Skip to main content

ชินชา Vs. คุ้นเคย

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


อีกไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์จากวันที่นั่งปั่นต้นฉบับนี้   ปีใหม่ ๒๐๐๖ หรือ พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็จะมาถึง รวดเร็วกว่าที่คิด จำได้ว่าปีที่แล้วยังคิดถึงปี ๒๐๐๕ อยู่เลยว่าจะมาเมื่อไร วันนี้กลายเป็นเกือบสิ้นปีของ ๒๐๐๕ ไปเสียแล้ว ถ้ามองอีกทีก็เหมือนว่าใกล้ตายเข้าไปอีกวันหนึ่ง ซึ่งก็ยังไม่รู้อีกนั่นแหละว่า วันตายจริงๆ คือวันไหน เอาเป็นใกล้เข้ามาอีกวันหนึ่งก็แล้วกัน


 


ผู้อ่านหลายคนคงบอกว่าผู้เขียนนี่คงเพี้ยน วาระอันเป็นมงคลขึ้นปีใหม่ใกล้มาถึง แต่กลับชอบพิสดารไปคิดถึงจุดจบ ผู้เขียนขอแย้งว่า การขึ้นปีใหม่และการนับว่าเป็นเรื่องดีหรือมงคลนั้น เป็นสิ่งสมมติทั้งสิ้น สิ่งที่เที่ยงแท้คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย  พุทธเองก็สอนด้วย แล้วทำไมจึงมานั่งปฏิเสธความจริงข้อนี้ แล้วก็มองว่ามาเถิดมาสนุกกันให้สุดเหวี่ยงกับวาระที่เรียกว่าปีใหม่


 


ปีใหม่นี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสองคำที่ใช้กัน ความหมายคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน คือคำว่า "ชินชา" กับ "คุ้นเคย" ทั้งสองคำมีความหมายร่วมกันคือ การประสบสิ่งใดบ่อยๆ เป็นประจำ เช่น "ผมชินชา/คุ้นเคยกับสภาพความจนเสียแล้ว"  แต่หากว่า "ชินชา" มีความหมายในทางลบมากกว่า เพราะว่าเหมือนกับการไม่ยินดียินร้าย ไม่อยากใส่ใจ หรือ เป็นภาวะที่เลี่ยงไม่ได้ จำต้องทนให้ผ่านๆ ไป ไม่น่าพึงพอใจ  ในกรณีนี้คือ "รู้ว่าจน แต่แก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องทำใจ" ในทางกลับกัน "คุ้นเคย" เป็นคำกลางกว่า ไม่บอกว่าชอบหรือไม่ชอบ คือบอกว่าเกิดก็เกิด บางทีก็มีความหมายในด้านบวกด้วยซ้ำ ในกรณีนี้คือหมายถึงว่า "ถึงจนก็ไม่เลวจนเกินไปนัก ช่างมันเถอะ"


 


ชีวิตของหลายคนในปีใหม่นี้จึงไม่ได้ถือว่ามีอะไรใหม่นัก เพียงแต่ว่าเวลามันหมุนไป หลายคนก็อยู่ตรงที่เดิม ทำสิ่งเดิมๆ แต่หลายคนคิดว่าจะมีสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต  ชีวิตควรจะดีกว่านี้ เลยเหมาไปว่าปีใหม่เป็นเรื่องที่น่าอภิรมย์ แล้วก็ควรฉลองเสียหน่อย


 


เกือบปีที่ผู้เขียนได้ส่งงานมาให้ "ประชาไท" นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เมื่อต้นปีนี้ ผู้เขียนมีความคุ้นเคยกับ "ประชาไท" มากขึ้น ได้พบเห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มมาอ่าน จนมาเป็นผู้เขียน วันนี้รู้สึกว่าต้องเข้ามาอ่านเรื่องต่างๆ ที่นี่  เรียนรู้มุมมองจากหลายๆ ท่านที่นี่ แล้วก็พยายามปั่นต้นฉบับให้ทุกสัปดาห์ นี่ก็เป็นอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่าความคุ้นเคยในชีวิตอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ชินชา


 


