Skip to main content

สังคมแห่งความเสี่ยง

คอลัมน์/ชุมชน

ชีวิตเป็นเรื่องไม่แน่นอน หรือใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจัง น่าจะเป็นความจริงที่ใคร ๆ ต่างก็รู้ดี หรือได้ยินได้ฟังอยู่บ่อย ๆ  แต่หลาย ๆ คนก็ไม่อาจทำใจให้ยอมรับความจริงเรื่องความไม่แน่นอนได้ง่าย ๆ   ยิ่งในสังคมปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วไร้ระเบียบ ความไม่แน่นอนในเรื่องต่าง ๆ ยิ่งปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น


 


ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่น่าหวั่นกลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายตาของคนชั้นกลางซึ่งเกาะเกี่ยวอยู่กับกระแสความเปลี่ยนแปลงมากเป็นพิเศษ, ทั้งความเปลี่ยนแปลงระดับโลกและระดับท้องถิ่น  มันน่ากลัวเพราะว่าความไม่แน่นอนจะทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ วางแผนหรือทำนายอะไรล่วงหน้าได้ การทำนายอะไรล่วงหน้าไม่ได้ทำให้มนุษย์ต้องคลำทางอยู่ในความมืดมน


 


จึงมีความพยายามหลากหลายรูปแบบที่จะจัดระเบียบความไม่แน่นอนที่ไม่อาจคาดเดาได้ ทั้งการจัดระเบียบของธรรมชาติรอบตัวซึ่งโดดเด่นมากในระบบวิธีคิดของตะวันตกที่อาจสืบย้อนไปได้ถึงกรีกโบราณ หรือการสร้างบรรทัดฐาน ค่านิยมขึ้นมาเพื่อหล่อหลอมกล่อมเกลาความประพฤติให้เป็นไปในแบบแผนเดียวกัน


 


แต่ความไม่แน่นอนก็ยังคงมีอยู่นั่นเอง  ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ยากจะรู้ล่วงหน้าได้  อย่างเช่นแผ่นดินไหวที่ประเทศอิหร่านซึ่งทำให้ผู้คนล้มตายบาดเจ็บจำนวนมาก, ปรากฏการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นปีแล้วปีเล่าในประเทศไทยแต่ก็ไม่อาจป้องกันอะไรได้มากนัก, การเกิดปรากฏการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่ผู้คนล้มตายมากมายเหลือเชื่อ


 


หรือความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในสังคมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำของธรรมชาติแต่อย่างใด อย่างการร่ำรวยขึ้นจากการถูกหวยหรือล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ ๆ หรือการรวยน้อยลงอย่างน่าใจหายของบางคนหลังวิกฤติเศรษฐกิจ


 


หรือบางคนยืนอยู่ดี ๆ ที่ป้ายรถเมล์ ก็อาจเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถเมล์พุ่งเข้าหา หรืออาจโดนลูกหลงจากนักเรียนนักเลงได้  นี่เป็นความไม่แน่นอนซึ่งก่อให้เกิดความหวาดกังวลของหลาย ๆ คนว่ามันอาจเกิดขึ้นได้อีกและไม่แน่ว่าอาจเกิดขึ้นกับญาติมิตรของตนเองก็เป็นได้ และนับวันความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจะมีเพิ่มมากขึ้น, นี่ยังไม่นับรวมถึงความไม่แน่นอนในจิตใจซึ่งอาจคาดเดาได้ยากยิ่งกว่าความไม่แน่นอนในปรากฏการณ์ธรรมชาติ


 


เมื่อสังคมและตัวตนตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือความไม่แน่นอน ทั้งความไม่แน่นอนจากภัยธรรมชาติ หรือความไม่แน่นอนอันเกิดมาจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเองซึ่งคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือกระทั่งทำให้ต้องจบชีวิตลงในบางกรณี นั่นก็หมายความว่าสังคมนั้น ๆ ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของชีวิตไปภายใต้ความเสี่ยง, ปัจเจกชนเดินไปบนทางของความเสี่ยง


 


ชีวิตอาจเป็นเรื่องที่ต้องเสี่ยงบ้างในบางสถานการณ์อย่างที่พ่อค้าบางคนพูด เช่น การเล่นหุ้น การทำธุรกรรม ธุรกิจ แต่คงไม่มีใครอยากจะเสี่ยงชีวิตซึ่งมีอยู่เพียงชีวิตเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสี่ยงกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือเสี่ยงแล้วไม่คุ้ม


 


