Skip to main content

ฝันที่ไม่เคยเปลี่ยนของเชอร์รี่ แสง อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งชาวคะฉิ่น

คอลัมน์/ชุมชน

บนเส้นทางจากดอยสูงดินแดนเหนือสุดของประเทศพม่ามุ่งหน้าสู่ชายแดนไทย หญิงสาวชาวคะฉิ่นวัย 21 ปี กำลังนั่งอยู่บนหลังม้า ท่ามกลางขบวนคาราวานทหารชายหญิงคะฉิ่นร่วม 250 คน ในใจนึกฝันถึงการเดินทางมาแสวงหาความรู้จากเมืองไทยเพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิดเฉกเช่นหนุ่มสาวที่ร่วมขบวนมาด้วยกัน ทว่า หลังจากรอนแรมมานานนับเดือน สิ่งที่รอเธอ ณ จุดหมายปลายทาง กลับไม่ใช่การศึกษาเล่าเรียน หากเป็นตำแหน่ง "สตรีหมายเลขหนึ่งแห่งกองทัพคะฉิ่น" ซึ่งเธอปฏิเสธไม่ได้


 


แม้วันนี้ เหตุการณ์จะผ่านไปกว่าสามสิบปีแล้ว แต่ภาพความทรงจำในวันนั้นยังคงแจ่มชัดอยู่ในใจของเธอเสมอ เช่นเดียวกับความฝันที่จะพัฒนาสังคมคะฉิ่นที่เธอยังคงยึดเป็นเป้าหมายชีวิตและการทำงานอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง เธอมีชื่อว่า "เชอรี่ แสง" อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของชาวคะฉิ่นวัย 57 ปี


 


ชีวิตในวัยเด็กของ เชอรี่ แสง ค่อนข้างสุขสบาย เพราะเธอเกิดมาในครอบครัว ของเจ้าเมืองคะฉิ่น (ในอดีตคะฉิ่นจะแบ่งการปกครองเป็นเมือง แต่ละเมืองมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองสูงสุด) ได้รับการศึกษาอย่างดีจากโรงเรียนคอนแวนต์ซึ่งเปิดไว้ตั้งแต่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม แต่หลังจากพม่าได้เอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2491 ความสุขสบายก็เริ่มเปลี่ยนเป็นความทุกข์ซึ่งเพิ่มดีกรีมากขึ้นตามวัย เพราะกองทัพพม่าได้ส่งทหารเข้ามาในรัฐคะฉิ่นและพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จนทำให้ชาวคะฉิ่นต้องลุกขึ้นมาจับปืนรบภายใต้ชื่อ Kachin Independence Organisation (KIO) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมือง และ Kachin Independence Army (KIA) ซึ่งเป็นองค์กรทางการทหารกองทัพคะฉิ่น  เคไอเอได้เรียกร้องให้ทุกครอบครัวส่งคนหนุ่มสาวมาทำงานรับใช้กองทัพคะฉิ่นอย่างน้อยหนึ่งคน บ้างถูกส่งให้ไปเรียนหนังสือที่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อกลับไปทำงานในกองทัพ บ้างถูกส่งไปเป็นทหาร จับปืนรบกับกองทัพพม่า ทว่า สำหรับ เชอรี่ แสง เธอถูกเลือกให้รับตำแหน่งสตรีหมายเลขหนึ่งเคียงข้างชายผู้มีอายุห่างกันถึง 20 ปี


 


"ตอนนั้นตรงกับปี พ.ศ. 2512 กองทัพคะฉิ่นเป็นกองกำลังที่มีอิทธิพลมาก หากกองทัพ สั่งให้ทำอะไร ประชาชนจะต้องปฏิบัติตาม ตอนที่ฉันถูกเลือกให้มาเมืองไทย ฉันคิดว่าฉันจะได้มาเรียนหนังสือเหมือนหนุ่มสาวคนอื่นและกลับไปทำงานในรัฐคะฉิ่น แต่ปรากฏว่าพอถึงเมืองไทย ฉันถูกบังคับให้แต่งงานกับผู้นำคนแรกของกองทัพคะฉิ่น ซึ่งต้องดูแลทั้งครอบครัวและประชาชนชาวคะฉิ่น"


 


อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งชาวคะฉิ่นย้อนอดีตเมื่อครั้งชีวิตหักเหเข้าสู่เส้นทางที่ไม่คาดฝัน พร้อมกับเล่าถึงความรู้สึกในวันนั้นว่า


