Skip to main content

ผู้ว่าใหม่ .. กรุงเทพฯ เก่า ?

คอลัมน์/ชุมชน









































































































































๑.
 
กรุงเทพมหานคร ได้ว่าที่ " ผู้ว่าฯ คนใหม่ " เรียบร้อยแล้ว คือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัครหมายเลข ๑ จากพรรคประชาธิปัตย์ ดังที่ทราบผล ( อย่างไม่เป็นทางการ ) ตั้งแต่ก่อนเที่ยงคืนวันที่ ๒๙ สิงหาคม และมีรายงานคะแนนอย่างเป็นทางการในเวลา ๐๓ . ๓๐ ของวันที่ ๓๐ สิงหาคมที่ผ่านมา รอเพียงการประกาศและรับรองผลการเลือกตั้ง ก็สามารถเริ่มงาน ได้ทันที
 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม . ครั้งนี้นับได้ว่าน่าสนใจยิ่ง เพราะหลังจากประกาศว่า " เบอร์ ๑ " ได้รับการเลือกตั้งจำนวน ๙๑๑ , ๔๔๑ คะแนน ทิ้งห่างลำดับที่ ๒ ถึง ๒๙๒ , ๔๐๒ คะแนน ผลการเลือกตั้งชนิด " ทิ้งห่าง " ที่ว่านี้ ก็ส่งผลกระทบ หรือส่งผลสะเทือนอันรวดเร็วไปยังฝ่ายต่างๆ อย่างที่เรียกว่า แทบไม่ปรานีปราศรัยเลยทีเดียว

 

กล่าวคือ ฝ่ายรัฐบาล ที่เคยพยายามส่งสัญญาณลับ หรือบอกเป็นนัยๆ มาโดยตลอดว่า " สนับสนุน " นางปวีณา หงสกุล ถึงขนาด นายกรัฐมนตรี ลงทุนลงแรงนำทีม ‘ ปิดท้าย ' ทัวร์นกขมิ้น ด้วยการหนีบเอาทีมงานของนางปวีณาออกตรวจราชการด้านการจราจรในกรุงเทพฯ กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จนใครต่อใครต้องออกมาปรามว่าไม่เหมาะ - ไม่ควร ( ซึ่งก่อนผลการเลือกตั้งออกมา ทีมงานไทยรักไทยยังตะแบงข้างๆ คูๆ ว่านายกฯ สามารถทำเช่นนั้นได้ และไม่น่าเกลียดอะไร ) ไม่นับที่เคยบอกแต่ต้น ว่าผู้ว่าฯ กทม . ต้องสามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลได้ หรือกระทั่งที่ว่าคนกรุงเทพฯ นั้นรักพรรคไทยรักไทย พรรคฯ ส่งใครลงก็ได้อยู่ดี ฯลฯ

 

ผลออกมาอย่างนี้ก็ทำให้มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ ถอยกรูดกลับเข้าที่ตั้งกันแทบไม่ทัน ถึงกับกลืนไม่เข้าคายไม่ออกขึ้นมาทันทีทันใด เพราะคะแนนของผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้าน " ท่วมท้น " ขึ้นมาขนาดนี้ คนไม่โง่นักก็พอที่จะเข้าใจได้ว่า ชาวบ้านร้านถิ่นเขาเริ่มส่งสัญญาณมาถึง " บางคน - บางพวก " แล้ว ว่า " เกรงอกเกรงใจกันบ้าง อย่าทำอะไรแสดงความกร่างหรือเหิมเกริมให้มากเกินไปนัก "

 

ขณะที่ ฝ่ายค้าน หรือพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ออกอาการหวาดๆ เกรงๆ ต่อ " ปฏิกิริยา " ของคนกรุงเทพฯ อยู่ไม่ใช่น้อย ชนิดไม่แน่ใจว่า หากสุ่มสี่สุ่มห้าดีอกดีใจต่อ " ชัยชนะ " ออกไปแล้ว จะโดนเขม่นกลับมาหรือเปล่า ทั้งหัวหน้าพรรคและคณะทำงานจึงได้แต่แบ่งรับแบ่งสู้ ว่านี่ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของพรรคประชาธิปัตย์ แต่คือ " ชัยชนะของคนกรุงเทพฯ " และขยายความต่อมาว่าแม้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จะลงสมัครในนามพรรค ฯ ก็จะให้อิสระในการบริหารงานได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังกล่าวด้วยอาการที่เนื้อเจียมตัวเป็นพิเศษว่า คะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ อาจจะไม่มีผลโดยตรงต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมาถึงในต้นปีหน้าก็เป็นได้