การเดินข้ามสะพานลอย, การยืนรอรถโดยสารเพื่อจะกลับบ้าน หรือนั่งทำงานอยู่ในตึกสูง ดูเหมือนว่าไม่น่าจะกลายเป็นเรื่องที่ต้องเสี่ยงอะไรเลย เป็นกิจกรรมธรรมดาที่เกิดขึ้นทุกวี่วัน แต่ชีวิตในเมืองใหญ่ที่มีกรณีศึกษาหรือตัวอย่างเกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่าชีวิตในเมืองใหญ่เกือบจะทุกวินาทีตกอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง


 


แต่นอกจากในเมืองใหญ่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ก็ทำให้พื้นที่นั้นตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงด้วยเช่นกัน คนที่นั่นบางส่วนทนรับกับความเสี่ยงที่อาจถึงแก่ชีวิตไม่ได้ก็ต้องย้ายออกไป ย้ายไปมาเลเซียหรือย้ายไปทำมาหากินในจังหวัดอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า ดังนั้น ทั้งพื้นที่ชายขอบและพื้นที่ใจกลางเมืองล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยง


 


เราคงโทษใครไม่ได้ที่มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมแห่งความเสี่ยงเช่นนี้, ทุกคนต่างรับความเสี่ยงไป มากบ้าง น้อยบ้างแล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละคน หรือถ้าจะโทษก็ต้องโทษทุกคนรวมทั้งตนเองที่มีส่วนสร้างให้สังคมกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยอันตรายหรือความเสี่ยงภัยแบบนี้ ครั้นจะหวังให้รัฐประกันความเสี่ยงให้ก็คงจะยาก ดังเช่นกรณีของปัญหาภาคใต้


 


รัฐไม่อาจประกันความเสี่ยงได้ ความเสี่ยงในหลาย ๆ กรณีเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของรัฐ บางคนอาจตั้งคำถามว่าแล้วถ้ารัฐรับประกันความเสี่ยงไม่ได้ก็จะมีรัฐไว้ทำไม?


 


แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจะมีชีวิตอยู่ในสังคมแห่งความเสี่ยง เพราะสังคมแห่งความเสี่ยงเป็นสังคมซึ่งไม่อาจจะมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขได้ การไม่อาจมีชีวิตอย่างปกติสุขอาจถือเป็นความล้มเหลวของความเป็นมนุษย์ที่ว่ากันว่ามีศักยภาพเหนือสัตว์อื่น ๆ


 


ดังนั้น หลายฝ่ายต่างคิดหาหนทางแก้ หรือหาทางป้องกันเท่าที่มันจะเป็นไปได้เพื่อลดความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนให้เหลือน้อยที่สุด


 


วาทกรรมความมั่นคงถูกตั้งขึ้นมาให้เป็นความปรารถนาอย่างหนึ่งของมนุษย์ และของสังคมที่จะต้องไปให้ถึง


 


สามทศวรรษที่ผ่านมา รัฐได้ทุ่มเททรัพยากร, งบประมาณมหาศาลเพื่อสถาปนาความมั่นคงและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในประเทศ แต่ความมั่นคงเรียบร้อยเป็นได้แค่เพียงความปรารถนาที่ไม่อาจบรรลุได้เท่านั้น เพราะความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยงต่างหากที่เป็นความจริง   


 


แต่ความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยงยากจะเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และดูเหมือนจะเป็นการงอมืองอเท้าและดูถูกมนุษย์เรามากเกินไปที่ยอมจำนนอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยง


 


สติปัญญาของมนุษย์จึงถูกนำมาใช้เพื่อจัดระเบียบความเสี่ยง หรือพูดแบบนักเศรษฐศาสตร์ได้ว่า "บริหารความเสี่ยง"


 


นับเป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนมาทางเศรษฐศาสตร์หรือด้านการจัดการที่ "ความเสี่ยง" ซึ่งเป็นคำที่มีความเป็นนามธรรมถูกแปรรูปให้กลายมาเป็นสิ่งที่สามารถบริหารได้  แต่การบริหารความเสี่ยงของนักเศรษฐศาสตร์เป็นการบริหารในเรื่องของธุรกิจ หรือการค้าเสียมากกว่าจะกล่าวถึงความเสี่ยงในบริบทอื่น


 


ผู้เขียนไม่รู้เหมือนกันว่า จะสถาปนาความมั่นคงขึ้นได้อย่างไรท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่กำลังไล่ล่าสังคมอย่างที่เป็นอยู่นี้   สำหรับคนเล็กคนน้อยแล้ว การตั้งคำถามจึงไม่ใช่ว่าจะสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตได้อย่างไร แต่อาจจะเป็นว่าจะมีชีวิตรอดได้อย่างไรภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่เข้าใครออกใคร.