 


"จริง ๆ ระหว่างเดินทางมาเมืองไทย ฉันก็รู้สึกแปลก ๆ เหมือนกันว่าทำไมฉันเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้นั่งหลังม้า ขณะที่คนอื่น ต้องเดินกัน แต่คิดว่าคงเป็นเพราะฉันเป็นลูกสาวเจ้าเมือง พอมาถึงเมืองไทยฉันก็ได้พบกับผู้นำกองทัพคะฉิ่น เขาบอกว่า ฉันจะต้องแต่งงานกับเขา เพราะประชาชนคะฉิ่นเป็นผู้เลือกฉันมารับตำแหน่งนี้ พอฉันได้ยิน ฉันก็ได้แต่ร้องไห้อย่างเดียวเพราะรู้ว่าไม่มีทางเลือกอื่น"


 


ในเวลานั้น การแต่งงานแบบคลุมถุงชนในสังคมคะฉิ่นถือเป็นเรื่องปกติ หากหนุ่มสาวคู่ไหนมีความเหมาะสมกัน ผู้ใหญ่ก็จะจัดพิธีแต่งงานให้โดยไม่ต้องถามไถ่เจ้าตัว เหตุผลที่เชอรี่ แสงได้รับเลือกให้แต่งงานกับผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐคะฉิ่น เพราะเธอมีความพร้อมทั้งหน้าตา ฐานันดร และก่อนหน้านั้นเธอมักได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนชาวคะฉิ่นในการร่วมงานสำคัญต่างๆ อยู่เสมอ หลังจากเข้าพิธีแต่งงานโดยไม่ได้คาดหมาย เธอต้องเปลี่ยนบทบาทจากลูกสาวเจ้าเมืองเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งซึ่งมีภาระความรับผิดชอบมากมาย และไม่มีโอกาสกลับไปที่บ้านเกิด ในรัฐคะฉิ่นอีกนานหลายสิบปี เพราะในเวลานั้นกองทัพคะฉิ่นได้เข้ามาตั้งกองบัญชาการที่ชายแดนไทยเพื่อติดต่อประสานงานกับโลกภายนอก รวมทั้งขอความช่วยเหลือจากประเทศไทยโดยแลกเปลี่ยนกับการเป็นแนวกันชนต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับกองกำลังก๊กหมิ่นตั๋งและกองกำลังชนกลุ่มน้อยจากพม่าอีกหลายกลุ่มที่ต้องการเข้ามาพึ่งพิงประเทศไทย


 


ทว่า หลังจากรับตำแหน่งสตรีหมายเลขหนึ่งได้เพียง 5 ปี เธอต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่คาดฝันอีกครั้งเมื่อสามีถูกลอบสังหารโดยทหารคะฉิ่นด้วยกันระหว่างที่เธอกำลังอุ้มท้องลูกชายคนเล็กได้ 7 เดือน


 


"ตอนสามีเสียฉันก็มืดมนหนทาง ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป เพราะมีลูก 3 คนที่ต้องดูแล จะกลับรัฐคะฉิ่นก็คงไม่ได้ จึงวิ่งเต้น ขอลี้ภัยอยู่ในเมืองไทย เมื่อตอนที่สามียังอยู่เคยติดต่อกับคนใหญ่คนโตในสมัยนั้นหลายคน ฉันจึงไปติดต่อขอลี้ภัยอยู่เมืองไทย หลังจากลูกคนเล็กเกิดได้สองปี ครอบครัวของฉันก็ได้สัญชาติไทย พร้อมๆ กับครอบครัวทหารก๊กหมิ่นตั๋งที่เข้ามาร่วมรบกับคอมมิวนิสต์ให้ไทยในช่วงเวลาเดียวกัน"


 


เมื่อเหลือเพียงเธอและลูกสามคนที่ยังเล็ก น้องสาวและน้องเขยซึ่งเคยเป็นทหารรับใช้กองทัพคะฉิ่นจึงลาออกมาช่วยเธอดูแลลูกๆ เธอดิ้นรนหาเงินเลี้ยงครอบครัวด้วยการสอนหนังสือที่สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน พร้อมกับค้าขายหยกจากรัฐคะฉิ่น จนกระทั่งลูกทั้งสามคนได้เรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัยทุกคน แม้ว่าชีวิตการเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งจะเต็มไปด้วยความทรงจำอันเจ็บปวด และสามีถูกลอบสังหารโดยคนคะฉิ่นซึ่งถูก ศัตรูหลอกใช้ให้มาฆ่าคนคะฉิ่น ด้วยกัน แต่เชอรี่ แสงกลับไม่เคยรู้สึก เคียดแค้นชิงชังจนเลิกหวังที่จะพัฒนาสังคมคะฉิ่นดังที่เคยตั้งใจ ตรงกันข้าม เธอกลับคิดว่าการตายของสามีคือบทสะท้อนความล้มเหลว ทางการศึกษาของสังคมคะฉิ่นซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข


 


"สามีของฉันถูกลอบสังหารโดยชาวคะฉิ่นซึ่งถูกคนอื่นหลอกใช้ ฉันจึงตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่เป็นแบบนี้คงเป็นเพราะคนคะฉิ่นอาจมีความรู้น้อยเกินไป ฉันคิดต่อไปว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากจะส่งเสริมให้คนคะฉิ่นได้เรียนสูงๆ จะได้ไม่ถูกคนอื่นหลอกใช้ รวมทั้งช่วยกันพัฒนาสังคมคะฉิ่นให้ดีขึ้น ไม่ใช่ทำลายคนคะฉิ่นด้วยกัน"


 


เมื่อเห็นว่าคนคะฉิ่นที่อยู่ในเมืองไทยมีจำนวนไม่น้อย โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานอยู่ทางภาคเหนือของไทย เธอจึงเริ่มคิดหาสถานที่ที่จะให้ชาวคะฉิ่นได้มาพบเจอกันเพื่อประกอบกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมคะฉิ่น


 


"พวกเราเป็นคริสต์ สถานที่ที่ดีที่สุดของการเจอกันคือโบสถ์ แต่เราไม่เคยมีโบสถ์ที่เป็นของชาวคะฉิ่น คนคะฉิ่นหลายคนคิดว่า เราน่าจะรวบรวมเงินสร้างโบสถ์คะฉิ่นในเมืองไทยร่วมกันสักแห่ง หลังจากนั้น เราได้พยายามรวบรวมเงินบริจาคจากชาวคะฉิ่นทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ จนกระทั่งเราสร้างโบสถ์คะฉิ่นสำเร็จในที่สุด"


 


หลังจากมีโบสถ์เป็นศูนย์รวมจิตใจ ปัญหาต่าง ๆ ของชาวคะฉิ่นจึงเริ่มหลั่งไหลแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกร่วมกัน หนึ่งในปัญหา เหล่านั้นคือปัญหาของผู้หญิงคะฉิ่นซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ด้วยเหตุนี้ เชอรี่ แสงและกลุ่มผู้หญิงคะฉิ่นในเมืองไทยจึงร่วมกันก่อตั้งองค์กรสตรีคะฉิ่นแห่งประเทศไทย หรือ Kachin Women’s Association Thailand หรือ (KWAT) เพื่อเพิ่มศักยภาพสตรีคะฉิ่นให้ทำงานช่วยเหลือกันมากขึ้น โดยเฉพาะการอบรมให้ความรู้ ต่างๆ ที่จะทำให้ผู้หญิงคะฉิ่นสามารถแก้ปัญหาเมื่อเผชิญภาวะวิกฤติ


 


"ผู้หญิงคะฉิ่นในชนบทของประเทศพม่าไม่รู้เลยว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร และพวกเธอมีสิทธิอะไรบ้างหากถูกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ฉันคิดว่าผู้หญิงคะฉิ่นด้วยกันจะต้องช่วยดูแลกัน"


 


กิจกรรมที่ผ่านมาของ KWAT มีตั้งแต่การส่งเสริมอาชีพ เย็บผ้า ทอผ้า รวมไปถึงการอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิสตรี และกฎหมายต่างๆ ที่จำเป็น ผลงานล่าสุดคือการจัดทำรายงานฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง "Driven Away : Trafficking of Kachin Women on the China-Burma Border" (อยู่ระหว่างการแปลเป็นภาษาไทย ผู้ต้องการอ่านฉบับภาษาอังกฤษ กรุณาติดต่อ kwat@loxinfo.co.th) เปิดเผยให้เห็นถึงกระบวนการค้าผู้หญิงคะฉิ่นจากประเทศพม่าที่เพิ่มสูงขึ้น บางคนถูกส่งไปขายไกลถึงชายแดนเกาหลีเหนือเพื่อเป็นภรรยาของคนจีนที่นั่น บางคนหาทางหลบหนีออกมาหลังจากถูกกักขังหลายปี หรือหลังจากมีลูกให้กับผู้ชายเหล่านั้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งถูกบังคับให้เข้าสู่ อุตสาหกรรมทางเพศของพม่าและจีน หรือบางคนหายตัวไปโดยไร้ร่องรอย ระหว่างการเดินทางข้ามชายแดนจากประเทศพม่าสู่ประเทศจีน


