Skip to main content

ธรรมชาติอวสาน

คอลัมน์/ชุมชน

 



 







 


หมื่อ เก่อ เฉ่ ชอ เก่อ เอาะ โอ                ใกล้รุ่งสางอาทิตย์เริ่มทอแสง    


เก่อ ญอ หมื่อ แค เถ่อ หญ่อ บือ             สัตว์ป่าใหญ่น้อยเริ่มส่งเสียง


โถ่ หลุ่ย  ซ่อ กอ เปว                           ดังดนตรีประสานโลกป่าเขา               


กวา  เขล่อ โถ่ เดะ ที เก๊าะ                    ความนัยว่าสวัสดีนะเธอ


ตา โฮ เก๊าะ เลอ เก่อ เจ่อ ปา                 และแล้วต่างก็โบกบินไป                


กอ ยุ ปว่า เก๊าะ เล่อ เส่ คี                     กลางเวหาร่อนสู่พงไพร


โถ่ เค โถ่ เก๊าะ ยู                                 เหล่าสัตว์หากินตาประสา                            


แล ลู อะ ฉ่า เลอ ปว่า โหย่ ปู                 จับคู่จู๋จี๋กัน เหนื่อยพัก


*เม เหม่ แค อี เต่อ ดิ เลอ ญา บ่า           พอมาวันนี้ ไม่เหมือนดังก่อน           


เก่อ เจ่อ เก่อ โล เส่ โดะ ต่า ปว่า             สัตว์ป่า ป่าดง ลำห้วย ขุนเขา


เก่อ ลอ หม่า กุย ปวา                           อับเฉา เงียบ วังเวง                       


ฉ่า โพ ก่อ โพ เก่อ โอะ แพะ แหล่           ดังคนที่พลาดพรากจากรัก


หมื่อ เก่อ เฉ่ ชอ เต่อ เอาะ โอ                สนธยาอาทิตย์เริ่มลับฟ้า           


เก่อ ญอ หมื่อ เต่อ แค เถ่อ หญ่อ บือ       สัตว์ป่าใหญ่น้อยเริ่มกลับรัง


โถ่ หลุ่ย ซ่อ กอ เต่อ เปว                      ต่างแยกทางอำลา อาลัย               


กวา เขล่อ โถ่ เดะ ที เต่อ เก๊าะ               ไพรคือสายสัมพันธ์ของมัน


ตา โฮ เต่อ เก๊าะ เลอ เก่อ เจ่อ               ความหนาวเหน็บยามดึกเย็น            


ปา กอ ยู ปว่า เต่อ เก๊าะ เลอ เส่ คี           พุ่มโพรงไม้ ใบไม้กำบังกาย


โถ่ เค โถ่ เก๊าะ เต่อ ยู                          ขอฝันถึงฉันบ้างนะเธอ                  


เหม่ อะ แล โอะ เก แพะ แหล่                มาเจอกันพรุ่งนี้อีกครั้ง


 


 


* * * * * *


หลังกลับจากหมู่บ้านผีโป๊ะกะโล่ง ต.แจ่มหลวง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ พ่อเรียกผมมาฟังเพลงๆ หนึ่ง เพื่อให้เรียบเรียงดนตรีให้ใหม่


 


ขณะที่ผมกำลังฟังเพลงที่พ่อผมเขียนมาสดๆ ร้อนๆ อยู่นั้น  เสียงใครคนหนึ่งเอ่ยแทรกขึ้นมา...


