Skip to main content

เด็กไทยผูกพันกับอะไร


 


 


สัปดาห์ที่แล้วผมไปประชุมที่โตเกียว 5 วัน  เป็นการประชุมว่าด้วยชีวจริยธรรม (Bioethics) ของตัวแทนรัฐบาลประเทศต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นโดยยูเนสโก  


 


หลังการประชุมในแต่ละวันผมนั่งรถไฟใต้ดินไปยืนสังเกตบรรยากาศตามสถานที่ที่เคยได้ยินชื่อมาก่อน  ส่วนใหญ่ก็รู้จักและได้ยินชื่อสถานที่เหล่านี้จากหนังสือการ์ตูนที่เคยอ่านครับ      


 


ชินจูกุ กินซ่า รปปงงิ  ชิบูยา  บางสถานที่ไปกลางวัน  บางสถานที่ไปกลางคืน  ผมไม่เคยเห็นคนมากมายเช่นนี้มาก่อนเลย  เกิดมาเคยเห็นแต่สยามสแควร์กับเยาวราชว่ามากแล้ว  มายืนดูคนเดินช็อปปิ้งในโตเกียวแล้วใบ้กิน  (สำหรับคนที่เคยไปโตเกียวแล้ว  ไม่ต้องอ่านบทความนี้ก็ได้ครับ)  


 


ย่านช็อปปิ้งดังๆ ในโตเกียวกว้างขวางเดินไม่รู้จักหมด   สถานีรถไฟและสถานีรถไฟใต้ดินเชื่อมต่อกับทางเดินซึ่งเต็มไปด้วยร้านขายของอย่างซับซ้อน  สาวๆ และไม่สาวแต่งแฟชั่นฤดูหนาวชวนมอง   เวลาข้ามถนนกันแต่ละรอบคะเนว่า น่าจะมีจำนวนคนข้ามถนนรอบละมากกว่าหนึ่งพันคน มืดฟ้ามัวถนน    


 


อ่านหนังสือพบว่า เฉพาะที่บริเวณสถานีรถไฟชินจูกุ มีคนใช้บริการวันละ 2 ล้านคน


 


ใครที่เคยดู Lost in Translation นำแสดงโดยแดน แอ็คครอยด์  กำกับโดยโซเฟีย คอปโปลา   ลูกสาวของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา คงจำไดโนเสาร์ตัวใหญ่และฝูงช้างที่เดินผ่านจอฉายหนังบนตึกสูงได้  ภาพนี้เห็นได้จากบริเวณหน้าสถานีรถไฟชิบูยา  ผมไปยืนดูจอหนังขนาดยักษ์ 3 จอนั้นด้วยความงุนงง  ระหว่างนั้นคลื่นมนุษย์จำนวนมหาศาลเดินเข้าเดินออกสถานีรถไฟและข้ามถนนกันอย่างสนุกสนาน


 


โดยรวมๆ ผมสนุกกับภาพที่เห็นมาก


 


แต่ก็รู้สึกด้วยว่า นี่คือสังคมที่อลหม่านอย่างยิ่ง บริโภคนิยมอย่างยิ่ง วัตถุนิยมอย่างยิ่ง  นี่คือสิ่งที่เรียกกันว่า chaos  ผีเสื้อตัวเดียวกระพือปีกแถวนี้น่าจะทำให้ผู้คนเหยียบกันตายได้โดยง่าย     แต่เท่าที่เห็นคืนนั้นไม่มีผีเสื้อสักตัว  เดาว่าแข็งตายเพราะอากาศไปก่อนแล้ว  ความหนาวเย็นและบรรยากาศก่อนคริสตมาสทำให้ทุกคนที่เห็นดูยิ้มแย้มแจ่มใสสดชื่นกันถ้วนหน้า


 


