Skip to main content

"เสียง...คนหลังป้อมมหากาฬ" ฉบับที่ 12

คอลัมน์/ชุมชน

หลังผ่านพ้นกิจกรรมหลายต่อหลายกิจกรรม ทั้งกิจกรรมที่พี่น้องจัดขึ้นกันเองภายในชุมชน กิจกรรมประสานเชื่อมโยงกับเครือข่าย พันธมิตร และกิจกรรมความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานภาคส่วนต่างๆ กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างมากในชุมชน ซึ่งพี่น้องชุมชนชาวป้อมได้มีส่วนร่วมทั้งในการคิดและดำเนินการ คนละไม้คนละมือ หยิบจับช่วยเหลือ ....ตลอดเวลา 13 ปีในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อจัดการที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ กิจกรรมสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่เพิ่มพูนทำให้ชุมชนมีความสมานสามัคคี สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง...เรามีเพื่อนฝูง พันธมิตรที่ร่วมทุกข์ สุข เรามีพี่น้องต่างชุมชนที่คบหา ช่วยเหลือ เรามีเด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่จากหลายสถาบันการศึกษาที่เข้ามาเรียนรู้ในห้องเรียนมีชีวิตแห่งนี้  และเรามีความมุ่งหวัง ที่จะพัฒนา "ชุมชนป้อมมหากาฬ" ทั้งในแง่การฟื้นฟูประวัติศาสตร์  วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน เพื่อสร้างห้องเรียนมีชีวิตหลังป้อมมหากาฬที่เปิดต้อนรับผู้สนใจศึกษาหาความรู้ทุกคนๆ  


 


ด้วยเหตุนี้  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงานจากพื้นที่เรียนรู้ชุมชนอื่น จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากชุมชนต้นแบบ มาศึกษาเรียนรู้ ปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชุมชนของแต่ละชุมชน ซึ่งชุมชนป้อมมหากาฬก็ได้รับโอกาสอันดีนั้น เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘  มูลนิธิชุมชนไทได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนวัฒนธรรม "ชุมชนเก้าห้อง" จ.สุพรรณบุรี ชุมชนแห่งนี้เป็นห้องเรียนวัฒนธรรม ที่มีทั้งลิเก การด้นเพลงสด บ้านเรือนไม้โบราณ มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่น่าสนใจ โดยมุ่งหวังสร้างคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ให้รักษ์ถิ่นฐานบ้านเกิด ผ่านกิจกรรม "คืนสู่เหย้าชาวพี่น้องเก้าห้อง"


 


ตัวแทนพี่น้องชุมชนฯ ได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะ ความคิดเห็นต่างๆ ร่วมกันพี่น้องจากอีกหลายชุมชน ทั้งชุมชนเครือข่ายคูคลองบางบัว เครือข่ายคูคลองบางเขน พี่น้องชุมชนจากต่างจังหวัด จำนวนนับร้อยคนที่ร่วมวง หลายความคิดเห็น หลากประเด็นที่ได้เรียนรู้  ทั้งการจัดการกองทุน การจัดการกิจกรรม การจัดการสิ่งแวดล้อม การตั้งเป้าอนาคต ล้วนเป็นโจทย์สำคัญที่ตัวแทนพี่น้องชุมชนฯ จะนำมาแลกเปลี่ยนกับพี่น้องชุมชนฯ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางในการจัดการชุมชน เพราะเรามีเป้าหมายที่จะรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ในชุมชนให้คงอยู่สืบต่อไป "พิพิธภัณฑ์ลิเกพระยาเพชร : ศูนย์การเรียนรู้ ชุมชนป้อมมหากาฬ"


 


ร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นได้ที่ : pom_mahakan@yahoo.com