Skip to main content

ผิดด้วยหรือที่มีมากกว่าหนึ่ง

คอลัมน์/ชุมชน


 


 



 


 


 


ไม่กี่วันมานี้ มีข่าวเรื่องกฎหมายใหม่ในไทยที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์นอกสมรส ที่นำไปสู่การหย่าร้างได้ (ดูได้ที่ http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000002175)  เป็นเรื่องร่างกฎหมายฟ้องหย่าฉบับใหม่  ผู้เขียนถึงกับขำ เพราะว่า เป็นเรื่องที่กำลังบอกว่าเมืองไทยกำลังขยับเป็นฝรั่งมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ บทความนี้ผู้เขียนขอเสนอบางแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้


 


ประเด็นแรก คือเรื่องความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยากับกฎหมาย  อันนี้เป็นเรื่องที่บอกว่าสังคมเข้ามายุ่งกับเรื่องส่วนตัวของคนสองคนหรือมากกว่า โดยเข้ามารับรองความสัมพันธ์ดังกล่าว ซึ่งมีผลในเรื่องอื่นๆ เช่นสมบัติ หนี้ ลูก และ สิทธิต่างๆ ที่สังคมกำหนดให้ในฐานะที่เป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม ที่เรียกว่าครอบครัว  ที่กำหนดไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า พ่อ แม่ ลูก หรือ สามี ภรรยา เท่านั้น อะไรที่นอกเหนือจากนี้ตกไป ไม่อยู่ในกรอบ กลายเป็นบุคคลชายขอบ ตามกฎหมายว่าด้วยครอบครัว


 


จุดนี้ทำให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจผิดมาตลอดว่า อะไรก็ตามที่ไม่ตรงตามนิยามนี้ผิดหมด นักกฎหมายก็ไม่ยอมคิดต่อเพราะขี้เกียจหรือเห็นแก่ตัวอะไรก็แล้วแต่  ดังนั้น ความจริงชุดเดียวจึงเกิดขึ้น ซึ่งทำให้ความเข้าใจที่ผิดก็ผิดกันต่อไป จวบจนเมื่อเร็วๆ นี้มีเรื่องการยอมให้คนรักเพศเดียวกัน "แต่งงาน" กันได้ในต่างประเทศ จึงมีการออกมาโวยวายกันในสังคมฝรั่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและจับตามองต่อไปว่า สังคมไทยจะยอมให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้มั้ย เพราะไหนๆ ก็พัฒนามาขนาดจะออกกฎหมายเรื่องหย่าเพราะชู้ ให้มีความชัดเจนกันแล้ว


 


ประเด็นที่สอง แม้ว่ากฎหมายจะพยายามระบุเรื่องให้มีแค่คนสองคนในความสัมพันธ์  ในความเป็นจริงของมนุษย์นั้น ราคะตัณหา ความต้องการทางเพศ มันไม่ได้เขียนด้วยกฎหมายแต่อย่างใด จุดนี้ผู้เขียนมองว่า ถ้าใครจะมีความสัมพันธ์นอกสมรส แต่สามารถที่จะจัดการให้ความสัมพันธ์เดิมได้ ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะว่าใบทะเบียนสมรสนั้นกำหนดไว้ว่าคนสองคนมีพันธะทางกฎหมาย แต่ไม่ใช่ทางใจ เพียงแต่ว่า ถ้าใครไม่พร้อมที่จะจดก็อย่าไปจด เพราะจดแล้วเรื่องที่จะตามมามีอีกแยะ


 


ประเด็นนี้สังคมไทยที่อนุรักษ์จัดๆ คงทำใจไม่ได้ ที่ยอมให้มีการปล่อยเสรีแบบนี้ จริงๆแล้วเคยถามย้อนกลับบ้างหรือไม่ว่า ใบทะเบียนสมรสนั้นไม่ต่างกับสัญญาข้อตกลงทั่วไปเท่านั้น ดังนั้น ถ้าแต่งได้ก็หย่าได้ การอนุญาตให้หย่าก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ว่าการหย่าซับซ้อนกว่าการจดทะเบียน และตามโครงสร้างสังคมที่เชิดชูผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงมักหมดอนาคตถ้าเกิดการหย่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ฟ้องหรือผู้ถูกฟ้องก็ตาม และมีผู้หญิงกี่คนที่อยากหย่า มันมีแต่เสีย นี่แหละที่มองว่าการออกกฎหมายหย่าที่ดีจะช่วยปกป้องหญิงส่วนใหญ่ในสังคมที่ชายเฮงซวย ไม่มีความรับผิดชอบ


 


