Skip to main content

ลิงได้แก้ว ไก่ได้พลอย

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


ช่วงวันสองวันที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้เริ่มภาคการเรียนไปแล้ว เรื่องน่าท้าทายต่างๆก็เข้ามาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนการสอนปกติ และเรื่องการเมืองในที่ทำงาน ล้วนน่าเบื่อ ซึ่งเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้มาในเรื่องผลตอบแทนตามแบบทุนนิยมกับสิ่งที่เสียไป เช่นแรงงาน สุขภาพจิต และเกียรติภูมิของความเป็นมนุษย์แล้ว ถือว่าไม่คุ้มค่าแต่อย่างใด


 


ที่จะกล่าววันนี้คือเรื่องของความล้มเหลวทางการศึกษาทั่วไป อันมีผลมาจากอิทธิพลระบบทุนนิยมหลังสมัยใหม่ ที่เน้นเรื่องการเปลี่ยนการศึกษาให้กลายเป็น "สินค้า" เพื่อที่จะนำเสนอและขายได้เป็นชิ้นเป็นอัน รูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายนักหากมีการจัดการที่ดีพอ ไม่เห็นแก่เงินจนเกินไป นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของการศึกษาในลักษณะที่เป็นเครื่องมือทำนอง "ใบผ่านทาง"  ไม่ใช่เพื่อภูมิปัญญาอย่างที่เคยเป็นมาในแต่ครั้งเดิม


 


ปัจจุบันนี้หลายแห่งในโลกมีการแข่งขันทางการศึกษาหลายด้าน ด้านที่สำคัญนอกเหนือจากเรื่องความเป็นเลิศทางปัญญาแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่จะมองข้ามไม่ได้คือเรื่อง "ทุน" ในการบริหาร ซึ่งในแต่ละแห่งเดิมนั้นก็อาจมาจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาลโดยตรง  บ้างก็เป็นองค์กรอิสระที่มีเงินบริจาค และบ้างก็ดำเนินการโดยเงินรายได้อื่นๆ เช่นเงินค่าเล่าเรียน  ค่าบำรุงการศึกษาอื่นๆ และบ้างก็เอาจากหลายๆ แหล่งมารวมกัน สถาบันใดที่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในปัจจุบันนี้ก็เริ่มต้องมองหาเงินทดแทนจากแหล่งอื่น  โดยเฉพาะค่าเล่าเรียนจากนักศึกษา


 


ทั้งนี้ไม่รวมกับที่รู้กันว่าหลายสถาบันใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ ได้มีความร่วมมือกับบริษัทเอกชนในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และมีการทำกำไรร่วมกันในการค้นคว้าวิจัยและขายนวัตกรรมเหล่านี้ แต่ว่าก็มีไม่กี่แห่ง เมื่อเปรียบกับสถาบันเล็กๆ ดังนั้น สถาบันใดที่ไม่ได้มีความพร้อมเรื่องค้นคว้าวิจัยนั้นก็จำเป็นต้องมองแหล่งที่มาของทุน ซึ่งมักหนีไม่พ้นเรื่องของค่าเล่าเรียนและจำนวนนักศึกษา


 


ส่วนในเมืองไทยนั้นคงจะก้าวตามหลังสหรัฐฯเพื่อเจอปัญหาด้านนี้มาติดๆ แต่ด้วยว่าสถาบันต่างๆในเมืองไทยที่เป็นของรัฐส่วนมากยังต้องพึ่งพารายได้ที่มาจากการสนับสนุนของรัฐ ทำให้การปรับตัวที่จะรับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องพึ่งตนเอง อาจเป็นเรื่องที่ต้องปรับกระบวนท่ามากขึ้น หลายแห่งทราบดีและเตรียมการไว้แล้ว โดยมีแผนการสรรหารายได้จากทุกหน่วยงาน และที่สำคัญคือพยายามสร้างรายได้จากทรัพยากรที่ตนมีอยู่ ซึ่งก็คือการเปิดหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้คนมาเข้าเรียนมากขึ้น


 


เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจเลย เพราะเป็นเรื่องจำเป็น แต่ทั้งนี้ต้องมีการควบคุมคุณภาพไปด้วย แต่ที่น่าตกใจคือไม่ว่าจะเป็นทั้งสหรัฐฯและไทยต่างหนีเรื่องที่สถาบันการศึกษาต้องเอาใจผู้เรียนไปไม่ได้   ผู้เรียนจึงเหมือนลูกค้า ส่วน ผู้สอนและเจ้าหน้าที่ของสถาบันการศึกษาจึงเปรียบเสมือนพนักงานสอนและพนักงานบริการลูกค้า เพราะเอาเงินเป็นตัวตั้ง   หากมาเรียนมากเท่าไร เงินก็เข้ามามาก การที่จะให้คนเรียนมากมีวิธีง่ายสุดคือ "ต้องเรียนสนุก ลุกนั่งสบาย" หรือ "จ่ายครบ จบแน่" ไม่ว่าในระดับใดๆ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษา ซึ่งวิธีดังกล่าวจะมีผลลบในระยะยาว คือคุณภาพของผู้จบการศึกษา ในระยะสั้นภาพคงจะไม่ชัด แต่เมื่อนานๆ ไปก็จะเห็นความล่มสลายในที่สุด 


