Skip to main content

ความรักและการเมือง ภาคสอง

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ตอนนี้ข่าวหนึ่งที่ดังคือ การที่รัฐบาลอังกฤษอนุญาตให้บุคคลรักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนแต่งงานได้ เหมือนบุคคลรักต่างเพศ ซึ่งมีที่มาและที่ไปต่างกันกับรักต่างเพศ แต่สุดท้ายคือเรื่องที่ว่าต้องเท่าเทียมกันในเรื่องของชีวิตคู่


 


บทความนี้ผู้เขียนขอใช้มุมมองแบบยุคหลังสมัยใหม่ในนิเทศศาสตร์ (มองในเรื่องระบบสัญลักษณ์และความหมาย) มาอธิบายและให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ เพื่อที่จะได้ถกกันต่อไปและไม่ได้บอกว่าอันใดผิดหรือถูก โดยมีประเด็นดังต่อไปนี้ (๑) เรื่องนิยามของคำว่า "แต่งงาน" และ "ครอบครัว" (๒) บุคคลรักเพศเดียวกัน และ "รักต้องห้าม" ในสังคมร่วมสมัย และ (๓) ผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการแต่งงานของบุคคลรักเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมาย


 


เรื่องนิยามของคำว่า "แต่งงาน" และ "ครอบครัว" 


 


นิยามของ "แต่งงาน" ที่ฝรั่งใช้กันคือ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแบบสามีและภรรยาของหญิงและชาย  ซึ่งหมายถึงสองเพศที่แตกต่าง ไม่ใช่เพศเดียวกัน หญิงกับหญิง หรือชายกับชาย  ทั้งนี้ก่อนอื่นต้องยอมรับกันด้วยว่าเป็นเรื่องของตะวันตก ยิ่งการที่เน้นความเป็นผัวเดียวเมียเดียวด้วยแล้ว ยิ่งชัดเจนมากขึ้น และต้องยอมรับอีกว่ารูปแบบดังกล่าวในปัจจุบันถือเป็นสากล


 


บางคนอาจบอกว่า สังคมไทยมีความเป็นผัวเมียมาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งก็ถูก แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นไปตามที่ใช้ในปัจจุบัน  การที่สามีหนึ่งคนมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนในสมัยก่อนจึงไม่น่ารังเกียจเหมือนสมัยนี้  ส่วนภรรยานั้นมีสามีได้เพียงหนึ่งคนมาตลอด อันนี้เป็นเรื่องการข่มขี่ทางเพศที่ชัดเจนมานาน แต่บังเอิญเข้ากันได้กับความคิดผัวเดียวเมียเดียวของฝรั่งที่นำเข้ามาในสังคมไทยในเมื่อราวๆ ร้อยปีมานี่เอง อันนี้นักประวัติศาสตร์อาจเข้ามาช่วยยืนยันด้วย คงเป็นการดี


 


ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน คงพอมีแต่ไม่ได้มีการยกระดับเป็นเรื่องราวที่ยอมรับได้ ซึ่งอาจไม่รังเกียจแต่ไม่ยอมรับ เจ้านายและชนชั้นสูงหลายคนก็เป็น จนมีสำนวนว่า "เล่นเพื่อน" ซึ่งเน้นเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่เมื่อออกเรือนไปหรือแต่งงาน พฤติกรรมเล่นเพื่อนก็ไม่มีการกล่าวถึงอีกต่อไป สรุปกันว่าน่าจะจบ แต่ถ้ายังมั่วๆ กันแถวนั้นก็มีกันต่อไป


 


ดังนั้น "การแต่งงาน" จึงเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นเรื่องของคนสองคนที่ต่างเพศ ซึ่งได้มีการยอมรับและมีผลทางสังคมและกฎหมาย  ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องปกติ และยอมรับได้โดยไม่มีข้อโต้แย้งมานานแสนนาน  ในขณะที่มองข้ามความสัมพันธ์ประเภทเดียวกันที่เกิดขึ้นกับคนเพศเดียวกัน ทำให้กลายเป็นเรื่องไม่ปกติ รับไม่ได้ และเป็นการเลือกประพฤติปฏิบัติที่ดูเหมือนสังคมก็ไม่สนใจจะแก้ไข เพราะรักต่างเพศตอนนั้นมีจำนวนมากกว่ามาก ทำให้ความสัมพันธ์รักเพศเดียวกันต้องเป็น "รักชายขอบ" เหมือนกับคนรักเพศเดียวกันก็เป็น "บุคคลชายขอบ" นั่นเอง


 


