Skip to main content

จากหลุมดำ ถึง ๗ การ์ตูนอันตราย

คอลัมน์/ชุมชน

 



 


เด็กใหม่ในเมือง


 


 


 


 


ผมเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งเมื่อหลายเดือนก่อน ตั้งใจว่าจะนำบทความชิ้นนั้นลงในเว็บไซต์แห่งนี้ แต่ด้วยเหตุขัดข้องบางประการ งานชิ้นนี้จึงไม่เคยถูกลงอย่างเป็นทางการ


 


ขออนุญาตเอามาให้อ่านกันครับ


 








การ์ตูนสายพันธ์ใหม่ : "หลุมดำ" เข้าใจการ์ตูนหรือยัง


เด็กใหม่ในเมือง


 


มีสิ่งหนึ่ง ที่ผมเชื่อมั่นมาตลอด ว่ามันจะเป็นทางที่จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยมีความขัดแย้งน้อยที่สุด


 


สิ่งนั้นคือ "ความเข้าใจซึ่งกันและกัน" นั่นเอง


 


ผมเชื่อว่าหากมนุษย์มีความเข้าใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาจะมองสิ่งเหล่านั้นในภาพที่เป็นจริง ซึ่งจะส่งผลให้เรารู้ว่าเราสามารถจะจัดการกับสิ่งนั้นๆ อย่างไร หากสิ่งนั้นเกิดมีปัญหาขึ้น


 


แต่ปัญหาที่มันเกิดขึ้นก็ตรงที่ว่าเรารู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในสังคมของเรา แต่เราดันพยายามคิดแต่จะหาทางแก้ปัญหา โดยลืมที่จะทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น จนทำให้ปัญหาแทนที่จะหมดไป กลับกลายเป็นทำให้ปัญหายุ่งเหยิงอีรุงตุงนังกันเข้าไปใหญ่


 


อย่างเช่นรายการ "หลุมดำ" ที่เพิ่งนำเสนอเรื่อง "การ์ตูนสายพันธุ์ใหม่" ไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (๒๗ ส.ค.) ซึ่งทำให้เราได้เห็นตัวอย่างที่ดีของการพยายามพูดถึงปัญหาโดยขาดความเข้าใจอย่างเพียงพอ ซึ่งไม่ว่าตัวรายการจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามแต่สิ่งที่รายการกำลังทำอยู่นั่นกำลังจะทำให้การ์ตูนดีๆ พลอยโดนเข้าใจผิดไปด้วย


 


ประเด็นแรกที่ทำให้รู้สึกถึง "ความไม่เข้าใจ" การ์ตูนของผู้ผลิตรายการก็คือการใช้ภาพเพียงหนึ่งภาพ เพื่อพิพากษาการ์ตูนทั้งเรื่อง


 


จริงอยู่ครับ ว่าภาพหลายๆ ภาพในการ์ตูนบางเรื่องอาจจะเข้าข่าย "รุนแรง" หรือ "ลามกอนาจาร" ก็จริง แต่ผมเชื่อว่าการ์ตูนก็เหมือนกับภาพยนตร์ หรือกับวรรณกรรมสักเรื่อง ตรงที่ภาพหนึ่งภาพ ซีนหนึ่งซีน หรือข้อความเพียงไม่กี่บรรทัดในเล่ม ไม่สามารถเล่าเรื่องทั้งหมดได้อย่างกระจ่างแจ้ง


 


