Skip to main content

ระงับความรุนแรงด้วยสันติวิธี

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น   ผู้คนมักอยากรู้ว่า "ใครทำ ?"   แต่ไม่ค่อยสนใจถามว่า "ทำไมเขาจึงทำ?"  ทั้ง ๆ ที่คำถามข้อหลังนั้นสำคัญกว่าคำถามข้อแรกด้วยซ้ำ โดยเฉพาะกรณีที่เป็นความรุนแรงซ้ำซาก เช่น วัยรุ่นตีกัน  การปล้นจี้  รวมไปถึงการก่อความไม่สงบในภาคใต้


 


คำถามนั้นมีอิทธิพลต่อคำตอบหรือวิธีแก้ไขปัญหา  เพราะหากเราถามว่า "ใครทำ ?"


ผลที่ตามมาก็คือเรามักจะแก้ปัญหาด้วยการจัดการกับตัวบุคคล เช่น จับเขาเข้าคุก หรือไม่ก็ขจัดเขาออกไปจากโลกนี้  ถ้าไม่ด้วยการประหาร ก็ด้วยการฆ่าตัดตอน


 


แต่ถ้าเราถามว่า "ทำไมเขาจึงทำ?"   คำตอบที่ได้ทำให้เราหันมาแก้ปัญหาที่เงื่อนไขหรือเหตุปัจจัยที่เป็นรากเหง้าของปัญหา ซึ่งมักได้แก่สภาพสังคม เศรษฐกิจ  และการเมือง  คำถามดังกล่าวช่วยให้เราพุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคลน้อยลง  แต่เน้นที่การจัดการกับเหตุปัจจัยที่อยู่เหนือหรือแวดล้อมตัวบุคคล


 


ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรหนึ่งที่เล่าถึงเมืองซึ่งประสบปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุม  พระเจ้าแผ่นดินนั้นเดิมคิดจะแก้ปัญหานี้ด้วยการจับโจรผู้ร้ายมาประหาร จองจำ ปรับไหม หาไม่ก็เนรเทศ แต่พราหมณ์ปุโรหิตทัดทานว่าวิธีการดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะจะต้องมีโจรผู้ร้ายที่หลุดรอดมาได้และก่อปัญหาต่อไปไม่จบสิ้น  วิธีการที่พราหมณ์เสนอก็คือให้พระเจ้าแผ่นดินเพิ่มพันธุ์ข้าวและข้าวสารแก่เกษตรกรผู้ขยันขันแข็ง   เพิ่มเงินเป็นทุนแก่พ่อค้าผู้ขยันขันแข็ง  และแจกเบี้ยหวัดและเงินเดือนแก่ข้าราชการผู้ขยันขันแข็ง  เมื่อพระเจ้าแผ่นดินปฏิบัติตาม ปรากฏว่าไม่นานโจรผู้ร้ายก็หมดไป   ผู้คนมีความสุข  พระไตรปิฎกบรรยายว่า แม้กระทั่งเด็ก ๆ ก็ฟ้อนอยู่บนอกแม่อย่างบันเทิงใจ  ชาวเมืองไม่ต้องปิดประตูบ้านอีกต่อไป


 


ในทัศนะของพราหมณ์ผู้นี้   ปัญหาโจรผู้ร้ายนั้นแก้ไม่ได้ด้วยการถามว่า "ใครทำ?" แต่ต้องเริ่มต้นจากคำถามว่า "ทำไมเขาจึงทำ ?"  จากจุดนี้เองจึงไปสู่การแก้ปัญหาด้วยการกระจายโภคทรัพย์ให้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม  กระทั่งความยากจนหมดไป ความอุดมสมบูรณ์บังเกิดขึ้น  เมื่อนั้นโจรผู้ร้ายก็หมดไปเอง  กล่าวอีกนัยหนึ่งวิธีการของพราหมณ์ผู้นี้ก็คือการแก้ปัญหาที่รากเหง้าอันได้แก่สภาพเศรษฐกิจของเมืองนั้นนั่นเอง


 


