Skip to main content

ความทรงจำที่สนามหลวง ตอน ๓ Oop! ถุงยางพูดได้

คอลัมน์/ชุมชน

ไม่ว่าจะเป็นการท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ  …. ที่นักเรียนบางคนต้องออกจากการเรียนหนังสือ


ไม่ว่าจะเป็นการยุติการตั้งครรภ์ก่อนกำหนด …หรือที่เราเรียกว่า "ทำแท้ง" ในกลุ่มผู้หญิง


ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อเอชไอวี/ เอดส์ ….ซึ่งวัยรุ่นมีการติดเชื้อสะสมมากขึ้นทุกๆปี


ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อกามโรค – หนองในเทียม ซิฟิลิส ฯลฯ …ที่วัยรุ่นเริ่มเป็นมากขึ้น


สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฎการณ์ทางสังคม ที่คนเรียกว่า "ปัญหา" 


 


ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยและรับผิดชอบ หรือมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน คือไม่ได้ป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง


 


หากไม่ได้เกิดจากการไม่รักเดียวใจเดียว หรือการไม่รักนวลสงวนตัว หรือการไม่อดเปรี้ยวไว้กินหวาน เหมือนดั่งที่บางคนมักคิดว่า ปัญหาข้างต้นนั้น ควรแก้ด้วยทางออกเหล่านี้ ซึ่งจริงๆ ก็อาจแก้ได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ตรงกับเหตุแห่งปัญหาจริงๆ แต่อย่างไร


 


สิ่งที่พบคือ การสื่อสารเรื่องการป้องกันกับวัยรุ่นด้วยข้อมูลที่ไม่รอบด้าน  ทำให้วัยรุ่นได้รับผลกระทบจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้น  และการที่วัยรุ่นปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและรับผิดชอบอาจเกิดจากแง่มุมหลายๆ ด้าน


 


ด้านหนึ่งมองว่า ตัวเองไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรอก เพราะเรื่องเอดส์เป็นเรื่องที่ไกลตัว ดังนั้นวัยรุ่นแบบเราๆ คงไม่เสี่ยงเท่าไหร่ ไม่ต้องเรียนรู้เรื่องการป้องกันก็ได้


 


แต่อีกด้านหนึ่งมองได้ว่า วัยรุ่นอย่างเราๆ ก็ไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ได้อย่างรอบด้าน มีการสื่อสารเพียงด้านเดียวมาตลอดหรือต้องละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ ต้องรักนวลสงวนตัว จึงทำให้ไม่มีทางเลือกในการตัดสินใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ที่ป้องกันอย่างปลอดภัยได้


 


หรืออาจมองได้ว่า ทัศนคติเกี่ยวกับถุงยางอนามัยเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายยังไม่ค่อยยอมรับ ผู้ใหญ่มองว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอก (แต่เรามองว่ากระรอกจะเข้าโพรงได้อย่างปลอดภัย) วัยรุ่นบางคนมองว่า ใช้ถุงยางอนามัยแล้วไม่เป็นธรรมชาติ คนใช้ช่ำชองเรื่องเพศ หรือหนักกว่านั้นคือมีคนบอกว่า เชื้ออสุจิสามารถทะลุผ่านถุงยางอนามัยได้ เพราะมีขนาดเล็กกว่ารูของถุงยาง (จริงๆ ควรดูมากกว่าว่าการไม่ใช้กับการใช้นั้น โอกาสที่จะเกิดผลกระทบต่างกันมาก)


 


เหตุเหล่านี้อาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้วัยรุ่นไม่ใช้ถุงยางอนามัย


 


ความท้าทายประการแรกในเรื่องถุงยางอนามัยคือ "การยอมรับ" และเรื่องต่อมาคือ "การเข้าถึง"


 


ดังนั้น การยอมรับและเข้าถึงถุงยางอนามัย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ และจำเป็นที่ต้องสื่อสารเรื่องนี้ให้มากขึ้น


 


ในงานเอดส์ภาคประชาชนนี้ เครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย ภายใต้โครงการถุงยางอนามัยคุ้มครองสังคม ได้ทำการเปิดตัว ถุงยางอนามัย Oop! ซึ่งเป็นถุงยางอนามัยที่เครือข่ายฯ ผลิตขึ้นมาภายใต้สโลแกน "ให้คุณได้รัก ให้คุณได้มั่นใจ"  จำหน่ายราคากล่องละ 15 บาท


 



 


การจำหน่ายถุงยางอนามัย Oop! ในราคาดังกล่าว เป็นราคาที่เกิดจากการสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย  โดยอาสาสมัครเยาวชนในแต่ละภาค ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายจะนำมาสนับสนุนกิจกรรมเยาวชนในพื้นที่ และเป็นต้นทุนในการซื้อถุงยางโดยดำเนินการในรูปแบบ "สหกรณ์ถุงยางอนามัย" รวมทั้งเป็นกองทุนเพื่อรณรงค์ให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ปลอดภัยต่อไป


 


นอกจากนี้ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 12 จังหวัดก่อนการจัดงานพบว่า เยาวชนมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อให้ความปลอดภัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์  ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะรณรงค์ให้เยาวชนเห็นความสำคัญของถุงยางอนามัย เพราะความต้องการทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ  การจัดทำถุงยางอนามัย Oop!  จึงช่วยให้วัยรุ่นและประชาชนทั่วไปเข้าถึงถุงยางอนามัยได้ง่ายขึ้น


 



 


ที่สำคัญการจำหน่ายถุงยางอนามัย Oop! จะไม่เพียงแค่ขาย ขาย ขาย อย่างเดียว แต่ Oop! เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและรับผิดชอบ ซึ่งอาสาสมัครหรือตัวแทนจำหน่ายจะทำหน้าที่คอยให้คำปรึกษา แนะนำการใช้ แลกเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับถุงยางอนามัยแก่ผู้ซื้ออีกด้วย  จึงเป็นที่มาของแนวคิด "ถุงยางอนามัยพูดได้"


 


คณะทำงานเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทย มุ่งหวังให้ถุงยางอนามัย Oop! ได้อยู่เคียงคู่กับทุกคน ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เป็นเพื่อนสนิทของทุกคน ซึ่งก็คงต้องผ่านด่านทดสอบในอีกหลายเรื่อง ทั้งทัศนคติของสังคม แนวทางการกระจายให้เข้าถึงเยาวชนอย่างทั่วถึง และการยอมรับการใช้ถุงยางอนามัยของวัยรุ่นและผู้ใหญ่


 



 


เป็นเรื่องที่น่าติดตามและให้การสนับสนุนทางเลือกเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและรับผิดชอบ  ที่ช่วยลดการท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ ยุติการตั้งครรภ์ก่อนกำหนด ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และเชื้ออื่นๆ ที่ถูกมองว่าเป็น "ปัญหาสังคม"


 


แบบนี้จะเรียกว่า "ถุงยางอนามัยคุ้มครองสังคม" ก็คงไม่ผิดนะครับ