Skip to main content

การโอนสถานศึกษาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 


สัปดาห์ที่แล้ววุฒิสภาได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรอง ฯพณฯ หวาง จงอวี๋ (H.E. Mr. Wang Zhong yu) รองประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของวุฒิสภา


 


ท่านรองประธานถามผมว่า การพิจารณากฎหมายที่เข้าสู่การประชุมวุฒิสภาแต่ละครั้งมีผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภาเป็นจำนวนมาก ดังเช่นสัปดาห์นี้มีผู้ชุมนุมซึ่งเป็นครูจาก ภาคอีสาน มาแสดงพลังคัดค้านการโอนโรงเรียน และครูให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)


 


ท่านถามว่าการชุมนุมมีผลมากน้อยเพียงใด และการลงมติในที่ประชุมทำไมออกมาไม่เหมือนกับที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง


 


ผมได้เรียนท่านรองประธานว่า  การลงมติของวุฒิสภาต้องใช้เสียงจาก ส.ว.ทั่วประเทศ ๒๐๐ คน ซึ่งแต่ละท่านก็มีประสบการณ์ที่ต่างกัน การลงมติจึงมีความหลากหลายไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะออกมติมาเป็นรูปใด


 


ดังเช่น ร่าง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น ในการแก้ไขให้การถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยความสมัครใจ


 


ที่ประชุมวุฒิสภามีมติรับหลักการ และให้เวลาแปรญัตติ ๗ วัน  ซึ่งก็ต้องให้เวลากับการพิจารณาของกรรมาธิการในการพิจารณาในรายละเอียด


               


ขอเรียนว่า ความพร้อมในการโอนสถานศึกษา และครูให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้นมีความหลากหลายจริงๆ


 


อปท.บางแห่งมีความพร้อมที่จะรับสถานศึกษาและครูเข้าไปบริหารจัดการ เช่นที่ภูเก็ต เชียงใหม่ ฯ แต่ส่วนใหญ่หลายจังหวัดยังไม่พร้อม  ไม่พร้อมทั้งในส่วนของ อปท. ส่วนของโรงเรียน หรือแม้แต่ครู   ครูไม่มีความมั่นใจในสวัสดิการที่อาจจะต้องลดลงหากต้องโอนไปอยู่กับ อปท.


 


รัฐบาลจึงแก้ปัญหาในความไม่พร้อมด้วยการใส่คำว่าสมัครใจ เข้าไว้ในกฎหมาย เพื่อไม่ต้องการบังคับให้โรงเรียนทุกแห่งต้องโอนสู่ อปท. โดยไม่มีความพร้อม


 


แต่ที่ครูจำนวนมากไม่เห็นด้วย เพราะไม่อยากให้มีการโอนไปสู่ อปท.เลย  และต้องการให้ตัดคำว่า "สมัครใจ" ออกไปจาก ร่าง พ.ร.บ.ฯ  มีการล๊อบบี้จากตัวแทนครู ให้วุฒิสภาตัดคำว่าสมัครใจออก  ส่วนทางด้านรัฐบาลก็ล๊อบบี้ให้วุฒิสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ๓ วาระรวด (หรือที่เรียกว่า ใช้กรรมาธิการเต็มสภา)


 


ในที่สุด มติวุฒิสภาก็ลงมติให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่... พ.ศ.... โดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ก็หมายความว่าการโอนสถานศึกษาและครูนั้นต้องเป็นไปตามเดิมคือต้องโอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


ก็ต้องดูว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรหากการพิจารณายืดเยื้อออกไป เพราะวุฒิสภาชุดนี้จะหมดวาระลงในวันที่ ๒๑ มีนาคม ปีหน้า


 


การประชุมพิจารณากฎหมายในวุฒิสภาในสมัยประชุมทั่วไปนั้นมีตั้งแต่วันที่ ๔ ถึง ๒๑ มีนาคมเท่านั้น ถ้ามีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นี้โดยวุฒิสภา การตั้งกรรมาธิการร่วม คงหมายถึงต้องรอ ส.ว.ชุดใหม่พิจารณาอย่างยืดเยื้อแน่นอน


 


ก็ต้องดูการพิจารณาจาก ส.ว.ชุดนี้ว่าจะรีบแก้ไขปัญหาอย่างกล้าหาญและจริงจัง เพียงใด


 


เป็นตัวอย่างในการกระจายอำนาจ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรับโอนงาน รับโอนคน รับโอนงบประมาณจากส่วนกลางเมื่อถึงกำหนดเวลา


 


เพียงแต่ว่า ทั้งคนโอน และคนรับโอน มีความพร้อมและความเต็มใจ มีความจริงใจเพียงใด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถูกโอนต้องเต็มใจเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง!


 


งานนี้จะพิสูจน์ว่า  ใครจะทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาหลายครั้ง หลายฝ่ายหวงเงิน หวงคน หวงงาน 


 


เวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ความจริงใจของคนว่าใครทำเพื่อใคร


 


 

 กลับหน้าแรกประชาไท