Skip to main content

องค์กร (ที่ไม่อยู่) ในดวงใจ

คอลัมน์/ชุมชน

วันนี้เป็นวันแรกที่ผู้เขียนไม่ต้องมานั่งห่วงว่าจะเตรียมสอนอย่างไร ในช่วงห้าเดือนที่ผ่านมา เพราะว่าหมดภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วง จะมีเวลาเตรียมสอนภาคการศึกษาฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจะเริ่มในกลางเดือนมกราคม จึงมีเวลาไม่ต้องลงสอนจริงราวๆหนึ่งเดือน แต่เชื่อเถิดว่าเวลาแห่งความสุขเหล่านี้ผ่านไปอย่างรวดเร็วเหมือนที่คนมักบอกก่อนว่า เวลาที่เราสุขมักจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว แล้วเราก็จะคิดถึงมันอย่างทีสุดเมื่อเจอกับความทุกข์


 


ผู้เขียนมาตั้งคำถามว่า ทำไมถึงรู้สึกว่าการที่ได้ห่างจากการสอนจึงได้มีความสุข พบสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นปัจจัยได้ดังนี้  (๑) การสอนคนเป็นเรื่องยากและไม่จำเป็น  โดยเฉพาะสอนคนที่ไม่ได้ต้องการอยากจะเรียนรู้ (๒) บรรยากาศที่ทำงานไม่เอื้อในการทำงาน องค์กรได้ทำหน้าที่ที่ไม่สมบูรณ์ เพราะมีผู้บริหารที่ขาดคุณสมบัติ ไร้วิสัยทัศน์ และมีนโยบายที่ไม่ตอบสนองต่อความจริง นอกจากนี้ ผู้ร่วมงานขาดเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีในการทำงาน  (๓) สิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่นสภาพเมือง และเหตุการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นแบบปัจจุบัน


 


ประเด็นแรกคงต้องขอเก็บไว้กล่าวต่อไปในรายละเอียด เพราะมีเรื่องที่จะพูดได้มากมายที่เกี่ยวกับผู้เรียนในสมัยปัจจุบัน ทั้งในสหรัฐฯและที่อื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย ส่วนประเด็นที่สามคงต้องเก็บไว้เช่นกัน เพราะเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยากมาก เรื่องของสภาพเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับระดับมหภาค และเหตุการณ์ปัจจุบันเป็นเรื่องที่คาดคะเนได้ยาก ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องน่าจะกล่าวถึงได้มากกว่าเพราะเป็นเรื่องที่เรียกกันว่าเป็นพฤติกรรมองค์กร   ในบริบทของบทความนี้คนเป็นครูจึงกลายเป็นลูกจ้างที่ทำหน้าที่สอนในกรอบของสังคมปัจจุบัน


 


อนึ่ง ขอแจ้งก่อนว่าองค์กรที่จะกล่าวนั้นไม่ใช่เป็นการขายความเน่าและน่าทุเรศของที่ทำงานหรือนายจ้างผู้เขียนโดยเฉพาะ แต่เป็นการสะท้อนปัญหาองค์กรทั่วไป ไม่ใช่แค่องค์กรทางการศึกษาที่นี่ตรงนี้  เพราะไม่ว่าจะย้ายไปที่ไหนองค์กรใดๆ ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ใช่ของแปลกและเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าการเข้าใจปัญหาจะสามารถทำให้เข้าใจตนเองมากขึ้น และช่วยตัดสินใจว่าจะอยู่หรือจะทนกับองค์กร และจะหาวิธีจัดการอย่างไร เพื่อตนเองและบางทีก็องค์กรเองด้วย การสะท้อนออกมาเช่นนี้จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไปที่เป็นผู้บริหารองค์กรและผู้ที่จะเลือกทำงานในองค์กร


 


ดังนั้น ประเด็นที่จะกล่าวต่อไปจึงขอพูดถึงเรื่องของ (๑) บรรยากาศที่ทำงานไม่เอื้อในการทำงาน องค์กรได้ทำหน้าที่ที่ไม่สมบูรณ์ (๒) ผู้บริหารที่ขาดคุณสมบัติ ไร้วิสัยทัศน์ และมีนโยบายที่ไม่ตอบสนองต่อความจริง และ (๓) ผู้ร่วมงานขาดเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีในการทำงาน 


