Skip to main content

คือคนไทยที่สมบูรณ์ – ด้วยห้องเรียนคนไร้สัญชาติ

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


หากเอ่ยถึง "ห้องเรียน" ในความเข้าใจของคนทั่วไปคงคิดถึงสถาบันการศึกษาที่มีทั้งในระบบโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ฯลฯ และนอกระบบโรงเรียนที่รัฐบาลจัดให้ เช่น ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งการเล่าเรียนเพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาในปัจจุบัน เอื้ออำนวยให้เด็กทุกคนทั้งที่มีสัญชาติไทยและเด็กไร้สัญชาติมีสิทธิเข้ารับการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน แตกต่างจากอดีตที่เด็กไร้สัญชาติบางส่วนถูกกีดกันไม่ให้เข้าสู่ระบบการศึกษา


 


ทีมทำงานเพื่อคนไร้สัญชาติ ที่ประกอบด้วยหลากหลายองค์กรพันธมิตร ภายใต้การดูแล ให้คำปรึกษาของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร ได้ร่วมกันปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติอย่างต่อเนื่องและมีความเข้มข้นอย่างมาก จากกรณีการเพิกถอนชื่อบุคคล ๑,๒๔๓ ราย ออกจากทะเบียนราษฎรอำเภอแม่อาย เป็นบทพิสูจน์ว่าการผนึกกำลังของคนที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานฝ่ายปกครอง       คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความ และวุฒิสภา ทำให้การทำงานเพื่อคนไร้สัญชาติแทบทุกพื้นที่มีการสร้างเครือข่าย และถอดบทเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติอย่างเข้มแข็ง


 


องค์ความรู้หนึ่งที่ถอดได้จากประสบการณ์ทำงาน พบว่า การแก้ไขปัญหาการไร้สัญชาติของคนในพื้นที่ ต้องอาศัยแกนนำชาวบ้านที่ผ่านการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายสัญชาติ ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระบวนการ ขั้นตอนในการพิสูจน์สถานะบุคคล เพื่อให้แกนนำชาวบ้านสามารถเป็นผู้ช่วยเหลือ ติดตามการดำเนินการภายในชุมชนของตน และถ่ายทอดความรู้สู่คนอื่น ๆ อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องความเป็นจริง ตรงกับความต้องการของคนในแต่ละชุมชน และมีความยั่งยืนมากที่สุด


 


มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)   ซึ่งมีเป้าหมายหลักของการดำเนินงาน  คือ "การเป็นคนไทยที่สมบูรณ์"  ของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว เพื่อการมี สิทธิมีเสียง และทำหน้าที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในองค์กรพันธมิตร ทำงานในพื้นที่ที่มีประชากรทั้งชาวเขาและชนกลุ่มน้อยผู้ยังคงไร้สัญชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นเขตที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนพม่า   ซึ่งชาวบ้านต้องการมีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังขาดความรู้เรื่องกฎหมายสัญชาติและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่รู้แนวทางการตรวจสอบเอกสารและเตรียมพยานประกอบ ขาดความรู้เรื่องการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการ รวมทั้งมีชาวบ้านบางส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการยื่นคำร้องแต่อย่างใด เนื่องจากความไม่รู้สถานะของตนเองและช่องทางในการดำเนินการ รวมทั้งการจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ


 


ผู้รับผิดชอบงานสิทธิและสถานะบุคคล ของ พชภ.คือ คุณกฤษฎา   ยาสมุทร(ครูใหญ่) ซึ่งเป็นบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เคยเป็นครูอาสาของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จ. เชียงราย ที่บ้านมูเซอ จะบูสี ในพื้นที่ที่พชภ.ทำงานอยู่ ต่อมามาทำหน้าที่ดูแลงานด้านสถานะบุคคลให้กับ พชภ. คุณจันทราภา นนทวาสี ผู้ปฏิบัติงาน ให้ สว.เตือนใจ ดีเทศน์ เป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยสนับสนุนให้  คุณกฤษฎาเข้ามาร่วมในทีมงานคนไร้สัญชาติได้อย่างเชื่อมั่น


 


หลังจากเก็บข้อมูลสถานการณ์ปัญหาและสรุปบทเรียนร่วมกับองค์กรพันธมิตรแล้ว จึงได้


แนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน พบว่า สาเหตุหลักของความไม่คืบหน้าในงานสถานะบุคคลของพื้นที่ดังกล่าว มาจากความไม่รู้ของเจ้าของปัญหา  คือ   เมื่อยื่นคำร้องขอพิสูจน์สถานะของตนเองแล้ว


