Skip to main content

เด็กแก๊ง (๑) : เรารู้จักกันดีหรือยัง

คอลัมน์/ชุมชน


 


ในปัจจุบันข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงของเด็กและเยาวชนมีความรุนแรงทวีมากยิ่งขึ้น ที่เห็นเด่นชัดคือเรื่องการแข่งรถของวัยรุ่นที่เป็นกระแสอยู่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จนมีข้อถกเถียงกันในวงกว้างเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว บ้างเสนอว่าห้ามมีการแข่งรถโดยเด็ดขาดเพื่อความปลอดภัยของวัยรุ่น บ้างเสนอให้มีการสร้างพื้นที่เฉพาะสำหรับแข่งรถโดยมีระบบการดูแลความปลอดภัย บ้างเสนอว่าควรมีการจำกัดเวลาออกนอกบ้านของวัยรุ่นเพราะจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ


 


แต่ไม่ว่าความคิดเห็นของผู้ใดจะเสนอมาอย่างไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า ได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้วัยรุ่น ซึ่งเป็นผู้ที่เผชิญปัญหาให้ได้เข้ามาส่งเสียงกับสิ่งที่ตนต้องการและสอดคล้องกับความต้องการของตน


 


แม้ว่า "การแข่งรถ" เป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมที่วัยรุ่นรวมตัวกันและแสดงออกมา ให้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม แต่ขณะเดียวกันผู้คนก็มักตั้งคำถามต่อสังคมว่าเกิดอะไรกับวัยรุ่นไทยสมัยนี้  แล้วสมัยก่อนวัยรุ่นเป็นอย่างไร


 


ดั่งคำโปรยหัวคอลัมน์ "หนุ่มสาวสมัยนี้" ที่ว่า "เยาวชนของเราทุกวันนี้ ชอบทำตัวหรูหรา ฟุ่มเฟือย ไม่มีมารยาท ชอบขัดคำสั่งผู้ใหญ่ เอาแต่สรวลเสเฮฮา ไม่มีความเคารพนับถือผู้ใหญ่ ชอบเถียงกับพ่อแม่ เอาแต่พวกพ้องตัวเอง เห็นแก่กิน และเป็นกบฏต่อครู" ประโยคดังกล่าวได้บันทึกไว้ในปรัชญาเมธีกรีกของโสเครติส เมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาลหรือประมาณ 2505 ปีที่ผ่านมา


 


เราจะเห็นว่าพฤติกรรมของวัยรุ่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพียงแต่ว่าเกิดขึ้นมานานแล้ว และยิ่งโลกข้อมูลข่าวสารกระแสสื่อได้นำเสนอปรากฏการณ์ของวัยรุ่นมากขึ้นเท่าไหร่ก็สะท้อนให้เห็นวิถีของวัยรุ่นได้มากเท่านั้น


 


และที่สำคัญ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัยรุ่นด้านเดียวนั้นย่อมสะท้อนสู่กระบวนทัศน์ในการจัดการปัญหาของสังคมนั้นๆ เช่นดังกลุ่มวัยรุ่นที่รวมตัวเป็นกลุ่มแก๊ง ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหา มองว่าเป็นส่วนบกพร่องของสังคม


 


เช่น พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานฉบับล่าสุด ยังได้ให้ความหมายของคำว่า "แก๊ง" คือ กลุ่มคนที่ตั้งเป็นก๊กเป็นเหล่า (มักใช้ในความหมายที่ไม่ดี) เช่น แก๊งโจร แก๊งอันธพาล


 


แบบนี้ภาพที่กล่าวถึงเด็กแก๊ง ก็ย่อมถูกมองแบบติดลบไปด้วย


 


แน่นอนว่ากลุ่มเด็กแก๊งมีทั้งที่พฤติกรรมดีและพฤติกรรมไม่ดี แต่การมองกลุ่มแก๊งในด้านที่ไม่ได้แบบเหมารวมไม่ได้ก่อให้เกิดมุมมองใหม่ในการแก้ไขปัญหาและร่วมเรียนรู้กระบวนการดำเนินชีวิตของกลุ่มเด็กแก๊ง


 


สำหรับในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีกลุ่มเด็กหลายประเภท ซึ่งแต่ละกลุ่มนั้นสะท้อนถึงวิถีการดำเนินชีวิตที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น


 


1. เด็กแซ๊บ  ลักษณะการแต่งตัวจะใส่กางเกงขาเดป เสื้อกระชับๆ ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นที่อยู่เขตอำเภอรอบนอก ผู้คนโดยทั่วไปมองว่าเด็กแซ๊บแต่งตัวไม่สะอาดและดูน่ากลัว แต่ก็เป็นเพียงบางกลุ่มเท่านั้น และกลุ่มเด็กแซ๊บ ส่วนมากจะไม่เรียกตัวเองว่าแซ๊บ จะเป็นคนอื่นเรียกมากกว่า และโดยส่วนมากเด็กแซ๊บจะไม่ชอบที่มีคนเรียกว่า "แซ๊บ"


