Skip to main content

ธรรมศาสตร์ กับ 'ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง'

คอลัมน์/ชุมชน

 


 



"ธรรมศาสตร์คือพื้นที่ ‘ไม่เป็นทางการ’ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่ ‘ราชการ’ คือพื้นที่ ‘สาธารณะ’ ท่ามกลางวงล้อมของพื้นที่ ‘หวงห้าม’ คือพื้นที่ของ ‘ปัจจุบัน’ ท่ามกลางสิ่งก่อสร้างที่มี ‘นัยแห่งอดีต’ และในเชิงความหมายทางการเมืองของพื้นที่นั้น ธรรมศาสตร์คือพื้นที่เฉพาะที่แสดงถึงอดีต ‘ที่ไม่ต่อเนื่อง’ และ ‘รอยด่างทางศีลธรรม’ แต่กลับตั้งอยู่กลางพื้นที่ซึ่งเป็น ‘ศูนย์กลางขององค์อธิปัตย์’ แบบไทย"



                                                                                                ศิโรฒม์  คล้ามไพบูลย์


      โครงการปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฮาวายอิ


 


1


 


ปลายฝนต้นหนาว พ.. 2548  ลานปรีดี ท่าพระจันทร์…


เสียงเจาะหินดังสนั่น "ป้ายแผ่นนั้น" บอกว่า "24 ล้านบาท" บอกว่า "โครงการธรรมศาสตร์สีเขียว" บอกว่า "ปรับปรุงภูมิทัศน์"


 


ผู้ชายคนหนึ่งยืนมองลานแห่งนั้น ขณะที่ในสมองมีภาพแห่งอดีตผุดพรายขึ้นมานับไม่ถ้วน


 


* * * *


 


..2543 …


ห้องสมุดมูลค่า 700 ล้านบาทเพิ่งเสร็จหมาดๆ


เลยบันไดทางลงหอสมุดไปไม่ไกล ด้านหลังคณะเศรษฐศาสตร์ เขามักเดินไปซื้อขนมจีบซาละเปาอยู่บ่อยๆ


"เอ้า น้ำใบบัวบก ทำหน้าไม่สบาย ทำอะไรมา"


คำหยอกจากลุงเจ้าของร้านซึ่งขายของในมหาวิทยาลัยมานานนับสิบปีเรียกรอยยิ้มได้ทุกครั้ง


"เอาน่าเฮีย" …เขาตอบพร้อมกับควักเงินจ่าย


ปีแรกที่คนหน้าใหม่ได้เข้ามาท่าพระจันทร์ บรรยากาศของร้านค้าในมหาวิทยาลัยเป็นแบบนั้น


 


จนวันหนึ่งกระดาษเอ 4  หลายสิบแผ่นตามบอร์ดก็กระตุกความรู้สึกของเขาเข้าอย่างจัง


"วันที่ … เดือน … จะเป็นวันสุดท้ายที่จะอยู่ที่นี่  เชิญมารับประทานน้ำฟรีเป็นการอำลา"


เพื่อนคนหนึ่งบอกเขาว่า "มหาวิทยาลัยเก็บค่าเช่าที่ในโรงอาหารแห่งใหม่แพงมาก"


"นี่เหรอมหาวิทยาลัยที่รักประชาชน มหาวิทยาลัยที่เด็กเอาคำพูดนี้ตะโกนปาวๆ ตอนคัดตัวเชียร์ลีดเดอร์ คนหาเช้ากินค่ำในมหาวิทยาลัยยังทำกันได้เลย"


 


เขาเดินเซ็งๆ ไปที่ประตูท่าพระจันทร์ บอร์ดไม้ขนาดใหญ่ตั้งเรียงราย เสียงตะโกนโหวกเหวกชวนเข้าร่วมกิจกรรมจากกลุ่มต่างๆ ดังไปทั่วบริเวณ


เย็นย่ำอย่างไร…ประตูท่าพระจันทร์ไม่เคยร้างผู้คนจนเวลาล่วงสามทุ่มไปแล้ว


ปีแรกที่คนหน้าใหม่ได้เข้ามาท่าพระจันทร์ บรรยากาศกิจกรรมในมหาวิทยาลัยเป็นแบบนั้น


 


* * * *


           


..2544 …


 


กรณี "ย้าย" "ไม่ย้าย" นักศึกษาปริญญาตรีไปธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตร้อนแรงตั้งแต่เปิดเทอม ผู้รู้หลายท่านบอกว่า กระบวนการทำลายธรรมศาสตร์ซึ่งต่อเนื่องยาวนานนับแต่อดีตชัดเจนขึ้นแล้ว


บัดนี้ถึง "ขั้นสุดท้าย" ที่จะรื้อถอน "จิตวิญญาณ" ด้วยการย้ายวิถีชีวิตผู้คนในสถานที่แห่งนี้ออกไป


 


อาจยากเกินคนทั่วไปเข้าใจ…ก็เมื่อที่ใหม่กว้างกว่า แล้วทำไมจึงไม่ไป ?


