Skip to main content

เด็กไทยควรผูกพันกับอะไร

 


 


เย็นวันหนึ่งก่อนคริสตมาส    ผมไปถึงวัดโซโจจิ (Zojo-ji) ที่เชิงหอโตเกียวตอนพลบค่ำ      หอโตเกียวเปิดไฟสีส้มสว่างไสวชวนมอง    บริเวณใต้หอมีงานคริสตมาสเล็กๆ     คุณพ่อคุณแม่พาเด็กเล็กๆ มาเที่ยวด้วยกันอย่างมีความสุข


 


ตามประวัติวัดนี้สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ.1393 และเป็นวัดของตระกูลโตกุกาวะตั้งแต่ตอนปลายศตวรรษที่ 17      เดิมมีวิหารมากกว่าร้อยหลังแต่ถูกทำลายไปช่วงสงครามเสียมากเหลือเท่าที่เห็นเพียงไม่กี่หลัง     มีประตูสีแดงขนาดใหญ่ Sanmon Gate เป็นของเดิมสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ.1612   ที่ใกล้ประตูมีต้นซีดาร์ขนาดใหญ่ปลูกโดยประธานาธิบดียูลิซิส เอส แกรนท์    นึกสงสัยว่าวิหารเป็นร้อยถูกทำลายได้    แล้วทำไมต้นไม้ที่ปลูกโดยศัตรูกลับยังอยู่รอด


 


ขณะที่ผมกำลังยืนชื่นชมความสงบของวัดในยามเย็น      หญิงสาวในชุดฤดูหนาวสวมกระโปรงแค่เข่าและถุงน่องดำคนหนึ่งวิ่งขึ้นบันไดผ่านตัวผมเข้าไปในวิหาร ผมเดินตามเข้าไป      พบว่าเป็นเวลาที่พระกำลังสวดมนตร์พอดี   บรรยากาศเคร่งขรึมภายในบวกกับเสียงสวดและเสียงต๊อกๆๆๆ ชวนให้ต้องนั่งลงฟังด้วยความปีติ


 


ผมออกจากวัดเมื่อฟ้ามืดแล้วจึงเดินไปกลับไปที่หอโตเกียวอีกครั้ง  ขากลับเดินเลียบกำแพงวัดจึงสังเกตเห็นตุ๊กตาหินรูปเด็กเล็กวางเรียงรายนับพันดูน่ากลัว  เมื่อไปถึงใต้หอโตเกียวก็ไปนั่งดูคุณพ่อคุณแม่พาเด็กเล็กๆ มาเที่ยวงานคริสตมาสด้วยกันอย่างมีความสุขต่อ      สังเกตว่ายิ่งมืดก็ยิ่งมีหนุ่มสาวมากันเป็นคู่ๆ มากขึ้น  ทั้งๆ ที่อากาศหนาวมหาหนาวแต่สาววัยรุ่นญี่ปุ่นหลายคนยังสามารถใส่กระโปรงสั้นแค่คืบกันได้อยู่     


 


 


ในเวลาประมาณสองชั่วโมงของเย็นวันนั้น   ผมได้เห็นทั้งวัด  ผี  ครอบครัว และวัยรุ่น     ทั้งหมดนี้คือสิ่งเดียวกัน


 


ตอนที่เป็นทารกเกิดใหม่   เขายังไม่ทราบว่าคุณแม่มีตัวตน    เขาเองก็ยังไม่มีตัวตน    เราเรียกว่าทารก 3 เดือนแรกว่าเป็นภาวะ autistics คืออยู่กับตัวเอง    และเรียกทารก 3-6 เดือนว่า simbiotics คืออยู่กับคุณแม่อย่างแยกกันไม่ได้


 


กระบวนการแยกตัวจากคุณแม่เป็นตัวตนของตนเองจะเริ่มตอนอายุ 6 เดือนแล้วไปสิ้นสุดเมื่ออายุ 3 ขวบ   วิธีประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ หนึ่ง-กำหนดตัวตนของคุณแม่  สอง-สร้างสายสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่าคุณแม่นั้น  และสาม-แล้วจึงกำหนดตัวตนของตัวเอง


