Skip to main content

ความยากจนกับการเข้าถึงการศึกษาของเยาวชน

คอลัมน์/ชุมชน

ในบรรยากาศที่ผู้คนในบ้านเมืองรวมทั้งเยาวชนหลายคนให้ความสนใจกับระบบเอ็นทรานซ์ที่มีการกำหนดขึ้นใหม่ ซึ่งมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนั้น ระบบเอ็นทรานซ์ดูเหมือนจะเป็นเรื่องหลัก ๆ ของสังคม แต่ขณะเดียวกันแล้ว การเข้าถึงการศึกษาของเยาวชนที่มีความยากจนเป็นเงื่อนไข เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนหลายคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษาและขาดหลักประกันทางด้านการศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก


ความยากจนอาจเป็นเงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่งในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนหลาย ๆ คน ทว่าในระบบการศึกษานั้นรัฐธรรมนูญได้กำหนดว่า ต้องจัดให้มีการเรียนฟรี 12 ปี เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมและสอดคล้องสำหรับลูกหลานของชาวไร่ ชาวนา ที่ไม่มีเงินในการส่งเสียลูกเรียน แต่สำหรับบางคนอาจสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มาเพื่อใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียน


มีข่าวกลาย ๆ ว่า ขณะนี้จะมีการยกเลิกระบบกองทุนกู้ยืมเป็นอย่างอื่น หากเป็นเช่นนี้คนที่ไม่มีเงินเรียนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึงหรือไม่? และระบบใหม่ที่จะมารองรับการเข้าถึงการศึกษาของเยาวชนจะเป็นอย่างไร?


ว่าไปแล้วระบบการศึกษาของบ้านเราเป็นเหมือนสถาบันที่ผลิตคน ผลิตแรงงานออกไปสู่ระบบตลาด เข้าไปแข่งขันกัน เป็นการเรียนที่ไม่ได้มุ่งเน้นให้คนได้พึ่งพาตัวเอง แต่เป็นการสร้างคนให้มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่มองถึงความสัมพันธ์ของตัวเองกับคนรอบข้างหรือคนในสังคม สุดท้ายคนก็อยากเป็นคนมีเงิน เพียงเพราะว่าจะทำให้มีกำลังซื้อ เครื่องอุปโภค บริโภคในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่เราทุกคนอยู่ได้หากเป็นคนจนที่รู้จักพอเพียง แต่ระบบการศึกษากลับทำให้เกิดการสร้างความนิยมในเงินทอง ทรัพย์สมบัติ


รัฐบาลเองได้ประกาศว่าจะขจัดความยากจนให้หมดในเร็วปี แต่นั่นอาจจะเป็นบทสะท้อนถึงการสร้างผู้ซื้อรายใหม่ เป็นคนที่ไม่ยากจน เป็นคนรวย (ไม่รู้ว่าเค้าใช้อะไรมาวัดว่าคนไหนจน คนไหนรวย) บางคนมีความสุขกับความจนแต่ต้องถูกยัดเยียดให้ใช้จ่ายอย่างมากมาย กองทุนหมู่บ้านละล้าน ชาวบ้านกู้เงินมาซื้อโทรศัพท์มือถือ ซื้อมาแล้วต้องจ่ายรายเดือนอีก บางคนกู้มาซื้อรถ ซื้อตู้เย็น ไม่ได้กู้เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและมีหนี้สะสมขึ้นเรื่อย ๆ


คนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศการขจัดความยากจนของรัฐบาลนั้น คงหนีไม่พ้นชาวไร่ ชาวนา ชาวบ้านทั่วไป และยังคงมีลูกหลานของคนเหล่านี้อีกมากที่ต้องเรียนหนังสือในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย และต้องพึ่งพาการส่งเสียจากทางบ้าน บางบ้านมีฐานะดีมีเงินส่งเสีย บางครอบครัวไม่มีเงินอาจกู้มาจากแหล่งอื่น แล้วส่งให้ลูกเรียน แต่อีกทางหนึ่งเยาวชนที่เป็นนักเรียน นักศึกษา หลายคนใช้เงินทุนจากกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ซึ่งมีการเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538


สำหรับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแล้ว ถือเป็นกองทุนเพื่อรองรับการเข้าถึงการศึกษาของเยาวชนหลายคน ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 มีผู้กู้ไปสองแสนกว่าล้านบาท และมีจำนวนกว่าสองล้านสองแสนคน ในจำนวนนี้มีเกือบเจ็ดแสนคนที่อยู่ในระยะเวลาเริ่มชำระหนี้ โดยส่วนใหญ่อยู่ระหว่างผ่อนผันเพราะยังหางานทำไม่ได้ หรือมีงานทำแต่เงินเดือนต่ำจนไม่อาจใช้หนี้ได้ และหลายคนเบี้ยวหนี้ทั้งโดยการหนีและปฏิเสธจะใช้คืน