 

เรียกว่าทั้ง รัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างถอยเข้าที่ตั้งไปพลาง เงี่ยหูฟังกระแสสังคมไปพลาง อย่างตั้งอกตั้งใจและรอบคอบต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ชนิดผิดหูผิดตา …

 

จะว่าไปแล้ว ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ว่าเมื่อใดที่ " เจ้าของสิทธิ์ - เจ้าของเสียง " ออกมา " ประกาศ " หรือ " ยืนยันเจตนารมณ์ " ของตนเองอย่างเด่นชัด " ผู้อาสา " ทั้งหลาย ก็จำต้อง " ฟัง " ยิ่งขึ้นกว่าปกติเสมอ ด้วยว่า ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้น จะมากจะน้อย หลักการดั้งเดิม หรือเนื้อหาสาระ ก็ให้ความสำคัญอยู่ที่ " ผู้เลือก " มากกว่า " ผู้ถูกเลือก " อยู่ดี

 

ทั้งหลายทั้งปวงจึงอยู่ที่ว่า " เจ้าของสิทธิ์ " จะ " เสียงดัง " และตั้งใจ " รักษาสิทธิของตน " อย่างเต็มที่ และต่อเนื่องได้อย่างไร หาไม่แล้ว " ผู้สมัคร " ที่ได้รับเลือก ก็จะเริ่มกร่างหรือแอบเปิดช่องทางหากินให้ตนเองและพวกพ้องอยู่นั่นแล้ว

 

มิหนำซ้ำ พออยู่นานเข้า ได้กินมากเข้า แทนที่จะลดราวาศอกหรือขอบคุณเจ้าของบ้าน กลับกำเริบเสิบสานสำรากวาจาทวงบุญทวงคุณหนักข้อขึ้นไปอีก

 


๒.

 

หลังจากผลการเลือกตั้งผ่านไปไม่นาน เมื่อตั้งสติได้ การวิเคราะห์ วิพากษ์ - วิจารณ์ ก็เริ่มดังขึ้นอย่างเซ็งแซ่ …

 

บ้างบอกว่า นี่เป็นสัญญาณจากชนชั้นกลาง ที่ส่งถึง " นายกฯ ทักษิณ " และ " พรรคไทยรักไทย " โดยตรง ว่าถึงบัดนี้ " คนกรุงเทพฯ เรือนล้าน " พากัน " รู้ทัน " และ " ไม่ไว้วางใจรัฐบาล " อีกต่อไปแล้ว

 

บ้างก็บอกว่า นี่เป็นผลจากการบริหารงานแบบ " ไม่โปร่งใส " เต็มไปด้วย " ผลประโยชน์ทับซ้อน " อีกทั้งยัง " ปากกล้า - อวดเก่ง " ของ พตท . ทักษิณและพวกพ้อง ซึ่งล้วนแต่ไม่ต้องอัธยาศัยของคนกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น

 

ขณะที่ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองว่า " พรรคไทยรักไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครฯ และไม่ได้ประกาศสนับสนุนใคร อย่างนี้จะว่าพรรคไทยรักไทยแพ้การเลือกตั้งได้อย่างไร " พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่า อย่าพยายามเชื่อมโยงการเลือกตั้งครั้งนี้เข้ากับการเมืองระดับชาติ เพราะรัฐบาลเองก็มีผลงานและทำงานมาอย่างเต็มที่โดยตลอด ฯลฯ

 

ทั้งนี้ ปฏิกิริยาข้างต้น ยังไม่นับรวมการออกมาตั้งข้อสังเกต การประท้วง การตั้งคำถาม การตั้งความหวัง หรือการก่นด่าประณาม ร้อยแปดพันเก้า

 

