Skip to main content

เอฟทีเอ : หญิงสาว ผู้สนทนากับชีวิตและความตาย

คอลัมน์/ชุมชน

หากไม่สู้รู้ไว้เท่ากับตาย


หากใจหมาย  แม้ตายยังมีหวัง


ซักวันหนึ่งจะยืนหยัดอยู่บนเส้นชัย


ด้วยแรงใจ  สานใจเราคนเดินดิน...


 


* * * * * *


 


วันนั้น, 9 มกราคม 2549  ที่ตัวเมืองเชียงใหม่


เกือบหมื่นชีวิตหญิงชายในขบวนประชาชน 12 องค์กรเครือข่ายจากทั่วทุกซอกมุมของประเทศ


ก้าวย่างไปบนท้องถนน  จากหน้าสถานีรถไฟ  หนุนเนื่องและยาวไกล


ทุกคนต่างร้อยเรียงดวงใจกันเป็นหนึ่งเดียว  เป้าหมายเดียวกัน  และประสพชะตากรรมเดียวกัน


ข้ามสะพานความมุ่งหวัง  เลาะเลียบริมฝั่งแม่น้ำย้อนทวนกับสายน้ำปิงที่เอื่อยไหลไปอย่างช้าๆ


เป็นการเดินย้อนทวนสายน้ำที่มีพลัง  ที่มีความหมายอย่างยิ่ง


           


                       


 


 


ก่อนขบวนจะหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น  ท่ามกลางฝูงชน ริ้วธงสีแดงขาว คนสองคนใส่หน้ากาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย กับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใส่สูทสวมเนคไทจับมือกันยิ้มร่า  ถือเชือกลากจูงผู้คนที่แต่งกายเป็นชาวบ้าน ชาวนา แพทย์ พยาบาล นักเรียน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี ฯลฯ ที่ถูกผ้าสีดำปิดตา ถูกเชือกมัดมือลากจูงไปมา  และนั่น โลงศพ  หุ่นฟางชาวนา แผงกั้นเหล็ก และเจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มกันตึกสูง  ตึกที่ผู้คนเรียกกันว่า สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่


 


 


                                   


 


"เอฟทีเอ  ออกไปๆ ๆ  อเมริกาออกไปๆ ๆ" 


เสียงตะโกนประสานรับกึกก้องไปทั่วท้องถนน  พร้อมกำหมัดชูมือขึ้นสู่ฟ้า


 


ผมหันไปจดจ้องมองร่างหญิงคนหนึ่งนอนแบบอยู่บนเตียงล้อเข็น 


ร่างเธอห่มคลุมด้วยผ้าสีขาวคาดแดง  ผ้าที่คลุมบริเวณหน้าท้องเธอมีรูปกากบาทสีแดง 


เป็นสัญลักษณ์ของความป่วยไข้  เป็นสัญลักษณ์ของการรักษาพยาบาล


แววตาเธอดูเศร้า  เงียบนิ่ง  ไม่พูดไม่จา  แม้ว่าต้องเผชิญกับบรรยากาศที่ดูอึมครึม  อบอ้าว


                                   



 


ว่ากันว่า  เธอเป็นตัวแทนผู้ป่วยจากเชื้อเอชไอวี เพื่อร่วมคัดค้านการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-สหรัฐ ในครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่จะมีการจดสิทธิบัตรยา ซึ่งจะกระทบต่อกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์โดยตรง


 


"เรื่อง สิทธิบัตรยา ที่สหรัฐจะขอขยายเวลาจาก 20 ปี เป็น 25 ปี เพื่อต้องการผูกขาด ซึ่งจะทำให้ยามีราคาที่แพงขึ้น และโดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ไต ที่จำเป็นต้องกินยาต่อเนื่องนั้น ซึ่งพบว่ามียาหลายชนิดที่ติดสิทธิบัตร ซึ่งหากมีการขยายสิทธิบัตรออกไป จะส่งผลให้ผู้ป่วยหมดโอกาสได้รับยา เนื่องจากยาจะมีราคาแพงมากขึ้น" เสียงแกนนำกลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อประกาศลำโพงดังก้องอยู่อย่างนั้น


 


ท่ามกลางฝูงชนที่สาละวนก่นร้องเรียกหาความเป็นธรรม


ผมจดจ้องมองเธอ...


