Skip to main content

(พลัง) 3 : พลังใจ พลังพลเมือง สร้างพลังงาน

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


แฟนๆ ประชาไทครับ ผมทิ้งช่วงการเขียนลงประชาไทไปนาน ๒๐ วัน เพราะมัวยุ่งอยู่กับการรวมบทความเป็นหนังสือใหม่


 


ผมตั้งชื่อหนังสือ ตามชื่อบทความนี้  และเนื้อหาต่อไปนี้จะเป็นบทนำในหนังสือครับ  ผมนำมาลงในที่นี้ ไม่ใช่แบบ "ขอไปที" แต่เพราะผมคิดว่ามันมีสาระอยู่ในตัวเอง  จึงขอนำมาแลกเปลี่ยนกับชาวประชาไทก่อน  คาดว่าต้นปีหน้าคงจะได้เห็นหนังสือนี้วางแผง และขอโอกาสสวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ


 


บทนำมีดังนี้


 


ในปี ๒๕๔๘ คาดว่าคนไทยทั้งประเทศได้จ่ายเงินไปกับเรื่องพลังงานประมาณ ๑ ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ  ๑๖% ของรายได้ประชาชาติ ซึ่ง ๘๘% ของเงินจำนวนนี้เป็นค่าน้ำมัน (๕๖%) และค่าไฟฟ้า (๓๒%) เพียงสองอย่างเท่านั้น


 


ถ้าเราแบ่งรายจ่ายนี้ออกเป็น ๖ หมวด ให้มากกว่าที่เราเคยท่องจำเรื่องปัจจัยสี่มา ๒ หมวด คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค พลังงาน และค่าโทรศัพท์  ผมไม่แน่ใจว่า ค่าใช้จ่ายหมวดใดจะมีค่ากว่ากันและสูงที่สุด


 


ตัวเลขที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นค่าเฉลี่ยของคนทั้งประเทศ แต่จากการสำรวจโดยชาวบ้านในชนบทที่อยู่ในเครือข่ายพลังงานทางเลือกในจังหวัดสุรินทร์พบว่า รายจ่ายด้านพลังงานของพวกเขาสูงถึงเกือบ ๔๐% ของจ่ายทั้งหมด นั่นคือรายจ่ายเรื่องพลังงานสูงที่สุด


 


อนึ่ง โปรดอย่าลืมนะครับ ราคาสินค้าที่เราซื้อทุกชนิด ตั้งแต่เป็นข้าวสารสักถัง ข้าวแกงสักจาน ตัดผมสักครั้ง ไปจนถึงบัตรเติมเงินค่าโทรศัพท์ ล้วนแต่ได้รวมเอาค่าขนส่ง  ค่าไฟฟ้าในการสีข้าว หุงข้าว อันหมายถึงต้นทุนด้านพลังงานเข้าไปด้วยแล้ว


 


ดังนั้น ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของเราจึงมีสัดส่วนของรายจ่ายมากกว่าที่เราเคยคิดเยอะเลยครั  ผมเข้าใจว่าถ้าคิดอย่างนี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานน่าจะเป็นหมวดที่มีสัดส่วนที่มากที่สุดในหมู่ชนชั้นกลางเสียด้วยซ้ำไป สำหรับในกลุ่มพวกเศรษฐีเราอย่าไปห่วงเขาเลยนะ


 


เมื่อค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมียอดสูงถึงขนาดนี้ จึงมีคำถามที่น่าสนใจ ๔ - ๕ ข้อ ต่อไปนี้คือ  (๑) ใครเป็นผู้ประกอบการกิจการพลังงาน (๒) กิจการเหล่านี้เป็นกิจการผูกขาดมากน้อยขนาดไหน  (๓) คนในชนบทและคนชั้นกลางในเมืองมีโอกาสที่จะหาแหล่งพลังงานชนิดใหม่ที่ทำให้อำนาจผูกขาดเบาบางลงได้บ้างหรือไม่  (๔) พลังงานชนิดใหม่มีส่วนช่วยในการลดปัญหาความยากจนซึ่งเป็นปัญหาหลักของประเทศเราได้ไหม  และ (๕) พลังงานชนิดใหม่นี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลกได้หรือไม่


 


ผมเองเริ่มสนใจเรื่องพลังงานเมื่อประมาณ ๘-๙ ปีที่แล้ว เพราะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย มาขอคำปรึกษา  ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งในขณะนั้นมหาวิทยาลัยของผมได้ชูคำขวัญว่า "ชี้นำสังคม สะสมความรู้"  ด้วยเหตุที่ผมร่ำเรียนมาทางคณิตศาสตร์  เรียนตามตรงว่าในตอนนั้น ผมแทบจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพลังงานเลยไม่ว่าจะเป็นเรื่องก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า ตลอดจนนโยบายพลังงานของประเทศ