หลังจากที่แต่งงาน ก็ย่อมมีการออกลูกออกหลานเพราะต้องมีเพศสัมพันธ์ หลับนอน ก็จึงมีกระบวนการเพิ่มกรอบในการแต่งงานว่า เป็นการสร้างครอบครัว ครอบครัวนั้นก็มีการพัฒนามาหลายรุ่น หลายสมัย การมีแรงงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ การมีครอบครัวจึงถือเป็นการสร้างการผลิตของตนเอง การมีครอบครัวใหญ่จึงถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะเป็นหลักประกันการมีแรงงานมาก และการที่จะมีขนาดใหญ่ได้ก็ต้องมีลูกหลานมากมาย ถึงกับมีสำนวนว่า "มีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง" ในสังคมไทย (เพราะสมัยก่อนๆ การสาธารณสุขมันไม่ถึงไหน อัตราการตายกับอัตราการเกิดแทบไม่ต่างกัน)


 


ดังนั้น การแต่งงานและสถาบันครอบครัวก็ผูกพันกันเหนียวแน่น ด้วยเรื่องของระบบการผลิตในยุคนั้นๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันไม่มี เพียงแต่ว่าไม่รู้จะเรียกอย่างไร เพราะสังคมไม่ได้มีคำที่จะเรียกความสัมพันธ์แบบนี้ โดยเฉพาะในสังคมไทย ส่วนในตะวันตกนั้นมีมานานแล้วเรื่องความสัมพันธ์ดังกล่าว แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางศาสนา ก็เลยต้องหลบๆ ซ่อนๆ ในช่วงยุคกลาง จนกระทั่งมาลืมหูลืมตาจริงๆ อีกทีคือเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีความเป็นปัจเจกเกิดขึ้นได้ง่ายในสังคม เนื่องจากระบบการผลิตเปลี่ยนไป มีการพัฒนาเป็นแบบสังคมเมืองมากขึ้น


 


ดังนั้น ว่าไปแล้วก็เหมือนการคืนชีพของรักเพศเดียวกัน แต่กระนั้นก็ยังเคราะห์ซ้ำกรรมซัดมาจนปัจจุบันที่ยังหาพื้นที่ของตนเองในสังคมไม่ได้ซักที จึงทำให้การแต่งงานหรือการอยู่ร่วมกันแบบเพศเดียวกันไม่ได้เกิดมาเป็นช้านาน จุดนี้ จึงมองได้ว่าเป็นเรื่องของความเสมอภาคหรือ Equality นั่นเอง ที่เป็นเรื่องที่สำคัญในการต่อสู้เพื่อให้ได้มา หลังจากที่ถูกกดดันไม่ให้เกิดความเท่าเทียมกันมาหลายศตวรรษ


 


บุคคลรักเพศเดียวกัน และ "รักต้องห้าม" ในสังคมร่วมสมัย


 


ต้องยอมรับอีกเหมือนกันว่าเรื่องของรักเพศเดียวกันในปัจจุบันในสังคมไทยนั้น ก็เป็นไปตามวิถีทางของตะวันตกแบบต้อยๆ เริ่มแค่ว่าศัพท์ที่ใช้เรียกบุคคลที่ไม่ใช่รักต่างเพศนี้ ก็ไม่มีในสังคมไทย ต้องไปยืมตะวันตกมาเป็นแม่แบบ ส่วนคำว่า "กะเทย" เดี๋ยวนี้คนไทยก็ไม่ใช้กันแล้วเพราะกำกวมมาก เอาไปเลยว่าเกย์ หรือเลสเบี้ยน (อันนี้ขอฟันธงว่า การใช้คำว่ากะเทยของไทย มีรากมาจากความไม่รู้ของสังคมไทยที่ยังมองว่าโลกนี้มีสองเพศ ดังนั้น คนที่ทำอะไรไม่ตรงกับบทบาทที่สังคมกำหนดให้ตามเพศ ก็ถูกระบุไปเลยว่าเป็น "กะเทย" หรือ ก้ำกึ่งระหว่างสองเพศตามกรอบเดิม เหมือนเรียกพืชที่มีเกสรดอกตัวผู้ตัวเมียในต้นเดียวกัน)


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ โลกตะวันตกก็เข้ามามีบทบาทในการกำหนดเรื่องของเพศในสังคมไทย ค่านิยมกระแสหลักที่เชิดชูรักต่างเพศ (Heterosexism) ที่แรงในสังคมตะวันตกก็มาตอกย้ำจุดนี้ในสังคมไทย  ในขณะเดียวกันแนวความคิดใหม่ที่ขัดแย้งแนวคิดรักต่างเพศนิยมก็เข้ามาด้วย เอาเป็นว่าก็เป็นสมรภูมิในการชิงพื้นที่ทางสังคมของสองฝ่ายอีกเหมือนกัน สังคมไทยจึงนัวเนียกับเรื่องแบบนี้กับเค้าด้วย แต่คนที่รู้จริงๆ อาจมีน้อย หรืออาจเป็นไปได้ว่าไม่มีใครรู้จริงเลยก็ยังได้