มือขวาเธอก่ายหน้าผาก  มือซ้ายเกาะกำธงคัดค้านเอฟทีเอเอาไว้แน่น


พลอยทำให้ผมครุ่นคิดไปต่างๆ  นานา...


 


ภาพที่หลายคนมองเห็น...


สองแขนสองมือของเธอนั้นบ่งบอกอะไรไว้ให้ผู้คนได้ฉุกคิดกันหรือไม่?


หรือว่าชีวิตคนเรานั้นมีทั้งความหวังและความสิ้นหวัง


หรือว่าชีวิตคนเรานั้น  มีแต่ความทุกข์และการต่อสู้ดิ้นรน


                                   


"...หากไม่สู้รู้ไว้เท่ากับตาย


หากใจหมาย  แม้ตายยังมีหวัง


ซักวันหนึ่งจะยืนหยัดอยู่บนเส้นชัย


ด้วยแรงใจ  สานใจเราคนเดินดิน..."


เสียงประสานเพลง"บทเพลงคนเดินดิน" ยังคงดังก้องไปทั่วท้องถนน


 


แล้วเรื่องราวเก่าๆ  ที่ผมเคยพบพานก็หวนกลับคืนมาอีกครั้ง, ในความทรงจำ


"บ้านเก่า...หญิงสาวกับบทสนทนาชีวิตและความตาย"


 


* * * * * *


 


บ่ายนั้น. ผมกลับไปเยี่ยมเยือนบ้านเกิดอีกครั้ง  ในห้วงฤดูแล้งแห้งโหย  อากาศอบอ้าวแผ่กระจายรายล้อม  มองออกไปข้างหน้า…เปลวแดดเต้นเร่าเหมือนดั่งกำลังเยาะหยันให้กับผู้คนที่สัญจรไปมา


 


บ้านเก่าหลังนั้น  ยังคงยืนนิ่งสงบอยู่  ริมถนนเล็ก ๆ ที่ตัดผ่านเข้าไปในหมู่บ้าน  ก่อนจะไปสิ้นสุดตรงเหมืองฝายและท้ายทุ่ง  ผมนิ่งมองด้วยความรู้สึกแปลกเปลี่ยน…บ้านของความคุ้นเคย  บ้านของความอบอุ่น  มันเปลี่ยนไปยังไงไม่รู้…บรรยากาศห้วงยามนี้จึงดูเหมือนมีเมฆหมอกของความหม่นเศร้าบดบังไปทั่ว…


 


ต้นมะพร้าวสองต้นที่ปลูกไว้ริมรั้วหน้าบ้านถูกโค่นทิ้งเพราะเหตุผลบางอย่าง…เพราะความสูงเกินไปของมัน  หรือคงหวาดเกรงกันว่าลูกของมันจะหล่นร่วงตกใส่ศีรษะของผู้คนที่เดินทางผ่านไปมา  ผมจดจ้องซากของมันที่เหลือแต่ตอผุ ๆ…


                       


จริงสิ,  ภาพอดีตมักพัดหวนให้นึกถึงและจดจำ


ทุกครั้งที่กลับมาเยือนบ้านหลังเก่า


 


* * * * * *


 


พี่สาวเปิดร้านขายของชำเล็ก ๆ  ตรงหน้าบ้าน  และยังขายก๋วยเตี๋ยวภายในเพิงที่มุงคาอย่างง่าย ๆ  ตั้งแต่แม่จากไป  พี่สาวจึงอาศัยอยู่บ้านหลังนี้เพียงลำพัง…นาน ๆ  ครั้ง หลาน ๆ จะกลับมาเยี่ยมในช่วงปิดเทอม 


