Skip to main content

บูชาครู ผู้รักศิษย์ดั่งลูกในอุทร

คอลัมน์/ชุมชน



 


เดือนมกราคมของทุกปี มีวันสำคัญทั้งต่อเด็กคือ วันเด็กแห่งชาติ และวันครู


 


แต่วันครูดู เหมือนจะมีแต่กิจกรรมในแวดวงครู ในยุคเงินตราเป็นใหญ่อย่างทุกวันนี้  ผู้คนพากัน ลืมเลือนว่า เราทุกคนล้วนเติบโตมาได้ เพราะเป็น "ศิษย์มีครู" ครูมีพระคุณต่อศิษย์เป็นที่สอง รองจากพ่อแม่ ซึ่งเป็นครูคนแรกของลูก 


 


ดิฉันจึงเขียนถึงปูชนียบุคคลผู้สอนเด็กที่มาจากป่าดงดอยเขตชายแดน แนวตะเข็บของประเทศ คือ ครูในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ เพื่อสัมผัสความรักความผูกพันอันบริสุทธิ์ระหว่าง ครูกับศิษย์ ผ่านหนังสือเรื่อง "เสี้ยวชีวิต ในโรงเรียนประจำ" เขียนโดยอาจารย์ จินตนา บัวงาม ซึ่งดิฉันได้รับมอบมาในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๙ เนื่องจากเดินทางไปประชุม ติดตามผลการสำรวจเด็ก นักเรียนในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียน ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และได้พบกับอาจารย์จินตนา บัวงาม ข้าราชการบำนาญ อดีตครูโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จังหวัดตากที่บ้านของท่าน


 


 


 


เมื่ออ่านจบแล้ว ดิฉันจึงอยากให้เพื่อนๆ ได้ซาบซึ้งกับความรักของครูต่อศิษย์บ้าง จึงขอฉาย ตัวอย่างเรื่อง "รางวัล" ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวน ๑๐ เรื่อง ดังนี้ค่ะ


 


…เสียงเด็กกลุ่มหนึ่งจ้อกแจ้กอยู่หน้าบ้านพัก ครูต๋อยวางปากกาจากบทความ ที่กำลัง เขียนอยู่ พลางบอกให้เจ้าตัวเล็กในบ้านปรับเสียงโทรทัศน์ที่กำลังดูเกมโชว์ให้เบาลงเพื่อเงี่ยหูฟัง เหตุการณ์ แต่ฟังไม่ได้ศัพท์จึงลุกไปชะโงกดูหน้าบ้าน เมื่อเห็นชัดว่าอะไรเป็นอะไร ครูต๋อยก็อุทาน อยู่ในใจ "เอาอีกแล้วเจ้าหัวโต"


 


โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เป็นโรงเรียนประจำ สอนตั้งแต่ ป.๑-ม.๖ มีเด็กหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งม้ง เย้า ลีซอ อีก้อ กะเหรี่ยง มูเซอ และไทย เด็กทั้งหมดเกือบพันคน มีทั้งเด็กเล็กและเด็กหนุ่ม สาวอยู่ในรั้วเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน เรียนด้วยกัน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน แยกกันเพียงเวลานอนเท่านั้น ซึ่งล่อแหลมต่อปัญหาชู้สาวและปัญหาอื่น ๆ อีกมาก ทาง โรงเรียนจึงจัดกิจกรรม ให้เด็กเต็มตลอดสัปดาห์ ไม่เว้นแม้เสาร์อาทิตย์ เพื่อป้องกันเด็ก ไม่ให้มีเวลาไปนั่งส่องกระจก แต่งตัวกรีดกราย เดินเกี้ยวสาว หรือนั่งปล่อยอารมณ์เพ้อฝัน ให้กระเจิดกระเจิง


 


ทุกคนตื่นตีห้า ทำธุระส่วนตัวแล้วไปนั่งสมาธิเพื่อพัฒนาจิตประมาณสิบนาที โดยมีครูเวร ดูแล ถ้าเป็นวันพระ ฝ่ายปกครองจะนิมนต์พระมาช่วยฝึกอบรมประมาณครึ่งชั่วโมง ฝึกจิตฝึก สมาธิแล้ว ไปฝึกกายบริหารประมาณ ๒๐ นาที หกโมงเช้าแบ่งกลุ่มทำงานตามหน้าที่ มีทั้งงาน อาชีพอิสระที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของนักเรียน และงานพัฒนาทำความสะอาดส่วนกลาง งานใครเสร็จก่อน ก็อาบน้ำแต่งตัวไปรับประทานอาหารก่อน เริ่มทะยอยกันไปรับประทาน อาหารได้ตั้งแต่ เจ็ดโมงเช้า จนถึงแปดโมงตรง ประมาณ ๐๘.๑๐ น. เข้าแถว เชิญธงชาติ เข้าห้องเรียน ๐๘.๓๐ น.