คำถามคือทั้งหมดนี้มั่นคงเพียงใด     ตึกที่สูงขึ้นเสียดฟ้าพร้อมจอหนังไฮเทคฉายภาพตระการตานั้นมั่นคงเพียงใด   พื้นดินที่คนนับล้านเดินช็อปปิ้งกันอยู่แข็งแรงเพียงใด  ตึกสูงและพื้นดินเป็นรูปธรรมที่ผมมองเห็น  ยังมีส่วนที่ผมมองไม่เห็น เช่น เงินในกระเป๋าแต่ละคนมีมากเพียงใด  เศรษฐกิจแบบนี้จะอยู่ได้นานเท่าใด


 


ผมไม่ทราบตื้นลึกหนาบางของสังคมญี่ปุ่นหรอกครับ  เท่าที่อ่านหนังสือพิมพ์ Japan Time ในโรงแรมที่พัก 5 วัน ก็พบบทความที่ว่าด้วยอัตราการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นที่กำลังสูงขึ้น     จำนวนคดีอาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีฆาตกรรมเด็กๆ เพิ่มมากขึ้น  รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังแก้ปัญหาเรื่องตึกสูงจำนวนหนึ่งสร้างต่ำกว่ามาตรฐานไม่สามารถรองรับแผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์ได้  กรณีคอร์รัปชั่นก็มีให้อ่านเช่นกัน


 


ผมไม่ทราบว่าผู้คนนับล้านที่ชินจูกุ  กินซ่า  รปปงงิ   และชิบูยาเหล่านั้นมั่นคงเพียงใด  พอๆ กับไม่ทราบว่าผู้คนที่กำลังช้อปปิ้งอยู่ที่สยามสแควร์  สยามดิสคัฟเวอรี่  และสยามพารากอนมีความมั่นคงเพียงใด


 


ท่ามกลางความสับสนอลหม่านที่เห็น  ผมภาวนาให้แต่ละคนโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นควรมีความผูกพันกับอะไรบางอย่างอยู่บ้าง และความผูกพันนั้นควรแข็งแรงมากพอที่จะรับมือกับเหตุการณ์คาดไม่ถึงยามที่ทุกอย่างล่มสลาย คือ  ตึกถล่ม  พื้นถล่ม  หรือเศรษฐกิจถล่ม


 


ความผูกพันที่ว่าคือ สายสัมพันธ์ที่มีต่อคุณพ่อคุณแม่   ต่อผี   และต่อศาสนา   ทั้งสามประการนี้จะเป็นฐานทางจริยธรรมที่แข็งแรงช่วยให้เด็กๆ มั่นคงรอบด้าน


 


สายสัมพันธ์ที่มีต่อคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยนำเด็กกลับบ้าน  ช็อปปิ้งเหนื่อยแล้วก็ให้รู้จักกลับบ้าน


สายสัมพันธ์ที่มีต่อผี  จะช่วยให้เด็กๆ ไม่ทำชั่ว  แม้ว่าจะไม่มีคนมองเห็น


สายสัมพันธ์ที่มีต่อศาสนา จะช่วยให้เด็กๆ มีศรัทธาและความเข้มแข็งอยู่เสมอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงเวลาทุกอย่างถล่มลง


 


ความผูกพันหรือสายสัมพันธ์ที่มีต่อคุณพ่อคุณแม่  ผี  และศาสนา ทั้งสามนี้ที่แท้แล้วเป็นเรื่องเดียวกัน เวลาวิกฤตที่เด็กๆ สามารถสร้างสายสัมพันธ์เหล่านี้ให้แข็งแรงได้คือประมาณก่อนสามขวบเท่านั้นเอง


 


ถึงตรงนี้ต้องขอออกตัวว่าสำหรับเด็กที่ไม่มีพ่อไม่มีแม่นั้น  ขอผู้ใหญ่สักคนก็ทดแทนได้   มิใช่ว่าครอบครัวในอุดมคติต้องมีพ่อและแม่เท่านั้น  ครอบครัวที่ไม่มีพ่อไม่มีแม่ก็สามารถเป็นครอบครัวที่แข็งแรงได้เช่นกัน


 


สายสัมพันธ์สร้างกันอย่างไร  โปรดติดตามตอนต่อไป


                       


                       

กลับหน้าแรกประชาไท