 


แต่ด้วยกระบวนการเรียนรู้  ที่เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มกันของนักวิชาการในนาม "กลุ่มศึกษาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สงขลา" การเชิญผู้รู้มาบรรยาย การถกเถียงแลกเปลี่ยนใน "วิทยาลัยวันศุกร์"  และเวทีอื่นๆ  มีการสืบค้นข้อมูลจากห้องสมุด และอินเตอร์เน็ต รวมทั้งการได้ร่วมประชุมเรื่องพลังงานหมุนเวียนที่เยอรมนี (Renewable Energies 2004) และกรุงปักกิ่ง (Birec 2005)  ทำให้ผมมีความรู้เพิ่มขึ้นและได้ "สะสม" ไว้ระดับหนึ่ง


 


ด้วย "พลังใจ" ที่จะอยากจะเห็นบ้านเมืองของเราพัฒนาไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ (ผมหวังอย่างนี้จริงๆ ครับ) ผมจึงได้ทุ่มเทกับหน้าที่หลักดังที่ปัญญาชนนามกระเดื่อง คือ ศาสตราจารย์นอม ชอมสกี (แห่ง M.I.T. สหรัฐอเมริกา) กล่าวว่า "ปัญญาชนมีหน้าที่สองอย่างคือพูดความจริงและชี้ให้เห็นการโกหก"   


 


ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทความลงสื่อหนังสือพิมพ์มากกว่า ๑๐๐ ชิ้น เขียนหนังสือก็หลายเล่ม   ด้วยความหวังว่า ข้อมูลและความคิดเห็นเหล่านี้จะได้มีส่วนช่วยให้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในหมู่ประชาสังคมต่าง ๆ โดยหวังอยู่ลึก ๆ ว่า เพื่อเป็นแรงน้อย ๆ แรงหนึ่งที่ช่วยเสริมให้เกิด "พลังพลเมือง" ที่ตื่นรู้และรู้เท่าทันกับโครงการและนโยบายของรัฐที่มักจะฉ้อฉล หมกเม็ด และโกหกเสียเป็นส่วนใหญ่


 


ผมตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า "พลังยกกำลังสาม" หรือ (พลัง) 3 ครับ


 


ขณะนี้ผมได้เรียนต่อท่านผู้อ่านไปแล้ว ๒ พลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังของพลเมืองนั้น ผมเองมีความศรัทธาและเชื่อมั่นในกระบวนการที่ทำให้เกิดพลังพลเมืองมาก


 


ก่อนที่จะกล่าวถึงพลังที่สาม ผมขออนุญาตอ้างถึงคำพูดของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส (Claude Adrien Helvetius) ซึ่งได้กล่าวไว้เมื่อเกือบ ๓๐๐ ปีมาแล้ว แต่ยังคงทันสมัยอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ว่า


"การปิดกั้นหนังสือพิมพ์ คือการดูถูกเหยียดหยามคนทั้งชาติ   การสั่งห้ามคนในชาติอ่านหนังสือบางเล่มที่จุดประกายทางปัญญา  คือการประกาศว่าให้คนในชาตินั้นจงเป็นคนโง่และจงเป็นทาสตลอดไป "  


 


แม้ว่าตัวผมเองได้สนใจศึกษาเรื่องพลังงานมานานถึง ๘-๙ ปี แต่ผมก็วนเวียนอยู่กับการวิเคราะห์เพื่อ "จับโกหก" โครงการของรัฐตามกรอบความคิดเดิมๆ ที่ภาครัฐได้วางไว้เป็นส่วนใหญ่  ผมเพิ่งมาทราบหลังจากกลับมาจากการดูงานด้านพลังงานหมุนเวียนว่า  กุญแจสำคัญที่สามารถทำให้คนในชาติมีอิสระมากขึ้นจากการตกเป็น "ทาสด้านพลังงาน" มานาน  ก็คือ การมีกฎหมายที่ให้สิทธิ์กับคนในชาติทุกคน ให้สามารถส่งพลังงานไฟฟ้าที่ตนผลิตได้จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น กังหันลม แผงเซลล์แสงอาทิตย์ เข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้ารวมได้โดยอัตโนมัติ  คล้ายๆ กับการให้สิทธิ์กับผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ทุกคนให้สามารถนำรถยนต์ของตนออกสู่ถนนสาธารณะได้


 