อย่างไรก็ตาม วิธีการของพราหมณ์ผู้นี้ย่อมไม่ใช่สูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาอาชญากรรมหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในที่อื่น ๆ  เพราะแต่ละแห่งก็มีปัญหาและเหตุปัจจัยแตกต่างกันไป แต่ประเด็นสำคัญก็คือ การแก้ปัญหาความรุนแรงให้หมดสิ้นไปนั้น ไม่ควรเน้นที่การกำจัดหรือจัดการกับตัวบุคคล  หากควรให้ความสำคัญกับเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเป็นหลัก


 


ความรุนแรงจากวัยรุ่นเป็นปัญหาหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกา   มีหลายเมืองแทนที่จะเพิ่มกำลังตำรวจให้มากขึ้น  กลับใช้วิธีที่นุ่มนวลและลึกซึ้งกว่านั้น  ได้แก่การสร้างโอกาสหรือเปิดพื้นที่ให้เยาวชนแสดงความสามารถเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งจะช่วยให้เขามีความเคารพตนเองมากขึ้น โอกาสดังกล่าวมิใช่แค่โอกาสในทางอาชีพการงานเท่านั้น แต่รวมถึงโอกาสในทางการกีฬาด้วย  เช่นเมืองมิลวอคกีได้ริเริ่ม "โครงการบาสเกตบอลเที่ยงคืน" ปรากฏว่าสามารถลดความรุนแรงในวัยรุ่นได้ถึงร้อยละ ๓๐  ปัจจุบันมีร่วมร้อยเมืองที่จัดทำโครงการดังกล่าว


 


นอกจากนั้นอีกหลายเมืองทั่วประเทศยังได้จัด "ชมรมการบ้าน" เพื่อให้คนหนุ่มสาวมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์หลังเลิกเรียน   บางเมืองในรัฐฟลอริดาสามารถลดความรุนแรงที่เกิดจากปืนได้ถึงร้อยละ ๗๐ หลังจากจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น


 


โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเพราะจับประเด็นได้ว่าความรุนแรงในวัยรุ่นนั้นเกิดจากความต้องการแสดงตัวตนให้เป็นที่ยอมรับของผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มของตน  เมื่อไม่สามารถแสดงตัวตนให้ออกมาในทางบวกได้ ก็หันไปหาวิธีแสดงออกในทางลบ เช่น ก่อความรุนแรง  แต่หากมีพื้นที่ให้เขาพัฒนาและแสดงออกตัวตนในทางบวก  จนเป็นที่ยอมรับของสังคม  แนวโน้มที่จะก่อความรุนแรงก็ลดลง โดยไม่จำต้องจับคนเหล่านั้นเข้าคุกหรือทำ "วิสามัญฆาตกรรม" อย่างที่นิยมในบางประเทศ


 


 "พื้นที่" ที่จะให้เขาแสดงความสามารถหรือตัวตนออกมานั้น จะมีความหมายอย่างแท้จริงต่อเมื่อเปิดโอกาสให้เขามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ตั้งแต่การร่วมคิดและร่วมตัดสินใจ  มีหลายโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาพบว่า วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน มิใช่การเพิ่มจำนวนตำรวจหรือการติดตั้งเครื่องตรวจจับโลหะ แต่ได้แก่การนำนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้น  ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ใหญ่หรือฝ่ายบริหารเป็นผู้คิดและสั่งให้เด็กทำตามความคิดของตนเท่านั้น  ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกาจึงมีวัยรุ่นเป็นจำนวนมากได้รับเชิญเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารขององค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานแก้ปัญหาวัยรุ่น


 


นอกจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแล้ว   ความร่วมมือของฝ่ายที่สามหรือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบก็มีความสำคัญเช่นกันในการป้องกันความรุนแรง  บ่อยครั้งสามารถทำได้ดีกว่าลำพังเจ้าหน้าที่รัฐด้วยซ้ำ  เมื่อชาวฮินดูหัวรุนแรงบุกทำลายมัสยิดในเมืองอโยธยาในปี ๒๕๓๕ นั้น จลาจลระหว่างศาสนาได้เกิดขึ้นตามมาทั่วประเทศอินเดีย  เหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้นแทบทุกหนแห่งที่มีผู้นับถือสองศาสนาอยู่ด้วยกัน   แต่เมืองบิวานดีกลับสงบสุข ทั้ง ๆ ที่ประชากร ๒ ใน ๓ เป็นมุสลิม  ขณะที่เมืองบอมเบย์ซึ่งอยู่ไม่ไกลกลับเต็มไปด้วยความรุนแรง


