Skip to main content

"เสียง...คนหลังป้อมมหากาฬ" ฉบับที่ 11

คอลัมน์/ชุมชน

ลิเก "พระยาเพชร" ป้อมมหากาฬ ตำนานกำเนิดลิเกในประเทศไทย ลิเก หรือ ยี่เก อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ทุกวันนี้ มีต้นกำเนิดที่กรุงเทพฯ ช่วงเวลาปลายแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ราว พ.ศ.๒๔๔๐ และมีแหล่งกำเนิดสำคัญอยู่ตรอกพระยาเพชร สมัยนั้นเรียก
"วิกพระยาเพชร" ปัจจุบันคือบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ริมคลองโอ่งอ่างเชื่อมต่อกับคลองมหานาค ตรงข้ามวัดราชนัดดาและวัดเทพธิดาราม


 


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จทอดพระเนตรลิเกที่ "วิกพระยาเพชร" ของพระยาเพชรปาณี นามเดิม ตรี ขุนนางข้าราชการกระทรวงวังในสมัยนั้น แล้วมีลายพระหัตถ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ เล่าถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือชุดสาส์นสมเด็จ ว่า


 


เมื่อพระยาเพชรปาณี (ตรี) ตั้งโรงเล่นยี่เกให้คนดูอยู่ที่บ้านวัดราชนัดดา แกเชิญหม่อมฉันไปดูครั้ง ๑ และมานั่งอยู่ด้วยตลอดเวลาเล่น หม่อมฉันมีโอกาสจึงถามความสงสัยบางอย่างในกระบวนการเล่นยี่เก...


 


พระยาเพชรปาณี (ตรี) มีบ้านเรือนครองครัวอยู่ชานกำแพงพระนคร นอกกำแพงเมืองกรุงเทพฯ ตรงป้อมมหากาฬ หน้าวัดราชนัดดา (สร้างสมัยรัชกาลที่ ๓) เรียกกันต่อมาว่า ตรอกพระยาเพชร  พระยาเพชรเป็นชาวปี่พาทย์โขนละคร จึงคลุกคลีในวงการเหล่านี้ ขณะนั้นมีวิกละคร ของผู้ดีอยู่วังท่าเตียนของเจ้าคุณมหินทรฯ เลยคิดการละเล่นของสามัญชนชาวบ้านขึ้นมาให้ "แม่ยก" ดูบ้าง คือ ลิเก ที่ได้แบบจากดิเกร์ของแขกมลายูกับละครนอกของเก่าผสมเข้าด้วยกันเล่นประจำที่บ้านตรอกพระยาเพชร เลยเป็นที่รู้จักกันว่า วิกพระยาเพชร เป็นวิกลิเกแห่งแรกของกรุงสยาม เริ่มมีขึ้นราว พ.ศ.๒๔๔๐ ปลายแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ แล้วเป็นแบบแผนให้ลิเกสืบจนปัจจุบัน


 


คุณค่าและความเป็นมาของลิเก "พระยาเพชร" จึงเป็นสิ่งที่ชุมชนป้อมมหากาฬจะทำการสืบค้น ดำรงรักษาและต่อยอดคุณค่าแห่งศิลปะคู่กรุงรัตนโกสินทร์ให้สืบต่อไป สมดังบทกวีลิเก ที่ศิลปินแห่งชาติ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้ขับลำนำไว้ในงานเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘


 


"...ธรรมดาสามัญอยู่ครันครบ                                  ทั้งสามภพ สามภูติมาอุ้มสม


เป็นความจริง ความฝันอันเกลียวกลม                         ให้อุดมรมณีย์กับชีวิต


สมมุตินามทำนองตามท้องเรื่อง                                สมมุติเมืองมิ่งฟ้าประกาศิต


ตัวตลกต่างใกล้ไปเคลื่อนชิด                                  เนรมิตให้เห็นเป็นไปเอง


บทเพลงเชือดเปิดฉากต้องปากเปล่า                          ปี่พาทย์กราวเกรียวรับกระฉับกระเฉง


ข้างคนดูโจษจันกันครื้นเครง                                   เสนาะเพลงพาทีร่ายลีลา


ข้างผู้ร้าย นายโรงโกล่งคอร้อง                                 จะปกป้องพลพรรคถึงหนักหนา 


ฝ่ายพระเอกเป็นไฉนไม่ออกมา                                ให้นางเอกโหยหาโศกาดูร


ลิเกเล่นเป็นคติช่วยชี้ช่อง                                        ทุกสิ่งต้องเกิดดับล้วนลับสูญ


ยิ่งคนดูชูชมสุขสมบูรณ์                                          ยิ่งเกื้อกูลลิเกให้ไม่ลาโรง


ลิเกเล่นเป็นคติช่วยชี้ช่อง                                    ทุกสิ่งต้องเกิดดับล้วนลับสูญ


 ยิ่งคนดูนิยมสุขสมบูรณ์                                      ยิ่งเกื้อกูลลิเกให้ไม่ลาโรง"


 


 


ร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้และแสดงความคิดเห็นได้ที่ : pom_mahakan@yahoo.com


 


                                                                                                                     

กลับหน้าแรกประชาไท