"ทำงานหนักทั้งปี พักผ่อนบ้างสิ" พาจะแก๊ เอ่ยทักทายเบา ๆ


 


พาจะแก๊  เป็นพรานมือหนึ่งของหมู่บ้าน เขาชำนาญทั้งทางบกและทางน้ำ หากเขาลงน้ำ เมื่อกลับมาจะมีกลิ่นคาวปลาติดตัวเขามาด้วย หากเขาขึ้นบก  เมื่อกลับมาบ้านจะมีกลิ่นสาบสัตว์ป่าติดตัวเขา กลับมาด้วย   


"ไปแล้วไม่ผิดหวัง ได้ทั้งเก้ง หมูป่า กระรอก ไก่ป่า เขาชวนพ่อผมคุย  แต่ดูเหมือนพ่อไม่สนใจเรื่องสัตว์ที่พาจะแก๊พูดสักเท่าใดนัก 


 


"ถ้าอยาก วางแน่ง ต้องใช้ตาแน่งขนาดประมาณไหนดี"  พ่อถามพาจะแก๊


"ต้องสองนิ้วขึ้นไปเพราะถ้าตาถี่มันจะได้แต่ปลาเล็ก"


"เดินทางกี่ชั่วโมง?"


"รถจักรยานยนต์ไปถึงหมู่บ้านหรือเปล่า"


"ทางขึ้นสูงไหม?"


"ทางลำบากไหม?"


 ….….?ฯลฯ???


 


พาจะแก๊ สามารถตอบข้อมูลได้ทุกอย่างที่พ่อผมอยากรู้ แหละนั่นก็เพียงพอที่จะเป็นแนวทางในการตัดสินใจของพ่อ


การตกลงและนัดหมายจึงเกิดขึ้นทันที  หลังการสนทนา   


"ขอเอาปืนแก๊ปติดตัวไปด้วยนะ พาจะแก๊  บอกกับพ่อ  ก่อนลุกเดินออกไป


"ไม่ต้องเอาไปหรอก เป้าหมายของเราไม่ได้อยู่บนบก เราอยากไปคลายร้อนมากกว่าพ่อทักท้วงเขาไว้  


 


เนื่องจากว่า  ในช่วงฤดูร้อน เวลาขึ้นดอยจะยิ่งทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงเพิ่มขึ้น  จึงต้องใช้พลังในการเดินทางเข้าป่าเพิ่มเป็นเท่าตัว  พ่อผมจึงไม่อยากขึ้นดอยล่าสัตว์ในช่วงหน้าร้อน


 


* * * * *


 


รุ่งเช้าวันใหม่  พ่อตะโกนบอกแม่...


"ช่วยห่อข้าวด้วยใบตองห่อหนึ่ง เกลือและพริกด้วยนะ


ทานข้าวเช้ายังไม่ทันเสร็จ พาจะแก๊ เข้ามาหาพ่อผมแล้ว  พร้อมมวนยาสูบขี้โยและก้อนยาสูบห่อหนึ่ง


"ทำไมเอายาสูบไปเยอะจัง" แม่ผมซักพาจะแก๊ ขึ้นมาด้วยความสงสัย


"ในป่ายุงเยอะ ต้องไล่ยุงด้วยควันบุหรี่ขี้โย พาจะแก๊ พูดพร้อมหัวเราะ  ก่อนจะปล่อยควันขี้โยลอยออกมาทางปากและจมูก


 


การเดินทางเริ่มขึ้น พ่อผมเดินลงบันได พร้อมสวมรองเท้าข้างซ้ายก่อน 


พาจะแก๊ ตามพ่อผมลงมา พร้อมกับสวมรองเท้าข้างซ้ายก่อนเช่นกัน 


ทำไมต้องสวมรองเท้าข้างซ้ายก่อน!?  เชื่อว่าหลายคนต้องสงสัย


เป็นธรรมเนียมหรือความเชื่อของคนปวาเก่อญอ  ในการที่จะทำงานร่วมกันซักอย่าง ต้องเริ่มต้นเหมือนกัน จะนำไปสู่จุดหมายที่เหมือนกัน 


 


ถ้าเกิดมีการเริ่มต้นที่แตกต่างกัน อาจนำไปสู่การไปสู่จุดหมายที่แตกต่างกันเช่นเดียวกัน เช่น  ถ้าเกิดคนหนึ่งสวมรองเท้าข้างซ้ายก่อน และอีกคนสวมรองเท้าข้างขวาก่อน คนหนึ่งอาจยิงสัตว์ได้ ตรงกันข้ามอีกคนหนึ่งอาจจะไม่ได้อะไรเลย


