Skip to main content

ฝันที่เป็นจริงของหนุ่มนักกล้ามไทยใหญ่

คอลัมน์/ชุมชน

 



โดย อานไตย ไคข่านฟ้า

 


 



 


 


 

 


คอลัมน์ตามรอยฝันตอนนี้ จะพาคุณไปตามรอยความฝันที่เป็นจริงของ ชายหนุ่มไทยใหญ่คนหนึ่ง ถึงแม้ว่าเขาจะเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจนและอยู่ในประเทศไทยในสถานะคนไร้สัญชาติ เพราะครอบครัวของเขาอพยพมาจากเมืองเชียงตุง ภาคตะวันออกของรัฐฉาน ประเทศพม่าเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่นทำตามความฝันจนได้เป็นแชมป์กีฬาเพาะกายระดับประเทศ และเป็นตัวแทนไปแข่งขันยังต่างประเทศ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยมากมาย จนในที่สุด เขาได้รับสัญชาติไทยที่รอคอยมานานและยังทำให้เพื่อนบ้านที่ไร้สัญชาติอีกร่วมห้าร้อยคนได้รับสัญชาติพร้อมกับเขาไปด้วย



ชายหนุ่มไทยใหญ่คนนี้มีชื่อว่า บุญธรรม ศรีบุญทอง หรือชื่อเรียกในหมู่คนไทยใหญ่ว่า จายหองคำ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2517 ที่บ้านเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของนายยอดกับนางนวล มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ชาย 6 คน หญิง 2 คน เขาเป็นคนที่ 5 เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจนและพ่อแม่มีลูกหลายคน ประกอบกับหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน เขาจึงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือดังเช่นเด็กทั่วๆ ไป และต้องออกจากบ้านไปหางานทำเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวตั้งแต่อายุ 13 ปี


 


เขาเริ่มต้นทำงานจากการเป็นลูกจ้างในร้านข้าวมันไก่แห่งหนึ่งในตัวเมืองจังหวัดเชียงราย เพื่อแลกกับเงินเดือนเพียง 2 -3 ร้อยบาท หลังจากทำได้ประมาณ 4 - 5 เดือนก็ลาออกมาหางานทำในจังหวัดเชียงใหม่ โดยทำงานหลายแห่งด้วยค่าแรงแลกกับหยาดเหงื่อแรงงานเพียงเดือนละ 300 บาท หลังจากนั้นประมาณปีเศษ ขณะนั้นตรงกับปี 2532 เขาได้ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหวังจะได้งานที่มีเงินเดือนมากกว่าเดิม โดยไปทำงานเป็นลูกจ้างโรงงานทำทองเหลืองมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมคือเดือนละ 600 บาท


โชคชะตาเริ่มนำพาเขามาสู่จุดพลิกผันครั้งใหญ่ในชีวิต ใครจะเชื่อว่ากิจกรรมยามว่างระหว่างกลุ่มเพื่อนในโรงงานแห่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เปลี่ยนชีวิตจากแรงงานเชื้อสายไทใหญ่ไร้สัญชาติ หาเช้ากินค่ำคนหนึ่ง กลายมาเป็นนักเพาะกายที่ประสบความสำเร็จด้วยตำแหน่งแชมป์เพาะกายของประเทศไทย ผู้ได้รับเสียงปรบมือแสดงความชื่นชมยินดีจากผู้คนมากมาย


 


วันหนึ่งเพื่อนร่วมโรงงานชักชวนให้ประลองงัดข้อในบรรดาเพื่อน 5 - 6 คนที่แข่งกัน เขางัดข้อชนะเพื่อนเกือบทุกคน แต่มีอยู่เพียงหนึ่งคนที่เขาไม่สามารถเอาชนะได้ เนื่องจากเพื่อนคนนั้นมีรูปร่างที่บึกบึนแข็งแรงกว่าเขา เขารู้สึกเสียใจที่แพ้ในครั้งนี้และตั้งใจว่าจะต้องฟิตร่างกายให้แข็งแรงกว่านี้แล้วกลับมาท้าประลองกันใหม่ วันนั้นเขาตัดสินใจบอกกับเพื่อนคู่แข่งว่า "ขอเวลาอีกสามเดือน แล้วเรามางัดข้อกันใหม่"


 


นับจากวันนั้นเป็นต้นมา เขาจึงเริ่มฝึกฝนออกกำลังกายด้วยวิธีต่างๆ ทุกวัน จนกระทั่งเมื่อถึงวันกำหนดท้าประลอง กล้ามเนื้อ ที่ผ่านการฟิตซ้อมมาอย่างดีทำให้เขามีพละกำลังมากกว่าเดิมจนสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ที่เขาเคยพ่ายแพ้มาได้อย่างง่ายดาย ชัยชนะในครั้งนั้นทำให้เขาเชื่อมั่นว่า หากเขาไม่ละซึ่งความพยายาม หนทางแห่งความสำเร็จจะต้องมาถึงในสักวัน