เรียกได้ว่า เอาเข้าจริงทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ก็สับสนอลหม่าน " ฝุ่นตลบ " พอกันเลยทีเดียว ต่างกันก็แค่ว่า ก่อนการเลือกตั้งนั้นดูจะเป็นฝุ่นแห่งการ ‘ สร้างฝัน ' ให้กับผู้ลงคะแนน ส่วนเมื่อการแข่งขันจบสิ้น ก็เป็นฝุ่นของผู้ชนะ ผู้แพ้ และคนเชียร์ ที่จะสรุปประเมินผลงานตัวเอง ( และโจมตีคนอื่น ) เสียเป็นด้านหลักว่าจะ " ไปต่อ " กันอย่างไร

 

ขณะที่ " ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง " ซึ่งเคยสามารถส่งเสียงดังจนเขาเกรงใจอยู่ช่วงหนึ่ง ระหว่างและหลังลงคะแนนเลือกตั้ง ก็ถูกกันออกไปเป็น " คนดู " หรือ ผู้ " รอลงคะแนน " คราวต่อไป เสียแทบจะทันทีทันใด

 


๓.

 

ปรากฏการณ์เหล่านี้ดูไปก็ " คล้ายจะ " เป็นเรื่องธรรมดาโลก เป็นปกติของการเลือกตั้ง อันมีวัฏจักรอยู่ที่ การสมัคร หาเสียง ลงคะแนน และรับตำแหน่ง ก่อนจะเริ่มวงจรรอบใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และด้วยเหตุของการ " ซ้ำซาก " นี้เอง ที่เป็นเหตุหนึ่งให้เกิดความ " ชาชิน " จนหลายคนถือว่าหย่อนบัตรเสร็จก็จบภารกิจ โอกาสหน้าฟ้าใหม่ก็ค่อยออกมา " แสดงพลังเงียบ " เสียทีหนึ่ง หรือที่เชื่อมั่นใน " พลัง " ของ " คนกรุงฯ " ยิ่งกว่านั้น ก็อาจระบุว่า " ค่อยให้บทเรียน " กันต่อไป

 

ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า " พลัง " ที่แสดงออกมาอย่างไม่ต่อเนื่องนั้น แทบจะไม่มี หรือไม่เกิดพลวัตโดยตรงกับชุมชนและสังคมแต่ประการใด ความเป็น " ผู้ชี้ขาด " ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จึงมีอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วยาม และแทบมิได้ถูกสานต่อใดๆ ทั้งสิ้น

 

ยิ่งการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร แทบมิได้มีกลไกการตรวจสอบใดๆ จากองค์กรอิสระโดยตรงด้วยแล้ว เมื่อการเลือกตั้งผ่านไปชั่วระยะหนึ่ง ถึงแม้ผู้ได้รับเลือกตั้งจะทำงานไม่ประสีประสา " เจ้าของคะแนนเสียง " ก็ได้แต่หันกลับเข้ามาใช้ " วัฒนธรรมบ่น - นินทา " สุมหัวกันไปแกนๆ อย่างไม่รู้จะทำอย่างไรให้ดีไปกว่านั้นได้

 
ดังบทเรียนคราวที่เลือก นายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม . ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งหลายคนยังจำกันได้ดี …
 

แต่หากจะพิจารณาเรื่องนี้กันโดยแยบคาย ด้วยโยนิโสมนสิการและอิทัปปัจจยตาแล้ว " ปัญหา " อาจมิได้จำกัดแคบๆ อยู่ตรงที่ว่า หลังเลือกตั้ง หลังลงคะแนนเสร็จ แล้ว " คนเล็กคนน้อย " ทั้งหลาย จะมีปัญญาทำอะไรกันได้อีก หรือเมื่อมอบอำนาจสิทธิ์ขาดให้กับ " ตัวแทน " ไปแล้ว ยังจะต้องทำอะไรกันเล่า ดังที่เคยกล่าวกันมาแล้ว

 

เพราะเอาเข้าจริง " มายาคติ " หรือ " อวิชชา - มิจฉาทิฏฐิ " ของคติ " ลงคะแนนเสร็จเป็นอันว่า จบ " ด้วยแนวคิดการเมืองแบบแยกส่วน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่เรา คิดเอง - ตัดสินใจเอง หรือ " ถูกกระทำ " ให้เข้าใจไปเช่นนั้น ก็กลับส่งผลเสียหายอย่างมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการทำลายหรือตัดโอกาสของ " การเมืองแบบมีส่วนร่วม " ซึ่งต้องอาศัยความ " ใส่ใจ " ร่วมกันของสมาชิกในสังคม ก่อนที่จะ " ร่วมแรงร่วมใจ " ในการตัดสินชะตากรรมของตน " นอกเวลาเลือกตั้ง "

