Skip to main content

หยุดเอฟทีเอ ...หยุดแปรรูปประเทศ สร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

คอลัมน์/ชุมชน

 


 

ในช่วงวันที่ ๙ – ๑๓ มกราคม ศกนี้ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ๑๐ 
องค์กร
  ระดมพลเรือนหมื่นขึ้นเชียงใหม่ เพื่อแสดงจำนงว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการให้มี
การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศสหรัฐอเมริกา
เหตุผลที่ทำให้เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย
และพันธมิตรรวมตัวกันเพื่อประท้วงนั้น เนื่องจากข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเสรี
การบริการและลงทุนและการเปิดตลาดสินค้าเกษตรนั้นจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ ในด้านสาธารณสุขจะทำให้
ผู้ป่วยและผู้บริโภคต้องซื้อยาในราคาแพง ประชาชนที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงยา ทำให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์และ
ทรัพยากรชีวภาพ เกษตรกรนับล้านครอบครัวต้องสูญเสียอาชีพ  และทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการ
แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับความจำเป็นพื้นฐาน
 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาราคาแพงจากการผูกขาด หรือเนื่องจากระบบทรัพย์สินทางปัญญา ระบบสิทธิบัตร เป็นปัญหาที่ได้
รับการยอมรับจากทั่วโลกว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนที่จำเป็นต้องได้ยาเพื่อการรักษา โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆ
เช่น ยารักษามะเร็ง โรคหัวใจ รวมทั้งยาสำหรับรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี
/ผู้ป่วยเอดส์  

 

และในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา ได้มีการหยิบยกเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยาขึ้นมาเจรจา จากการที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ติดตามกรอบการเจรจาของสหรัฐอเมริกากับประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ หรือออสเตรเลีย พบว่าได้มีการยื่นข้อเสนอให้ประเทศเหล่านั้นปรับแก้กฎหมายสิทธิบัตรยาในประเทศ ซึ่งจะมีผลให้การถือครองสิทธิบัตรยามีระยะเวลายาวนานขึ้นจาก ๒๐ ปี เป็น ๒๕  ปี ซึ่งหมายถึงการผูกขาดการตลาดของบริษัทยาเพียงเจ้าเดียว ส่งผลให้เกิดการผูกขาดราคายาทำให้ราคายาแพงขึ้น เนื่องจากไม่สามารถควบคุมราคายาที่บริษัทเหล่านั้นตั้งขึ้นมาได้


 


ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์ต้องรับผลกระทบในเรื่องการผูกขาดราคายาส่งผลให้ต้องซื้อยาต้านไวรัสในราคาที่แพงมาก ผู้ติดเชื้อจะต้องเสียเงินซื้อยาต้านไวรัสคนละประมาณ ๒ หมื่นบาทต่อเดือน จนกระทั่งปี ๒๕๔๒ เอ็นจีโอ ผู้ติดเชื้อ กองเอดส์ องค์การเภสัชกรรม ฯลฯ ได้วางแผนดำเนินการบังคับใช้สิทธิ์ เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาดีดีไอเม็ดเพื่อจำหน่ายในราคาถูก (แม้จะไม่สำเร็จ) แต่ในที่สุดฝ่ายวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการค้นคว้าและผลักดันให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาดีดีไอเม็ดและผงจนสำเร็จ เพื่อขายแก่ผู้ติดเชื้อในราคาทุน และต่อมาได้พัฒนายาต้านไวรัสสูตรยา ๓ ตัวในแคปซูลเดียวกันในชื่อ "จีพีโอเวียร์" ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสสูตรหลักที่ผู้ติดเชื้อทั่วประเทศไทยใช้กันในปัจจุบัน จำหน่ายในราคาที่ผู้ติดเชื้อต้องจ่ายเดือนละประมาณ ๑,๒๐๐ บาท จากที่เคยต้องจ่ายเป็นเรือนหมื่น


 


เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์  ซึ่งเป็นองค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วมประท้วงเอฟทีเอ จึงได้ยืนยันว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลรักษาสุขภาพ และระบบสุขภาพที่ดีจะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าประเทศของเราไม่สามารถพึ่งตนเองได้ในการผลิตยาภายในประเทศ จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยดังนี้


๑.        ให้นำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาออกจากการเจรจาในระดับพหุพาคี และทวิภาคี


๒.        ให้ เร่งรีบดำเนินการใช้ มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเช่น การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ  ตาม พรบ.สิทธิบัตร เพื่อผลิตยาจำเป็นที่มีสิทธิบัตร และนำเข้าซ้อนกับยาที่ไม่สามารถผลิตได้เอง เพื่อนำมาแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข เช่นยาต้านไวรัสเอดส์  ยากลุ่มรักษาโรคมะเร็ง  เป็นต้น


๓.        ให้มีกลไกควบคุม ดูแลคุณภาพและราคายาที่เป็นอิสระ


๔.        ให้รวมระบบการดูแลรักษาสุขภาพ ของประชาชนต่างๆ ในทุกระบบสวัสดิการของรัฐ ให้เป็นกองทุนสุขภาพเดียว เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยา และขยายระบบสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม สำหรับประชาชนทุกคน


๕.        สนับสนุนให้หน่วยงานที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นอิสระ และมีความสามารถในการคิดค้นและผลิตยาใหม่ที่จำเป็นเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองในการผลิตยาของประเทศ


 


ดังนั้น การที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ๑๐ องค์กรกว่าหมื่นคน  ร่วมกันแสดงพลังด้วยการประท้วงการประชุมเอฟทีเอ ครั้งที่ ๖ ณ เชียงใหม่ในครั้งนี้ จึงเป็นไปด้วยความสมานฉันท์และมิใช่เพื่อตัวผู้ติดเชื้อผู้ป่วยเอดส์เอง แต่เพื่อคนไทยทุกคนจะไม่ต้องตกอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดที่ไม่เป็นธรรม...


 


จึงเป็นที่น่าติดตามในตอนต่อไปว่า รัฐบาลไทยโดยการนำของนายกทักษิณ ชินวัตร จะมีท่าทีต่อข้อเสนอ หรือแถลงการณ์ของเครือข่ายภาคประชาชนเหล่านี้ อย่างไร?


 


หากผู้อ่านสนใจถ่ายทอดสดการประท้วงเอฟทีเอที่เชียงใหม่ หรือต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องเอฟทีเอ สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.peoplechannel.org