 


มีสถาบันการศึกษาแบบนี้ในสหรัฐฯหลายแห่งเกิดขึ้นและดับลง ขอใช้ฉากตอนที่ผู้เขียนเรียนปริญญาเอก (อีกครั้ง) ว่าทรมานเหลือเกิน เพราะมีความคาดหวังจากผู้สอนมากและผู้เรียนด้วยกันเองก็ต่างแข่งกันเป็นเลิศ  เนื่องจากตลาดแรงงานหลังจบปริญญาเอกในสหรัฐฯนั้นดุเดือดเลือดพล่าน ไม่แน่จริงก็ไม่ได้งาน หรืออย่างเลวร้ายที่สุดขั้นต้นคือเรียนไม่จบ  จำได้ชัดเจนว่าโดนขู่ตอนแรกเข้าว่าที่เรียนตรงนั้นรับคนเข้าปีละไม่เกิน 7-10 คนในระดับปริญญาเอก และจบไม่เกินรุ่นละ 7 คน โดยเริ่มตั้งแต่ เรียน 3 ปีจบ จนถึง 8 ปีจบ หมายถึงว่าเข้าไป 10 คน ทยอยจบออกมา ไม่ใช่จบทุกคน และไม่ใช่เรียน 3-5 ปีต้องจบ อาจลากยาวไปถึง8-10 ปีได้ ตอนนั้นขวัญผวาไปเลย


 


ผู้เขียนยามนั้นยังเขลาจึงมองว่า "ถ้ากูไม่จบ ขายหน้าแน่ แล้วกูจะทำอย่างไรดี" ก็มองทางหนีทีไล่ว่า เอาล่ะ ถ้าเห็นท่าไม่ดี จะทำเรื่องย้ายไปเรียนพวกสถาบันที่ไม่เข้มข้นมาก เอาแค่ใบๆหนึ่งพอ   และถึงกับคิดขนาดว่าตรงไหนซื้อได้ ก็จะซื้อ ไม่งั้นก็จะไปเรียน "เอ็มบีเอ" ที่ไหนสักแห่ง ถือเป็นโทใบที่สอง แต่ไม่รู้ว่าบุญหรือกรรมที่ทำให้เรียนแล้วดื่มด่ำกับการศึกษาที่ทรมาน ยิ่งเรียนยิ่งยาก แต่ก็ยิ่งอยากรู้ไปเรื่อยๆ เลยคิดในใจว่าเอาเถอะไหนๆก็ไหน ถ้ามันจะไม่จบคือก็คงไม่จบ เรียนแล้วได้คิดเป็น เงินทองก็ไม่ได้มีปัญหา พ่อแม่ที่เป็นคนส่งเสียก็ไม่ว่าอะไร เลยทนๆ เรียนรวมเกือบห้าปี จบจนได้แบบหืดขึ้นคอ


 


เมื่อจบก็บอกกับตนเองว่า ถ้ามีคนมาถามว่าเรียนจบแล้วได้อะไร บอกเลยว่าไม่ได้อะไรมากไปกว่าการรู้จักคิด ซึ่งตรงนี้ต่างกับระดับปริญญาโทมาก ตรงโทนั้นเหมือนแค่บอกว่าไอ้ที่จบแค่ตรีนั้นมันแค่ผิวๆ และเจาะลงมาหน่อยก็เป็นโท พอเอกก็รู้ลึกขึ้น แล้วก็สามารถเรียนรู้ได้เองต่อไปเพราะปริญญาเอกที่เรียกว่า Doctor of Philosophy ตามปรัชญาการศึกษาเดิมนั้นเน้นที่ให้เข้าใจ "ปรัชญาในการศึกษาวิชานั้นๆ" เมื่อจบออกมาต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป เป็นปริญญาที่มีไว้ สำหรับ "ผู้ที่จะสอนและทำวิจัย" ไม่ได้ให้มาเดินโก้เก๋ หรือบอกว่าเรียนไปเพื่อเป็นนักการเมือง เพราะการเป็นนักการเมืองไม่จำเป็นต้องใช้ใบปริญญาขนาดนี้ แต่หากมีก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย นอกจากว่าไม่จำเป็น  เรียนจบแค่ตรีหรือโทก็เกินพอ ถ้าปริญญาใบนั้นมีคุณภาพ


