Skip to main content

ของขวัญที่ได้ทำ : ธรรมชาติบำบัด

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


เมื่อเปลี่ยนผ่านปี พ.ศ. คาดว่าหลายคนคงได้ "ให้" หรือได้ "รับ" ของขวัญจากคนที่เรารัก หรือคนที่รักเรากันไปแล้วอย่างถ้วนทั่ว ผู้เขียนขอแบ่งปันเรื่องเล่าจากประสบการณ์ดีๆ ที่มีโอกาสได้ทำ คือการเข้าร่วมอบรมและรับฟังแนวคิดเรื่องธรรมชาติบำบัด มอบเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับผู้อ่านอันเป็นที่รัก


 


คุณหมอเจค็อบ วาทักกันเชรี นักธรรมชาติบำบัดและนักเคลื่อนไหวทางสังคมจากอินเดีย กล่าวว่า "ของขวัญเมื่อแรกเกิดของมนุษย์ คือ สุขภาพ แต่เป็นเพราะวิถีชีวิตมนุษย์ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากการพึ่งพิงธรรมชาติเข้าสู่การพัฒนาประเทศ เลยต้องพึ่งพิงระบบอุตสาหกรรม จากที่เคยเป็นอยู่และกินอยู่อย่างเรียบง่ายพอเพียง เลยกลับกลายเป็นว่าต้องผลิตเพื่อแปรรูปจำหน่ายให้ได้จำนวนมากๆ แม้ว่าจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ หรือสารเคมีจากบรรษัทข้ามชาติในราคาแพง"


 


คงทราบกันดีแล้วว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ นำมาซึ่งปัญหาหลายอย่าง เช่น สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย เกษตรกรหนี้สินท่วมตัว เกิดผลกระทบจากการใช้สารเคมีปนเปื้อน เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังต้องกินผัก ผลไม้และอาหารที่ไม่สด จนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ท้องผูก เครียด เบาหวาน ความดัน ฯลฯ


 


ธรรมชาติบำบัด จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มนุษย์คิดขึ้นเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาสุขภาพ ซึ่งคุณหมอเจค็อบ กล่าวเพิ่มเติมว่า "หัวใจสำคัญ คือ การเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างไม่มีการประนีประนอมและอย่าหาทางลัดเพื่อที่จะมีสุขภาพดีและมีความสุขตลอดไป เพราะธรรมชาติบำบัด คือการจัดระบบเยียวยาและซ่อมแซมระบบภายใน ที่มีความสัมพันธ์กันทั้ง ๓ ส่วน ได้แก่ ร่างกาย ทัศนคติและจิตวิญญาณของมนุษย์"


 


จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ แปลว่า เราต้องแก้ไขนิสัยการกิน ดื่ม และการหายใจ ให้ถูกต้อง เพื่อให้ร่างกายสามารถใช้ศักยภาพในการขับสารพิษออกจากร่างกายตามปกติ ซึ่งวิธีนี้เรียกง่ายๆ ว่า "วิธีสี่บวกหนึ่ง" ได้แก่ ทางการหายใจ ทางเหงื่อ ทางฉี่ ทางถ่ายอุจจาระ และที่เพิ่มมาอีกหนึ่งวิธีสำหรับผู้หญิงคือการมีประจำเดือน


 


และร่างกายยังมีวิธีการขับพิษแบบพิเศษ ซึ่งเป็นระบบการทำความสะอาดร่างกายแบบเฉียบพลัน ได้แก่ การไอจาม หรือเป็นหวัด อาการท้องเสีย เป็นไข้และอาเจียน แต่เมื่อมีอาการเหล่านี้ เรามักจะเลือกที่จะจัดการด้วยการกินยาสมัยใหม่ตามที่แพทย์สั่งหรือซื้อกินเอง ทั้งๆ ที่อาการเหล่านี้ คือสัญญาณเตือนให้เราปฏิบัติตัวแบบพิเศษ นั่นคือการอดอาหารเพื่อที่ร่างกายจะได้ไม่ต้องทำงานหนักและการส่งพลังจิตไปเยียวยาหรือแก้ไขระบบของร่างกาย


 


สิ่งที่ผู้เขียนได้ทดลองแล้วในการเข้าร่วมอบรม ๓ วัน ณ อาศรมวงศ์สนิท ซึ่งเป็นขั้นตอนของการใช้ธรรมชาติบำบัดสำหรับการดูแลสุขภาพ โดยเน้นที่การกินอาหารที่มีพลังชีวิตและนำมาซึ่งสันติ นั่นคือ ผัก ผลไม้และอาหารมังสวิรัติ และการนำความสงบสู่จิตด้วยการทำสมาธิและการฝึกลมปราณ โดยแต่ละวันที่เข้าอบรม นอกจากฟังบรรยายความรู้เรื่องธรรมชาติบำบัดและโยคะพื้นฐานแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้ได้ฝึกปฏิบัติ ดังนี้


