Skip to main content

ปัญหาอ้อยและน้ำตาล

 


 


คงจะมีการตั้งคำถามว่า ทำไมน้ำตาลถึงขาดตลาด จนกระทั่งมีการขึ้นราคาขายปลีกบางแห่งถึง ๑๗ -๑๘ บาทต่อกิโลกรัม


 


กรรมาธิการการเศรษฐกิจได้ให้กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลมาชี้แจงในกรรมาธิการฯ จึงขอนำมาเล่าให้เป็นข้อมูล


 


ในปีที่ผ่านมาการเพาะปลูกอ้อยในเมืองไทยลดลงอย่างมหาศาลจาก ๗๔ ล้านตันในปี ๔๖ เป็น ๖๔ ล้านตันในปี ๔๗ และลดเป็น ๔๗ ล้านตันในปีที่ผ่านมา


 


สาเหตุที่ชาวไร่ไม่นิยมปลูกก็เพราะปลูกพืชอย่างอื่นกำไรดีกว่า มีหลายแห่งที่เปลี่ยนจากการปลูกอ้อยเป็นปลูกมันสำปะหลัง ปลูกยูคาลิปตัส ฯลฯ ประกอบกับ เมื่อปีที่แล้วไทยก็ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณของอ้อยน้อยลงไปมาก


 


ปริมาณอ้อยที่ลดลงไปนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก ที่บราซิล ประเทศผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลรายใหญ่ของโลกที่มีปริมาณอ้อยถึง ๔๕๐ ล้านตันต่อปี ก็มีการเปลี่ยนการใช้อ้อยผลิตน้ำตาล มาใช้อ้อยไปผลิตเอธานอล


 


เมื่อปริมาณอ้อยน้อยลง ราคาน้ำตาลในตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะมีการแย่งกันซื้อน้ำตาล แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเราคือมาเลเซียก็ปล่อยให้มีการลอยตัวราคาน้ำตาล


 


ยิ่งราคาในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาประเทศเพื่อนบ้านมีราคาแตกต่างกับไทยถึงกิโลกรัมละ ๗ ถึง ๘ บาท ยิ่งทำให้ขบวนการลักลอบนำน้ำตาลไปขายในต่างประเทศมากขึ้น  เพราะขายให้ต่างประเทศกำไรดีกว่าขายในประเทศ


 


บรรดายี่ปั๊วน้ำตาลบางรายก็เลยนำน้ำตาลไปขายให้ซาปั๊วที่ให้ราคาดี เพื่อนำไปลักลอบส่งออกไปต่างประเทศ  น้ำตาลก็เลยยิ่งขาดแคลน ผู้บริโภคเองก็ตื่นตระหนกเข้าคิวซื้อน้ำตาลเพื่อกักตุนเพราะเกรงว่าไม่มีน้ำตาล


          


สิ่งที่ตรวจพบในกรรมาธิการก็คือขณะนี้มีปริมาณน้ำตาลทรายขาวในโรงงานทั้งประเทศถึง ๓ ล้านกระสอบ !


 


แล้วทำไมจึงมีข่าวว่าไม่มีน้ำตาล?


 


แสดงว่ามีการทำให้วงจรกระจายน้ำตาลขาดไป เพื่อให้เกิดปัญหาขาดแคลน เพื่อเป็นประโยชน์ในการขึ้นราคาน้ำตาล


             


นั่นคือที่มาของกระทรวงพาณิชย์ต้องไปตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามีโรงงานไหนกักตุน ยี่ปั๊วไหนส่งน้ำตาลไปขายต่างประเทศบ้าง


 


ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์พบว่ามียี่ปั๊วที่ส่งน้ำตาลให้กับผู้ซื้อที่ไม่สามารถระบุชื่อผู้ซื้อกว่าครึ่ง โดยยี่ปั้วอ้างว่าไม่เคยจดชื่อผู้ซื้อปลายทาง  จึงมีมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ที่ควบคุมการขนส่งน้ำตาลออกจากโรงงานน้ำตาล และต้องลดอายุใบขนให้เหลือไม่เกิน ๗ วัน พร้อมทั้งกำหนดว่าใครมีน้ำตาลมากกว่า ๑๐๐ กระสอบต้องแจ้งการครอบครอง


 


เราคงจะได้เห็นข่าวการตรวจสอบโรงงานและกุดังในสัปดาห์นี้


 


ถ้าดูตามปริมาณการใช้งานทั้งปีแล้ว มีปริมาณบริโภคของน้ำตาลทั้งประเทศ ปีละ ๒๐ ล้านกระสอบ และขณะนี้มีน้ำตาลในกุดังโรงงานถึง ๓ ล้านกระสอบ  การอ้างว่าขาดแคลนน้ำตาลนั้นไม่จริงอย่างแน่นอน


 


การที่จะให้มีการปล่อยราคาน้ำตาลลอยตัวหรือไม่นั้น คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลต้องตอบให้ได้ว่าทำไมกลไกการกระจายสินค้าขาดไป


 


กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด หากต้องการแก้ปัญหาน้ำตาลในระยะยาว  เพราะการแก้ปัญหานั้นต้องเอาข้อมูลที่แท้จริงและตรวจสอบได้  ถ้าต่างคนต่างทำ ก็จะมีข้ออ้างแต่ละฝ่าย  กระทรวงอุตสาหกรรมก็บอกว่ากระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการบังคับก็เลยทำให้วงจรการกระจายสินค้าขาด


 


กระทรวงพาณิชย์ก็บอกว่ากระทรวงอุตสาหกรรมปล่อยให้โรงงานน้ำตาลและยี่ปั๊วกักตุนน้ำตาล ถ้ามือและเท้าต่างเกี่ยงกันทำงาน เจ้าของมือและเท้านั้นจะเดือดร้อนอย่างแน่นอน


 


งานนี้กรรมาธิการเศรษฐกิจจะติดตามอย่างใกล้ชิดและจะมารายงานให้ทราบว่าใครได้ใครเสียในปัญหาอ้อยและน้ำตาลรอบนี้