Skip to main content

หนึ่งปีสึนามิ ได้บทเรียนอะไรบ้าง

คอลัมน์/ชุมชน

วันเวลาผ่านไปเร็วเสมอ ดูเหมือนว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปีที่แล้วเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง การเยียวยาช่วยเหลือก็ยังดำเนินการกันอยู่


 


บัดนี้ครบรอบหนึ่งปีแล้ว ได้เห็นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เรื่องงานครบรอบหนึ่งปี ทำให้สะกิดใจว่าประเทศเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบกับช่วงนี้จังหวัดในภาคใต้กำลังเผชิญภาวะน้ำท่วมที่รุนแรง ขาดการเตรียมการจัดการแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ไม่มีอุปกรณ์ พาหนะ กำลังคน เพียงพอจะแก้ปัญหาฉุกเฉินได้ทันที จนเกิดเหตุการณ์น่าสลดใจ ที่มีประชาชนบุกเข้าไปปล้นสินค้าอาหารจากร้านค้า ระหว่างรอการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ที่ล่าช้าอันเนื่องมาจากไม่มีเรือหรือพาหนะอื่นๆ ในการขนส่งอาหารเข้าไปในพื้นที่


 


เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การเตรียมการเพื่อการบรรเทาสาธารณภัยของประเทศไทยไม่มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้น แม้จะมีบทเรียนจากเหตุการณ์สึนามิ  เรายังคงจำกันได้ว่าหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ สิ่งที่พบเป็นปัญหาเฉพาะหน้าคือการบาดเจ็บสาหัส การเสียชีวิต การกู้ชีพ ที่มีความสับสนอลหม่านของความช่วยเหลือ อาสาสมัคร หน่วยกู้ภัยจากที่ต่างๆ ทั่วประเทศระดมกำลังเข้าไปช่วยเก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิตแบบมวยวัดคือต่างคนต่างทำ ต่างตัดสินใจ โดยไม่มีใครทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานในการวางแผนระบบกู้ภัย รวมถึงการให้ความสำคัญระหว่างการเก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิตหรือค้นหาผู้ที่ยังไม่เสียชีวิตแต่ไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้ เพราะเจ็บหนัก ขยับตัวไม่ได้ ถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพัง เนื่องจากพบว่าในช่วงสองสามวันแรก มีคนที่ยังไม่เสียชีวิต แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือทันจึงเสียชีวิตไปจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว รวมถึงความขัดแย้งในเรื่องการพิสูจน์ร่างผู้เสียชีวิต 


 


ผ่านไปหนึ่งปี ก็ยังคงเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติเช่นน้ำท่วมที่ยังไม่มีระบบการช่วยเหลือที่ทันท่วงที ไม่มีอุปกรณ์ ยานพาหะ ยานขนส่ง เพียงพอ  ทำให้นำส่งความช่วยเหลือเข้าไปหาผู้ประสบภัยได้ช้าหรือไปไม่ถึง ดังที่เรามักได้ยินว่าให้ชาวบ้านลอยคอฝ่าน้ำท่วมออกมารับความช่วยเหลือกันเอง  


 


นอกจากนี้ เราเคยนึกถึงคนที่สมควรต้องได้รับความช่วยเหลือก่อนคนอื่นๆ เช่น คนชรา คนพิการ และเด็กๆ หรือไม่  ลองคิดดูว่าคนพิการ คนชรา จะลอยคอออกมารับความช่วยเหลือได้อย่างไร  เมื่อเกิดปัญหาภัยธรรมชาติไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ควรมีระบบที่จะให้ความช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ชัดเจนและเร่งด่วน หรือเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ควรได้เข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ  ภาพที่มักเจอเสมอคือเมื่อผู้ประสบภัยไปเข้าแถวรับความช่วยเหลือเราจะเห็นคนพิการ คนชรา คนที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ไปร่วมเข้าแถวได้มากน้อยเพียงใด และสิ่งที่ยากลำบากกว่าคือคนในครอบครัวที่ไปรับความช่วยเหลือ แล้วขอเผื่อแผ่ไปให้คนพิการ คนชรามักจะได้รับการปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ เพราะไม่แน่ใจว่าจริงหรือหลอกลวงเพื่อทำให้ตนเองได้ความช่วยเหลือมากกว่าคนอื่นๆ  


 


สิ่งเหล่านี้น่าเป็นห่วง ควรมีการจัดระบบเตรียมการรับเหตุการณ์ที่เหมาะสม นั่นคือการจัดระบบข้อมูล จัดทำฐานข้อมูลประชากรที่ละเอียดว่าในพื้นที่นั้นๆ มีคนพิการ คนชรา คนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษมากน้อยเพียงใด ตลอดจนการจัดเตรียมแผนการให้ความช่วยเหลือคนเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที


 


สึนามิ ให้บทเรียนกับประเทศไทยอย่างมากมายมหาศาลโดยแลกมาด้วยการสูญเสียชีวิต การสูญหายของผู้คน และทรัพย์สิน  สิ่งที่สังคมไทยต้องตระหนักเสมอว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ควรมีการเตรียมการในการป้องกันและบรรเทาภัยอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่จะสามารถอำนวยการจัดการแก้ปัญหาอย่างมีระบบ มีการประสานร่วมมือกันทำงานให้เป็นลักษณะหนุนเสริมกันไม่ใช่ขัดแย้งกัน การจัดเตรียมสำรองเรือ รถ ยานพาหนะอื่นๆ เพื่อการขนส่งความช่วยเหลือได้ทันท่วงที  กรมบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปเพียงใด มีการขยายขีดความสามารถ การวางแผน การจัดระบบเพียงใด รวมถึงการประสานหนุนเสริมองค์กรท้องถิ่นให้มีความสามารถบรรเทาสาธารณภัยในเบื้องต้นได้


 


โอกาสครบรอบหนึ่งปีสึนามิ ขอเราได้ส่งใจไปถึงผู้ประสบภัยที่ได้รับความทุกข์โศก และความสูญเสีย ให้มีพลังใจพลังจิตที่จะฟื้นฟูกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป


 


ขอให้ปีใหม่เป็นปีแห่งความสุขของทุกคนอย่างมีความมั่นใจว่ารัฐบาลไทยได้เตรียมการอย่างมีประสิทธิภาพที่จะแก้ปัญหาภัยพิบัติได้อย่างดีสำหรับประชาชนทุกคน