Skip to main content

หนาวนี้ที่บนดอย นโยบายการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กับวิถีชีวิตที่เป็นจริง

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


๕๐ ปีของนโยบายสงเคราะห์ชนในถิ่นทุรกันดาร ที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อให้ชนในถิ่นทุรกันดาร บนดอยสูงตามรอยตะเข็บชายแดนได้มีโอกาสมีคุณภาพชีวิตที่เสมอภาคกับประชาชนทั่วไป  มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปทำงานกับชาวเขาหรือชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งโดยรัฐ องค์กร พัฒนาเอกชน และองค์กรต่างประเทศ  โดยเน้นเรื่องลดการปลูกฝิ่น มาเป็นปลูกพืชเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาผู้ก่อการร้ายกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร  ซึ่งประการหลังให้ความสำคัญ ค่อนข้างน้อย


 


ผลการพัฒนาที่รัฐมองว่าต้องสงเคราะห์ประชาชน  ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชน ชาวเขาเป็น ๓ ระดับ


 


ระดับแรก คือ ชุมชนที่รับการพัฒนามาก ลดการพึ่งตนเอง มาเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจ สู่ตลาด 


ระดับที่สอง คือ ชุมชนที่รับกระแสการพัฒนาแต่ยังผลิตเพื่อพึ่งพาตนเองได้


ระดับที่สาม คือ ชุมชนที่ใช้ภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความเคารพ ใช้ประโยชน์ จากธรรมชาติเพียงเพื่อยังชีพ จึงรักษาป่าไว้ได้อย่างสมบูรณ์  จนพื้นที่ที่เขาตั้งชุมชน มานานนับร้อยปี ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า


 


แต่คนในชุมชน กลับถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมในการรักษาป่า โดยร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับที่ประชาชนเสนอ ถูกตัดหัวใจสำคัญออกไป ในขั้นของคณะกรรมาธิการร่วมของสองสภา จึงต้องรณรงค์สร้างความเข้าใจให้สังคมได้เข้าใจวิถีชีวิตของคนที่อยู่กับป่า ซึ่งต้องพึ่งพา อาศัยปัจจัย ๔ จากป่า โดยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน


 


การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่องนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์  ซึ่งกระทรวง ศึกษาธิการจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๗ – ๘ มกราคม ๒๕๔๙ ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยคุณจาตุรนต์ ฉายแง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคุณหญิงกษมา  วรวรรณ  ณ อยุธยา ปลัด กระทรวงศึกษาธิการ ได้มามอบนโยบายต่อผู้เข้าร่วมประชุมและรับฟังข้อมูล ข้อเสนอแนะ เกือบ ตลอดวันเป็นนิมิตหมายที่ดีของการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสิทธิ  และสถานะ บุคคล ตามมติ ครม. ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ และตามมติ ครม. ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ซึ่งเห็นชอบ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแนวทางการจัดการศึกษาให้เด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร และเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย


 


รัฐมนตรีจาตุรนต์ได้ย้ำสองเรื่อง คือ หนึ่ง นโยบายการศึกษาสำหรับชนชาติพันธุ์ คือ การทำให้สังคมไทยเคารพความเป็นมนุษย์  ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน อย่างงดงาม สงบสุข สมบูรณ์ แต่คนไทยรู้เรื่องของพี่น้องชนชาติพันธุ์ในประเทศเราเอง   และรู้จักประเทศเพื่อนบ้านน้อยมาก กระทรวงศึกษาธิการจึงมุ่งทำหน้าที่สร้างความรู้จัก เข้าใจ และเคารพความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม


 


สอง การศึกษาต้องส่งเสริมการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ที่ส่งเสริมให้ชนชาติพันธุ์อยู่ในสังคมที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วได้ โดยรู้ว่าตัวเองเป็นใคร บนความเชื่อ ค่านิยมและวัฒนธรรมของตนเอง มีหลักสูตรแกนกลางที่ทำให้เข้าใจสังคมใหญ่ โดยรวม อยู่ร่วมในสังคมใหญ่ได้


 


องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กำหนดไว้ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๑ ให้ทุกประเทศรักษาภาษา วัฒนธรรมของชนชาติพันธุ์ต่างๆ ควบคู่ กับภาษาหลักของประเทศ แต่ภาษาท้องถิ่นในโลกกลับสูญหายไป ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน


 


ปัญหาก็คือ การไม่รู้หลักการที่ต้องเคารพความหลากหลายของชาติพันธุ์  ภาษา และวัฒนธรรมกับการไม่รู้เทคนิคการสอน ๒ ภาษา และ ๒ วัฒนธรรม รวมทั้งขาดการพัฒนา เทคนิคการสอนภาษาไทย ในฐานะที่เป็นภาษาที่สองของคนที่ไม่ได้พูดภาษาไทย จึงต้อง เร่งพัฒนาองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะนำไปใช้ได้ในวงกว้าง ซึ่งนโยบายเปิดทางให้แล้ว