 


ส่วนตัวผมนั้น. ยิ่งไม่ต้องพูดถึง  นาน ๆ  จึงหวนกลับมาครั้งหนึ่ง  หรือไม่ก็กลับมาผ่อนพักหลับนอนเพียงชั่วคืน.  ครั้นพอรุ่งเช้า  จำต้องเดินทางไกลต่อไป  ไปตามเส้นทางป่าบนภูเขา  สูงชันและเปล่าเปลี่ยว…


                       


ทุกวัน. ไม่ว่าช่วงเช้า  ห้วงบ่าย หรือยามเย็น  หน้าร้านของพี่สาวจึงไม่เงียบเหงาเหมือนแต่ก่อน…มีผู้คนในหมู่บ้านเดินเข้ามาจับจ่ายซื้อกับข้าว  ของใช้  และแวะเวียนเข้ามาทานก๋วยเตี๋ยวกันอยู่ไม่ขาดสาย…


 


ขณะที่ผมกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ใต้ต้นลำไย  ไม่ไกลนักจากเพิงร้านของพี่สาว 


ผมหันไปมองภาพที่เคลื่อนไหว…หญิงสาวสามคนเดินเข้ามาในร้านด้วยท่าทางอิดโรย 


เธอสั่งก๋วยเตี๋ยวคนละชาม  ไม่ใส่เนื้อ ไม่ใส่ผงชูรส…


ผมยิ้มทักทายพวกเธอ  เป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกันดี 


คนหนึ่งเป็นญาติกัน  คนหนึ่งเป็นเพื่อนกัน  ส่วนอีกคนเป็นแฟนของเพื่อน  


นานแล้วที่ไม่ได้เจอกัน


 


ผมแอบจ้องมองร่างอันซูบกายผ่ายผอมของหญิงสามคน  นั่งอยู่บนเก้าอี้โยกตรงนั้น.ใต้เพิงร้าน 


ห้วงยามนั้น…บรรยากาศดูเหมือนว่ามีบางสิ่งบางอย่างถูกสะกดเงียบงัน 


ผมนั่งนิ่งฟัง- -เฝ้าฟัง…เธอทั้งสามกำลังพูดคุยถึงเรื่องอะไรกัน!?


 


พลันนึกแปลกใจ…ใช่, พวกเธอกำลังสนทนากับความตาย!!


 


                       


 


เหมือนชะตากรรม


กำลังหลอกล่อให้ชีวิตติดกับดักอันมืดมน มืดดำ  


ทว่าน้ำเสียงที่ผมได้ยินนั้น…กลับกลายเป็นเสียงหัวเราะ


เป็นเสียงหัวเราะคล้ายอยากเยาะเย้ยหยันโชคชะตากับความตาย


ที่กำลังเดินทางมาเยี่ยมเยือนพวกเธอในไม่ช้า


 


"เข้ามาเลยความป่วยไข้…ฉันพร้อมและยอมรับแล้วกับความเป็นไป" 


เสียงของเพื่อนหญิงเอ่ยออกมาให้กับทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นได้ยินรู้


 


"ตอนแรกเรายอมรับไม่ได้หรอก  เพราะเราไม่ได้ก่อนี่นา  ไม่กล้าไปโรงพยาบาล  แต่ยังดีที่มีเพื่อน ๆ  ให้กำลังใจ  จึงไปรวมกลุ่มกัน…" เสียงของเธอพูดด้วยความรู้สึกลึกๆ ในใจ…


 


"จะนรกหรือสวรรค์ก็ช่าง!!  ชีวิตมันก็แค่นี้แหละ.." เสียงเธอสบถออกมาจากริมฝีปากที่ซีดจางและสั่นไหว


 