อีกความคุ้นเคยคือ การใช้ชีวิตที่นี่ในสหรัฐฯ ผู้เขียนมาสหรัฐฯ ครั้งแรกในปี ๑๙๘๔ ตอนนั้นมาแบบก๊องแก๊ง  เรียนภาษาอังกฤษปนเที่ยว และพักกับครอบครัวสหรัฐฯ ไม่กี่นาน ราว ๕ สัปดาห์ จึงไม่นับว่าได้เรียนรู้อะไรมากมาย กลับไปเรียนต่อจนจบตรี  แต่พอมาเรียนต่อโทในช่วงปี ๑๙๘๖-๑๙๘๘ หกเดือนแรก ร้องไห้ซะไม่มี คิดถึงบ้าน เล่นเอาเรียนไม่ได้เรื่อง ดีที่เป็นการเรียนปรับพื้นฐานเพราะเปลี่ยนสาขา เลยพอกล้อมแกล้มไป จนเข้าโปรแกรม ป.โท ที่คนไทยไม่ค่อยได้เรียนกันในตอนนั้น เน้นด้าน social movement rhetoric เร่งเรียนให้จบเพราะคิดถึงบ้าน ดังนั้นเรียนโทนี่ราว ๖๐ หน่วยกิตในเวลาสองปี หัวหมุนเลย แต่สนุกแล้ว ก่อนกลับบ้านคราวนี้ไม่อยากกลับเพราะมีเพื่อนรักเป็นอเมริกัน เริ่มคิดเริ่มมองว่าอเมริกันเค้าเก่ง เค้าช่างคิด รักเสรีภาพของเค้า คือมองในด้านดีของฝรั่งมาก แต่มีอีกมุมหนึ่งในใจคือการเหยียดผิว การต่อต้านเกย์ ที่ทำให้รู้สึกว่าสหรัฐฯไม่น่าอยู่  จบโทตอนนั้นค่อนข้างเด็กคืออายุ ๒๓ กว่า ๆ ยังคิดอะไรไม่มากมุมแบบเด็ก ๆ


 


เมื่อกลับเมืองไทยก็ไม่สุขนัก ไม่รู้หรอกว่าตนเองเปลี่ยน รู้อย่างหนึ่งว่าเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนจบด้านนี้หางานทำยาก แต่ก็มีงานทำตลอดในช่วง ๑๙๘๘-๑๙๙๒ เพราะเศรษฐกิจดีมากและตนเองได้เปรียบเรื่องภาษาอังกฤษ ในปี ๑๙๙๐ จึงหาหนทางกลับมาเรียนต่อที่สหรัฐฯ ที่ University of Nebraska at Lincolnเจอปัญหาหลายอย่าง ไม่ชอบ ไม่ทันเปิดเรียน จึงลาออกแล้วบินกลับไทย เจอปัญหาเมืองไทยอีกไม่สนุก จึงคิดว่าขอลองอีกหนเรื่องปริญญาเอกในปี ๑๙๙๒ จนได้ที่ PurdueUniversityตอนนั้นสมัครได้สองสามแห่ง แต่ที่นี่ดีสุดเลยเลือกมา พลาดไม่ได้ อยู่มาเกือบห้าปีจึง (คลาน) จบ


 


แม้จะเรียนด้วยความทรมาน  แต่ความคุ้นเคยเกิดขึ้นที่นี่ รักและชอบสหรัฐฯ มาก หากเพราะแม่บังคับให้กลับเมืองไทยเพราะหมดเวลาแล้ว  จึงต้องรีบเก็บของกลับแทบไม่ทัน น้อยใจแม่ตอนนั้นที่ไม่ให้เวลาเราเลือกอาชีพที่นี่   ใจตอนนั้นคุ้นเคยเหลือเกินกับสหรัฐฯ เหมือนมีภาพมายา


 


จนกระทั่งไปทำงานเมืองไทย รับราชการ แต่ก็ไม่สุขทั้งที่ท่านผู้ใหญ่ก็ให้การสนับสนุนด้วยดี ทุกวันนี้ยังรักและเคารพหลายท่านไม่เสื่อมคลาย แต่ก็ต้องออกมาทำงานที่สหรัฐฯ เพื่อค้นหาตนเอง ตอนนั้นคิดว่าตนเองคุ้นกับสหรัฐฯ มากกว่าเมืองไทย จำได้แม่นว่าท่านผู้ใหญ่หลายท่านทักท้วงว่าอย่าไปเลย ตอนนั้นผู้เขียนดื้อและมุมมองไม่กว้าง เอาเป็นว่าตอนนั้นช้างมาฉุดอย่างไรก็ไม่อยู่  อาจเป็นเพราะเมื่อแรกเข้าได้รับแรงกดดันมากจึงฝังใจอย่างรุนแรง


 