 


แม้ว่ากองทัพคะฉิ่นเคไอเอจะเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่ามานานนับสิบปี แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคะฉิ่นก็ไม่ได้ลดน้อยไปกว่ากลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่สู้รบและถูกทหารพม่าข่มขืนอย่างกว้างขวางและเป็นระบบเลย ปัจจัยผลักดันสำคัญที่นำไปสู่กระบวนการค้าผู้หญิงคะฉิ่นที่ขยายตัวมากขึ้นคือ ความล้มเหลวของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของรัฐบาลทหาร ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนากองทัพมากกว่าการศึกษา


 


ข้อมูลจากรายงานฉบับนี้ได้เปิดเผยถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาในเขตรัฐคะฉิ่นว่า เมื่อปี พ.ศ. 2531 ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเกรด 10 ซึ่งเป็นชั้นเรียนสูงสุดในระดับมัธยมปลายที่เมืองมิตจินา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่นเป็นเงินปีละ 100,000 จั๊ต (4,000 บาท) ปัจจุบันปีละ 300,000 จั๊ต (12,000 บาท) ตัวเลขนี้ยังไม่รวมค่าอบรมอื่นๆ ที่ต้องจ่ายระหว่างการเรียนอีกประมาณ 200,000 จั๊ต (8,000 บาท) ขณะที่ค่าจ้างแรงงานต่อวันซึ่งพ่อแม่ของเด็กๆ ส่วนใหญ่ได้รับเพียงแค่ 500 จั๊ต (20 บาท) ด้วยเหตุนี้ เด็กสาวคะฉิ่นจำนวนมากจึงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ และต้องออกไปช่วยหาเงินมาจุนเจือครอบครัว เมื่อไม่มีการศึกษา เธอจึงตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ได้ง่าย


 


ด้วยความที่เธอเคยรับบทบาทเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งมาก่อน ทำให้เชอรี่ แสงเป็นที่รู้จักของสังคมคะฉิ่นทุกพื้นที่ ทั้งไทย จีน อินเดีย และพม่า ทุกวันนี้ เธอยังคงทำงานเพื่อผู้หญิงคะฉิ่นและหวังจะให้สังคมคะฉิ่นก้าวหน้าต่อไปเพื่อให้สิ่งที่สามีและเธอใฝ่ฝันไว้เป็นความจริง


 


"ความฝันของสามีก่อนตายคืออยากพัฒนาสังคมคะฉิ่นให้ดีขึ้น ฉันก็ต้องสานความฝันของเขาต่อไป ส่วนความฝันของตนเอง อยากให้สตรีเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในสังคมคะฉิ่นมากขึ้น อยากให้ผู้ชายคะฉิ่นยอมรับในความสามารถของสตรีมากขึ้น"


 


อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งกล่าวถึงความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต รวมทั้งผู้เป็นแบบอย่างให้กับการทำงานเพื่อประชาชนชาวคะฉิ่น อย่างไม่ย่อท้อว่า


 


"สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุด คือ การได้เข้าเฝ้าในหลวง ราชินี และสมเด็จพระเทพฯ ท่านเป็นแบบอย่างของการดูแลความทุกข์ยากของประชาชนอย่างที่ฉันใฝ่ฝัน"


 


 


 







ความเป็นมาขององค์กรการเมืองและสภาพปัญหาปัจจุบันในรัฐคะฉิ่น


 


 