 


 


เลิกเรียนตอนเย็นก็ทำกิจกรรมตามหน้าที่เดิมเช่นเดียวกันตอนเช้า ใครเสร็จงานก่อนก็ทะยอย กันไปรับประทานอาหารเย็นตั้งแต่บ่ายสี่โมงครึ่งถึงหกโมงเย็น เด็กเล็ก ๆ ที่ไม่มีงานมาก จะมี เวลาวิ่งเล่นหลังอาหารเย็น ส่วนเด็กโตใครทำงานเสร็จเร็ว จะมีเวลาเดินทอดน่องคุยกันเป็น กลุ่ม ๆ  บ้างนั่งเย็บปักถักร้อยอยู่ตามโคนต้นไม้  ภาพเด็กนั่งปักผ้าถักโครเชต์ ถักนิตติ้งตามจุด ต่าง ๆ ในโรงเรียนเป็นภาพที่หาดูได้ไม่ยากในชีวิตประจำวัน


 


       


 


เด็ก ๆ มีเวลานิดหน่อยหลังอาหาร ๓ มื้อ ถ้าเด็กรู้จักจัดแบ่งเวลา พยายามเร่งทำหน้าที่ของตน ให้เสร็จเร็ว  ตอนเย็น ๆ เด็กชายอาจมีเวลาเตะตะกร้อหรือเล่นกีฬาตามถนัดได้ บางคนก็นั่ง อ่านหนังสือตามตะกร้าหรือดูโทรทัศน์ที่ทางโรงเรียนจัดวางไว้ให้ตามจุดพักผ่อน หกโมงเย็น เข้าแถว สำรวจจำนวนแล้วขึ้นเรือนนอน ดูโทรทัศน์ ทำการบ้าน อ่านหนังสือ สองทุ่มสวดมนต์ ครูประจำเรือนนอนอบรม แล้วปล่อยให้ทำกิจกรรมอิสระภายในเรือนนอน  สามทุ่มตรงปิด โทรทัศน์ ดับไฟนอน


 


วันเสาร์-อาทิตย์แบ่งเวลาเป็นช่วง ๆ ช่วงเช้าวันเสาร์  ทุกคนพัฒนาบริเวณโรงเรียนในความ ดูแลของครูเวร ช่วงบ่ายวันเสาร์ซักเสื้อผ้า ทำงานส่วนตัว ช่วงเช้าวันอาทิตย์พัฒนาเรือนนอน ช่วง บ่ายวันอาทิตย์ พักผ่อนตามอัธยาศัยเด็กๆ มีเวลาน้อยนิดสำหรับพักผ่อนในบ่ายวันอาทิตย์ เจ้าหัวโตก่อเรื่องให้เพื่อนๆ และครูต้องเหนื่อยกันอีกแล้ว เหตุการณ์เช่นนี้ของหัวโตเป็นเรื่อง ที่ทุกคนเห็นจนเคยชิน


 


 "สร้างวีรกรรมอะไรอีกหรือ" ครูต๋อยถามอย่างอ่อนใจ โดยไม่สนใจกับคำตอบที่จะได้รับสัก เท่าไร       "เขางัดบ้านคนงานครับ" เด็ก ๆ ชิงกันตอบ ครูต๋อยพยักหน้ารับรู้ ไม่ได้พูดอะไรอีก เด็ก ๆ พาหัวโตผ่านเลยไปเพื่อส่งให้ครูเวรสอบสวน ครูต๋อยหันกลับเข้าบ้าน เพื่อเขียนบทความที่ เขียนค้างอยู่


 