ถ้าเราไม่มีกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ เราจะติดหนึบอยู่ในอุ้งมืออำมหิตของพ่อค้าผูกขาดด้านพลังงานเพียงไม่กี่คนไปตลอด เช่น ปตท. จำกัด และ บริษัท กฟผ. จำกัด ในอนาคต (ถ้าคนไทยต้านไม่อยู่)   ในเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำมันซึ่งมีสัดส่วนใหญ่โตที่สุดของหมวดพลังงานนั้น เราไม่สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ หากเราไม่ปรับปรุงโครงสร้างภาษีน้ำมันเสียใหม่ หรือหากเราไม่นำมิติทางการเมืองเข้ามาจัดการ เช่น การชดเชยราคา โครงการไบโอดีเซลที่พระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ก็ไม่สามารถเติบโตได้ หากนโยบายพลังงานของประเทศยังถูกกำหนดโดยพ่อค้าน้ำมันปิโตรเลียมเพียงไม่กี่คน  เรื่องนี้ประเทศเยอรมนี และประเทศอังกฤษ จัดการได้ดีมาก


 


ในด้าน "การทำสงครามกับความยากจน" ให้เสร็จภายใน ๖ ปีของรัฐบาลทักษิณฯ นั้น   นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักบอกตรงกันว่า  ไม่สามารถเป็นความจริงได้เลย  หากปราศจากนโยบายของรัฐที่ต้องออกมาเป็นกฎหมาย เขาเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า "Feed-in Law" ครับ  มันจะเป็นจริงได้อย่างไรในเมื่อหมวดรายจ่ายที่สูงที่สุดของพวกเขาถูกชักใยโดยพ่อค้าผูกขาดไม่กี่คน


 


ผมเองก็คงจะเหมือนกับคนไทยส่วนมาก คือนอกจากถูกภาครัฐปิดหูปิดตามาตลอดแล้ว ภาครัฐยังพยายามโฆษณาปลูกฝังความคิดให้เราหลงผิดต่อไป เช่น  "ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานสะอาด", "การนำรัฐวิสาหกิจ (ที่มีกำไร) เข้าตลาดหลักทรัพย์ทำให้กิจการนั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและตรวจสอบได้", "น้ำมันแพงเราก็ต้องหันไปใช้ก๊าซเอ็นจีวี", "ประเทศไทยเรามีลมไม่แรงพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้", "เรื่องพลังงานเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น คนอื่นอย่ามาทำเป็นรู้ดี"  เป็นต้น


 


เรื่องการร่วมกันผลักดันนโยบายพลังงานของประชาชนที่กล่าวมานี้ เป็นภาระของพลเมืองที่ตื่นรู้ทุกท่าน  นี่คือความหมายในพลังที่สามของผมครับ  สรุปก็คือ (พลัง) 3 จึงหมายถึง พลังใจ พลังพลเมือง ช่วยกันสร้างนโยบายพลังงานครับ


 


บทความที่ผมนำมารวมเล่มในที่นี้ เกือบทั้งหมดได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และ ผู้จัดการรายวัน ในช่วงปี ๒๕๔๗ ถึง ๒๕๔๘ เท่านั้น  เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้คุ้ยเคยกับเนื้อหาและศัพท์แสงบางตัว ผมจึงได้จัดเรียงเนื้อหาใหม่ตามสารบัญ ไม่ใช่เรียงก่อนหลังตามวันเวลาที่เขียน


 


หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะความกรุณาจากมูลนิธิเฮนริกเบอร์นที่ได้ให้ทุนสนับสนุนการจัดพิมพ์ และการเดินทางไปร่วมประชุมที่กรุงบอนน์ เยอรมนี เมื่อปีที่แล้ว  ขอขอบพระคุณอย่างสูงไว้ในที่นี้  นอกจากนี้ต้องขอขอบคุณ WWF International ที่กรุณาสนับสนุนให้ผมไปร่วมประชุมที่กรุงปักกิ่งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปีนี้


 


ขอขอบคุณ สวรส. (ภาคใต้) ที่สนับสนุน "โครงการจัดการความรู้ด้านพลังงาน" ขอบคุณกลุ่มพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต กลุ่มพลังไท , Thai Friend Forum มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และวิทยาลัยวันศุกร์ ที่ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนภาคประชาสังคมทั่วประเทศ ที่ร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะมาตลอด


 


มันต้องปรากฏเป็นจริงขึ้นสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน ขอให้มีพลังยกกำลังสามครับ


 


ประสาท มีแต้ม


ช่วงน้ำท่วม ๘ จังหวัดภาคใต้


ธันวาคม ๒๕๔๘


 

กลับหน้าแรกประชาไท