 


ตีห้าครึ่งตื่นขึ้นมารับอรุณ แล้วดื่มน้ำฟักเขียว หรือน้ำหยวกกล้วยปั่นสดคนละแก้วเพื่อรักษาความสมดุลย์ของร่างกาย อีกสองชั่วโมงต่อมา จดจ่อกับการฝึกโยคะและทำสมาธิ จากนั้น จึงไปล้างคอ จมูกและล้างตา ก่อนแปรงฟันด้วยใบมะม่วงหรือใบขนุนที่เด็ดสดๆ จากต้น เคล็ดลับสำคัญของกิจกรรมเหล่านี้ คือ การมีสติรับรู้ในทุกช่วงขณะ (เพราะการเหม่อลอย จะทำให้สำลักน้ำ หรือนิ้วทิ่มเหงือกได้ง่ายๆ)


 


ประมาณ ๙ โมงเช้าและช่วงบ่ายหลัง ๔ โมงเย็นจะเป็นช่วงเวลาของการอาบแดด โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงจะนั่ง หรือยืน แล้วหันหน้าและหันหลังสลับกันเข้าหาดวงอาทิตย์อย่างละ ๑๕ นาที จะหลับตาภาวนาเพ่งสมาธิไปในส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือจะออกกำลังกายไปด้วยก็ได้ตามถนัดเพื่อให้เหงื่อออก จากนั้น พักสักครู่รอให้เหงื่อแห้งก่อน จึงไปอาบน้ำด้วยถั่วเขียวป่นละเอียด ซึ่งถูกแนะนำให้ทดลองใช้แทนสบู่ โดยใช้ได้ทั่วตัวตั้งแต่ใบหน้า เรือนร่างและจุดซ่อนเร้น และหากต้องการสระผม ทางผู้จัดได้เตรียมยาสระผมมะกรูดไว้บริการ


 


อาหารเช้าและเย็นตลอดการอบรมจะเป็นผลไม้สดตามฤดูกาล ส่วนกลางวันจะเป็นมื้อเดียวที่ได้กินข้าว คือ ข้าวกล้องและอาหารมังสวิรัติที่เน้นความสดของผักไม่ว่าจะกินสดๆ หรือนำมาต้ม อาหารรสชาติกลางๆ ไม่เผ็ดจัด และไม่ใช้น้ำตาลทรายที่ผ่านการขัดขาวปรุงรส สิ่งที่จะต้องฝึกในระหว่างการกินคือ การมีสติในการกินและเคี้ยวอาหารแต่ละคำอย่างช้าๆ เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารไม่ต้องทำงานหนักเกินไป


 


ช่วงเย็นๆ สำหรับผู้เข้าอบรมที่มีอาการไม่สบายบางอย่าง เช่น ท้องผูก ปวดศีรษะ หรือไม่สบายเนื้อตัว สามารถที่จะทดลองบำบัดอาการด้วยน้ำ คือ การราดน้ำที่หนังศีรษะให้เปียกแล้วใช้ผ้าหมาดๆ โพกหัวไว้ครึ่งชั่วโมง ในขณะที่นอนในอ่างเพื่อแช่สะโพก หรือแช่หลัง


 


ค่ำๆ จะเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมในเรื่องปัญหาสุขภาพและประสบการณ์ในการรักษาของแต่ละคน บรรยากาศเต็มไปด้วยความเข้าใจและหนุนเสริมใจให้กันและกัน เพื่อความหวังในการรักษาด้วยแนวทางการกลับคืนสู่ธรรมชาติ


 


กิจกรรมสุดท้ายก่อนนอน จะไหว้พระ สวดมนต์ด้วยบทพิจารณาสังขารและทำสมาธิด้วยการนั่ง หรือเดินจงกลม เพื่อทำให้จิตนิ่ง สงบไม่หวั่นไหวกับความรู้สึกหิว เอ๊ย...ความฟุ้งซ่านทางอารมณ์ หรือความเครียดใดๆ และทำให้หลับสบายตลอดคืน


 


หลังจากผ่านการอบรมครั้งนี้ ผู้เขียนได้พยายามนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาฝึกปฏิบัติและย้ำเตือนกับตัวเองบ่อยครั้งว่า "ฉันต้องการจะเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะทำในสิ่งที่ฉันอยากจะเป็นนั่นคือ การมีสุขภาพดีและมีความสุขตลอดไป"...


 


หากผู้อ่านสนใจรายละเอียด หรือต้องการเข้าร่วมอบรม (ซึ่งช่วงนี้นับว่าเป็นโอกาสดีที่คุณหมอเจค็อบ วาทักกันเชรี ได้เดินทางมาอบรมที่เมืองไทยด้วยตนเอง) สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.semsikkha.org