 


เอาเป็นว่าตอนนี้ทั้งโลก หรือส่วนใหญ่ของโลกที่ไหลไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ก็ย่อมหนีไม่พ้นปัญหาที่จะมานิยามคนที่ไม่ใช่รักต่างเพศ  ความสัมพันธ์ของพวกเขา และปัจจัยอื่นๆ ทางสังคม คราวนี้ปัญหา "รักต้องห้าม" ของพวกเขาที่สังคมรักต่างเพศไปยัดเยียดให้ เริ่มถูกปฏิเสธ และเพราะว่าโลกหลังสมัยใหม่เน้นความเป็น "ท้องถิ่น" หรือ locality คือมองว่าไม่จำเป็นต้องเหมือนคนส่วนใหญ่ก็ได้  สามารถมองสังคมไปเป็นส่วนย่อยๆ ได้ อาจแบ่งตามชาติพันธุ์หรือ ethnic ได้ รวมทั้งพื้นฐานทางเพศ (sexual orientation) การลุกฮือเพื่อนิยามตนเอง สร้างพื้นที่ของตนเอง และทวงสิทธิความเป็นมนุษย์ของตนเองจึงเกิดขึ้น  (อันนี้ก็รวมไปถึงการประท้วง WTO ที่ผ่านมาด้วย เพราะคนที่ไม่มีทางสู้แบบชาวนาโลกก็มีสิทธิกับเค้าเช่นกัน)


 


เมื่อมามองในเรื่อง "รักต้องห้าม" ของบุคคลที่ไม่ใช่รักต่างเพศแล้ว จึงเป็นหัวข้อใหญ่อีกหัวข้อหนึ่ง และการที่เปลี่ยน "รักต้องห้าม" ให้เป็น "รักแล้วห้ามไม่ได้" เพราะเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ก็มีช่องทางมากมายแต่ที่ชัดเจนและอาจง่ายหน่อยคือ การเอารูปแบบการแต่งงานนี่แหละมาใช้ซะเลย เพราะไหนๆ ก็คุ้นกันมานาน พวกรักต่างเพศก็ใช้กันมามากต่อมาก ไม่ต้องอธิบายบ่อย  


 


แต่อนิจจาพวกรักต่างเพศเค้าหวง เพราะเค้ากลัวว่าอำนาจกดทับของพวกเขาที่มีอยู่ต่อคนที่ต่างจากเขาจะหมดไป ด้วยการแบ่ง "เครื่องมือ" ให้ใช้ ดังนั้นเค้าจึงอ้างทุกอย่างและบอกว่า "กูไม่ให้ มันของเฉพาะพวกกูเท่านั้น" มันจึงเกิดเป็นเรื่องราวว่ากว่าจะมีการแต่งงานของรักเพศเดียวกันนั้นในแต่ละประเทศ มัน "โคตรยาก" แล้วก็กลายเป็นข้อสงสัยต่อหลายกลุ่มว่ามันจะไปได้ไกลถึงไหน เพราะถือว่าเป็นของใหม่ในโลกปัจจุบัน


 


ผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการแต่งงานของบุคคลรักเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมาย


 


ในหลายประเทศหรือหลายสังคมที่ยอมรับความสัมพันธ์คนรักเพศเดียวกัน ก็ยังไม่ยอมใช้คำว่า "same-sex marriage" หลายแห่งใช้คำว่า "civil union" แบบทางการ  ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องประหลาดๆ เล็กน้อย เพราะเหมือนหวงอำนาจของคนที่เคยใช้คำว่า "แต่งงาน" marriage เพราะคำว่า "civil union" การร่วมหอลงโรง (ไม่รู้จะแปลไทยไงดี) มันอาจดูไม่ขลัง แต่เพื่อไม่ให้เกิดแรงเสียดทานมากเกินไปกับกระแสหลัก จึงเห็นใช้กัน เอาเป็นว่าตอนนี้ชาวบ้านใช้กันง่ายๆ ว่า "same-sex marriage" คงได้ดูกันต่อไป


 