วีรกรรมที่ผ่าน ๆ มาของหัวโตมีมากมาย เช่น ลักของเพื่อน ปีนบ้านพักครู งัดสหกรณ์ ขโมยผลผลิตของโครงการต่าง ๆ เช่น กล้วย มะขาม ไข่เป็ด ไข่ไก่ ฯลฯ ทุกครั้งถูกจับได้ ก็ถูกลงโทษ หนักเบาแล้วแต่กรณี เรื่องหนีเรียนเป็นเรื่องปกติ หัวโตมีร่างกายแข็งแรง ตัวโตกว่า เพื่อนในชั้น ชอบรังแกเพื่อนที่ตัวเล็กกว่า ครูเรือนนอนเอือมระอา ครูประจำชั้นก็แสนจะหนักใจ คดีงัดบ้านคนงานเข้าที่ประชุมในวันต่อมา ฝ่ายปกครองเสนอปัญหาความเกเร ชอบลัก ขโมยของ หัวโต ครูประจำชั้นเสนอปัญหาหัวโตหนีเรียน ที่ประชุมอภิปรายแสดงความคิดเห็น หาทางแก้ไข


 


ครูต๋อยเป็นครูภาษาไทย สอนเด็กเรียนช้าและเด็กบกพร่องทางปัญญาก็ได้อภิปรายร่วม ด้วย ครูต๋อยตั้งข้อสันนิษฐานตามความเชื่อของครูต๋อยไว้ว่า หัวโตมีพฤติกรรมเช่นนี้เพราะหัวโต อ่านหนังสือไม่ออก เมื่ออ่านไม่ออกก็พลอยเรียนวิชาอื่นไม่รู้เรื่องไปด้วย เมื่อเรียนไม่รู้เรื่องก็เบื่อ เมื่อเบื่อก็หนี หนีไปเที่ยวซุกซนอยู่ในบริเวณโรงเรียน หลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่เฉย ๆ ว่าง ๆ ไม่รู้จะทำอะไร พบเห็นสิ่งล่อตาล่อใจน่าลักขโมย น่าทำอะไรให้ตื่นเต้นหายเบื่อหายเซ็ง ก็เลยหยิบฉวยงัดแงะไปเรื่อยๆ กลายเป็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ปรากฏแก่สายตาคนรอบข้าง กลายเป็นคนไม่น่ารัก เพื่อน ๆ รังเกียจ หัวโตจึงรู้สึกว้าเหว่หนักขึ้น เลยทำอะไรให้มันสะใจ ตัวเองแม้จะรู้ว่าผิด


 


ครูต๋อยอาสาสอนซ่อมเสริมให้หัวโต เพื่อแก้ปัญหาตามที่ตั้งสมมุติฐาน ที่ประชุมเห็นชอบ โดยให้ครูประจำชั้นของหัวโตจัดเวลาให้หัวโตมาเรียนซ่อมเสริมกับครูต๋อยวันละ ๒ ชั่วโมงทุกวัน โดยเรียนร่วมกับเด็กในชั้นครูต๋อย ซึ่งเป็นเด็กบกพร่องทางปัญญา


 


ครูต๋อยทดสอบก่อนเรียน พบว่าหัวโตอ่านหนังสือไม่ได้เลยจริง ๆ แต่เมื่อสอนไปได้สักระยะหนึ่ง พบว่า หัวโตไม่ใช่เด็กโง่ เขาสามารถรับรู้ได้ดีพอควร เป็นเด็กช่างพูดช่างคุย ครูต๋อยได้คุยกับ หัวโตบ่อย ๆ จึงได้รู้ว่า หัวโตมีปัญหาทางบ้านที่ไม่ค่อยปกติสุข แต่ก็ไม่รุนแรงอะไรนัก


 


หัวโตเป็นเด็กใช้ง่าย เมื่อครูต๋อยใช้ทำอะไร เขาจะกุลีกุจอทำให้ด้วยความเต็มใจ ครูต๋อยก็ เลยใช้เขาเสียยกใหญ่ ให้ช่วยกวาดห้องเรียน ช่วยจับมือเด็กปัญญาอ่อนเขียนหนังสือ ใช้ให้ดูแล แปลงปลูกกล้วยของโครงการปลูกกล้วยเพื่อลดมลภาวะที่ครูต๋อยปลูกไว้ตามแหล่งน้ำทิ้งหรือ หลุม ทิ้งขยะ แต่ก่อนกล้วยของโครงการหายบ่อย เมื่อหัวโตเป็นผู้ดูแลกล้วยไม่ค่อยหาย เมื่อมีกล้วยแก่ หัวโตตัดส่งสหกรณ์ ครูต๋อยแบ่งรายได้ให้หัวโตเป็นค่าตอบแทน