หรือจะสรุปง่ายๆ ก็คือในการ์ตูนที่มีภาพไม่เหมาะสม ก็ไม่ได้หมายความว่าการ์ตูนเรื่องนั้นจะเลวทรามต่ำช้าซะหน่อยนิ อย่างเช่นการ์ตูนเรื่อง "โรงเรียนลูกผู้ชาย ภาค ๒" ซึ่งเป็นผลงานของ Akira Miyashita ที่แม้ภาพที่เห็นจะเป็นภาพการ์ตูนแบบถึงเลือดถึงเนื้อไปหน่อย (จนทางรายการต้องย้อมสีขาว-ดำให้เห็นสีแดงกันจะๆ...คงเกรงว่าคนดูจะไม่รู้ว่ามันคือ "เลือด" ละกระมังJ) แต่เนื้อหาสาระของการ์ตูนกลับพูดถึงเรื่องคุณธรรมน้ำมิตรได้ไม่เลว...ซึ่งเอาไว้วันหลังจะหยิบเรื่องนี้มาคุยครับ


 


อีกเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกกับรายการนี้ หลังจากที่ผมได้ฟังทีมผู้ผลิตรายการพูดในรายการ "ถึงลูกถึงคน" ว่า "ไม่ใช่ว่าพวกเราทุกคนไม่เคยดูการ์ตูน พวกเราก็โตมากับโดราเอม่อน กับอิกคิวซัง" ซึ่งผมคิดว่าการพูดเรื่องแวดวงการ์ตูนนั้นต้องอาศัยความ "รู้จริง" มากกว่าการอ้างการ์ตูนเพียงเรื่อง-สองเรื่อง ซึ่งกลายเป็น "การ์ตูนสามัญประจำบ้าน" ของคนไทยไปแล้ว


 


การเสนอปัญหาโดยขาดความเข้าใจต่อสิ่งนั้นๆ ผ่านสื่อมวลชนนั้นไม่ได้แก้ปัญหา...ถ้าจะทำแบบนี้ ผมว่าการไม่พูดถึงมันเลยยังจะดีเสียกว่า


 


ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยว่า "แต่ภาพที่เห็นมันก็รุนแรงเกินกว่าที่เด็กจะได้ดูนี่"...ใจเย็นๆ ครับ อ่านไปถึงท้ายบทความ แล้วผมจะพูดถึงวิธีแก้ปัญหาให้ฟัง


 


ประเด็นที่สองก็คือ...ผมมีความรู้สึกว่ารายการโทรทัศน์รายการนี้พยายามสร้างภาพให้เกิดความรู้สึกตั้งแง่กับการ์ตูนทุกเรื่องว่าไม่ดี รวมถึงการสร้างภาพให้นักนิยมการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นผู้หลงใหลในวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างไม่ลืมหูลืมตา...ไม่ว่ารายการจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ด้วยการพูดอย่างลอยๆ ของทีมงานรายการว่า "การ์ตูนที่หยิบจากร้านการ์ตูน ๒ ใน ๓ เล่มจะเป็นการ์ตูนลามก (ซึ่งข้อความนี้ทำให้บรรดาคอการ์ตูนอดทึ่งในความสามารถด้านการ "หยิบการ์ตูน" ของทีมงานท่านนั้นไม่ได้J) หรือการถ่ายภาพงานประกวดคอสเพลย์ (การแต่งกายเลียนแบบตัวการ์ตูน) มาใส่บทบรรยายถึงความหลงใหลในวัฒนธรรมอย่างไม่ลืมหูลืมตาของวัยรุ่น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่น้าๆ รุ่นซิกส์ตี้เขาแต่ตัวเลียนแบบเอลวิส หรือวัยรุ่นสมัยยุค Octobian ที่ร่ำๆ อยากจะเป็นเช เกวาราให้ได้ จนไปถึงพวกขาร็อกที่เคยอยากจะทำตัวให้เหมือนร็อกสตาร์คนโปรด ซึ่งถ้าดูไปดูมา ทั้งคอสเพลย์และเรื่องทั้งหลายทั้งปวงที่ผมพูดถึง มันก็เป็นเรื่องเดียวกันนะแหละ หากแต่ต่างกรรม – ต่างวาระกันก็เท่านั้น


 