"ต้องมาเรียนท่าพระจันทร์ แล้วนายจะเข้าใจ" เขาบอกเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยแบบนั้น


 


แผนของ "คณะกรรมการอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์" ที่ต้องการไล่รื้อชุมชนท่าเตียน ท่าพระจันทร์ ป้อมมหากาฬ เพื่อเปิดภูมิทัศน์ทำ "สวนสาธารณะ" ถูกเปิดเผย ภาพสถานการณ์ทั้งหมดชัดเจนมากขึ้น ธรรมศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของแผนดังกล่าว


 


อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่านี่คือการ "ไล่ที่ชมวัง" นักประวัติศาสตร์หลายท่านกล่าวว่า นี่คือแผนการไร้วิสัยทัศน์ บ้านเมืองอื่นมีแต่รักษาวิถีชีวิตผู้คนในชุมชนเก่าแก่ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา มิใช่รื้อทำลาย


แต่ดูเหมือนเสียงเหล่านี้กลายเป็นสายลม…


 


ปีนี้ โรงอาหารริมน้ำแห่งใหม่ (ออกแบบโดยหนึ่งในผู้บริหารมหาวิทยาลัยขณะนั้น) เปิดใช้งานเป็นครั้งแรก


เขามีโอกาสรู้จัก "สันดาน" ผู้บริหารธรรมศาสตร์อย่างถ่องแท้ว่า "ไร้ประชาธิปไตย" อย่างสิ้นเชิงผ่านสถานการณ์ต่างๆ นับแต่ปีนี้ กลวิธีของนักการเมืองขี้ฉ้อถูกคนได้ชื่อว่า "อาจารย์" ในตำแหน่งบริหารนำมาใช้ครบ 108 ประการ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายบอร์ดแสดงความเห็นของฝ่ายค้าน การบิดเบือนข่าวว่านักศึกษาส่วนใหญ่ (รหัส 41-44) เห็นด้วยกับการ "ขยาย" ที่ถูกตะแบงเป็นการ "ย้าย" ไหนเรื่อง "ล็อครหัส" ไม่ให้นักศึกษาปี 1 และ 2 ลงทะเบียนเรียนวิชาที่ท่าพระจันทร์ 


 


นี่คือประสบการณ์จริง…และเป็นสันดานของผู้บริหารธรรมศาสตร์ยุคหลังๆ


 


* * * *


 


..2545…


 


ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ซึ่งมีชื่อเป็นห้องเลกเชอร์ห้องหนึ่งในคณะศิลปศาสตร์ ท่าพระจันทร์  กล่าวว่า "เปิดมุมมองของวังหน้า เพื่อให้เห็น โดยเฉพาะวัดพระแก้ววังหน้านั้น เมื่อโรงละครแห่งชาติจะต้องมีการย้ายไป…จุดนั้นก็จะมีการรื้อ…สำหรับบริเวณริมแม่น้ำในแง่ของการอนุรักษ์เราก็จะชี้เป็นแนวทางไว้ว่า ถ้าหากอายุการใช้งานของอาคารนั้นได้ใช้มาครบอายุแล้ว จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ก็จะต้องเปิด ถ้าจะเป็นไปได้ก็ควรจะย้ายไป แต่ถ้าการสร้างก็จะต้องลดระดับ เพื่อไม่ให้ Skyline แนวระยะความสูงไปบดบัง สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น เมื่อทางผู้ศึกษาลากเส้นออกมา ก็จะไปติด มีบริเวณซึ่งเกินอยู่ คือโดม ติดคณะศิลปศาสตร์"


 


ตีความตามคำกล่าว นั่นหมายถึงตึก 8 ชั้นควรโดนทุบ และยอดโดมควรถูกตัดออก !