 


บรรยากาศที่ทำงานไม่เอื้อในการทำงาน องค์กรได้ทำหน้าที่ที่ไม่สมบูรณ์


 


บรรยากาศที่เอื้อในการทำงานคือ บรรยากาศที่เอื้อให้บุคลากรสามารถนำศักยภาพของตนเองออกมาใช้ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์อันสูงสุดต่อองค์กรและผู้ทำงานเอง ก่อนที่จะกล่าวต่อไปต้องขอบอกก่อนว่า องค์กรนั้นคืออะไร องค์กรคือการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งมารวมกันเพื่อจุดประสงค์ใดๆ ซึ่งไม่สามารถทำให้สำเร็จ(หรือล้มเหลว)ได้ด้วยคนจำนวนน้อยๆ  และเมื่อมารวมกันแล้วก็จะมีลำดับของอำนาจและความสำคัญ  องค์กรเองต้องมีความสัมพันธ์กับบริบทภายนอก เช่น ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ ดินฟ้าอากาศ คือมีผลกระทบและรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเหล่านี้ ดังนั้น องค์กรจึงมีความซับซ้อนและเปรียบได้เท่าระบบวัฒนธรรมหนึ่งเลยทีเดียว นอกจากนี้ก็อาจมองได้ว่าองค์กรเป็น "สมรภูมิเพื่ออำนาจ"ได้อีกเช่นกัน เพราะมี "อำนาจ"เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในความเป็นองค์กร นั่นคือ ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้บริหารและพนักงานธรรมดา หรือเจ้าของและลูกจ้าง


 


ดังนั้น การที่องค์ประกอบต่างที่ก่อให้เกิดองค์กรไม่สมบูรณ์หรือไม่เอื้อ  ที่หลักๆ ได้แก่ ๑. การขาดขวัญและกำลังใจ ๒. ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ทำให้ดำเนินการได้ยากเช่น จำนวนนักศึกษาลดลงเพราะไปเรียนด้านอื่น ที่อื่น และ ๓. วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เอื้อในการทำงาน ผู้บริหารไม่มีความสามารถ มีการกระจายอำนาจและการตรวจสอบที่ล้มเหลว ปัญหาในการรับและเก็บรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ รวมทั้งการกำจัดบุคคลที่มีปัญหา (ไม่ใช่คนที่มีปัญหาเพราะคิดไม่ตรงกับผู้บริหาร แต่หมายถึงพวก "วงแตก"  "พวกโง่แต่ขยัน" "พวกโง่ที่คิดว่าตนฉลาด"  " ไม่ทำงานเอาแต่เลีย" เป็นต้น) เมื่อเหตุการณ์พวกนี้เกิดขึ้น ความไม่น่าอยู่ไม่น่าทำงานก็บังเกิดขึ้นได้ อันนำไปสู่การล่มสลายหรืออย่างน้อยคือความไม่เจริญและเสื่อมถอยขององค์กร


 


ผู้บริหารที่ขาดคุณสมบัติ ไร้วิสัยทัศน์ และมีนโยบายที่ไม่ตอบสนองต่อความจริง


 


ไม่ว่าองค์กรจะถูกมองอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงเสมอคือคนที่กำหนดทิศทางที่แท้จริงขององค์กรคือผู้บริหารหรือ เจ้าของนั่นเอง นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น กลไกตลาด หรือสภาพดินฟ้าอากาศ การเมือง   ในขณะเดียวกันหลายองค์กรพยายามที่จะ "ดัดจริต" บอกว่ายอมให้พนักงานในระดับต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร หรือกำหนดนโยบาย เช่น อนุญาตให้ส่งตัวแทนมาในคณะกรรมการต่างๆขององค์กร  แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ตัวแทนเหล่านี้จะสามารถทำงานเป็นตัวแทนและปากเสียงได้แท้จริง เพราะว่าคณะกรรมการต่างๆก็มักมีผู้บริหารกุมอำนาจอยู่ การที่ยอมให้มีตัวแทนพนักงานเข้าไปก็เพื่อ ๑. ช่วยลดแรงเสียดทานที่อาจเกิดขึ้นในโครงสร้าง เพราะอ้างได้ว่ายอมให้กลุ่มต่างๆมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแล้ว ๒. หลายครั้งก็หลอกใช้และ/หรือขโมยไอเดียพวกตัวแทนที่บังเอิญฉลาดกว่าผู้บริหาร หรือเอาไอเดียตรงนั้นมาบีบบังคับพนักงานเอง โดยอ้างว่าเป็นไอเดียที่มาจากพนักงานเอง เช่น เพิ่มชั่วโมงการทำงานแต่ค่าแรงเท่าเดิม หรือลดค่าแรงหรือจำนวนชั่วโมงการทำงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้าง