เรื่องที่สองคือ แล้วบุคคลที่เป็นรักทวิเพศ หรือ bisexuals นี่ เค้าจะมีการแต่งงานของเค้าได้มั้ย จะออกมาอย่างไร ซึ่งก็ต้องดูต่อไปอีกว่า จะมีอีกกี่รูปแบบ คนที่มี sexual orientation อื่นๆ จะทำอย่างไร เพราะที่เกิดตอนนี้มีได้เฉพาะรักเพศเดียวกันเท่านั้น ที่เราเรียกว่า เกย์หรือเลสเบี้ยน นั่นเอง


 


เรื่องที่สามคือกระบวนการทางสังคมอื่นๆ เช่น การลำดับญาติ ภาษาที่ใช้ การนับความสัมพันธ์อื่นๆ รวมไปถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ทางกฎหมาย ที่ต้องมีการเพิ่มเติม ปรับแปลง น่าสนใจมากเลยทีเดียว


 


เรื่องที่สี่คือ เรื่องทางการศึกษา วิชาการ ที่ต้องปรับตัวให้เข้าใจในเรื่องนี้ จำได้ว่าตอนปี ๒๕๒๕ เทอมแรกในธรรมศาสตร์ เรียนวิชา "มนุษย์กับสังคม"กับ อ.ยุทธ ศักดิ์เดชยนต์ ซึ่งได้พูดถึงเรื่องชีวิตครอบครัวในอนาคต อาจารย์บอกว่า ต่อไปเรื่องของ single parent และ gay couple คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและยอมรับได้ในสังคม ฟังตอนนั้นยังคิดในใจเลยว่า อาจารย์เก๋มาก ทันสมัย ใจกว้างมาก ไม่อยากเชื่อว่าจะได้ฟังจากปากอาจารย์ และวันนี้ก็ได้เห็นจริงๆ แต่ก็เกือบ ๒๕ ปีทีเดียว


 


สิ่งที่ผู้เขียนกังวลอย่างที่สุดคือแวดวงวิชาการ และการพัฒนาสังคมนี่แหละ ที่หลายหนใช้เรื่องนี้มาเป็นการกลั่นแกล้งชาวรักเพศเดียวกันที่เก่งๆ หรือพยายามไม่ให้การส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ จำได้ว่าเคยได้ยินนักวิชาการบางคนบอกว่า "เรื่องนี้ไม่มีประโยชน์ ศึกษาไปก็ไม่ไปถึงไหน ไร้ค่า" นอกจากนี้เคยได้ยินนักพัฒนาสังคมบางคนที่อิงแอบกับบางศาสนาบอกว่า "เรื่องนี้ไม่สำคัญเท่าเรื่องปากท้อง" พูดง่ายๆ คือเหวี่ยงและเลี่ยงประเด็น ขอบอกว่าเรื่องนี้สำคัญเพราะมันเป็นเรื่องของ grand narrative ที่นักสังคมศาสตร์ทุกคนสนใจ ไม่แปลกใจว่าทำไมชนชั้นมันสมองในบางสังคมจึงได้เขลาเช่นนี้


 


ก่อนจบ ผู้เขียนขอแสดงความยินดีกับท่านเซอร์ เอลตั้น จอห์นและคู่ชีวิต และบรรดาคู่อื่นๆ ที่ผ่านกระบวนการดังกล่าว ไม่ว่าในยุโรปหรือแคนาดา หรือที่อื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นแรก และผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปความเข้าใจที่ดีต่อบุคคลที่ไม่ใช่รักต่างเพศคงจะมีมากขึ้น และไม่เหยียดหยันกีดกั้น หรือแม้กระทั่งทำร้ายกัน  อยากให้โลกนี้มีแต่ความเข้าใจ และหวังว่าตอนนี้เพลง อิเมจิ้น กำลังดังอยู่ในใจของทุกคน (ขอจบหวานแหววหน่อย นานๆที)


 


Imagine


 


Imagine there's no heaven,


It's easy if you try,


No hell below us,


Above us only sky,


Imagine all the people


living for today...


 


Imagine there's no countries,


It isn’t hard to do,


Nothing to kill or die for,


No religion too,


Imagine all the people


living life in peace...


 


Imagine no possessions,


I wonder if you can,


No need for greed or hunger,


A brotherhood of man,


Imagine all the people


Sharing all the world...


 


You may say I’m a dreamer,


but I’m not the only one,


I hope some day you'll join us,


And the world will live as one.


 


Writen by: John Lennon


 


หมายเหตุ : อ่าน ความรักและการเมือง ภาคแรก ได้ที่ http://www.prachatai.com/05web/th/columnist/viewcontent.php?SystemModuleKey=Column&System_Session_Language=Thai&ColumnistID=29&ContentID=389&ID=29


 


 กลับหน้าแรกประชาไท