นี่ยังไม่นับถึงการเอาภาพการ์ตูนที่ไม่ได้เข้าข่ายลามกอนาจารมาใส่ในบทบรรยายที่พูดถึงการ์ตูนลามก ซึ่งนับว่าเป็นการทำลายการ์ตูนดีๆ อย่างเด่นชัด


 


แต่ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าการ์ตูนนั้นเป็นสิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่องอันแตะต้องมิได้หรอกนะครับ เพราะคนที่รักการ์ตูนทุกคนต่างก็รู้สึกว่าการ์ตูนที่เนื้อหา หรือภาพที่ไม่เหมาะกับเยาวชนนั้นมีอยู่จริงครับ แต่วิธีที่รายการนำเสนอนั้น อาจจะพาไปสู่การแก้ปัญหาแบบเหมารวม อันเป็นวิธีแก้ปัญหาวัยรุ่นที่สังคมไทยถนัดนัก


 


ผมจึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาขึ้นมาด้วย เพราะเกรงว่าเดี๋ยวท่านๆ จะหาว่าผมได้แต่ก่นด่า หาได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย ซึ่งวิธีที่ว่าก็มีดังนี้...


 


๑. ทำลายความเชื่อที่ว่า "การ์ตูนเป็นเรื่องสำหรับเด็กเท่านั้น"


 


จากการที่ผมได้อ่าน "คำชี้แจง" ของทีมงานรายการในความเห็นที่ ๘๑ ของกระทู้ http://www.tvburabha.com/new/m_webboard_QAview.asp?id=5936 ซึ่งในตอนหนึ่งของคำชี้แจง ได้มีการพูดว่า


 


"เราทุกคนก็รักการ์ตูนค่ะ เลยไม่อยากให้สื่อการ์ตูน กลายเป็นสื่อลามก เพราะการฉกฉวยผลประโยชน์ ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ช่วยกันคิดในทางสร้างสรรค์ดีกว่านะคะ ว่าจะทำอย่างไร การ์ตูนจึงจะยังเป็นสื่อที่สดใส สะอาด เป็นเพื่อนของเด็กเหมือนอย่างการ์ตูนสร้างสรรค์หลายๆ เรื่อง ที่อยู่คู่กับเรามา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน"


 


นับเป็นการแสดงความคิดเห็นที่สะท้อนถึงวิธีคิดของผู้คนส่วนใหญ่ที่มีต่อการ์ตูน อันเป็นความคิดที่ไม่ได้มองความเป็นไปของการ์ตูนในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งการ์ตูนสำหรับเด็ก ไปจนถึงการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ (ที่ไม่ได้หมายความถึงการ์ตูนที่พูดเรื่องเพศและความรุนแรงอย่างเดียวนะครับ แต่รวมถึงการ์ตูนที่พูดถึงเรื่องหนักๆ อย่างสังคม การเมือง ฯลฯ) ซึ่งวิธีคิดแบบนี้แหละ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการจัดการแบบเหมารวม อันจะเป็นการกวาดการ์ตูนที่เนื้อหาดี แต่ไม่เหมาะกับเด็กลงถังขยะได้ง่ายๆ


 


ผมมองว่าการ์ตูนมีคุณค่าเทียบกับวรรณกรรม ภาพยนตร์ และดนตรี ในฐานะที่สามารถสร้างความบันเทิงให้กับคนทุกเพศทุกวัย และการ์ตูนที่มีภาพโป๊เปลือย ก็ไม่ใช่การ์ตูนที่เลว หากมันเหมาะกับช่วงอายุบางช่วงเท่านั้น


 


๒. เราควรต้องเริ่มต้นหาทางจัดเรทการ์ตูนอย่างเป็นการเป็นงานเสียที


 


ในประเทศญี่ปุ่นที่เป็นแหล่งเฟื่องฟูของการ์ตูนนั้น เขามีการจัดการกับการ์ตูน "สำหรับผู้ใหญ่" โดยมีคำเตือนกำกับไว้ที่ปก อีกทั้งยังมีการจัดที่วางขายไว้เฉพาะ ซึ่งแยกเป็นสัดส่วนกับการ์ตูนสำหรับเด็ก