 


ดังนั้น การเป็นผู้บริหารที่ดีต้องสามารถที่จะสร้างให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงในองค์กร แต่ความเป็นจริงแล้วไม่มี เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้คนในองค์กรรู้สึกโดนบีบคั้นให้น้อยที่สุด และหากมองกันตามจริงแล้ว ผู้บริหารก็คือพนักงานคนหนึ่งขององค์กรที่มีอำนาจมากกว่าพนักงานทั่วไป อย่ามาบอกว่าที่องค์กรเกิดได้หรือดังได้เพราะผู้ก่อตั้งองค์กรหรือคณะผู้ก่อตั้ง (ซึ่งต่อมาก็เป็น "ซีอีโอ") เท่านั้น แต่ผู้ที่เป็นลิ่วล้อตั้งแต่แรกก็มีส่วน เช่นเดียวกับพนักงานปัจจุบัน 


 


ผู้บริหารต้องเป็นคนมีวิสัยทัศน์ และไม่เอาแค่ตนเองรอดเท่านั้น การเป็นคนมีวิสัยทัศน์คือต้องมองเกินกว่าวันนี้ ปีนี้ แต่ต้องมองจากวันนี้จนถึงปีหน้า ห้าปีข้างหน้า สิบปีข้างหน้าและ แม้กระทั่งยี่สิบสามสิบปีข้างหน้า ทั้งนี้จะต้องมีความฉับไวต่อสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับแผนต่างๆที่เหมาะสมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ห้ามอ้างว่าขออยู่แค่วันนี้พรุ่งนี้ เพราะนั่นคือทัศนคติร้านโชห่วยหรือธุรกิจเล็กๆแบบเดิมๆที่ค่อยตายไปในปัจจุบัน (แล้วห้ามมาโวยวายว่าโดนองค์กรใหญ่ๆแกล้ง) ในธุรกิจสมัยใหม่ ผู้บริหารต้องพร้อมและทำงานหนัก ไม่ใช่ดีแต่สั่ง


 


การทำงานหนักไม่ใช่การทำงานในเวลาที่มากกว่า นานกว่า แต่เน้นในด้านคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ นั่นหมายถึงต้องเข้าใจว่าเวลาแต่ละนาทีมีคุณค่า และใช้เวลาในการศึกษาเหตุการณ์ต่างๆและสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่นๆในองค์กร ซึ่งอันนี้จะไปต่อเนื่องกับการที่ไม่เป็นคนเอาตัวรอดแต่ผู้เดียวหรือเพียงเพื่อพรรคพวก


 


นั่นหมายถึงว่าจะต้องระลึกเสมอว่าผู้บริหารทำงานในระดับนโยบายซึ่งที่เกิดได้เพราะมีระดับปฏิบัติการให้เปรียบเทียบ  เป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกคนในองค์กรเป็นผู้บริหารหรือแค่พนักงาน  แต่คนที่เป็นผู้บริหารคือคนที่ต้องเสียสละประโยชน์สุขของตนบางส่วนให้พนักงานอื่นที่อยู่ข้างล่าง และไม่คิดปิดองค์กรแล้วลอยแพพนักงาน เพราะว่าการจะปิดองค์กรเป็นการทุบหม้อข้าวของทุกคนในองค์กร   แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถหาหม้อข้าวใหม่ได้ นั่นคือประเด็น  ผู้บริหารจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำที่มีคุณธรรมที่จะพยายามนำองค์กรผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ


 