ตราบจนวันนี้ ที่มาอยู่ในสหรัฐฯ รวมกว่า ๑๓ ปี เรียนเจ็ดปี ทำงานอีกกว่า "ห้าปีบวกหนึ่ง"  ความคุ้นเคยเกิดขึ้น เช่นเดียวกับความชินชา รักสหรัฐฯ ในความก้าวหน้าในหลายเรื่อง เช่น วิทยาการต่างๆ แต่ชิงชังสหรัฐฯ ในเรื่องการเลือกประพฤติปฏิบัติและนิสัยเห็นแก่ตัวของฝรั่งที่คนไทยร้ายไม่เท่า ดังนั้น  ทั้งความชินชาและคุ้นเคยปะปนกันช่วยให้เกิดมุมมองที่ชัดเจนเป็นจริงมากกว่าที่ผ่านมา ทำให้ผู้เขียนดีใจที่ได้ตัดสินใจมาที่นี่ แม้ว่าจะต้องแลกกับโอกาสดีๆ หลายอย่างในชีวิตที่พลาดไป  ประสบการณ์ตรงนี้ที่ทำให้เป็นคนเข้าใจสองสังคมในระดับหนึ่ง เป็นเรื่องที่น้อยคนนักจะได้มี เพราะในแต่ละวันชีวิตที่นี่ให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ในแง่มุมต่างๆ ของชีวิต หลายหนที่คุยกับคนอื่นแล้วทำให้เข้าใจว่าทำไมจึงมองโลกได้ต่างกัน แล้วเข้าใจเค้าได้ง่ายขึ้น


 


หลายคนในสังคมไทยคงมีทั้งความชินชาและคุ้นเคยในชีวิต หลายคนชินชากับสภาพความยากจน ความไม่เอาใจใส่ต่างๆ ของหน่วยงานของรัฐ ของชนชั้นปกครอง ความไม่เอาไหนของคนใกล้ตัว แต่ขณะเดียวกันก็มีความคุ้นเคยกับความมีน้ำจิตน้ำใจของคนรอบข้างเพื่อนฝูง คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตแบบไทยๆ ที่ไปเรื่อยๆ แล้วก็ภาพต่างๆ ที่หยิบยื่นมาจากชนชั้นปกครองในด้านบวกที่จริงบ้างเท็จบ้างในสังคมไทย  ทำให้ชีวิตอยู่ได้จนไม่แห้งแล้งจนเกินไปนัก


 


ผู้เขียนมองเห็นว่า สังคมใดล้วนย่อมมีปัญหา การที่มองสังคมนั้นๆ ด้วยสายตาที่เข้าใจ ยอมรับที่จะเจอปัญหาและพยายามแก้ไขเป็นเรื่องจำเป็น การมองโลกโดยมีฐานในการเข้าใจว่า "คุ้นเคยกับชินชา" ไม่ใช่ของแปลกของใหม่ในชีวิต แต่เป็นเรื่องความจริงแท้ของชีวิตที่ไม่อาจเลี่ยงได้ จะทำให้ชีวิตนั้นขับเคลื่อนไปได้เรื่อยๆ อย่างมีสติ โดยที่ไม่ต้องทุกข์หรือสุขมากจนเกินไปนัก


 


ปีใหม่นี้น่าจะมองโลกกันให้เป็นมากขึ้น แทนที่จะยึดมั่นกับคำอวยพรต่างๆ  ผู้ที่มีสติน่าจะสามารถมองว่าจะหวังอย่างไรบนพื้นฐานของความจริง แล้วก็ดำเนินการตามนั้น ไม่จำเป็นต้องสนุกสุดเหวี่ยง หรือตั้งต้นอะไรยากๆ แต่มาเริ่มคิดให้เป็น คิดให้ได้ไปทีละน้อย น่าจะมีประโยชน์มากกว่า เพราะแท้จริงแล้วปีใหม่ก็เพียงหลักไมล์หรือหลักกิโลเมตรที่บอกถึงระยะการเดินทางในชีวิตของแต่ละคน ไม่ได้ต่างกับเรื่องวันคล้ายวันเกิดที่บอกว่าชีวิตได้ผ่านไปแล้วเช่นกัน


 


ขอเอาใจช่วย


 


หมายเหตุ : บทความนี้ผู้เขียนส่งถึงประชาไทก่อนช่วงปีใหม่ แต่ด้วยความผิดพลาดของทีมงานที่นำขึ้นเว็บช้า ทีมงานประชาไทต้องขออภัยผู้เขียนและผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