ประชาชนชาวคะฉิ่นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศพม่า ส่วนที่เหลืออยู่ในจีนและอินเดีย จำนวนประชากรคะฉิ่นในพม่าประมาณ 1-1.5 ล้านคน ในอดีตประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียน มีระบบปกครองแบบเจ้าเมืองและหัวหน้าหมู่บ้าน ระหว่างที่อังกฤษเข้าปกครองพม่า(ระหว่างปี พ.ศ. 2429 - 2491) ดินแดนคะฉิ่นส่วนใหญ่ถูกปกครองในฐานะมณฑลชายแดน (frontier region) ศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามาในรัฐคะฉิ่นช่วงเวลานี้ หลังจากพม่าได้เอกราชในปี พ.ศ. 2491 ดินแดนภูเขาสูงทางภาคเหนือของพม่าถูกกำหนดให้เป็นรัฐคะฉิ่น ด้วยพื้นที่ 34,379 ตารางไมล์ โดยดินแดนที่มีชาวคะฉิ่นอีกส่วนหนึ่งอยู่ในเขตรัฐฉาน


 


หลังจากได้รับเอกราช ชาวคะฉิ่นจำนวนมากไม่พอใจนโยบายของรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ชาวคะฉิ่นก่อตั้งกองกำลังกู้ชาติของตนเองขึ้น โดยกองกำลังที่ใหญ่ที่สุดในรัฐคะฉิ่น คือ Kachin Independence Organisation (KIO) ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรทางการเมือง และ Kachin Independence Army (KIA) ซึ่งเป็นองค์กรทางการทหาร ผลจากความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเวลาหลายทศวรรษ นำไปสู่การอพยพโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยจากที่สูงลงสู่ที่ราบในรัฐคะฉิ่นมาก ขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบัน ประชากรชาวคะฉิ่นมากกว่าร้อยละ 80 อาศัยอยู่ตามที่ราบ


 


ในปี พ.ศ. 2537 องค์กร KIO ตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าและได้รับสิทธิรักษาโครงสร้างทางทหารและการบริหารจัดการในบางพื้นที่ นอกจากนี้ กองกำลังคะฉิ่นอีกสองกลุ่มก็ตกลงเจรจาหยุดยิงด้วยเช่นกัน คือ กลุ่ม New Democratic Army (NDA-K) ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่ามาก่อน มีพื้นที่ปฏิบัติการอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐคะฉิ่น ใกล้ชายแดนจีน และอีกกลุ่มหนึ่งคือ Kachin Defence Army (KDA) ปฏิบัติการทางภาคเหนือของรัฐฉาน เป็นกลุ่มที่แยกตัวจาก KIO เมื่อปี พ.ศ. 2534


 


เป็นที่น่าเสียดายว่า การเจรจาหยุดยิงไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองที่แท้จริง พื้นที่ในรัฐคะฉิ่นส่วนใหญ่ยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพพม่า ประชาชนยังคงถูกปฏิเสธสิทธิประชาธิปไตยในการเลือกรัฐบาลของตนเอง นอกจากนี้ รัฐบาลทหารพม่ายังหาประโยชน์จากสัญญาหยุดยิงโดยเพิ่มกำลังทหารเข้ามาในรัฐคะฉิ่น กองทัพพม่าได้ขยายกองกำลังในรัฐคะฉิ่นเพิ่มเป็น 3 เท่าจากปี พ.ศ. 2537 จำนวนมากกว่า 50 กองพันปัจจุบันมีฐานที่มั่นอยู่ใน
รัฐคะฉิ่น โดยกองพันที่เพิ่มมากขึ้นจะตั้งอยู่ในเขตใกล้กับฐานที่มั่นของ KIO การเพิ่มขึ้นของทหารพม่าได้นำไปสู่ภาระที่ประชาชนจะต้องแบกรับมากขึ้น ทั้งการถูกยึดที่ดินไปเป็นค่ายทหาร การบังคับใช้แรงงาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ


 


ผลกระทบต่อมาหลังการเจรจาหยุดยิงและการตกลงการค้าชายแดนระหว่างพม่าและจีน คือ การค้าชายแดนกับจีนเริ่มขยายตัวมากขึ้น ความเจริญเติบโตของเมืองชายแดนทำให้ผู้หญิงจากหลายๆ พื้นที่ในพม่าอพยพมาหางานทำที่นี่ ทั้งงานบริการตามร้านอาหาร ร้านค้า ที่พัก และตลาดงานบริการที่ขยายตัวมากที่สุด คือ บริการทางเพศ เนื่องจากค่าตอบแทนในฝั่งจีนสูงกว่าฝั่งพม่า นำไปสู่ขบวนการค้าผู้หญิงคะฉิ่นซึ่งนับวันจะยิ่งขยายตัวมากขึ้น


 


 


เผยแพร่ในสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 24  (1 ก.ค.- 15 ส.ค. 48 )