ผมเข้าใจในความรู้สึกของเธอดี. หญิงสาว 


ในความเปลี่ยนแปลงที่พัดโหมเข้ามาสู่ชีวิต…


จากที่เคยใช้ชีวิตอยู่กับความเรียบง่ายในชนบทมาเนิ่นนาน   


มีความสุขตามอัตภาพ  ไม่เร่งรีบ  ไม่ร้อนรน  ไม่เคยคิดไขว่คว้าอะไรมากมาย 


มีเพียงความสุข  ความฝัน  มุทำงานเก็บออมเอาไว้


เพื่อลูกชายลูกสาวที่กำลังเติบใหญ่ขึ้นในวันข้างหน้า… 


 


มาถึงตอนนี้…


ความฝันของเธอกลับร่วงแตกแหลกสลายลง 


เมื่อรับรู้กับความจริงอันปวดเจ็บร้าวยากเกินจะเยียวยา 


เธอทั้งสามนั้นรับเชื้อจากโรคร้ายที่รักษาไม่หาย


โรคของความผิดพลาดที่สามีนั้นนำพามาสู่ชีวิตของเธอ


 


* * * * * *


 


"อย่าลืมเน้อ…พรุ่งนี้หมอนัดพวกเรา ให้ไปตรวจดูเม็ดเลือดขาวว่าเหลืออีกมากน้อยเท่าใด" เธอเอ่ยกับเพื่อน


"ถ้าเม็ดเลือดขาวหมด  ชีวิตเราก็หมดใช่ไหม?…"


"กลัวใช่ไหม?…"


"เรานะไม่กลัวหรอก  แต่เป็นห่วงลูกเราเท่านั้น"


"ทายกันไหม…ว่าใครจะเหลือน้อยกว่ากัน และใครจะไปก่อนใคร…"


"อยู่ก็ใช่สุข  ไปก็ใช่ทุกข์…"


"บางที…การจากไป ก็คงเหมือนการเดินทางไกลนั่นแหละนะ"


"ใช่. จะพบกับความสุขหรือทุกข์  ไม่มีใครรู้หรอก"


"ไม่แน่…อาจเจอกับความว่างเปล่าก็ได้"


"ถ้าเราสามคนไปพร้อมกันก็คงดีนะ…จะมีเพื่อนคุยระหว่างทาง..."


 


ห้วงยามนั้น  สายลมพัดเอาความโศกเศร้าเข้ามาในเพิงร้านดังหวีดหวิวไหว…


ผมยังยินเสียงพวกเธอสนทนาหยอกล้อกับความตายไปมาอยู่อย่างนั้น


ทำให้หัวใจผมรู้สึกหนักอึ้ง  นิ่งงัน  และอยากร้องไห้.


 


* * * * * *


 


ผ่านไปนานหลายปี  ผมกลับไปเยี่ยมเยือนบ้านเก่าอีกครั้ง,


พบเห็นเธอทั้งสาม  ยังคงมีชีวิตที่แข็งแรง  เหมือนกับคนปกติทุกอย่าง


เพียงแต่อาจดูซูบผอมไปบ้าง  ทว่าเมื่อได้พูดคุยกับพวกเธอ 


กลับทำให้ผมรู้สึกว่า  หัวใจของพวกเธอนั้นแกร่งยิ่งกว่าเสียอีก


แกร่งกว่าคนปกติอีกหลายหลายคน


ใช่สิ  ชีวิตนั้นยังคงมีความหวัง


 


เธอทั้งสามยังใช้ชีวิตปกติทั่วไป  มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ  ท่ามกลางผู้คนญาติมิตรในหมู่บ้านที่ไม่ได้แสดงอาการรังเกียจแต่อย่างใด  และเธอทั้งสามยังคงเป็นสมาชิกชมรมกลุ่มผู้ติดเชื้อของโรงพยาบาลเชียงดาว  เข้าร่วมอบรม  ตรวจรักษาสุขภาพทุกสัปดาห์  และแน่นอน  พวกเธอได้รับยาติดไม้ติดมือกลับมาทานทุกครั้ง 


 


* * * * * *


 