 


2. เด็กพังก์ กลุ่มเด็กพังก์จะมีการแสดงออกผ่านการแต่งตัว มีการทำผมทรงต่างๆ ไม่เหมือนใคร เช่น สกินเฮด เดดร็อก โมฮ็อค เป็นต้น มีแนวการแต่งตัวของกลุ่ม คือ มีรองเท้าบู๊ท กางเกงขาเดฟ เป็นคนอิสระ อยากทำอะไรก็ทำ เวลารวมตัวกันบางคนก็แต่ง บางคนก็ไม่แต่ง พังก์มีการเจาะจมูกเจาะลิ้น เจาะหู ซึ่งพังก์ทุกคนไม่ต้องทำอย่างนี้ก็ได้  พังก์บางคนอยู่ที่ใจรักมากกว่า บางคนไม่แต่งตัวแต่อยู่กับกลุ่มพังก์ ซึ่งอยู่ที่ใจรัก และบางคนมีการสักรอยสักรูปแบบต่างๆ  พังก์ส่วนมากชอบสักเป็นรูปดาว,รูปหัวกะโหลก ,แมงมุม


 


วัยรุ่นที่เป็นเด็กพังก์เล่าว่า "กลุ่มพังก์มีหลายกลุ่มนับไม่ได้ อาทิ พังก์อรัญ พังก์สกา พังก์จักรยาน "พังก์อรัญ" นี้เป็นพวกพังก์รอบนอก บ้านอยู่แถวรอบนอก "พังก์สกา" จะแต่งตัวแบบไม่เหมือนพังก์ธรรมดา จะแต่งตัวดูเรียบร้อยกว่าความเป็นพังก์มันมีความอิสระเหมือนเป็นการปลดปล่อยจินตนาการของตัวเอง แต่การใช้ชีวิตโดยปกติทั่วไปอาจมีความต่างจากการดำเนินชีวิตแบบพังก์เพราะส่วนหนึ่งการเข้ากลุ่มอยู่กับเพื่อนจะเป็นการทำให้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน แต่งตัวเหมือนกัน ชอบแบบเดียวกัน ทำให้มีความสุขอีกแบบหนึ่ง"


 


3. เด็กเดริท นอกเหนือจากพังก์แล้วจะมีเด็กจักรยานคือประเภท เด็กเดริท  เด็กไบรท์  คือเด็กที่เล่นจักรยานกระโดด ขึ้นแรม จักรยานคันหนึ่งแล้วแต่รุ่น ราคาแตกต่างกันไป ใครชอบแบบไหนสามารถซื้อแบบนั้น


 


 "นอกจากเด็กเดริทแล้ว บอกไม่ได้ว่าวัยรุ่นในเชียงใหม่มีกี่ประเภท มีกี่กลุ่ม แต่เท่าที่รู้ ก็มีพังก์  เด็กสเก็ต เด็กฮีฟ  เด็กฮีฟจะเป็นเด็กที่แต่งตัวท้วม ๆ ใส่เสื้อหลาย ๆ ชั้น ตัวใหญ่ ๆ ไว้ก่อน อยู่กันเป็นแก๊งแต่งตัวคล้าย ๆ กัน" วัยรุ่นที่อยู่ในกลุ่มกล่าว


 


4. เด็กบอร์ด กลุ่มเด็กบอร์ดส่วนมากจะแสดงออกผ่านการเล่นสเก็ตบอร์ดโดยส่วนมากมักจับกลุ่มเล่นในวันหยุด กลุ่มนี้มีการแต่งตัวที่แตกต่างกันไปโดยส่วนมากคนจะมองว่าแต่งตัวสะอาด แต่งตัวดี


 


5. เด็กที่แข่งรถ เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันโดยมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการขับขี่ การแข่งรถจะแข่งบนถนนสายใหญ่ๆ หรือถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ บางครั้งกลุ่มก็ลงสมัครแข่งรถในการจัดงานแข่ง ซึ่งมีประมาณ 2 เดือนต่อครั้ง 


 


วัยรุ่นที่แข่งรถบอกว่า "คนมักมองว่าวัยรุ่นกวนเมืองตอนกลางคืน แต่ถ้าเป็นกลุ่มธรรมดา ถ้าไม่ได้กวนเมืองแค่ขี่รถหรือนั่งกันเป็นกลุ่มก็ไม่ควรไปยุ่งเท่าไหร่ไม่ควรเหมารวม เพราะเป็นเรื่องสิทธิส่วนตัว"


 