หลายหนที่ผู้เขียนเห็นองค์กรฝรั่งล้มระเนระนาดตั้งแต่ยุค ๘๐ ยุคต้น ๙๐ จนมาหลัง ๙/๑๑ ที่ล้มไปแต่ละแห่งนั้นมีผู้บริหารที่เหลวแหลกทั้งสิ้น ดังที่ได้เห็นเป็นข่าวกันดาษดื่น ในองค์กรที่ผู้เขียนทำอยู่เป็นองค์กรสาธารณะของรัฐ มีเงินสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีวันล้มหายตายจาก อันนี้มีให้เห็นมากมายในสหรัฐฯ ซึ่งก็ใกล้จะเกิดในเมืองไทยอีกไม่นานที่องค์กรสาธารณะของรัฐต้องดำรงชีวิตเองและล้มหายไปเองด้วยเช่นกัน


 


หลายครั้งที่องค์กรเกิดปัญหาแล้วต้องการระดมสมอง หาความรู้และข้อแนะนำจากสมาชิกองค์กรที่ติดปริญญาเอกและการฝึกฝนหลังปริญญาเอกเป็นส่วนมาก อีกทั้งมีผลงานวิชาการมากมาย การระดมสมองที่ผ่านมาหลายครั้งไม่มีผลอะไรที่ก่อให้เกิดด้านบวก ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้บริหารไม่เคยยอมรับอะไรที่ต่างจากที่ตนเองตั้งไว้ก่อน พูดง่ายๆคือมีคำตอบอยู่ในใจ แต่มีประชุมเพื่อให้คนมาพูดๆ เก็บข้อมูล  ถ้าไม่ตรงใจตนเอง ผู้บริหารก็ไม่พูด  ถ้าตรงใจก็สนับสนุน นอกจากนี้ยังมีเรื่องพวกใครพวกมัน  แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า ผู้เขียนนั่งอมยิ้มแล้วคิดว่าฝรั่งกับไทยไม่ต่างกัน แต่ฝรั่งแยบยลกว่า  หลอกใช้คนเก่งกว่า


 


ดังนั้น จึงทำให้เห็นว่า ผู้บริหารที่กล่าวมาเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ ไร้วิสัยทัศน์ และมีนโยบายที่ไม่ตอบสนองต่อความจริง หากแต่เพราะโครงสร้างให้อำนาจในการจัดการและเอื้อให้ปฏิบัติงาน แต่สุดท้ายคือความระส่ำระสาย พนักงานที่มีฝีมือและไม่ได้ต้องผูกมัดกับองค์กรก็พยายามที่จะหาที่ใหม่ และคนพวกนี้ก็มักไม่มีปัญหาในการหาที่ใหม่ เพราะที่ไหนๆก็ต้องการ     ส่วนบุคคลที่อยู่กันต่อไปก็คือ บุคคลที่ไปไหนไม่รอด เพราะตำแหน่งก็ใหญ่ค้ำคอ สบายจนเคยตัว และมีอคติต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ   สุดท้ายก็ตายเหมือนสัตว์โลกล้านปีที่ปรับตัวไม่ได้ ส่วนผู้บริหารที่สร้างปัญหาก็จะล้มบนฟูก แล้วก็ออกจากองค์กรก่อนที่อวสานจริงๆจะมาถึง


 


ผู้ร่วมงานขาดเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีในการทำงาน 


 


พนักงานด้วยกันเองหรือที่เรียกว่าผู้ร่วมงานก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้องค์กรนั้นๆเป็นองค์กรในดวงใจหรือไม่ของแต่ละคน เพราะบุคคลที่เราทำงานด้วย มีห้องทำงานอยู่ใกล้ๆกัน ใช้ทรัพยากรร่วมกัน และโดนบังคับให้มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน  มีอิทธิพลต่อเราในชีวิตประจำวัน ผู้ร่วมงานอาจเป็นคนที่ช่วยให้งานของคุณเป็นไปได้ด้วยดี หรือล้มเหลว ทำให้คุณรู้สึกว่าที่ทำงานเป็นนรกหรือสวรรค์ได้


 