 


แต่ปัญหาที่เกิดอยู่ตรงนี้ ก็เพราะเรายังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้กันจริงๆจังๆ บวกกับทัศนคติต่อการ์ตูนแบบในข้อแรก ทำให้การจัดการเป็นแบบจับเป็นครั้งๆ กวาดเป็นคราวๆ แล้วปัญหามันก็ยังอยู่อย่างนี้แหละ


 


ผมจึงมองว่าการจัดแบ่งแยกระหว่าง "การ์ตูนสำหรับเด็ก" และ "การ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่" น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดครับ J


 


@#@#@#@#@


 


คุณเชค – สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิพูดไว้ในช่วงท้ายของรายการ "หลุมดำ" ตอนนั้นว่า "การ์ตูนไทยหายไปไหน..."


 


ผมอยากจะตอบพี่เชคของผมว่า จริงๆ มันไม่ได้หายไปไหนหรอกครับพี่ มีนักเขียนการ์ตูนไทยหลายท่านที่มีผลงานน่าจับตามอง และกำลังค่อยๆ สร้างรากฐานของแวดวงการ์ตูนไทยให้พัฒนาขึ้นทีละขั้น


 


แต่การมองแต่ข้อเสีย ก็ทำให้เราลืมมองบางมุมที่ดีไป เอ...หรืออาจจะมองเห็นแล้ว แต่แกล้งทำเป็นไม่เห็นกันแน่หว่า?


 

 



 

ที่ผมขุดบทความชิ้นนี้มาเล่าใหม่อีกครั้งก็เนื่องมาจากในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๙ หน้า ๓๖ ได้ตีพิมพ์บทความที่ชื่อว่า ระวัง!!! 7 การ์ตูนอันตราย พบพิรุธกลายเป็น"ตำราสอนเซ็กส์" (สามารถอ่านบทความที่ว่าได้ที่ http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01gen01120149&day=2006/01/12 ครับ) ซึ่งอ้างการศึกษาวิเคราะห์ของ "กลุ่มผู้ปกครองผู้รักชาติ รักเอกราช และพิทักษ์ความมั่นคงของชาติ" (ดูชื่อกลุ่มแล้วผมนึกว่าเป็นพวกกลุ่ม "ขวาพิฆาตซ้าย" ที่นั่งไทม์ แมชชีนจากสมัยเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ มายังสมัยปัจจุบันซะอีกJ)


 


ด้วยความที่ผมเองก็ไม่เคยอ่านการ์ตูนทั้ง ๗ เล่ม จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าการ์ตูนที่ถูกกล่าวถึงนั้นมีความเหมาะสม-ไม่เหมาะสมแต่อย่างไร


 


แต่ปัญหาก็คือ แม้ว่าปัญหาการ์ตูนจะเคยกลายเป็น Talk of the town ตามด้วยกระแสข่าวการเก็บการ์ตูนบางเรื่องลงจากแผงอยู่ช่วงหนึ่ง ตามด้วยความเงียบเฉย แล้วก็จะมีเรื่องใหม่ๆ มาทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองสนใจปัญหาการ์ตูนอีกครั้ง แล้วก็จบลงด้วยความเงียบเฉย แล้วก็จะมีเรื่องใหม่ๆ มาทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองสนใจปัญหาการ์ตูนอีกครั้ง แล้วก็จบลงด้วยความเงียบเฉย...แล้วปัญหาก็ไม่รู้จักจบจักสิ้นเสียที


 


มันพอจะบอกได้หรือยังครับ ว่าการแก้ปัญหาด้วยการจับ-ปรับ-กวาดล้างนั้น...ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาทุเลาเบาบางลงไปเลย


 


ลองดูทางแก้ปัญหาที่ผมเสนอไว้ในบทความข้างบนดูดีมั้ยครับ เจ้านาย...