ก็ได้แต่รออยู่ บางทีรอ ๒ – ๓ ปี แม้กระทั่งเป็นสิบปีก็ไม่มีความคืบหน้า     จึงคิดโครงการและทดลองปฏิบัติการห้องเรียนคนไร้สัญชาติสำหรับนักศึกษาไร้สัญชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายและวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย กับห้องเรียนเพื่อคนไร้สัญชาติในชุมชนริมแม่น้ำโขง อำเภอเชียงของและอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งทั้งสองห้องเรียนประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ทำให้แกนนำชุมชนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายสัญชาติ มีความเชื่อมั่นว่าตนมี องค์ความรู้พอที่จะร่วมติดตามความคืบหน้าคำร้องของตนเองและเพื่อนในชุมชนได้


 


 "โครงการห้องเรียนนำร่องเพื่อสร้างความเข้าใจและแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติ"    จึงเกิดขึ้น


โดย  โดยการสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างแกนนำชาวบ้านใน ๒ พื้นที่คือ ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน ในวันจันทร์ที่ ๑๒ – อังคารที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๘ และตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง ในวันจันทร์ที่ ๑๙ – อังคารที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ ณ ศูนย์ข้อมูลเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก สตรีและชนเผ่า มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ที่บ้านป่าคาสุขใจ     ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย


 


หลักสูตรห้องเรียนนำร่องเพื่อสร้างความเข้าใจและแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติมีสองวัน ต่อหนึ่งพื้นที่  ทั้งสองห้องเรียนได้รับความสนใจจากพี่น้องชาวบ้านเป็นอย่างดี มีแกนนำชาวบ้าน ซึ่งเป็นชนชาติพันธุ์ พี่น้องชนเผ่าต่าง ๆ ทั้ง หญิงชายมาเข้าร่วมรับความรู้จากวิทยากร ห้องเรียนละ ๒๐ – ๓๐ คน


 


 วันแรกเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทย กับช่องทางในการขอมีสัญชาติและสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย ๓   ช่องทางหลัก ๆ     ได้แก่


 


 ) สถานะบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามพรบ.คนเข้าเมือง พ.. ๒๕๒๒ และกระบวนการขอแปลงสัญชาติ ๒) การขอมีสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ แห่งพรบ.สัญชาติ พ.. ๒๕๐๘ (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.. ๒๕๓๕) และ ๓) การขอลงรายการสัญชาติไทยตามระเบียบฯ  ๒๕๔๓       โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญในงานด้านสถานะบุคคลจากสำนักงานกฎหมายธรรมสติ คือ คุณชุติ งามอุรุเลิศ และคุณสรินยา กิจประยูร            กิจกรรมสนุกสนานที่เป็นกระจกสะท้อนศิลปะและจิตวิทยาการประสานงานกับราชการ คือการ แบ่งกลุ่ม แล้ววิทยากรนำแป้งข้าวโพดมาผสมน้ำใส่ในถ้วย ให้มีความหนืดเหมาะสม เอาเหรียญใส่ลงในถ้วย    แจ้งกติกาว่ามีของสิ่งหนึ่งอยู่ในถ้วย ให้กลุ่มช่วยกันคิดว่าจะเอาของออก มาอย่างไร บางกลุ่มก็ใช้กำปั้นทุบลงไปในถ้วย บ้างก็เอาแป้งออกมา ที่ละน้อยจนกว่าจะเจอเหรียญในถ้วย  บ้างก็คิดที่จะเทแป้งออก มีหลากหลายวิธี


 


พอทุกกลุ่ม เจอเหรียญแล้ว   วิทยากรก็มาดูว่ากลุ่มไหนพื้นสะอาดที่สุด แล้วเข้าไปสรุปผล


ในห้องเรียนว่ากิจกรรมนี้แสดงถึงท่าทีในการเข้าไปติดต่อ กับทางราชการ ถ้าเราเข้าไปแล้วพูดแรง ๆ กับเจ้าหน้าที่ อาจเกิดการกระทบกระทั่งกัน เพราะต่างฝ่ายต่างอารมณ์ร้อน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่อยาก


ให้ความร่วมมือ แป้งข้าวโพดในถ้วยก็เช่นกัน ถ้าเราใช้กำปั้นทุบเข้าไปแรง ๆ แรงกดนั้นก็จะ สะท้อนกลับมาที่มือของเรา  แต่ถ้าเราเพียงแค่วางมือเบา ๆ ลงไปในถ้วย แป้งข้าวโพดก็จะดูด มือเราลงไปถึ้งก้นถ้วย  ให้เราสัมผัสกับเหรียญโดยที่แทบไม่ต้องออกแรงเลย เปรียบเหมือน การเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ด้วยความอ่อนน้อม ใช้หลักประณีประนอม เอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าใจและเห็นใจที่มีภารกิจหลายอย่าง ไม่ได้ทำงานด้านสถานะเพียงอย่างเดียว การประสานงาน  จะทำให้มีมิตรไมตรีต่อกันได้รับความ ช่วยเหลือและคำแนะนำอันจะเป็นประโยชน์กับการตาม คำร้องขอสถานะของตน


 