 


จากความเชื่อนี้ เวลาไปล่าสัตว์ หาปลา คนปวาเก่อญอจึงเริ่มทำอะไรต่อมิอะไรเหมือนกัน เช่น การสวมรองเท้า และเริ่มก้าวเท้าข้างเดียวกัน


 


เมื่อเสียงเข้าเกียร์เข้ารถจักรยานยนต์เกียร์หนึ่งดังขึ้น  คันเร่งถูกบิด สเตอร์และโซ่เริ่มทำงาน สองล้อเริ่มหมุน พาร่างชายสองคนเคลื่อนออกจากหมู่บ้าน ค่อยๆ เคลื่อนที่ไกลออกไป ไกลออกไป จนลับตา


 


พอบ่ายแก่ ๆ ชายทั้งสองได้ไปถึงยังจุดหมาย คือบ้านผีโปะกะโล่ง  พร้อมกับไปเทียบเชิญพรรคพวกจากบ้านผีโปะกะโล่ง 3 – 4 คน เพื่อไปพักแรมในลำห้วยป่าลึก ริมแม่น้ำแม่แจ่ม กลางคืนวางแน่ง กลางวันตกปลา ทอดแห   


 


3 วัน 3 คืน จึงกลับออกมาพร้อมกับกลิ่นคาวปลา แต่ละคนถือกระบอกไม้ไผ่คนละ 2 กระบอก ขนาดความกว้างไผ่บงเท่ากับขา ความยาวสองท่อนครึ่ง บรรจุปลาที่คลุกเกลือเรียบร้อยเต็มทุกกระบอก


 


พอกลับออกมาถึงหมู่บ้านผีโปะกะโล่ง  ดวงอาทิตย์เริ่มปิดม่านลง  แสงสว่างจากฟ้าเริ่มลาลับ  ทั้งพาจะแก๊ และพ่อของผมจำต้องค้างคืนที่บ้านผีโปะกะโล่งอีกหนึ่งคืน ก่อนที่จะเดินทางกลับบ้านในวันพรุ่ง และอาหารในเย็นนั้นไม่พ้นกลิ่นคาว


 


เช้ามืด ณ หมู่บ้านผีโปะกะโล่ง         


"เกาะ เกะ เร่ โก่" เสียงไก่ตัวผู้ส่งเสียงขัน ปลุกคนในหมู่บ้าน ทว่าหลายคนยังคงนอนอยู่


"เกาะ เกะ เร่ โก่ๆๆๆๆๆๆๆ" ไก่ตัวผู้ตัวอื่น ๆ ช่วยกันปลุกอีกแรงหนึ่ง  แต่บางคนยังนอนอยู่ 


"โจ๊ะ โกระ ตื่อ ๆๆๆๆ" เสียงตำข้าวของหญิงสาวปวาเก่อญอ เป็นเสียงปลุกที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ แผ่นดินสะเทือนทั้งหมู่บ้าน


จากแรงเท้าของหญิงสาวปวาเก่อญอที่เหยียบคันโครกดังโจ๊ะ โกระ พร้อมลิ่มโครกกระแทกตัวโครกที่มีข้าวเปลือกอยู่ในโครกดัง ตื่อ ผสมกันได้ความว่า "โจ๊ะ โกระ ตื่อ"            


 


พวกผู้ชายในบ้าน  ต่างออกมาจากบ้านมาก่อไฟหน้าบ้าน ต้มน้ำชา บ้างก็เหลาไผ่เพื่อจักสาน บ้างก็ไปตรวจดูกับดักที่ดักสัตว์ไว้เมื่อคืน


ลูกเล็กเด็กแดงตามแม่ ตามพี่สาวไปตักน้ำที่บ่อ ครอบครัวไก่ ออกมากินเศษข้าวที่กระเด็นออกมาจากโครกตำข้าวพร้อมส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว "กิกิ เกาะ เกาะ


