่เคยมีข่าวในหนังสือพิมพ์พม่าหรือที่อื่น ๆ เพราะไม่มีนักข่าวหรือใครที่จะสามารถเสนอความจริงในพื้นที่เหล่านั้นได้ อย่างเช่น ผู้หญิงถูกข่มขืนในอาฟริกา เรายังเคยเห็นในบีบีซี แต่ในรัฐฉานจะมีใครรู้ไหม เพราะว่าสื่อมวลชนไม่มี ทำให้หลายๆ คนไม่ค่อยได้ยินสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น และรัฐบาลทหารพม่าเองก็ออกมาปฏิเสธตลอดว่าทหารของเขาไม่เคยไปข่มขืนผู้หญิง ถึงแม้ทหารพม่าจะกดขี่ข่มเหงชนกลุ่มน้อยมากี่สิบปีแต่ก็ไม่มีการนำเสนอ"


 


"ทุกคนรู้ว่ารัฐบาลทหารพม่าเผด็จการขนาดไหน ถ้าหากทหารพม่าทำกับอองซานซูจีที่ทั่วโลกให้ความเชื่อถือ ยอมรับ และสนับสนุน นับประสาอะไรกับผู้หญิงที่อยู่ในหมู่บ้าน อยู่ในสวนและอยู่ในพื้นที่ที่มีการสู้รบที่ทหารพม่าสามารถทำอะไรก็ได้ มันสะท้อนความจริงในพม่าที่ควรเปิดเผยมากขึ้น และก็ไม่มีความยุติธรรมกับผู้หญิง ถึงไปฟ้องก็จะโดนทำโทษ มันไม่มีกระบวนการยุติธรรมหรือสิทธิอะไรที่จะปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงได้ ความจริงกรณีที่ถูกข่มขืนอาจจะเยอะกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้หญิงที่เขากล้าพูด"


 


จ๋ามตองทำงานที่สวอนมาแล้ว 6 ปี ตั้งแต่เธออายุ 17 ปี แม้ในสายตาของหลายคนเธอยังดูเป็นเด็ก เป็นผู้หญิง แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับเธอ เพราะผลงานที่เธอได้ทำไว้ได้พิสูจน์ให้หลายคนเห็นถึงคุณค่าและความสามารถของผู้หญิงคนนี้ แม้จ๋ามตองจะทำงานในสวอนซึ่งเป็นองค์กรผู้หญิง แต่เธอก็ให้ความสำคัญกับงานด้านเยาวชนด้วย ในปี พ.ศ. 2544 เธอทำงานที่สวอนไปพร้อมๆ กับทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเรื่องโครงการสอนหนังสือภาษาอังกฤษกับคอมพิวเตอร์ให้กับเด็กจากรัฐฉาน ทำหน้าที่หลายอย่างตั้งแต่การจัดหาทุน การวางระบบและการดูแลนักเรียนที่จะเข้ามาอบรม ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องคงต้องเรียกเธอว่าผู้อำนวยการโรงเรียนมากกว่า


 


"เด็กไทยใหญ่มีโอกาสได้เรียนน้อยมาก ถ้าเทียบกับเยาวชนในค่ายผู้ลี้ภัย ถึงแม้เด็กที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยจะลำบาก แต่อย่างน้อยพวกเขาก็มีโอกาสได้เรียนภาษาของเขา ได้มีโอกาสเรียนในขั้นพื้นฐาน แต่สำหรับเด็กและเยาวชนไทยใหญ่ไม่มีโอกาสตรงจุดนี้ เราจึงคิดจัดอบรมขั้นพื้นฐานให้เยาวชนไทยใหญ่ได้รู้ทั้งภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำให้พวกเขานำไปใช้ในการทำงานและใช้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ "


 