หากพิจารณาจากการรวมกลุ่มในลักษณะต่างๆ ของวัยรุ่นแล้วจะเห็นว่ามีความหลากหลาย แต่ที่ผ่านมากลุ่มแก๊งมักถูกมองว่าเป็นแก๊งซามูไร แก๊งกวนเมืองแบบเหมารวม เมื่อเห็นตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นว่ากลุ่มแก๊งมีหลายมุมและไม่ได้เลวร้ายเสมอไป


 


อีกประเด็นที่ควรมีการถกกันคือ การที่ผู้คนเรียกว่า "เด็กแก๊ง" วัยรุ่นที่รวมกลุ่มกันและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน จะถูกเรียกขานว่าเด็กแก๊ง โดยที่วัยรุ่นเองไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นกลุ่มแก๊งแต่เป็นกลุ่มเพื่อนฝูงมากกว่า


 


มีรุ่นน้องคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า "ตอนนี้พี่ที่ร้านเกม ก็บ่นๆ มาที่เรามารวมกลุ่มกัน กลุ่มจะรวมกันบางวัน การรวมกลุ่มไม่ได้ทำให้ รู้สึกเท่หรือเป็นรุ่นใหญ่แต่อย่างไร ทุกคนในกลุ่มมีความเป็นเพื่อน พี่น้องกันมากกว่า ความสัมพันธ์ของเพื่อนทุกคนรู้จักกันหมด รักกันดี ช่วยเหลือกันดี เช่น ช่วยเหลือกันในเรื่องเงิน หรือการเรียนบ้าง"


 


 "เรามักเรียกตัวเองว่ากลุ่ม เพราะเรียกแก๊ง จะดูแบบไม่ค่อยดี ผมไม่ชอบแต่งรถ เพราะจะดูเป็นพวกกวนเมือง คนอื่นก็มองผมว่าเป็นพวกกวนเมืองแต่ก็ไม่ไปสนใจ" รุ่นน้องอีกคนเสริม


 


"แล้วคิดยังไงที่คนเรียกตัวเองว่าเด็กแก๊ง" ผมถาม


 


"คนส่วนใหญ่จะเรียกเราว่าแก๊ง ผมไม่ชอบที่เขาเรียกเราว่าแก๊ง อยากให้เรียกว่า พวกเพื่อนฝูงเคยโดนเรียกว่าแซ๊บ ผมไม่ชอบที่เขาว่าพวกผมเป็นแซ๊บ กลางคืนไปดื่มเหล้าตามร้านต่างๆ เพื่อนเลี้ยงแล้วมีทะเลาะกันบ้างคนจะมองว่าเป็นแก๊งซามูไร ทั้งที่เรากินเที่ยวตามธรรมดา"


 


 "ที่เรามารวมกันก็มานั่งคุยกัน ดื่มเหล้าบ้าง เพราะเราอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันรู้จักกันตั้งแต่เด็ก เราก็รู้ว่าดื่มเหล้ามันไม่มีประโยชน์ แล้วจะให้ทำยังไงก็มันเป็นแบบนี้ไปแล้ว แต่มันช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้กลุ่มของเรารักกันมากขึ้น จริงใจต่อกัน อย่างเช่น ใครเจ็บหรือป่วยเราก็ไปหากันตลอด ใครเดือดร้อนก็มาปรึกษาได้"


 


 "ถ้าพูดถึงกลุ่มแก๊ง หากรวมตัวกันเฉยๆ ก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้ารวมตัวกันแล้วไปหาเรื่องตีคนอื่นที่ไม่รู้เรื่องอะไรด้วยก็คงไม่ดี ปัญหาในกลุ่มของเราก็มีบ้าง เช่น พูดหยอกล้อเล่นกันแต่อีกคนคิดจริง เลยเกิดการโกรธกัน แต่ไม่ถึงขั้นต่อยกัน สัก 2-3 วันมาเจอกันคุยกันได้และหายโกรธ เดี๋ยวดื่มเหล้าด้วยกันก็ดีกันเองเพราะเวลาดื่มเหล้าพวกเราก็พูดกันแบบเปิดอกกันตลอด มันมีความจริงใจต่อกันดี"


 


คำบอกเล่าเพียงไม่กี่ประโยคข้างต้นเป็นอีกเสียงหนึ่งของวัยรุ่นที่ถูกเรียกว่า "เด็กแก๊ง" ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาเรื่องราวต่างๆ เสียงของคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นล้วนไม่ใช่ผู้ที่เผชิญปัญหาจริงๆ มุมมองและกระบวนทัศน์ใหม่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องกลุ่มแก๊ง อาจเริ่มจากการที่ให้เจ้าของปัญหาเป็นผู้ส่งเสียงต่อสังคมและผู้กำหนดนโยบาย แต่กระนั้นการศึกษา เรียนรู้และสัมผัสถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ปัจจัยการรวมกลุ่มก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน อย่างน้อยก็คงทำให้เรารู้จักและเข้าใจกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า "เด็กแก๊ง" มากขึ้น