Skip to main content

หายนะน้ำมือมนุษย์

โกวกาและครอบครัวห่างหายการส่งข่าวคราวผ่านเว็บประชาไทไปนาน ผู้ประสานงานเว็บเลยโทรตามไปโวยวายให้สำนึกผิด รีบกลับมาเขียนโดยด่วน


ก่อนอื่นคงต้องขอแสดงความเสียใจและเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวของผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่ม ครอบครัวของเรานั่งเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ติดตามข่าวคราวด้วยความห่วงใย พี่ไอย์สนใจถามมากว่า คลื่นยักษ์เป็นอย่างไร เกิดได้อย่างไร ประเทศต่าง ๆ ที่ประสบภัยอยู่ตรงไหนในแผนที่โลก แผนที่โลกข้างฝาจึงได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มภาคภูมิ


ครอบครัวของเราก็ได้ร่วมบริจาคอย่างจริงจังไปด้วยผ่านไปหลายสาย โดยเฉพาะที่ไปช่วยเหลือสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ ผ่านคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ที่ต้องใช้คำว่า "บริจาคอย่างจริงจัง" เพราะอย่างไร ครอบครัวเราก็ยังคิดว่า การบริจาคโดยการให้ยิง sms เข้าไป ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริงจังอะไร


"ถ้ารักจะบริจาค ก็ควรเอาเงินไปบริจาคเลย ทำไมต้องให้ส่ง sms แล้วหักจากยอดรายได้ไปบริจาค" แม่อ้วนขาโวยบอก


โกวกาเห็นด้วย "ในประเทศอื่นนะ การส่ง sms ไม่ใช่หักจากยอดรายได้ แต่เป็นการแสดงเจตจำนงไปเลยว่าให้หักจากบัญชีของฉันไปกี่ยูโร กี่ดอลลาร์ก็ว่าไป"


"สงสัยจัง ทำไมมีแต่ข่าวช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชาวบ้งชาวบ้านเป็นยังไงกันบ้าง ไม่เห็นมีข่าว" อาม่าบ่น ก็น่าแปลกที่ในช่วง 2-3 วันแรก เรากลับได้รับข่าวคราวความเดือดร้อนของชาวบ้านตาดำ ๆ ในหลายประเทศจากสำนักข่าวต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น CNN และ BBC กว่าสื่อไทยโดยเฉพาะโทรทัศน์จะให้ความสนใจชีวิตชาวบ้านอย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็ล่วงมาหลายวันแล้ว


โกวกา ได้ยินท่านทูตสวีเดนให้สัมภาษณ์น่าสนใจมาก ท่านทูตผู้นี้บอกว่า ทางสวีเดนจะพยายามพาคนของเขากับประเทศให้เร็วที่สุด เพื่อที่ว่ารัฐบาลไทยจะได้สนใจช่วยเหลือคนไทยอย่างเต็มที่เสียที


โกวกาเลยคว้าเดอะเนชั่นมาอ่านให้ที่บ้านฟังดัง ๆ เดอะเนชั่นอ้างการรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยได้รับการช่วยเหลือจนล้นเกิน ส่วนคนไทยถูกปฏิบัติไม่ต่างจากคนชั้นสอง เฮ้อ...ฟังแล้วก็น่าเศร้า โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นแค่หมู่บ้านชาวประมงธรรมดา


นักท่องเที่ยวต่างชาติคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ในข่าวชิ้นนั้น เขาคิดว่ารัฐบาลควรให้การช่วยเหลือที่เท่าเทียมกัน ขณะที่นักท่องเที่ยวอีกคนกล่าวว่า การท่องเที่ยวเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ภาครัฐจึงต้องเอาใจนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีใครมาเที่ยว คนไทยน่าจะเข้าใจบ้าง


แหม...เล่นให้ความเห็นกันแบบนี้ ก็เป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องถกกันล่ะค่ะ


"นี่แหล่ะนะ เศรษฐกิจที่ผูกติดกับปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ต้องเอาใจเขามาก จนเขาดูถูกเอา" อากงเปิดประเด็นก่อน


"นี่อากงคงยังไม่รู้ใช่ไหม ว่ารัฐมีแผนกวาดล้างหมู่บ้านชาวประมง เพื่อเปิดรับรีสอร์ตแล้วนะ" โกวนิตเสริม


"วันก่อนฟังอาจารย์ธรณ์พูด ปะการังที่ยังสภาพดี ไม่เสียหายมาก เพราะว่าพื้นที่บนแผนดินยังมีป่าไม้ปกคลุม ทำให้คลื่นที่ซัดเข้าไป ไม่ชะล้างหน้าดินมากนัก แต่ที่เขาหลักที่รีสอร์ตผุดอย่างกับดอกเห็ดภายในเวลาแค่ 2-3 ปี ความเสียหายทั้งบนบกและในทะเลจึงรุนแรงมากกว่าที่อื่น ๆ


ขนาดที่อ่าวกุ้งที่ภูเก็ตแทบไม่เสียหายเลย เพราะชาวบ้านที่นั่นรักษาป่าชายเลนอย่างดี แต่ก็ดีจนกระทั่งผู้นำชุมชนถูกฆ่าตายไปแล้ว ถ้าไม่มีการอนุรักษ์ป่านนี้ก็คงเหมือนหาดอื่น ๆ"


"นี่สด ๆ ร้อน ๆ รัฐเตรียมออกกฎหมายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเลย ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี ไม่ต้องทำตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายแรงงาน จะทำอะไรก็ได้เต็มที่ คิด ๆ แล้วเสียว่าอีกหน่อยเราคงไม่ต่างจากเม็กซิโก อาร์เจนติน่า ที่สหรัฐฯ ไปบีบให้มีกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบนี้ หวังดูดนักลงทุน แต่คนที่ได้มีแต่นายทุน ส่วนชาวบ้านธรรมดา ๆ ตายลูกเดียว"


"อย่างนี้เขาเรียก พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสหรือเปล่า" อาม่าถาม


อืมๆๆๆ น่าคิด อย่างนี้คงต้องสรุปว่า หายนะจากคลื่นยักษ์สึนามิอาจยังไม่ร้ายแรงเท่าหายนะที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์