 


สมองผู้ใหญ่คนนี้คิดอะไร…และห้องเลกเชอร์นั้นทรงคุณค่าพอจะเอาชื่อของคนๆ นี้ไปติดไว้หรือไม่


 


กุมภาพันธ์…


 


มีการตั้งเต็นท์ประท้วงที่สนามฟุตบอล ผู้เข้าร่วมน้อยเสียจนอาจารย์เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า คนเหล่านี้อาจเป็น "มนุษย์ต่างดาว" ในสายตานักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่ดูเหมือนสนใจแต่การประกวดเชียร์ลีดเดอร์และเรื่องฟุ้งเฟ้อประเภทคอนเสิร์ตมากกว่า


 


แนวกำแพง "จำลอง" หน้าคณะรัฐศาสตร์ราคา 10 ล้านบาทผุดขึ้นมาช้าๆ โดยที่เขาไม่เข้าใจนักว่า นี่หรือมหาวิทยาลัยที่อ้างว่างบประมาณน้อยจนไม่สามารถสร้างตึกกิจกรรมให้นักศึกษาที่รังสิตได้


 


ประเด็น "ย้าย-ไม่ย้าย" เงียบลงๆ ท่ามกลางความพยายามเฮือกสุดท้ายของนักศึกษากลุ่ม "กระดาษฟ้า"  ที่รวมตัวกันฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางให้ระงับการล็อครหัส แน่นอนหวังผลถึงการหยุดยั้งการย้ายนักศึกษาระดับปริญญาตรีไปรังสิตด้วย


 


ผู้บริหารร้อนตัว ปีนั้นมีการเรียกเด็กกลุ่มนี้เข้าไปคุยที่ตึกโดม…


แต่อย่างที่ทราบภายหลัง การประชุมวันนั้นผู้บริหารตะแบงได้อย่างยอดเยี่ยม ดูถูกเหยียดหยามความคิดนักศึกษาปีต้นๆ เหล่านี้ด้วยการใช้กิริยาไม่เหมาะสมทั้งเต็มไปด้วยอารมณ์จนไม่น่าเอามากล่าว


 


เป็นปีสุดท้าย…ที่เขาได้รับรู้ความเคลื่อนไหวเรื่อง "ย้าย" หรือ "ไม่ย้าย" ธรรมศาสตร์อย่างใกล้ชิด


ความเงียบคืบคลานสู่ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยมีแผนย้ายหน่วยงานสำคัญทั้งหมดไปรังสิต ขณะที่ผลการศึกษาข้อดีข้อเสียของการย้ายโดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นยังไม่ออกมาด้วยซ้ำ


หรืออีกแง่หนึ่ง…ผลถูกล็อกไว้แล้ว ?


 


6 ..45 …กิ่งต้นโพถูกฟ้าผ่าหักลงมาอย่างน่าอนาถใจ


 


ปลายปีนั้น ท่าพระจันทร์เงียบลงอย่างเห็นได้ชัด


 


* * * *


 


..2546


 


 


ผลการศึกษาจาก "สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)" เรื่อง "รายงานฉบับสมบูรณ์แนวทางการจัดการอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ด้วยงบประมาณ 3 ล้านบาทสรุปทางเลือก 3 ทางคือ 1.ย้ายปริญญาตรีทั้งหมดไปคลองหลวง-รังสิต 2.ย้ายปริญญาตรีบางคณะไปคลองหลวง-รังสิต 3.ย้ายปริญญาตรีบางชั้นปีและบางคณะไปคลองหลวง-รังสิต และเสนอผลดีผลเสียของแนวทางทั้งสาม


 


เขานั่งฟังแล้วพบว่า นี่คือการ "ตะแบง" ตอบคำถาม ทั้งเสนอทางออกไม่รอบด้าน ไม่มีข้อเสนอของฝ่ายค้านเช่น สูตร 2-2 ท่าพระจันทร์ 2 ปี รังสิต 2 ปี เข้าไปในแนวทางจัดการศึกษาแต่อย่างใด


 


 


* * * *


 


.. 2548 …


 


สุรพล นิติไกรพจน์ นักกฎหมายที่ได้รับการยอมรับว่า "ดี" คนหนึ่ง รับตำแหน่งอธิการบดี มีท่าทีประนีประนอมมากขึ้นโดยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลายเล่มว่า เขาจะเข้ามากู้ธรรมศาสตร์


 


แต่ผู้ชายคนนั้นก็ตระหนักว่าเขาคิดผิด เมื่อพบว่าต้นปี เบอร์นาร์ด "คนขายถั่ว" นั่งโวยวายอยู่ใต้ตึกกิจกรรมว่ากำลังจะโดนไล่ไปขายที่อื่นพร้อมคนที่เดินเร่ขายของในมหาวิทยาลัยเลี้ยงชีวิตมานานอีกสองสามคน