 


การนำเสนอของคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ต่อโครงการพระราชดำริของสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดา ฯ แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ต่อพสกนิกรชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งองค์กร UNESCO ได้ยกย่องพระองค์เป็นทูตของ UNESCO เป็นแบบอย่างที่ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ให้ความสำคัญต่อความหลากหลาย ของวัฒนธรรมอันเปี่ยมคุณค่า ควรที่รัฐบาลจะรับใส่เกล้าฯ นำไปปฏิบัติตามพระปณิธาน


 


เมื่อย้อนมาดูวิถีชีวิตจริงของพี่น้องชาติพันธุ์ทางภาคเหนือ ซึ่งพยายามดำรงเอกลักษณ์ ของตน ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์อันเชี่ยวกราก ฤดูหนาวนี้ คือ ช่วงเวลาแห่งความสุข และ ความอุดมสมบูรณ์ หลังการเก็บเกี่ยวข้าวโพดและข้าวซึ่งเป็นพืชหลักที่เลี้ยงชีวิตคน  ชีวิตสัตว์ คือ หมู  ไก่  พิธีกินข้าวโพดและกินข้าวใหม่ เพื่อคารวะเทพไท้เทวดา เจ้าป่าเจ้าเขา ที่ทำให้ พืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์ก็เริ่มในเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ตามด้วยพิธีปีใหม่ เพื่อฉลองปีใหม่ ของชีวิต


 



หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางฉบับและ  TV บางช่องลงเรื่องปีใหม่ม้ง ดิฉันดีใจที่สื่อให้ ความสนใจกับความงามแห่งวัฒนธรรมที่หลากหลาย ปลายเดือนนี้ก็เป็นปีใหม่ของชาวลีซู ลาหู่ เมี่ยน และจีนฮ่อ ซึ่งตรงกับช่วงตรุษจีน ซึ่งดิฉันขอเชิญชวนให้สื่อได้ถ่ายทอดพิธีกรรม แห่งความสุขสู่สังคมด้วย


 


ฤดูหนาวปีนี้ ชาวลาหู่หลายหมู่บ้านยังคงวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ผิงไฟอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่ เลี้ยงหมูด้วยหยวกกล้วยที่หามาจากป่า เอามาหั่นแล้วตำในครกไม้ ต้มผสมกับรำข้าวเป็นอาหาร ของหมูดำพันธุ์พื้นเมือง ที่เดี่ยวนี้มีแต่บนดอย ที่เลี้ยงหมูแบบปล่อย ตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง ผัดข้าวด้วยกระด้ง  แล้วเหลือรำข้าวไว้เลี้ยงหมู


 


 


ผักพื้นเมืองชนิดต่าง ๆ ได้รับน้ำค้างชุ่มชื้นยามกลางคืนและเช้าตรู่ จึงงอกงาม ทั้งผักกาด ผักคะน้า ถั่วลันเตา ถั่วแปบ ยอดมะระหวาน ผู้หญิงอาข่าตากถั่วลิสง กระเจี๊ยบแดง พริกเม็ดเล็ก เม็ดใหญ่ ตากแห้งไว้กินได้นาน ๆ


 


 


หน้าที่หาเงินเลี้ยงครอบครัวของแม่หญิงอาข่าโดดเด่นเป็นพิเศษ เธอเอาพืชผักและงาน ฝีมือมาขายที่ตลาด ทั้งที่แม่สลอง ที่ตลาดเทศบาลในตัวเมือง ระหว่างขายของก็นั่งปักผ้า และแบกลูกไว้บนหลังด้วยนับว่าเป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่าทุกขณะ


 


 


ดิฉันได้เสนอในที่ประชุมว่า การศึกษาสำหรับชนชาติพันธุ์ต้องเท่าทันสถานการณ์ที่เป็นจริง ที่ว่าในชุมชนมีแต่คนเฒ่า ผู้ใหญ่ และเด็ก ส่วนคนวัยแรงงาน จะเคลื่อนย้ายไปประกอบอาชีพ ในเมือง เช่น เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ หาดใหญ่ เบตง แม้กระทั่งมาเลเซียและไต้หวัน จึงควรมีหลักสูตรให้รู้กฎหมายสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสถานการณ์การทำงานที่ปลอดภัย ไม่ถูกเอาเปรียบ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการรวมกลุ่ม คุ้มครองสิทธิกันเองด้วย


 



 


  


แม้ว่าโลกภายนอกจะเปลี่ยนไปอย่างไร หนาวนี้ที่บนดอยก็คงมีความสุข มีความอบอุ่น ขอเพียง ให้ทุกฝ่ายเห็นคุณค่าของชุมชนในการมีส่วนร่วมทำหน้าที่อนุรักษ์วัฒนธรรมและธรรมชาติให้ดำรงอย่างสมดุล


 


    


 


 


สวัสดีปีใหม่ดอยค่ะ