 


เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือ เมืองบิวานดีมีการจัดตั้งคณะกรรมการสันติสุขในท้องที่ต่าง ๆ ถึง ๗๐ แห่งทั่วเมือง โดยมีคนทุกระดับและทุกอาชีพมาเป็นกรรมการ ไม่เว้นแม้แต่คนขายของข้างถนน    คณะกรรมการดังกล่าวมีการประชุมกับตำรวจทุกสัปดาห์ เพื่อพูดคุยถึงปัญหาและการแก้ไขในชุมชน  ทำให้ความต้องการของกลุ่มชนต่างศาสนาและต่างชาติพันธุ์ได้รับการตอบสนอง  ขณะเดียวกันกรรมการสันติสุขก็ทำหน้าที่เชื่อมประสานกลุ่มคนต่างศาสนาและต่างชาติพันธุ์ด้วย


 


เมื่อเกิดจลาจลทั่วประเทศ คณะกรรมการสันติสุขดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาความหวาดระแวงและความโกรธของผู้คน  รวมทั้งระงับข่าวลือที่ยั่วยุ  อีกทั้งยังให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ว่าใครเป็นผู้ยุยงความรุนแรงและสะสมอาวุธ  เมื่อตำรวจถูกโจมตี  แทนที่จะยิงตอบโต้อย่างที่เกิดขึ้นในบอมเบย์ ซึ่งเท่ากับยั่วยุให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น   ตำรวจกลับขอความช่วยเหลือจากชุมชน ซึ่งทำให้ตามจับผู้ก่อเหตุได้   การร่วมมือระหว่างตำรวจกับชุมชนต่างศาสนาต่างชาติพันธุ์ได้เป็นปราการสำคัญที่ป้องกันเพลิงแห่งความรุนแรงและความโกรธเกลียด ไม่ให้ลุกลามเข้ามาทำลายสันติสุขและความสามัคคีในเมืองนี้ได้ 


 


เมืองไทยสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากกรณีต่างๆ ข้างต้น โดยเฉพาะความสำเร็จของเมืองบิวานดี  ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีโอกาสที่จะผนึกกำลังกันป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยรวมกันเป็นคณะกรรมการสันติสุขในทุกท้องที่และทุกระดับ โดยเริ่มจากระดับหมู่บ้าน  อันที่จริงนี้เป็นข้อเสนอ ๑ ใน ๑๔ ประการของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐเท่าที่ควร  แม้กระนั้นก็ยังไม่สายที่จะริเริ่มขึ้นมา  จริงอยู่ความระแวงและความเจ็บปวดได้เกิดขึ้นมากแล้วในหมู่ประชาชน แต่ต้นทุนแห่งสายสัมพันธ์และความไว้วางใจระหว่างชนต่างศาสนาต่างชาติพันธุ์ก็ยังมีอยู่ไม่น้อย  จะว่าไปแล้วยังมากกว่าเมืองบิวานดีซึ่งเคยมีการจลาจลระหว่างศาสนาถึงขั้นล้มตายกันหลายร้อยคนในปี ๒๕๑๓ และ ๒๕๓๑  แต่ไม่กี่ปีต่อมาก็ยังสามารถฟื้นสายสัมพันธ์จนรักษาความสงบไว้ได้ท่ามกลางเปลวเพลิงทั่วประเทศ


 


ความรุนแรงนั้นไม่อาจระงับได้ด้วยความรุนแรง  สันติวิธีที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมี "ส่วนร่วม" และ "ร่วมมือ" กันต่างหากที่จะสามารถป้องกันและระงับความรุนแรงได้ในที่สุด โดยสูญเสียน้อยที่สุดด้วย


 


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน โพสต์ทูเดย์ ธันวาคม ๒๕๔๘