 


             


 


ในขณะที่หลายคนกำลังนั่งดื่มน้ำชา เสียงหนึ่งดัง "พูว พูว พูว พูว ข้ามหัวไป


พ่อผมยังไม่ทันถาม ปอบลา ชี้ไปตามเสียง "นกเงือก สองผัวเมียมันบินผ่านทุกเช้า"


ความเชื่อของคนปวาเก่อญอ จะไม่ฆ่านกเงือกกิน เพราะนกเงือกเป็นสัตว์ที่รักครอบครัว หากตัวผู้โดนยิงตายตัวเมียก็จะฆ่าตัวตายตาม มนุษย์เองก็มีครอบครัว คนปวาเก่อญอจึงเชื่อว่า หากฆ่านกเงือกหนึ่งตัว ต้นไทรจะเศร้าโศกไปเจ็ดต้น


 


สักพักดอยหลังหมู่บ้าน มีอีกเสียงหนึ่ง เกาะ เกะ เร่ โก่  


"หลังดอยมีหมู่บ้านอีกหรือ?" พ่อผมถามขึ้นมา


"เปล่า! มันเป็นเสียงไก่ป่า ไม่ใช่ไก่บ้าน" ปอบลา ตอบ


 


เมื่อแสงสว่างเริ่มชัดขึ้น แม่บ้านปวาเก่อญอ หุงข้าวใกล้จะสุกแล้ว


"กุ้ กุ้ กุ้ กุ้"   


"นั่นเป็นเสียงชะนี  มีอยู่ประมาณสิบกว่าตัว" ปอบลาพูดให้พ่อฟัง


ความเชื่อของคนปวาเก่อญอดั้งเดิม ชะนีเป็นสัตว์ต้องห้าม หากฆ่าชะนีตายหนึ่งตัว  ขุนเขาจะเงียบเหงาเจ็ดดอย


 


สักพักก็ได้เวลากินข้าวเช้า กินข้าวเช้าพร้อมกับได้ยินเสียงสัตว์ป่าอีกหลายชนิด ขับขานดังดนตรีประสานโลกป่าเขา


 


หลังออกจากหมู่บ้านผีโปกกะโล่ง  กลับมาสู่มูเส่คีดินแดนป่าสนที่ถูกการพัฒนาตามกระแสทุนนิยมรุมเร้าอย่างหนัก ทำให้ชุมชนอ่อนแรง ผู้คนระโหยโอยอ่อนต่อวิถีเดิม ธรรมชาติถูกละเมิดตีค่าเป็นเงินมากขึ้น


 


นกเงือกไม่ทันบิน  โดนยิง 


เก้งไม่ทันส่งเสียง  โดนล่า 


ชะนีไม่ทันกู่ร้อง  โดนฆ่า  


ต้นสนไม่ทันโต  ถูกโค่น 


เด็กไม่ทันโต  ต้องออกจากหมู่บ้าน  


 


ความเชื่อเดิมๆ ที่สัมพันธ์กันระหว่างคน ธรรมชาติ  สิ่งสูงสุด ไม่มีเหลือ แทนที่ด้วยความเชื่อเรื่องเงิน ที่สัมพันธ์กับรวย ผลประโยชน์ส่วนบุคคล  แล้วสัตว์ป่าจะอยู่ที่ไหน  ธรรมชาติจะเป็นอย่างไร สิ่งสูงสุดคืออะไร  คนจะอยู่อย่างไร


 


บ้านผีโปะกะโล่ง  จะเป็นบ้านผีโปะกะโล่งอย่างวันนี้อีกได้นานแค่ไหน  หากอุดมการณ์การพัฒนายังเป็นเหมือนอย่างวันนี้


หลังพ่อของผมร้องเพลงนี้จบ  ผมได้หยิบเนื้อเพลงเพื่อไปเรียบเรียงแต่งเติมนิดหน่อย เพราะของเดิมดีอยู่แล้ว


* * * * * *


           


 


 

 

กลับหน้าแรกประชาไท