 

หรือการมองไม่เห็นความจริงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งที่ขึ้นตรงต่อเขตการเลือกตั้งและเชื่อมต่อออกไปในนามของพื้นที่ อาณาเขต หรือกระทั่งสารัตถะของรัฐชาติ

 

ตลอดจนการมองไม่เห็นขอบเขตและการเชื่อมต่อที่แท้จริงของ " พื้นที่เลือกตั้ง " ทั้งที่ตนอาศัยอยู่ และเขตการเลือกตั้งอื่นๆ หรือกระทั่งการที่จะเชื่อมโยงสร้างเครือข่าย กับผู้คนในเขตการเลือกตั้งเหล่านั้น

 

ทั้งนี้ มิพักจะต้องพูดถึงจิตสำนึกของความเป็น " ส่วนหนึ่ง " ของ " ระบบการเมือง " ที่นับวันคำว่า " การเมือง " อันเคยมีความหมายในด้านของความเป็น " เครื่องมือสำหรับแก้ปัญหา " หรือ " นำพาสังคมไปสู่ความสงบเย็น " จะถูกนักธุรกิจทุนนิยมแอบแฝงเข้ามาแปรเปลี่ยน และลดคุณค่าให้เหลือเพียง " เกมการเมืองน่ารังเกียจ " หรือ " เกมแห่งอำนาจและผลประโยชน์ " อันเป็นความหมายในด้านลบ เพื่อใช้โจมตีฝ่ายตรงกันข้ามยิ่งขึ้นทุกที

 

กรุงเทพฯ นั้น นอกเหนือจากความเป็น " มหานคร " ที่กล่าวกันว่ามีประชากรอาศัยอยู่กว่าสิบล้านคน หรือเกือบหนึ่งในหกของผู้คนทั้งประเทศแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่กทม . กว่าแปดหมื่นคน มีผู้เกี่ยวข้องในระบบงานต่างๆ กว่าสองแสนคน ตลอดจนเป็นแหล่งบริโภคพลังงานและทรัพยากรอันมากมายมหาศาล แล้ว ยังมีความ " พิเศษ " อื่นๆ แฝงอยู่อีกมากมายเหลือเกิน ทั้งที่เป็นด้านลบและด้านบวก ทั้งที่จะเป็นโทษและเป็นคุณต่อสังคมไทยในภาพรวม ซึ่งคงจะต้องอาศัยปัญญาและญาณทัศนะ ทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคมมาช่วยพิจารณาต่อไป

 
ดังนั้น หาก " สมาชิก " ของชุมชน หรือของ " ประชาคมกรุงเทพฯ " ตกอยู่ในความประมาท ขาดความยั้งคิด หรือติดยึดอยู่ในมิติใดเพียงด้านเดียว โดยไม่สามารถ " ก้าวผ่าน " ข้อจำกัดเพื่อมองให้เห็น " ภาพรวม " ที่ดียิ่งขึ้นไปได้สักที " กรุงเทพมหานคร " ก็คงหนีวังวนของการพัฒนาด้านวัตถุเพียงด้านเดียวอย่างสะเปะสะปะตามยถากรรมดังที่เป็นมาไปไม่ได้เป็นแน่
 

ดังนั้น หากไหนๆ ก็ตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ คนใหม่จากพรรคฝ่ายค้าน อย่างกล้าหาญที่จะแสดง " พลังเงียบ " กันมาแล้ว ก็น่าจะลองชี้ชวนกันรักษาสิทธิเพิ่มเติม ตลอดจนขยายความรับผิดชอบให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไปอีก

 

ด้วยการมีส่วนร่วม และเพิ่มความใส่ใจต่อ " การเมืองภาคประชาชน - การเมืองแบบมีส่วนร่วม " ขึ้นอีกจะดีไหม

 
เผื่อจะมี " กรุงเทพฯ ใหม่ " ไปพร้อมๆ กับ " ผู้ว่าฯ ใหม่ "
 
และคนรุ่นต่อไปจะไม่ต้องใช้วัฒนธรรมบ่นปนนินทา อย่างที่เราทั้งหลายเคยจำทน " ทำแล้วทำอีก " กันสักที