 


เรื่องคนขายถั่วขึ้นสู่หน้าหนังสือพิมพ์ ผู้บริหารธรรมศาสตร์ยังหน้าไม่หนาจนเกินไป ในที่สุดก็ยอมให้เบอร์นาร์ดขายของต่อแต่จำกัดพื้นที่ลง แต่หลังภาพนั้น คือความรู้สึกของชายขายถั่วที่ต้องเจอเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยข่มขู่เป็นระยะว่าแกไปทำให้สถาบันเสียชื่อเสียง


 


เบอร์นาร์ดไม่เข้าใจคำว่า "สิทธิ" ในการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่จะทำมาหากิน "สิทธิ" ใน "พื้นที่" ที่ชาวธรรมศาสตร์หลายรุ่นส่งมอบให้เขาซึ่งผู้บริหารขี้ฉ้อจำนวนหยิบมือไม่มีสิทธิมาไล่ส่ง คนขายถั่วรู้เพียงที่แห่งนี้ให้โอกาสเขามานาน และมีบุญคุณมากเหลือเกิน มากเกินกว่าจะว่ากล่าวอะไรคนที่นี่ได้


 


ปีนี้ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกมาสนับสนุนกิจกรรมห้องเชียร์ ว้าก ออกทีวี หลังจากนั้นใช้ตึกโดม (อดีตกองบัญชาการเสรีไทย) และห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ แถลงข่าวทำท่าสนับสนุนการกระทำอันล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพ


 


ปีนี้ เขาได้เห็น "โครงการธรรมศาสตร์สีเขียว" ทำลายพื้นที่สนามฟุตบอลส่วนที่ติดกับตึกโดมแล้วทำเป็นลานจอดรถโดยพลการ


 


…เจ็บยิ่งกว่านั้น นักศึกษาธรรมศาสตร์ยังออกมาร่วมประกวดตั้งชื่อเวทีที่ทับสนามฟุตบอลอีกจุดหนึ่งว่า "ลานโดม" แล้วยินดีกับพื้นที่นี้อย่างไม่เคอะเขิน  


 


เด็กรุ่นนี้ "ลืม" ไปแล้วว่าใต้พื้นเวทีแห่งนี้เป็นพื้นดินที่วีรชน 14 ตุลา พลีชีพเรียกร้องประชาธิปไตย บางคน "ไม่รู้" และบางคน "รู้" แต่ "ไม่สนใจ"


 


ก็ใช่…สร้างไปแล้ว…สนุกกับมันดีกว่า ที่แน่ๆ อย่า "เอาประวัติศาสตร์มาทำให้เด็กรุ่นนี้เซ็งคอลัมนิสต์ชื่อดังคนหนึ่งว่าไว้อย่างนั้น


 


* * * *


 


ปลายฝนต้นหนาว พ.. 2548  ท่าพระจันทร์…


 


ธรรมศาสตร์เหมือนสวนสาธารณะมากขึ้น พื้นที่ปูหินอ่อนมีมากขึ้น โอ่อ่ามากขึ้น


..ลานปรีดี เสียงเจาะหินดังสนั่น "ป้ายแผ่นนั้น" บอกว่า "24 ล้านบาท" บอกว่า "โครงการธรรมศาสตร์สีเขียว" และ "ปรับปรุงภูมิทัศน์"


"ธรรมศาสตร์คือพื้นที่ ‘สาธารณะ’ ท่ามกลางวงล้อมของพื้นที่ ‘หวงห้าม’ "


ดังนั้นธรรมศาสตร์ต้องถูกทำลาย…และสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ด้วยการ "ย้าย" นักศึกษาปริญญาตรีไปรังสิต เปิดโครงการปริญญาโทหาเงินที่ท่าพระจันทร์ รับจัดคอนเสิร์ตในหอประชุม ไล่คนขายของเก่าแก่ออกจากมหาวิทยาลัย สร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตรโหฐาน  ส่งเสริมกิจกรรมประกวดความงาม เก็บค่าเทอมเพิ่ม จัดงานเลี้ยงประกาศความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัย ฯลฯ


 


ผู้ชายคนหนึ่งยืนมองลานปรีดี ขณะที่สมองของเขามีภาพแห่งอดีตผุดพรายขึ้นมานับไม่ถ้วน


 


เอกสารอ้างอิง


·         ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ. ธรรมศาสตร์และการเมืองเรื่องพื้นที่. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ , มกราคม 2548.