ปัจจุบัน โครงการนี้ได้อบรมเด็กและเยาวชนไทยใหญ่ไปแล้ว 4 รุ่น แต่ก็ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับนักเรียนที่สมัครมาเรียนจริงๆ  เพราะแต่ละปีจะมีเด็กมาสมัครกว่าร้อยคน แต่ที่นี่รับได้เพียงปีละ 20-25 คนเท่านั้น  จ๋ามตองมักบอกนักเรียนของเธอเสมอว่า "การเรียนไม่จำเป็นต้องเรียนในมหาวิทยาลัย ถ้าได้เรียนก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก แต่ในเมื่อเราไม่มีโอกาส เราก็ต้องหาทางเลือกที่ดีกว่านั้น เราต้องหาวิธีที่ถึงแม้ไม่สามารถได้เรียนในระบบจริงๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รู้จักใฝ่หาความรู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษา รู้จักคิดนอกกรอบและคิดอะไรที่สร้างสรรค์กว่าเดิม เพราะทุกอย่างที่เป็นอยู่ก็ลำบากมากพออยู่แล้ว ถ้าหากจะทำอะไรให้ดีขึ้นก็ต้องเปลี่ยนแปลงจากตนเองก่อน"


 


คำพูดดังกล่าวเป็นสิ่งที่เธอยึดถือและปฏิบัติมาโดยตลอด แม้เธอจะจบแค่ม.3 แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ของเธอ เพราะเธอเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่ตนเองได้เจอและจากประสบการณ์ของหลายคนที่เธอได้สัมผัส เธอเรียกการเรียนรู้ดังกล่าวว่าเป็น "การเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นการศึกษาแบบพิเศษ" แม้จะมีหลายคนแนะนำและสนับสนุนให้เธอเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น แต่เธอจะตอบปฏิเสธไปทุกครั้ง เพราะโอกาสนั้นยังไม่เหมาะกับเธอ เธอเลือกที่จะทำงานต่อไปเพราะนั่นคือสิ่งที่เธอคิดว่ามีคุณค่าที่สุด


 


ผลงานและแรงกายแรงใจที่จ๋ามตองได้ทุ่มเทลงไปให้กับงานนั้นไม่สูญเปล่า นานาชาติเห็นถึงความพยายามของหญิงสาวผู้นี้ จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2547 เธอได้รับรางวัลจากนิตยสาร Marie Claire ตำแหน่ง Woman of the World (WOW) และในปี พ.ศ. 2548 ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนรีบอค (Reebok’s Human Right Award) จากการทำงานเพื่อต่อสู้และพิทักษ์สิทธิของผู้อพยพสตรีและเด็กตามแนวชายแดนไทย-พม่ามาเป็นระยะเวลาหลายปี และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิง 1 พันคนจากทั่วโลกที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพด้วย


 


 


 


จ๋ามตองกล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนรีบอคว่า "การรับรางวัลครั้งนี้เป็นเสมือนกับการรับรางวัลในฐานะของชาวไทยใหญ่ทุกคน และรู้สึกดีใจที่เขาให้การยอมรับในการทำงาน เพราะเป็นงานที่หลายๆ คนหลายๆ ฝ่ายได้ร่วมมือกันทำ สิ่งที่ทำจึงเป็นเสมือนการเปิดประตูให้นานาชาติรู้ว่าปัญหาของไทยใหญ่เป็นอย่างไร ซึ่งปัญหาต่างๆ นั้นเลวร้ายมาก เมื่อเขา มองและรับรู้ตรงจุดนี้ เขาอาจจะสนับสนุนและช่วยเหลือมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะช่วยเหลือ หากการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดจากตัวเราเองมันก็อยากเหมือนกัน ซึ่งแน่นอนว่าการแก้ปัญหาไม่ใช่เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่ก็ต้องร่วมมือกับทุกกลุ่มทุกองค์กร เราจะทำจนกระทั่งคนที่สร้างปัญหามันจะหยุดสร้าง แม้จะนานแค่ไหนเราก็ต้องทำ"


"เราอยากขยายงานที่ทำอยู่ อยากให้เยาวชนหันมาสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และทำงานช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น มีโครงการสร้างศักยภาพของเยาวชนให้ทั่วถึงและสามารถขยายได้ตามที่พวกเขาต้องการ เพื่อช่วยให้เขามีความสามารถเพิ่มขึ้น เนื่องจากการต่อสู้มันค่อนข้างยาวไกลและเราต้องการความช่วยเหลือ และในฐานะที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นผู้หญิง เป็นเยาวชน เราก็อยากให้อะไรหลาย ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ ความเท่าเทียมกัน และสิ่งอื่นๆ มันดีไปพร้อมๆ กัน ไม่ใ