Skip to main content

รถซิ่ง

คอลัมน์/ชุมชน

1


 ช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาได้ติดตามข่าวเรื่องกลุ่มรถจักรยานยนต์ซิ่งของคนหนุ่มสาว มีปรากฎการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น การตั้งด่านจับรถซิ่ง การนำรถที่จับได้มาเก็บไว้เป็น "สุสานรถซิ่ง" การทุบตีเด็กผู้ชายขณะที่ถูกจับ และด่าว่าเป็นพวกเศษเดน มีการทำร้ายร่างกายและการใช้คำพูดที่เสียดสี ประณาม ซึ่งล้วนเป็นความรุนแรงทั้งทางกายและวาจา


เมื่อกล่าวถึง ความรุนแรงแล้ว คงเป็นเรื่องที่คนในสังคมในปัจจุบันถวิลหาและเรียกร้องให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงได้ยุติความรุนแรงและหาความร่วมมือกันด้วยความสมานฉันท์ คนหนุ่มสาวอย่างพวกเราเองก็ไม่อยากสร้างความรุนแรงแต่ประการใด หากอยากให้พวกเราไม่แข่งรถซิ่ง ไม่ใช้ความรุนแรง อาจต้องใช้ความเข้าใจและความสมานฉันท์ (ทั้งฉันและเธอ) อย่างที่ผู้คนในสังคมอย่างเราหลายคนต้องการ


ทุกวันนี้ที่คนหนุ่มสาวทำอะไรไม่ถูกไม่ควร ก็น่าจะให้คำแนะนำ และมาเรียนรู้ชีวิตว่า วัยรุ่นแต่ละคนที่เข้ามาในกลุ่มแข่งรถเพราะอะไร มีสาเหตุอย่างไรและช่วยกันหาทางออกร่วมกันหลาย ๆ ฝ่าย ดีกว่าจะจับมาปรับ ลงโทษ ยึดรถ แล้วก็ปล่อยตัวไป


2


 ภาพของการแข่งรถ การขี่รถซิ่ง การใช้ความเร็ว ในการขับขี่ยวดยานบนท้องถนนอาจสร้างความรำคาญ เบื่อหน่ายแก่ใครบางคนที่พบเห็น เสียงบ่นรำพึง ด่า สาปแช่งต่าง ๆ ออกมาจากปากของผู้คน เมื่อได้ยินเสียงดังของรถจักรยานยนต์ที่มีการตกแต่งเสียงให้มีความดัง


ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนคนหนึ่งเกี่ยวกับการรวมกลุ่มรถซิ่ง โดยส่วนตัวคิดว่าอาจทำให้เข้าใจที่มา ที่ไป ความคิดของการแข่งรถมากขึ้นกว่าที่ผู้คนพบเห็นทั่วไป


เพื่อนคนนี้มีครอบครัวที่ค่อนข้างอบอุ่น มีฐานะค่อนข้างดี มีแม่ที่มีความเข้าใจ เข้าใจถึงธรรมชาติของเขาที่บางครั้งเที่ยว บ้างครั้งทำงาน


เขากับเพื่อน รวมกลุ่มโดยการแข่งรถ มีสมาชิกประมาณ 80 – 90 คน คนในกลุ่มจะอยู่บ้านใกล้กัน โดยทุกเย็นจะรวมตัวกัน จากกลุ่มคนเล็ก ๆ จนกลายเป็นกลุ่มใหญ่ในเวลาไม่นาน การได้พูดคุยกันทำให้ได้ทั้งเพื่อนใหม่และสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มมากยิ่งขึ้น บางครั้งแม้จะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ก็ไม่เคยแตกแยกหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน จะเป็นการทำความเข้าใจกันมากกว่า เพราะเป็นเพื่อนกันจึงสั่งไม่ได้ บางครั้งแก้ปัญหาโดยการโยนเหรียญ หัวก้อย ถ้าได้แบบไหนก็เอาหรือทำตามนั้น " เวลามีเรื่องก็จะช่วยกัน แต่กลุ่มเรานี้ไม่เคยมีเรื่องอยู่แล้ว"