 


หัวโตเรียนซ่อมเสริมอยู่เกือบ ๒ ภาคเรียน เขาพออ่านออกเขียนได้ เขาดีใจมาก ครูต๋อยสังเกต ความสุขของหัวโตที่ส่องประกายออกมาทางแววตา พฤติกรรมของหัวโตดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ข่ายการหนีเรียนและลักขโมยจางหายไป แต่ครูต๋อยยังไม่กล้าดีใจ กลัวเขาจะกลับไปประพฤติ เหมือนเดิมอีก


 


วันหนึ่งตอนเช้าก่อนเคารพธงชาติ ครูต๋อยกำลังเปิดห้องเรียน หัวโตเก็บดอกมะลิวัลย์ป่า มากำใหญ่ เอามาให้ครูต๋อย"ครูมีแจกันไหมครับ" เขาชูกำดอกไม้ยิ้มร่าเข้ามาหา


 


 "เอามาจากไหนสวยจัง" ครูต๋อยรู้สึกตื้นตันใจ "ผมเห็นมันบานอยู่เต็มป่า หอมด้วยครับ ผมเลยเก็บมาให้" ครูต๋อยได้ยินคำว่า "ป่า" หัวใจกระตุกเล็กน้อยด้วยความระแวง กลัวเขา จะหนีเรียนอีก "เข้าไปทำไมในป่า เดี๋ยวงูเงี้ยวกัดเอานะ" ครูต๋อยพูดเลี่ยง ๆ เป้าหมายจริง "ไม่ได้เข้าไปลึกครับ ข้าง ๆ รั้วโรงเรียนนี่เองครับ" เขาหน้าครูตาแป๋ว รอคำตอบเรื่องแจกัน


 


ปกติครูต๋อยไม่ชอบตั้งแจกันบนโต๊ะ เพราะรู้ว่าตัวเองซุ่มซ่าม อาจปัดแจกันตกแตกได้ และเด็ก ๆ ห้องครูต๋อยก็ซนและซุ่มซ่ามไม่แพ้ครูต๋อย ก็เลยไม่เคยมีแจกัน ห้องครูต๋อยมีไม้ประดับ เหมือนกันแต่เป็นจำพวกพลูด่าง ใส่ขวดปากกว้างแขวนไว้ตามหน้าต่างห้อง


 


ด้วยความดีใจ และอยากตอบสนองความตั้งใจดีของหัวโต ครูต๋อย จึงหยิบแก้วน้ำของครู ให้หัวโตไปใส่น้ำมาแล้วเอาดอกไม้ปักแทนแจกัน ครูต๋อยสูดดมดอกไม้ด้วยความปิติ หัวโตมองครู ด้วยประกายตาเจิดจ้า พลางถามว่า "ครูชอบหรือครับ" "ชอบสิ หอมจังเลย ขอบใจมากนะ" ครูต๋อยพูดพลางยกทั้งดอกไม้ทั้งแจกันขึ้นดมอีก รู้สึก ชื่นใจอย่างบอกไม่ถูก


 


ปกติครูต๋อย พกกล้องถ่ายรูปเป็นประจำ กดชัทเตอร์ทุกครั้งที่พบภาพประทับใจ ครูต๋อย ถ่ายรูปหัวโตและแจกันของเขา หัวโตยิ้มแก้มแทบปริ


 


เมื่อถึงเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ ครูต๋อยไปดูแลแถวชั้นเด็กบกพร่องทางปัญญาของครู ต๋อยตามปกติ ครูนิดเป็นครูประจำชั้น ป.๔ ของหัวโตก็คุมแถวชั้นของหัวโต แต่ไม่เห็นหัวโตมา เข้าแถว จึงเดินมาที่แถวชั้นของครูต๋อย "พี่ต๋อยเห็นหัวโตไหม" ครูนิดถามพลางไล่สายตา ไปตาม แถวเด็กบกพร่องทางปัญญา "ไปเข้าห้องน้ำมั้ง เมื่อตะกี้ยังช่วยพี่จัดแจกันอยู่เลย เดี๋ยวคงมา" ครูต๋อยตอบอย่างมั่นใจ เต็มร้อย เวลาผ่านไปจนเด็กเข้าแถวเสร็จ เดินเข้าห้องเรียน ครูต๋อยเดินไปห้องครูนิด