ปัจจุบัน รัฐบาลใหม่ได้ประกาศชัดเจนว่าต้องดำเนินการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในรูปแบบใหม่ คือเน้นให้นักศึกษาเป็นผู้ได้รับเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย และเริ่มใช้คืนเมื่อมีงานทำพร้อมกับมีเงินเดือนสูงพอใช้คืนได้ นั่นคือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต โดยยกเลิกการให้กู้ในระดับมัธยมปลายแล้วเปลี่ยนเป็นทุนให้เปล่าแทน


การให้กำหนดกองทุนเงินให้กู้ยืมแบบใหม่โดยยกเลิกการให้กู้ในระดับมัธยมปลายเป็นทุนให้เปล่า นั้นจำเป็นต้องทั่วถึงเยาวชนหลาย ๆ คน ไม่แค่เฉพาะคนมีเงินเท่านั้น หรือคนจนเท่านั้น ทุกคนมีสิทธิในการได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจนหรือรวย แต่หากมองในอีกด้านหนึ่งแล้ว เหมือนกับว่า การกู้เงินในรูปแบบใหม่นี้ ผู้กู้เองต้องมีงานทำในอนาคตเพื่อนำเงินไปใช้คืนจากกองทุนดังกล่าว ซึ่งก็ยังหนีไม่พ้นที่จะนำคนเข้าไปสู่ระบบแรงงานในตลาดเพื่อรองรับระบบทุนนิยม ทำให้คนเข้าไปแข่งขันกันทำมาหากิน ตัวฉันเป็นของฉัน ตัวกูของกู


ในที่นี้ ผมมองว่าสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวอาจมีประเด็นสำคัญสองสามประการคือ


ประการที่หนึ่ง ในระบบการศึกษาในสถาบัน ต้องมองถึงการเข้าถึงการศึกษาของเยาวชนที่ต้องมีแนวทาง กำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน และเอื้อต่อโอกาสของเยาวชนทุกคนไม่ว่าจนหรือรวย ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันอย่างมีศักดิ์ศรี เพราะการเข้าถึงการศึกษาเป็นหลักประกันทางการศึกษาที่คนนั้นจะได้รับ


ประการที่สอง ส่วนของระบบการศึกษาที่กำลังจะเดินหน้าแปรรูปจากมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบหรือ อยู่ในกำกับการดูแลของรัฐ ซึ่งเป็นผลให้รัฐบาลอาจลดการอุดหนุนสถาบันนั้น ๆ ทำให้สถาบันการศึกษานั้นมีค่าใช้จ่ายสูงและอาจยกเลิกระบบเพดานการศึกษา เป็นเรื่องของการดูว่าจะคุ้มทุนหรือขาดทุน และอาจมีค่าใช้จ่ายสำหรับนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น ในส่วนนี้ รัฐบาลและสถาบันการศึกษาต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับนักศึกษา และต้องให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินและกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาของสถาบันนั้น ๆ เพื่อให้สถาบันเป็นที่ที่ทุกคนรับผิดชอบร่วมกัน และสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน


ประการที่สาม ในขณะที่เรากำลังกล่าวถึงระบบการศึกษาในสถาบัน ยังมีการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และมีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน คือการศึกษาทางเลือก การศึกษาทางเลือกนี้มีหลายรูปแบบ เช่น การศึกษาแบบโฮมสคูล การศึกษาผ่านกิจกรรม การศึกษาผ่านผู้รู้ ภูมิปัญญาเรื่องต่าง ๆ การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นต้น ซึ่งมีมากกว่าหมื่นที่ในประเทศไทย


การศึกษาทางเลือกได้ถูกกล่าวถึงมากขึ้นในระยะหลัง และการศึกษาในระบบนี้เป็นการศึกษาที่เน้นความพอเพียง ไม่เน้นแข่งขัน สอนให้คนรู้จักแบ่งปัน เอื้ออาทรแก่กันและกัน เห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม ประเทศไทยอาจต้องให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาในระบบนี้มากขึ้น ที่สำคัญระบบนี้ไม่ได้สนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน แต่สนองต่อความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นนั้น ๆ


ความยากจนอาจเป็นเพียงมายาคติของผู้คนโดยทั่วไปที่ถูกมองว่าทำให้น่ากลัว เป็นคนจนแล้วไม่มีความสุข เพราะทุกอย่างต้องซื้อหาด้วยเงินทองมากมาย เราอาจต้องมองอีกด้านหนึ่งของความยากจนว่า หากเราจนแบบมีความสุข แบบพอเพียง และพออยู่พอกิน รู้จักแบ่งปันผู้อื่นในสังคม ก็อาจทำให้ความจนของเราเป็นความจนที่มีคุณค่า


การเข้าถึงการศึกษา โอกาสทางการศึกษา หรือแม้แต่ระบบการศึกษาที่เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่อาจต้องมีการถกเถียงกันอีกนานเพื่อหาจุดที่ลงตัวที่สนองต่อคนในชุมชนท้องถิ่น ส่วนเราอาจเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะสร้างความเข้มแข็งเข้าไปต่อรองกับผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้เกิดการศึกษาที่ทั่วถึงเท่าเทียมสำหรับเยาวชนหรือลูกหลานจนของเรา ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติต่อไป