วันที่สองของการอบรม เน้นกระบวนการและขั้นตอนในการพิสูจน์สถานะบุคคลตามกฎหมายและสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่อำเภอพื้นที่กับตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่ประสบปัญหา โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนและบัตรจากอำเภอแม่จันและอำเภอแม่ฟ้าหลวงมาร่วมเป็นวิทยากรด้วย จากนั้นเป็นการสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิการทำงานของบุคคลที่ยังไม่มีสัญชาติไทย โดยตัวแทนจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงราย สิทธิทางการศึกษาของเด็กที่ยังไม่มีสัญชาติไทย โดยตัวแทนจากกลุ่มโรงเรียนป่าตึง อำเภอแม่จัน และตัวแทนจากกลุ่มโรงเรียนแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง ปิดท้ายด้วยความรู้เรื่องสิทธิทางการรักษาพยาบาลของบุคคลที่ยังไม่มีสัญชาติไทย โดยตัวแทนจากสถานีอนามัยสันติสุข อำเภอแม่จัน และสถานีอนามัยสันติคีรี อำเภอแม่ฟ้าหลวง


 


บรรยากาศของห้องเรียนนำร่องฯ ทั้งสองห้อง เป็นไปอย่างเรียบง่ายและเป็นกันเอง เนื่องจากวิทยากรที่เชิญมาให้ความรู้ล้วนเป็นบุคคลที่เต็มใจจะถ่ายทอดเรื่องราวตามหัวข้อที่ตนรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ส่วนแกนนำชาวบ้านที่เข้ารับการอบรมล้วนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับทุกหัวข้อของห้องเรียน การพูดคุย แลกเปลี่ยน และซักถามวิทยากร ซึ่งได้เตรียมข้อสงสัยที่ค้างคาใจมาถามวิทยากร  และได้คำตอบเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อกระบวนการและขั้นตอนการพิสูจน์สถานะบุคคลตามกฎหมายที่ชาวบ้านสนใจเป็นพิเศษ โดยปลัดเสรี นุ่มประไพ ซึ่งเป็นปลัดฝ่ายทะเบียนและบัตรอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นผู้ตอบคำถาม จากผลการปฏิบัติงานจริง เป็นการเริ่มความสัมพันธ์ที่ดี ใกล้ชิด อบอุ่น ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่อำเภอ ซึ่งควรจะเกิดขึ้นในทุก ๆ อำเภอทั่วประเทศ ตามนโยบาย "อำเภอยิ้ม" ที่จะมาส่งยิ้มถึงหมู่บ้านโดยตรง


 


ห้องเรียนนำร่องเพื่อสร้างความเข้าใจและแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติทั้งสองพื้นที่ทำให้เกิดความเข้าใจในภาคทฤษฎีของแกนนำชาวบ้านที่มีโอกาสรับรู้ข้อกฎหมาย กระบวนการ ขั้นตอนและสิทธิต่าง ๆ  แต่ในทางปฏิบัติ การกลับเข้าไปทำงาน สร้างความรู้ความเข้าใจ และดำเนินการติดตามงานด้านสถานะบุคคลในชุมชนของตนเอง คงต้องอาศัยการติดตั้งอาวุธทางปัญญาที่เน้นกระบวนการทำงาน  เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาได้ด้วยตนเองของแกนนำและ "ความร่วมรับผิดชอบ"  ของทุกคนในชุมชน ซึ่งน่าจะเป็นภาคต่อเนื่องอันจะเป็นบทพิสูจน์ความเชื่ออันเป็นรากฐานของ "ห้องเรียน"  ที่ว่า คนภายนอกทำหน้าที่เป็นได้เพียงผู้เอื้ออำนวยและสนับสนุนเท่านั้น เจ้าของปัญหาเอง เป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้บรรเทาเบาบางจนหมดไปได้


 


นอกจากนี้ ปัจจัยหนุนช่วยจากภายนอกที่สำคัญ คือ ความเข้าใจที่ดีและความร่วมมือปฏิบัติ


ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ตามมติ ครม. ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘  ด้วย


ความจริงใจของเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับกรม  ของกรมการปกครองกระทรวง


มหาดไทย และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบนโยบาย รวมทั้ง การหนุนช่วยของสังคมที่จะก้าวข้ามผ่านอคติที่กีดกัน   "คนอื่น" สู่ความคิดว่าทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยต้องมีที่ยืนทางกฎหมายที่จะอยู่ในเมืองไทยได้โดยมีสถานะที่ถูกต้อง  ซึ่งเป้าหมายที่คณะทำงาน เพื่อคนไร้สัญชาติพยายามทำอยู่ โดยมีสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่ข้อมูลสร้างความเข้าใจในวงกว้าง  รวมทั้งแหล่งทุน เช่น  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ให้ทุนแก่โครงการห้องเรียน คนไร้สัญชาติในครั้งนี้


 


ขอให้ทุกฝ่ายร่วมสานฝันให้แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินแห่งศานติสุขและความเมตตา


โดยไม่มีเขตแดนประเทศขวางกั้นตลอดไป