ระบบการทำงานในสหรัฐฯนั้น ส่วนมากจะมีการประเมินประสิทธิภาพการทำงานอย่างน้อยทุกปีหรือหกเดือน ผู้บริหารฝรั่งฉลาดพอที่จะลดงานและความผิดชอบตนเอง โดยให้ผู้ร่วมงานระดับหัวหน้างานเป็นคนประเมินผลงานของพนักงานแต่ละคน ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมงานระดับเดียวกันช่วยประเมินด้วยอย่างไม่เป็นทางการ เช่นให้เขียนจดหมายสนับสนุนหรือคัดค้านการเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือนได้ แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นการสนับสนุนเสียมากกว่า จุดนี้เท่ากับบังคับให้ทุกคนต้องพยายามเลี่ยงความขัดแย้งเท่าที่จะมากได้ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งผู้เขียนชอบใจและมองว่าเป็นเรื่อง "มืออาชีพ"


 


อย่างไรก็ตาม แต่ละคนมีที่มาที่ไปต่างกัน พื้นฐานนิสัยและสันดานย่อมต่างกัน หลายหนที่ผู้เขียนเห็นความเอาแต่ได้ของเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าในไทยหรือนอกไทย จุดนี้ผู้เขียนขอใช้คำว่า "การขาดเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีในการทำงาน"  โดยมีลักษณะดังนี้  เกี่ยงงาน อู้งาน เลือกงานที่ได้ผลตอบแทนสูง เรื่องของตนต้องมากก่อน เรียกร้องความสนใจ เอาหน้า ขี้อิจฉา และใส่ร้ายป้ายสี


 


ผู้เขียนได้พบเห็นกับบุคคลประเภทนี้ทุกแห่งที่ทำงาน เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์เสียแล้วกระมัง แปลกแต่จริงที่ผู้บริหารก็มักจะรู้ว่ามีบุคคลประเภทนี้ในองค์กร แต่ไม่เคยคิดกำจัด ตราบใดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากบุคคลเหล่านี้โดยตรง แถมยังชอบด้วยซ้ำเพราะเป็นการที่ทำให้ผู้บริหารไม่ต้องเหนื่อยมาดูแลหรือจับตามองการทำงานของพนักงานอื่นๆ  บุคคลไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาแทนผู้บริหาร มักเรียกการจัดการแบบนี้ว่า "แบ่งแยกแล้วปกครอง" ซึ่งมีทุกหนแห่ง แต่ท้ายสุดพนักงานคนใดที่มีทางไปก็จะเดินออกจากองค์กรนั้น ไปเติบโตที่อื่น แล้วปล่อยให้องค์กรนั้นล่มสลายลงไปเรื่อยๆ ซึ่งก็มีให้เห็นในหลายองค์กรในสหรัฐฯ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย


 


องค์กรในดวงใจ มีที่มาและที่ไปอยู่ที่ผู้บริหาร หากหัวไม่ขยับ หางและตัวก็ทำอะไรไม่ได้ การสร้างคนเป็นผู้บริหารไม่ใช่เรื่องง่าย  น่าขำ และน่าตลกที่สังคมพยายามเหลือเกินที่จะสร้างผู้บริหาร ผู้เขียนคิดว่าเป็นการสร้างภาพว่าเป็นผู้บริหารเสียมากกว่า เพราะการเป็นผู้บริหารที่จะนำองค์กรได้คงไม่ใช่เพียงแค่เรียนมา เพียงแค่เสียตังค์ไปอบรม หรือเพียงแค่ประสบการณ์อันน้อยนิดก็ได้รับการยกย่องกันดาษดื่น ผู้เขียนเชื่อว่าองค์กรมีหน้าที่มากกว่าการทำงานให้เกิดผลเพื่อองค์กรเท่านั้น แต่องค์กรเป็นองคาพยพหนึ่งทางสังคม ทำให้คนมีอาชีพ ทำให้สังคมดำเนินไปได้ หากองค์กรไม่ทำตนเองให้มีค่า ก็ย่อมมีผลกระทบต่อสังคมทั่วไปด้วย


 


ช่วงที่ไม่มีสอนนี้ ผู้เขียนจะทบทวนว่าตนเองต้องการอะไรจากองค์กรที่ตนเองจะไปร่วมงานด้วยในอนาคต เพื่อว่าจะได้ไม่ผิดหวังจนเกินไปนัก