 


นับจากนั้น เขาเริ่มมีความฝันเล็ก ๆ ว่า หากมุ่งมั่นออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน สักวันหนึ่งเขาอาจได้เป็นนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่เขาเกิดและเติบโตขึ้นมา และหากโชคดีอาจได้รับสัญชาติไทยเป็นราษฎรเต็มขั้นในสักวัน เขาจึงตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกที่ศูนย์เพาะกายแห่งหนึ่งแถวสี่แยกบ้านแขก ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่ทำงานมากนัก และใช้เวลาหลังเลิกงานไปฝึกฝนทุกวัน ในขณะเดียวกันก็หาเวลาเรียนภาษาไทยควบคู่ไปด้วย


 


จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายปี ร่างกายของเขาจึงเริ่มมีความแข็งแรงพอๆ กับนักกล้ามคนอื่นที่เข้าแข่งขันเพาะกาย จึงลองสมัครลงแข่งขันดูบ้าง เขาได้เข้าสู่สนามแข่งขันครั้งแรกสมดังที่ตั้งใจในปี 2538 รุ่นเยาวชนอายุไม่เกิน 21 ปี ผลการแข่งขัน ครั้งนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อับดับหนึ่ง แต่อันดับ 5 ที่ได้มาก็เป็นผลงานที่นำมาซึ่งภาคภูมิใจอย่างมากสำหรับนักเพาะกายหน้าใหม่อย่างเขา


 


หลังจากนั้น เขาจึงมีกำลังใจฝึกฝนมากขึ้นและพยายามเข้าแข่งขันทุกครั้งที่มีโอกาส แม้ว่าบางครั้งจะตกรอบ แต่เขาก็ยังไม่ย่อท้อหรือละทิ้งความพยายาม จนในที่สุดความฝันของเขาก็เป็นความจริง เขาสามารถพิชิตตำแหน่งแชมป์เพาะกายแห่งประเทศไทยในปี 2543 รุ่นน้ำหนัก 70 กิโลกรัม และครองแชมป์ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัลต่างๆ มากมายจากการเข้าแข่งขันงานต่าง ๆ อาทิ ถ้วยรางวัลของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รางวัลแชมป์ Latch Ford Classic ติดต่อกันสามปีซ้อนตั้งแต่ปี 2545-2547 เป็นต้น


 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความฝันที่จะเป็นนักกีฬาเพาะกายทีมชาติไทยจะกลายเป็นความจริง แต่เขาก็ต้องพบกับอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เขาไม่สามารถเดินทางไปแข่งขันในต่างประเทศได้ เนื่องจากเขายังคงเป็นบุคคลไร้สัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชนสำหรับทำหนังสือเดินทางออกนอกประเทศ  


 


เขาจึงต้องพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อทำความฝันที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นความจริง  เขาได้เดินทางไปขอรับความช่วยเหลือจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งช่วยยื่นเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย จนเขาได้รับการพิจารณาโอนสัญชาติไทย รวมกับพี่น้องผู้พลัดถิ่นในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของเขาอีกร่วม 500 คน ชาวบ้านอำเภอแม่ฟ้าหลวงที่ยังไร้สัญชาติจึงได้รับอานิสงส์จากความมุ่งมั่นและพยายามเดินตามความฝันอย่างไม่ย่อท้อของเขาไปด้วย


 


หลังจากได้รับสัญชาติไทย จายหองคำจึงได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งขันชิงแชมป์เอเชียที่ประเทศบาเรน ปี 2547 ได้อันดับที่ 6 และได้รับรางวัลอันดับ 3 จากการแข่งขันที่ประเทศฟิลิปปินส์ในรายการ Southeast Asiaปัจจุบัน จายหองคำทำหน้าที่เป็นครูฝึกสอนเพาะกายอยู่ในจังหวัดเชียงราย และเมื่อถูกถามถึงเบื้องหลังแห่งความสำเร็จครั้งใด เขามักจะยกสุภาษิตประจำใจให้ฟังอยู่เสมอว่า  "บุคคลใดมีความเพียร อดทน มุ่งมั่น บุคคลนั้นย่อมได้รับความสำเร็จในสักวันหนึ่ง"


 


บทความนี้เผยแพร่ในสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 26 (1 ตุลาคม - 15 พฤศจิกายน 2548)


 


 


 กลับหน้าแรกประชาไท