 


กำหนดตัวตนของคุณแม่   เรียกว่ามี object constancy


 


สร้างสายสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่าคุณแม่นั้น  เรียกว่า object relation


 


แล้วจึงกำหนดตัวตนของตัวเอง  เรียกว่า  self


 


กระบวนการแยกตัวตนของตัวเองออกจากตัวตนของคุณแม่เรียกว่า Separation-individuation     โดยจะเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นตอนประมาณ 2 ขวบครึ่ง    ซึ่งเรียกว่า Re-approachment  การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมช่วงแยกตัวจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กโตขึ้นมีบุคลิกภาพผิดปกติหลายชนิด    หนึ่งในหลายชนิดนั้นคือประเภทที่ไม่สามารถสร้างสัมพันธ์กับใครได้เลย   เป็นคนมีอารมณ์แปรปรวนรวดเร็ว   เป็นคนรักมากก็เกลียดมาก   ที่สำคัญคือเป็นคนไม่มีตัวตน   ว่างเปล่า   ถามว่าตนเองเป็นใครก็ไม่สามารถตอบได้


 


ทั้งหมดที่เล่ามา    เรื่องสำคัญที่สุดคือสายสัมพันธ์


 


สายสัมพันธ์กับคุณแม่และคุณพ่อจะเป็นสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและยั่งยืน    ทำลายไม่ได้    ตัดไม่ขาด   และจะทำหน้าที่เหนี่ยวรั้งให้เด็กๆ กลับบ้านเสมอ   ไปไหนก็ไม่ไกล  ไปไกลก็รู้จักกลับ  ไปพบอบายมุขก็ถูกสายสัมพันธ์นี้เหนี่ยวรั้งเอาไว้   คุณแม่คุณพ่อทำชั่วก็ยังเป็นแม่เป็นพ่อ   ถึงคุณแม่คุณพ่อตายแล้วแต่สายสัมพันธ์ก็จะยังอยู่และทำหน้าที่ของมันต่อไป


 


ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายคือช่วงวัยเตาะแตะ   ตอนที่เด็กหัดเดินเขาจะเดินได้เพียงไม่กี่ก้าวแล้วต้องเหลียวมามองคุณแม่ ขอรอยยิ้ม  คำชม  หรือเสียงปรบมือ   แล้วจึงเริ่มเดินไกลออกไปๆๆ     อะไรที่มองไม่เห็นระหว่างตัวลูกและตัวคุณแม่นั่นแหละครับคือสายสัมพันธ์


 


มองดีๆ แล้วจะเห็น


 


สายสัมพันธ์นี้จะเป็นรากฐานของสายสัมพันธ์ที่เด็กจะมีกับผี   และกับศาสนาในเวลาต่อมา     สายสัมพันธ์กับผีจะก่อตัวตอนอายุ 3-5 ปี    สายสัมพันธ์กับศาสนาจะเริ่มช้ากว่านั้นคือช่วงประมาณอายุ 7 ปี   


 


ผมนั่งมองคุณแม่ที่พาลูกเล็กมาเที่ยวงานคริสตมาส    ผมเห็นสายสัมพันธ์เส้นที่หนึ่งกำลังก่อตัว      เด็กคนนี้จะรู้จักกลับบ้านเมื่อถึงเวลาต้องกลับบ้าน


 


ผมเห็นสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผีที่วัดที่จะก่อตัวตามมาด้วย   สายสัมพันธ์เส้นที่สองจะช่วยให้เด็กไม่กล้าทำชั่วแม้ว่าจะไม่มีคนมองเห็น


 


ผมเห็นสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพระที่วัดที่จะก่อตัวตามมาด้วย สายสัมพันธ์เส้นที่สามจะช่วยให้เขาวิ่งขึ้นวิหารไปฟังพระสวด แม้จะเป็นเทศกาลคริสตมาสก็ตาม