Skip to main content

ทำความเข้าใจเรื่อง " ทรัพย์สินทางปัญญา" กับการเจรจา เอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ

คอลัมน์/ชุมชน

ทำความเข้าใจเรื่อง " ทรัพย์สินทางปัญญา"  กับการเจรจา เอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ การเคลื่อนไหวของประชาชนต่อเวทีเจรจาที่เชียงใหม่ 9-13 มค.2549


 


เนื่องจากระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม 2549 จังหวัดเชียงใหม่จะมีเหตุการณ์สำคัญระดับประเทศเกิดขึ้นคือ การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับสหรัฐอเมริกา ในเรื่องเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA)  ซึ่งในครั้งนี้เป็นการเจรจากันรอบที่ 6 โดยรอบแรกรอบสอง เจรจากันที่อเมริกา  รอบสามที่พัทยา ประเทศไทย รอบสี่ที่ห้ากลับไปที่อเมริกา  ส่วนรอบหก มาทีไทยอีกครั้งโดยใช้เชียงใหม่เป็นสถานที่เจรจา  มีเกร็ดเล็กน้อย ก่อนรอบนี้ มีการนัดนอกรอบที่ลอนดอน อังกฤษ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา สรุปว่าทีมเจรจาของทั้งสองประเทศได้เจอกันมาแล้วอย่างเป็นทางการหกครั้ง ไม่เป็นทางการหนึ่งครั้ง 


 


การเจรจาแต่ละครั้งทั้งสองฝ่ายจะมีทีมเจรจาหลายทีม แยกไปตามเนื้อหาการเจรจา เช่น เรื่อง ภาคการเกษตร ภาคการบริการ สินค้าสิ่งทอ เรื่องกฎหมาย เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น


 


สิ่งที่เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เครือข่ายผู้ป่วย วิตกกังวลมากที่สุดตอนนี้คือเรื่อง "ทรัพย์สินทางปัญญา" เพราะมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนทั้งประเทศ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิตของประชาชนไทยเป็นอย่างสูง  โดยเฉพาะทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับเรื่อง "ยารักษาโรค"  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  เรามาทำความเข้าใจร่วมกันต่อไปว่า ทรัพย์สินทางปัญญา มีที่มาที่ไปอย่างไร จึงถือเป็นสินค้าหนึ่งที่สำคัญในการเจรจาค้าขายกัน


 


ทรัพย์สิน  หมายถึง วัตถุที่มีรูปร่าง และไม่มีรูปร่าง


ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง  ผลงานการสร้างสรรค์ทางปัญญาของบุคคล รวมทั้งการประดิษฐ์  การออกแบบ  เครื่องหมายการค้าและบริการ สิ่งบ่งชี้แหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ และการแสดงออกทางความคิด


ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสิทธิทางกฎหมาย ที่มีเหนือสิ่งที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ทางปัญญาของมนุษย์  ผู้ทรงสิทธิมีสิทธิที่จะกีดกันผู้อื่นจากการใช้ผลงานทางปัญญาที่ตนได้สร้างสรรค์ หรือพัฒนาขึ้น


 


ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา มี 2 ประเภท คือ  ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม  และลิขสิทธิ์


1. ทรัพย์สินทางอุสาหรรม เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับสินค้าทางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นทั้งความคิดในการประดิษฐ์ คิดค้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ซึ่งหมายถึง  กระบวนการหรือเทคนิคในการผลิตที่ได้ปรับปรุงหรือคิดค้นขึ้นมาใหม่  ผลิตภัณฑ์ที่เป็นองค์ประกอบและรูปร่างสวยงามของผลิตภัณฑ์  โดยแบ่งได้ดังนี้


            สิทธิบัตร  หมายถึงการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์  การออกแบบผลิตภัณฑ์  ซึ่งการประดิษฐ์หมายถึงความคิดสร้างสรรค์ ที่เกี่ยวกับองค์ประกอบ โครงสร้าง กลไกของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกรรมวิธีการผลิต หรือปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์  ส่วนการออกแบบผลิตภัณฑ์ คือการทำให้รูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์มีความสวยงาม ต่างไปจากเดิม


            เครื่องหมายการค้า หมายถึง  เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือ บริการ เช่น เป๊บซี่ ,โค้ก , บรีส , เป็นเครื่องหมายการค้า     การบินไทย , ธนาคารกสิกร เป็นเครื่องหมายบริการ  เชลล์ชวนชิม , แม่ช้อยนางรำ เป็นเครื่องหมายรับรอง  เป็นต้น


            ความลับทางการค้า หมายถึง ข้อมูลการค้าที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป และมีมูลค่าเชิงพาณิชย์เนื่องจากข้อมูลนั้นเป็นความลับ มีการดำเนินการเพื่อเก็บรักษาไว้


            สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หมายถึง ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียก หรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และบ่งบอกว่าสินค่านั้นเกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เช่น มีดอรัญญิก , ส้มบางมด , ผ้าไหมไทย , ไวน์ฝรั่งเศส  เป็นต้น


 


ลิขสิทธิ์ หมายถึง งานหรือความคิดสร้างสรรค์ ในสาขาวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม งานภาพยนตร์ หรืองานอื่นใดในแผนกวิทยาศาสตร์  รวมทั้งสิทธิข้างเคียง ที่หมายถึงการนำเอางานด้านลิขสิทธิ์ออกแสดง เช่นนักแสดง ผู้บันทึกเสียง หรือถ่ายทอดเสียงและภาพ ตัวอย่างของลิขสิทธิ์ เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์  , ฐานข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมไว้เพื่อใช้ประโยชน์ , นิยาย , เพลง เป็นต้น


 


 เป้าหมาย หรือเหตุผลของการคุ้มครองสิทธิบัตร  เพื่อให้สิทธิตอบแทนแก่ผู้ประดิษฐ์ / ออกแบบ เนื่องจากผู้ออกแบบได้ใช้สติปัญญา ความพยายาม รวมทั้งระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการประดิษฐ์  เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนในการคิดค้น ประดิษฐ์ สิ่งเหล่านั้น และเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการประดิษฐ์ คิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ โดยได้มีการกำหนดให้มีการเปิดเผยรายละเอียดนั้นๆจนสามารถนำไปศึกษา ค้นคว้า วิจัยเพื่อพัฒนาต่อไปได้  รวมทั้งเพื่อเป็นแรงจูงใจในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนจากต่างประเทศ


 


กรณี "ยารักษาโรค"   ควรมีสิทธิบัตรหรือไม่  ในปัจจุบันนี้ การที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกหรือดับเบิลยูทีโอ (WTO - World Trade Organisations)  ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันของประเทศสมาชิกว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" เป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่มีไว้เจรจาซื้อขายกันระหว่างประเทศองค์กรสมาชิก ภายใต้ความตกลงชื่อว่า "ทริปส์" (TRIPs - :Trade Related Aspects of  Intellectual Property Rights) หากกล่าวถึงลิขสิทธิ์เพลง ภาพยนตร์  โปรแกรมคอมพิวเตอร์  เหล่านี้พอเข้าใจได้ว่าผู้คิดค้นจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ และประชาชนทั่วไปที่ไม่มีกำลังซื้อเพียงพอก็ไม่สามารถได้ดูหนัง ฟังเพลง  ที่มีลิขสิทธิ์ราคาแพงได้  แต่แม้ไม่ได้บริโภคสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงประเทศไทยบริโภคหนัง เพลง ต่างชาติกันเป็นว่าเล่นด้วยราคาถูกแสนถูกของสินค้าก๊อบปี้ต่างๆ  โดยที่ทางเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์เป็นล้านๆเครื่องในบ้านเรา ต่างก็ใช้โปรแกรมวินโดว์ที่ก๊อบปี้ต่อๆกันมา โดยไม่เคยซื้อโปรแกรมที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์


 


เช่นเดียวกัน ยารักษาโรค ก็เป็นสินค้าประเภทหนึ่งภายใต้ความตกลงทริปส์  ถามว่าประชาชนไทยสามารถซื้อยาที่มีสิทธิบัตรได้ไหม ตอบว่ายากเช่นเดียวกับ ลิขสิทธิ์เพลง หนัง โปรแกรมคอมพิวเตอร์  แต่คนไทย(รวมถึงคนทั่วโลก)ไม่สามารถจะบริโภคยาปลอมได้ เพราะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทำให้ตายได้  ภายใต้ความตกลงทริปส์  ยาที่มีสิทธิบัตรได้รับการคุ้มครองให้มีสิทธิผูกขาดขายเพียงเจ้าเดียวได้ 20 ปี ระหว่างนี้ห้ามไม่ให้มีเจ้าอื่นผลิตแข่งขันในตลาดได้  ดังนั้นการให้ ยารักษาโรค ได้รับสิทธิผูกขาดยาว 20 ปีจึงส่งผลกระทบต่อชีวิตของมนุษยชาติ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยและประเทศยากจนข้นแค้นจำนวนมากในโลกนี้ ยาไม่ควรอยู่ภายใต้ระบบสิทธิบัตร เพื่อการค้า ควรมีกติกาที่จะทำให้คนจนได้เข้าถึงยาด้วย


 


ดังนั้น  ยารักษาโรค จึงไม่ควรอยู่ภายใต้กติกา การค้าโลก รัฐบาลไทยไม่ควรยอมให้การยกเอาสิทธิบัตรยา มาเป็นสินค้าเจรจาตกลงกัน ไม่ว่าการเจรจาแบบพหุพาคีแบบดับเบิลยูทีโอ หรือแบบทวิภาคีในเอฟทีเอ