10 มกราคม 2549


อากาศเมืองเชียงใหม่ในห้วงเดือนมกราคม 


ยังคงแปรปรวนเปลี่ยนไปตามโมงยาม


เช้าเยียบเย็น  บ่ายอบอ้าว  กลางคืนเหน็บหนาว


 


ฝูงชนนับหมื่น  ค่อยค่อยเคลื่อน  ค่อยค่อยย่างก้าว  เข้ามาหยุดยืนกันเต็มท้องถนนหน้าโรงแรมเชอราตัน 


ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการประชุมเจรจาเปิดการค้าเสรี  ไทย-สหรัฐ  รอบที่หก


 


                       


 


 


ในขณะที่ผมกำลังเดินแทรกไปมาระหว่างฝูงชนอยู่นั้น 


สายตาผมพลันมองเห็นเธอ "คำปัน"  หนึ่งในหญิงสาวสามคนผู้ติดเชื้อจากบ้านเกิดของผม  กำลังเกาะกลุ่มอยู่ร่วมกับผู้ชุมนุม  ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายร้อยนายที่ยืนเกาะแผงเหล็กกั้นทางเข้าออกของโรงแรม


 


เมื่อเธอเห็นผมเธอส่งเสียงทักทาย  ใบหน้าของเธอยังคงเปื้อนรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ  พร้อมรี่เข้าบีบจับมือผมด้วยความดีใจ  เธอบอกว่าคนเชียงดาวมากันหลายคน


 


"ระวังตัวหน่อยเน้อ  อย่าไปอยู่ด้านหน้า  เพราะว่าอาจมีการปะทะกันรุนแรง" ผมเอ่ยเตือนเธอด้วยความเป็นห่วง 


 


"เมื้อกี้ เค้าก็ยังอยู่ด้านหน้าสุดเลย..." เธอเอ่ยออกมาพร้อมกับเสียงหัวเราะดังลั่น


 


ใช่,  คำปัน  เธอคือหญิงสาวอารมณ์ดี  ชีวิตเธอมีแต่ความรื่นรมย์


ไม่เคยแสดงอาการทุกข์โศกป่วยไข้ด้วยโรคร้ายแต่อย่างใดเลย  ทั้ยดูไม่ออกเลยว่าเธอเป็นคนป่วย


 


"พี่น้องเอ๋ย...จริงๆ  แล้ว  คนป่วยคือพวกที่แอบประชุมเจรจากันอยู่ในโรงแรม  ไม่ใช่พวกเรา!" เสียงชายมาดเข้มที่ยืนถือไมค์อยู่บนรถหกล้อที่ติดเครื่องกระจายเสียงประกาศดังก้อง


 


"ที่เราออกมาคัดค้านในครั้งนี้  ไม่ใช่เพื่อตัวเองเท่านั้น  แต่เพื่อคนทั้งประเทศ..." เสียงของตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์  ประเทศไทยคนหนึ่ง  ที่ตะโกนออกมาดังก้องผ่านลำโพง เสียงนั้นสั่นพร่า  สายตาจ้องมองออกไปข้างบนโรงแรม


 


ทำให้ผมนึกถึงเธออีกครั้ง...  หญิงสาวคนนั้น  ที่นอนบนเตียงล้อเข็น  ผู้มากับขบวนประชาชน  เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเรียกร้องคัดค้านต่อต้านเอฟทีเอ  ไทย-สหรัฐ  ไม่ยอมให้มีการลงนามเปิดเจรจาการค้าเสรี  ที่ว่าด้วยสิทธิบัตรยา


 


                       


 


"...หากไม่สู้รู้ไว้เท่ากับตาย  หากใจหมาย  แม้ตายยังมีหวัง..."


เสียงเพลง สานใจคนเดินดิน ยังคงเปล่งดังไปทั่ว  ท่ามกลางความตึงเครียดขัดแย้ง  ทวีความรุนแรงขึ้นทุกชั่วขณะ