 


ดังนั้น ใบปริญญาไม่ว่าตรี โท เอก นั้นไม่ได้ต่างกับกระดาษแต่ละแผ่น ตราบใดที่จบออกมาแล้วสมองกลวง หรือเป็น ดร. กำมะลอคือจบแล้วมีใบปริญญาจริง แต่ทำไรไม่ได้เพราะไม่มีคุณภาพ ดังนี้ จึงการเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความเสื่อมสลายของเกียรติภูมิของสถาบันนั้นๆ ระบบการศึกษาของสังคมนั้นๆ ด้วย


 


ที่ผู้เขียนจั่วหัวว่า "ลิงได้แก้ว ไก่ได้พลอย" นั่นเป็นอีกเรื่องที่สืบเนื่อง ที่ว่าปัจจุบันคนที่โชคดีมีโอกาสได้เล่าเรียนในสถาบันดีๆ มีคุณภาพ (ซึ่งไม่ได้บอกว่าสถาบันนั้นๆ จะไม่มีข้อเลวร้าย เพียงแต่ว่ามีกระบวนการผลิตบัณฑิตที่ไม่เลวร้ายเท่านั้น) กลับมองข้ามโอกาสของตนเองที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างถูกต้อง ในขณะที่ยังอยู่ในสถาบันนั้นๆ   ไม่ว่าจะเป็นปริญญาระดับไหนก็ตาม


 


ผู้เขียนพบว่า บรรดา "ลิงหรือไก่" เหล่านั้นลืมมองไปว่าการฝึกฝนวิทยายุทธด้วยความยากลำบาก เป็นเรื่องปกติ การที่จะได้พบครูเลวจริงๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก และการได้พบครูดีจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกัน แต่เราสามารถที่จะเรียนรู้ได้จากทั้งสองรูปแบบถือเป็นเรื่องปกติของชีวิตนอกและในสถาบัน ที่นี่แหละคือการเรียนรู้ที่แท้จริง


 


การที่จ้องมองว่าครูผู้สอนที่ดีนั้นต้องเอาใจเสมอ กลายเป็นเรื่องที่ผู้เรียนปัจจุบันส่วนมาก (ไม่ใช่ทุกคน) มองและให้ความสำคัญมากกว่าการที่จะเรียนรู้อะไรที่ลึกซึ้ง  ทั้งนี้ทั้งนั้นจุดหมายสูงสุดของผู้เรียนสมัยนี้ส่วนมากโดยเฉพาะระดับ ป.ตรีในสหรัฐฯ ไม่มีอะไรมากไปกว่าขอใบปริญญามาอยู่ในมือ (ส่วนในไทยนั้น เรารู้ๆกันว่าเกิดอะไรขึ้น ละไว้ในฐานที่เข้าใจ) และเมื่อกลไกบางส่วนของทุนนิยมหลังสมัยใหม่บังเกิดขึ้น ผู้เรียนพวกนี้ยิ่งมองการศึกษาเหมือนกับ "สินค้า" และไม่ได้มองว่ากระบวนการเรียนรู้ต่างหากที่สำคัญกว่า น่าเสียดายส่วนที่มันจับต้องไม่ได้เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าปัญญา ซึ่งต่างกับใบปริญญาที่จับต้องได้


 


วันนี้เมื่อผู้เขียนได้เห็นได้อ่าน คำชม  คำวิพากษ์ วิจารณ์ของนักศึกษาหรือใครอื่นก็ตาม เกี่ยวกับการสอน การทำงานของผู้เขียน ผู้เขียนจะฟังและพิจารณา  แต่ไม่ยึดติด ไม่ว่าด้านลบที่เป็นการระบายอารมณ์ ความเคียดแค้นชิงชัง หรือด้านบวกที่แสดงความรู้สึกพอใจ ชื่นชม   ผู้เขียนกลับรู้สึกเสียดายโอกาสของนักศึกษาที่ไม่ได้ใช้ทำความเข้าใจว่าปรัชญาการศึกษาที่แท้จริงคืออะไร  เป็นการสูญเปล่าทั้งแรงกาย  แรงใจ และเวลา 


 


ขออนุญาตสรุปให้ชัดเจนว่า การศึกษาวันนี้มีหลายอย่างที่ต้องมองให้ถ้วนถี่  อย่ามองแค่ว่า เดินเข้าโรงเรียน ได้ใบมา พอแล้ว และอย่าให้บางส่วนของกระแสหลักมามีอิทธิพลต่อระบบการศึกษามากจนเกินไปนัก อาจเป็นเรื่องที่ใครๆ พูดกันมาบ้าง แต่คงไม่เสียหายที่จะเน้นย้ำให้ชัดเจนขึ้น