 


 "หัวโตมาหรือยัง" ครูต๋อยยืนถามครูนิดอยู่หน้าประตูห้องเรียน"    "ยังเลยพี่ จะหนีอีก หรือเปล่าไม่รู้"    "นักเรียน ใครเห็นหัวโตบ้าง" ครูต๋อยถามเด็กห้องครูนิดทั้งชั้น" "หนูเห็นค่ะ" เด็กหญิงเผ่าม้งตอบพร้อมยกมือ"เมื่อก่อนจะเข้าแถว เขามายืมเข็มหนูค่ะ หนูไม่ให้ก็แย่งไปเฉย ๆ ถามว่าจะเอาไปทำไมก็ ไม่บอก หนูสงสัยว่ากางเกงเขาก้นขาด แอบไปถอดเย็บในห้องน้ำ"


 


 "อ้อ" ครูต๋อยโล่งใจเดินกลับห้อง     พอหมดคาบที่ ๑ ครูนิดเดินมาหาครูต๋อยบอกว่า หัวโตยังไม่มาเข้าห้องเรียน ความมั่นใจ ของครูต๋อยเริ่มลดลงเหลือสัก ๘๐%


 


พอหมดคาบที่ ๒ ครูต๋อยจึงเดินไปดูที่ชั้น ป.๔ ของครูนิดอีก เพราะคาบที่ ๓-๔ หัวโตจะ ต้องมาเรียนซ่อมเสริมกับครูต๋อย แต่ยังไม่เห็นแม้เงาของหัวโต ความมั่นใจของครูต๋อยค่อย ๆ ลดลง ตามเวลาที่ผ่านไป ครูต๋อยได้แต่ครางอยู่ในใจว่า "เอาอีกแล้วหรือเจ้าหัวโต" "อีกแล้วหรือหัวโต" "อีกแล้วหรือ" "อีกแล้วหรือ" ครูต๋อยเริ่มรู้สึกผิดหวัง ใจคอห่อเหี่ยว


 


 "สมมุติฐานเรื่องการอ่านออกเขียนได้ คงใช้การไม่ได้แน่แล้ว" ครูต๋อยคิด เวลาล่วงเลยไป จนหมดคาบที่ ๔ เด็กพักรับประทานอาหารกลางวัน หัวโตเดินเอามือไพล่หลังยิ้มมาแต่ไกล


 


 "ไปไหนมาจ๊ะ ทำไมไม่เข้าเรียน" ครูต๋อยค่อย ๆ มาถามอย่างเกรงใจ        "ผมช้าไปหน่อย ผมขอโทษครับ"  "หน่อยที่ไหนตั้งครึ่งวันเชียวนะ" ครูต๋อยต่อคำ แต่ก็ยิ้มอย่างคลายใจ "นี่ครับ ผมไปยืนด้ายกับเข็มของพวกผู้หญิงม้ง ป.๔ ที่เขาใช้ปักลายผ้า เอาไปร้อยดอกไอ้นี่มาให้ครู ครับ ผมเห็นครูชอบมันมาก" หัวโตส่งมาลัยดอกมะลิวัลย์ป่าให้ครู


 


ครูต๋อยมองพวงมาลัยที่ช้ำกระดำกระด่างที่ทำด้วยมือเล็ก ๆ ขาดความชำนาญ มือที่เคย แต่ลักขโมย งัดแงะในอดีต มีความรู้สึกว่า มาลัยพวงนั้นสวย สวยเหลือเกิน สวยกว่ามาลัยใด ๆ ที่เคยเห็นมา


 


ครูต๋อยยื่นมือออกไปรับมาลัยพวงนั้น ในความรู้สึกเหมือนกำลังรับรางวัลอันมีค่า


 


ท่านที่สนใจจะอ่านหนังสือฉบับเต็ม กรุณาติดต่อได้ที่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จังหวัด ตาก โทร. ๐๕๕- ๕๑๒๘๗๐, ๕๑๒๙๓๖ โทรสาร ๐๕๕-๕๑๒๗๙๔ หรือที่อาจารย์จินตนา บัวงาม โดยตรงที่มือถือ ๐๑-๔๗๔๕๗๐๘


 


ขอคารวะครูทุกท่านที่สอนศิษย์ด้วยจิตเมตตามา ณ โอกาสนี้ค่ะ