Skip to main content

ฉากสุดท้ายของ ร.ส.พ.

 


 


ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้ยุบองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ในปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเหตุผลที่ว่ามีปัญหาหนี้สินหนักหน่วง ดำเนินการงานล้มเหลวจนหนี้มากขึ้นและไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้


 


ประเด็นที่ค้างคาใจกรรมาธิการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของวุฒิสภาก็คือ เหตุผลที่รีบร้อนยุบองค์กรและไม่มีการปรึกษากับผู้บริหารองค์กรในอดีต แม้แต่นายปองพล อดิเรกสาร อดีตผู้บริหาร ร.ส.พ.ยังบ่นเสียดายที่รัฐบาลยุบองค์กรนี้


 


เช่นเดียวกับกรรมาธิการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจวุฒิสภาก็ยังติดใจที่รัฐบาลรีบยุบ ร.ส.พ.ทั้งๆ ที่น่าจะสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพให้สามารถแข่งขันได้


 


เสมือนหนึ่งมีคำตอบเอาไว้ว่าให้รีบยุบเพื่อให้เอกชนรายอื่นมาดำเนินการทำเครือข่ายขนส่งทั่วประเทศแทน ร.ส.พ.


 


จนเป็นประเด็นที่กรรมาธิการการแปรรูปต้องตั้งคำถามไปยังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมว่า จะมีการให้เอกชนรายหนึ่งรายใดมารับช่วง การทำงานของ ร.ส.พ.หรือไม่


ถ้ามี จะเอาหลักเกณฑ์คัดเลือกได้มาอย่างไร?


 


ขอเรียนว่าความจริงแล้วสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจได้ทำข้อเสนอให้เลือกระหว่าง การแปลงสภาพ ร.ส.พ.ให้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพซึ่งต้องใช้เงินประมาณ ๒,๑๑๔ ล้านบาท กับการยุบเลิกกิจการซึ่งต้องให้รัฐบาลรับภาระหนี้สินทั้งสิ้น ๑,๘๑๗ ล้านบาท


 


จะเห็นว่าต่างกันไม่มากนัก เพียง ๓๐๐ ล้านกับการที่สามารถรักษาองค์กรที่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพได้


 


กรรมาธิการพบว่า ร.ส.พ.มีเครือข่ายการขนส่งทั้งประเทศ มีลูกค้ากว่า ๕๐,๐๐๐ ราย  หากใช้ระบบบริหารที่ดี และตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริต องค์กรนี้จะมีค่ายิ่ง  น่าเสียดายที่รัฐบาลเลือกที่จะยุบ ร.ส.พ.แทนที่จะเลือกปรับปรุงกิจการ


 


แต่ที่จะต้องทำการตรวจสอบติดตามเพิ่มเติมก็คือ  ประเด็นที่จะให้ขายกิจการ ร.ส.พ.ให้กับเอกชนหรือไม่ ซึ่งกรรมาธิการฯ เป็นห่วงว่าจะมีผู้ได้ประโยชน์


 


รัฐบาลในอดีตเคยขายกิจการโรงงานกระดาษบางปะอิน โดยมีเงื่อนไขเป็นมติของคณะรัฐมนตรีว่า หน่วยงานของรัฐทุกแห่งต้องซื้อกระดาษของโรงงานนี้เป็นอันดับแรก ปรากฎว่าเอกชนที่ซื้อไปก็มีอำนาจในการผูกขาดการขายกระดาษทั้งประเทศในขณะนี้! และทำกำไรมหาศาลมากกว่าที่อยู่ในกิจการของรัฐ


 


วุฒิสภาก็ตั้งเป็นข้อสังเกตว่า อีกไม่กี่ปีจะหมดอายุการให้สิทธิพิเศษของโรงงานกระดาษแห่งนี้  ก็ขออย่าให้เป็นที่ครหาว่ารัฐบาลมีนอกมีใน ให้อำนาจการผูกขาดแก่เอกชนดังเช่นรัฐบาลในอดีตที่ผิดพลาดไป ขอให้แก้ไขอย่าได้ต่อสิทธิพิเศษนี้ให้เอกชนรายนี้อีก  เพราะไม่เป็นธรรม ไม่เป็นการแข่งขันแบบเสรี


 


ซึ่งสำนักรัฐวิสาหกิจและสำนักงบประมาณก็รับเป็นข้อสังเกตของวุฒิสภาชุดนี้ไปดำเนินการต่อไป


 


จะเห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบเช่นนี้ เพราะรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยย่อมต้องให้มีการตรวจสอบ  หากไม่มีการตรวจสอบก็จะมีปัญหาในเรื่องของการเอื้อประโยชน์เรียกว่าเผลอไม่ได้เป็นขายให้เอกชน ตั้งแต่รัฐบาลในอดีตไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลไทยรักไทยเท่านั้น


 


ในวุฒิสภาเราตรวจพบหลายกรณีที่เป็นปัญหา เช่น ปรส. ศปร.หรือของกรณีซีทีเอกซ์  ประเด็นเรื่องการขายกิจการ ร.ส.พ.เช่นเดียวกัน หากมีการให้เอกชนรายใดเข้ามามีอำนาจในการผูกขาดขนสินค้าให้กับรัฐวิสาหกิจ   การเสนอราคาก็จะเกิดความไม่เป็นธรรม ไม่เกิดการแข่งขันที่แท้จริง!


 


ประเด็นของการอาศัยช่องว่างที่จะให้อำนาจในการผูกขาดให้แก่เอกชนในการค้ากำไรเกินควร จึงเป็นหลักการการทำงานของกรรมาธิการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของวุฒิสภา


โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกังขาที่คนเขาไม่แน่ใจนักว่า รัฐบาลจะให้พรรคพวกไปถือหุ้นหรือซื้อรัฐวิสาหกิจไปหาผลประโยชน์หรือไม่? เป็นประเด็นซึ่งกรรมาธิการต้องเรียกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมาแทบทุกสัปดาห์  เช่น บริษัทเดินเรือทะเลไทย จำกัด บริษัทไทยแอร์พอร์ตกราวต์ เซอร์วิสเซลจำกัด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ฯลฯ


 


ซึ่งเป็นเรื่องที่มีข้อกล่าวหาเรื่องของการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนทั้งสิ้น


 


เรื่องความโปร่งใสนี้ ต้องเป็นประเด็นหลักในการทำงานของรัฐบาล หากต้องการให้ชนะใจประชาชนให้มาทำงานเป็นรัฐบาลในสมัยหน้า


 


แล้วผมจะมาเล่าให้ท่านฟังอีกในโอกาสต่อไปว่าอะไรที่ต้องทักเอาไว้ กันเอาไว้ หรือต้องเตือนเข้าไว้