ประเด็นที่สาม การแก้ปัญหาเรื่องหย่าร้างและสร้างเกราะป้องกันให้ผู้หญิงนั้น เป็นเรื่องจำเป็นในระดับหนึ่ง ต้องเข้าใจว่าผู้หญิงในสังคมไทยที่จะอยู่ได้โดยไม่มีสามีเลี้ยงหลังจากแต่งงานแล้วนี่มีไม่มาก ที่เก่งๆ หลายคนนั้น ก็มักมีสามีที่อยู่ในโอวาท หรือไม่งั้นก็มีคุณภาพที่ใช้ได้ ไม่เลวร้าย และบางคนก็ตัดสินใจไม่แต่ง ให้รู้แล้วรู้รอดเสียเลย เพราะพวกนี้ไม่ได้มองว่าสถาบันการแต่งงานมันจะทำให้พวกหล่อนมีดีมากหรือน้อยไปกว่าเดิม


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องสอนหญิงกันเองว่า ต้องรู้จักพึ่งตนเอง และฉลาด ไม่หลงไปกับกรอบสังคมว่า ต้องมีผัว มีลูก รู้จักตั้งคำถามว่าทำไมต้องตามสังคม แต่ก็ไม่ใช่ว่าบ้าศักดิ์ศรี เป็นพวกเฟมินิสต์จ๋า แบบที่เรียกว่า เรดิคัล ที่จะล้มล้างระบบปัจจุบันให้สิ้นซากในชั่วคืน  อันนั้นคงต้องคอยชาติหน้าตอนบ่ายๆ เพราะคนในสังคมกระแสหลักเค้ารับไม่ได้ นับว่าสุดโต่งเหลือเกิน ซึ่งก็พอมีให้เห็นกันพอควรในสังคมไทยเดี๋ยวนี้  ส่วนเมืองนอกนั้นเจอบ่อยๆ  พวกนี้ไปไหน "วงแตก" กันกระเจิง ปั่นป่วนเหลือเกิน ขนาดมีโจ๊กขำๆกันในหมู่นักวิชาการฝรั่งว่า ถ้าที่ไหนมีเฟมินิสต์แบบเรดิคัล เตรียมตัวหลบกันดีๆ พวกนี้ไปที่ไหนไฟลุก ก็เป็นเรื่องน่าสนใจอีกแบบ


 


ส่วนอีกตัวอย่างที่เจอคือ ผู้หญิงสมัยใหม่ที่นิยมแย่งผัวชาวบ้าน แล้วอ้างว่าเป็นเฟมินิสต์ก็แยะ ทำนองว่า "ฉันเปล่านะ เค้ามาเอง" พวกนี้มั่นใจว่าทำไมล่ะ ของแค่นี้แบ่งกันกินแบ่งกันใช้น่าจะได้ แบบตัวละคอนหนึ่งในเรื่อง "เมียหลวง" จำชื่อไม่ได้ เป็นเมียน้อยคนแรกของพระเอก แปลกที่ว่าผู้หญิงแบบนี้ความรู้สูงแต่แหมเธอ "หอยไว" ไปนี้ด แบบนี้ก็ป่วนไปอีกแบบ ตามกระแสข่าวลือนั้นมีหลายคนมีชื่อว่าเป็นคนดังในสังคมวิชาการทีเดียวที่เป็นแบบนี้


 


ประเด็นที่สี่ ในเนื้อข่าวที่ตามมาบอกว่า ชู้นั้นไม่จำกัดเพศ นั่นหมายความว่า อาจเป็นกรณีที่สามีไปนอนกับชายชู้ แบบว่า "สามีของฉัน ไปเป็นภรรยาคนอื่น" ก็ถือว่าฟ้องหย่าได้ อันนี้ก็สะใจดี พวก "คุณแอบ" จะได้เลิกแต่งบังหน้ากันเสียที ยกเว้นจะตกลงกับภรรยาก่อนว่า "วันนี้ฉันขอไปมีสามีบ้างนะจ๊ะ" ถ้าภรรยาทำใจได้ก็โชคดีไป ส่วนตัวของผู้เขียนเองขอบอกได้ว่าเจอมาแยะทั้งเกย์ไทยและเกย์ฝรั่งที่มีภรรยาแล้วมาแอบหนีมากินขนมนอกบ้าน (เอ๊ะ ขนมนั้นรวมผู้เขียนด้วยรึเปล่า? ฮิฮิ) ไม่รู้จะเตือนอย่างไรดี คราวนี้คงออกมาหากินลำบากกว่าเดิม       


 


ส่วนในมุมมองกลับกัน ว่าเลสเบี้ยนที่มีสามีเป็นผู้ชายนั้นจะมีปัญหาหรือไม่นั้น ผู้เขียนคงตอบไม่ได้ ไม่มีข้อมูลเลย ต้องขอผ่านเพราะไม่มีความรู้เรื่องดนตรีไทยเลยจริงจริ๊ง


 


จากสี่ประเด็นที่กล่าวมา ชวนให้คิดไปได้เรื่อยๆ ว่าสังคมไทยจะไปไงกันต่อไป รสชาติของบทความวันนี้อาจออกไปทาง "ซ้อเจ็ด" หน่อยๆ ถือว่าเปลี่ยนรสชาติ ก่อนตรุษจีนหน่อยแล้วกัน