ในเรื่องเสียงสะท้อนจากชุมชน ถึงแม้ว่าการแข่งรถบนถนนจะสร้างความรำคาญแก่ผู้คนที่พบเห็น หรือสร้างความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตของผู้แข่งและผู้คนที่ขับขี่ยวดยานบนท้องถนน แต่คนที่อาศัยในชุมชนก็ยังพูดคุย ทักทายกับเพื่อนของผมเหมือนดั่งเด็กวัยรุ่นทั่วไป และไม่เคยมีใครเล่าเรื่องที่เขาแข่งรถให้แม่ฟังเพราะต่างกลัวเขาจะต่อว่า ส่วนที่โรงเรียน เพื่อน ๆ ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเขา ไม่มีคนไม่ชอบเขา แม้ว่าบางครั้งเขาจะทะเลาะกับอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ฟังอาจารย์ เพื่อน ๆ ต่างเป็นห่วงและคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ


" คนส่วนใหญ่จะเรียกเราว่าแก๊ง ไม่ชอบที่เขาเรียกเราว่าแก๊ง อยากให้เรียกว่า พวกเพื่อนฝูงเคยโดนเรียกว่าแซ๊บ ไม่ชอบที่เขาว่าพวกเราเป็นแซ๊บ ส่วนเพื่อนก็เลี้ยงเหล้า ก็มีทะเลาะกันบ้าง คนจะมองว่าเป็นแก๊งซามูไร ทั้งที่เรากินเที่ยวตามธรรมดา"


" คิดว่าเรื่อง ที่เด็กแข่งรถ อาจจะแก้ได้ยาก เพราะมันมีมาเรื่อย ๆ และมีการเปลี่ยนถ่ายรุ่น รุ่นนี้ผ่านไป ก็มีรุ่นใหม่มาเรื่อยๆ ส่วนเรื่องจัดระเบียบสังคม ผมเห็นด้วย 50/50 ก็ไม่มีปัญหา ยังไม่เข้าใจคำว่าเคอร์ฟิวส์เด็ก ว่ามันคืออะไร แต่เรื่องวิสามัญกลัวครับ คิดว่าไม่ดีครับ ผมก็กลัวครับ แต่ว่าเรื่องแก๊งไม่อยากให้ใครมาแก้เพราะพวกเราดูแลกันได้"


" ถ้าหากจริงจังกับพวกเราจริงก็สร้างสนามแข่งรถให้พวกเราได้แข่งกันสิ แล้วไม่ต้องมีผู้ใหญ่มาควบคุมจนเกินไปนะ พวกเราจะได้มีที่ที่เราอยู่และได้ทำในสิ่งที่เราชอบ" เพื่อนกล่าวทิ้งท้ายก่อนจะขอตัวกลับบ้าน


 


3


 เรื่องเล่าของเพื่อนข้างต้นอาจเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของคนหนุ่มสาวหลายคนที่อยากมีพื้นที่ของตัวเอง พื้นที่ที่สามารถแสดงถึงตัวตนของแต่ละคนโดยอยู่ในขอบเขตของสิทธิและความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทว่า อยู่ที่โอกาสในการบอกกล่าวสิ่งที่ตนต้องการต่อผู้ใหญ่จะมีมากแค่ไหน เพราะทุกวันนี้กลุ่มวัยรุ่นที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ใหญ่ ก็จะถูกตัดสิน ประณาม ด่าว่า โดยที่ไม่มีโอกาสมากนักสำหรับการบอกในสิ่งที่ตนเองต้องการ


การมีพื้นที่สำหรับคนหนุ่มสาวในการส่งเสียงในสิ่งที่ต้องการ น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์และสมานฉันท์สำหรับคนสองวัยทั้งผู้ใหญ่กับวัยรุ่นที่พร้อมจะเรียนรู้ เปิดใจและแบ่งปันโอกาสในการรับฟังซึ่งกันและกัน